"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีอายุพอๆ กับการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ 6 ปีกว่า เพราะมีจุดเริ่มต้น หลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ไม่นาน คือ มีการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ตอนปลายปี 2557
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีความคืบหน้าไปช้ามาก เพราะมีการเจรจาต่อรองกันในหลายๆ เรื่อง ผ่านการประชุมสองฝ่ายกัน 20 กว่าครั้ง สุดท้ายมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการ จากเดิมที่เป็นการลงทุนร่วมไทย-จีน เปลี่ยนเป็นไทยลงทุนเองทั้งหมด ในวงเงิน 179,412.21 ล้านบาท และปรับเส้นทางจากเดิมกรุงเทพฯ-หนองคาย ออกเป็นสองเฟส โดยเริ่มก่อสร้างเฟสแรกกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 253 กิโลเมตรก่อน รวมทั้งเปลี่ยนจากรถไฟความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เป็นรถไฟความเร็วสูงจริงๆ คือ วิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แต่เพื่อรักษาพันธสัญญาตามเอ็มโอยูไว้ จึงต้องให้ฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบ การก่อสร้าง การวางระบบราง อาณัติสัญญาณ การจัดหารถไฟ และการเดินรถ ซึ่งจีนมีความเชี่ยวชาญ และมีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงแบบครบวงจร
จนถึงตอนนี้ หลังจากผ่านไป 6 ปีกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ก่อสร้างไปได้เพียง 3.5 กิโลเมตร คือ การสร้างทางสำหรับวางราง แต่หลังจากนี้ การก่อสร้างงานโยธา น่าจะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีการประมูลได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วเกือบตลอดเส้นทาง 253 กิโลเมตร
วันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการเซ็นสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร ตามสัญญาข้อ 2.3 โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มูลค่า 50,633.5 ล้านบาท
การเซ็นสัญญานี้มีความหมายสำคัญ เพราะเป็นการบอกว่า เรื่องที่ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกันตั้งแต่เรื่องการออกแบบ ไปจนถึงแหล่งเงินกู้ซึ่งถูกนำขึ้นสู่โต๊ะเจรจามากกว่า 20 ครั้ง บัดนี้ได้ข้อยุติแล้วจนนำไปสู่การเซ็นสัญญา และการเซ็นสัญญานี้ ยังเป็นสัญญาณว่า โครงการนี้ มีความชัดเจนแล้วว่า จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมา ที่เกิดความล่าช้าในเรื่องการก่อสร้าง ตลอดจนความไม่ลงตัวในการเจรจาของไทยกับจีน ทำให้มีความไม่แน่นอนว่า อนาคตของทางรถไฟสายนี้จะเป็นอย่างไร
สัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้า ฯลฯ เป็นการลงนามของคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายไทย คือ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กับผู้บริหารบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์ปอเรชั่น
โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีเส้นทางผ่าน 5 จังหวัด 6 สถานีคือ สถานีกลางบางซื่อผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนคราชสีมา ซึ่ง 4 สถานีหลังเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างใหม่ในโครงการนี้ รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศกอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญาคือ ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก และเตรียมลงนามในสัญญาก่อสร้างอีก 9 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโรงการ 179,412.21 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา
ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบออกแบบ และติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าเครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถ จัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง และฝึกอบรมบุคลากร
รถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีกำหนดเสร็จ และเปิดบริการปี 2569 ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโคราชใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยประมาณ
ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีนอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดทั้งหมด โดยฝ่ายไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นประธานในพิธีเซ็นสัญญา กล่าวในตอนหนึ่งว่า นอกเหนือจากการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว โครงการนี้ยังเปรียบเสมือนสายใยที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น หรือความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ
“การร่วมลงนามในสัญญาวันนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทย และประเทศจีนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีร่วมกัน ผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถนำองค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป ผมขอขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และบริษัทคู่สัญญาของโครงการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ที่ล้วนเป็น “กำลังสำคัญ” ในการผลักดันโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เปรียบดังคำกล่าวที่ว่า “ถง ซิน เสีย ลี่, ซื่อ ซื่อ ซุ่น ลี่” หมายความว่า “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น”