xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมนียืนยัน กษัตริย์ไทยไม่ละเมิด กม.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน “รัฐบาลเยอรมนี” ชี้แจงคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภา ระบุจนถึงขณะนี้ไม่เชื่อว่า “กษัตริย์ไทย” ทรงกระทำการใดๆที่ละเมิดข้อห้ามเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชภารกิจด้านการเมือง ขณะประทับอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

วานนี้ (29 ต.ค.) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค.63 ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงในประเทศไทยได้ร้องขอให้สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีทำการตรวจสอบว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ปฏิบัติภารกิจแห่งรัฐ เช่น ลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการ และพระราชบัญญัติต่างๆ ระหว่างที่ทรงประทับในแผ่นดินเยอรมนีหรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้แทนรัฐบาลเยอรมนีได้กล่าวบรรยายสรุปในประเด็นที่เกี่ยวกับกษัตริย์ไทยให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาว่า รัฐบาลเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับอนุญาตให้ตัดสินพระทัยเป็นครั้งคราว ตราบใดที่พระองค์ไม่ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างต่อเนื่องในแผ่นดินเยอรมนี

"รัฐบาลเยอรมนีมองว่า ขณะนี้ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงงานอย่างต่อเนื่อง (ในประเทศเยอรมนี)" แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับสถานะของกษัตริย์ไทย ทางรัฐบาลเยอรมนีบอกกับคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี ว่าพระองค์ทรงมีวีซ่าที่ได้รับอนุญาตให้ประทับในเยอรมนีในฐานะบุคคลทั่วไป มาเป็นเวลาหลายปี และทรงได้รับเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูตในฐานะประมุขแห่งรัฐ

ทั้งนี้ทางการเยอรมนีเคยระบุว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้หากพระมหากษัตริย์ของไทยปฏิบัติภารกิจทางการเมืองจากเยอรมนี และ ไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยอรมนี ก็ยืนยันว่า รัฐบาลเยอรมนีกำลังเฝ้าดูพระจริยวัตรของกษัตริย์ไทย ระหว่างประทับอยู่ในแคว้นบาวาเรีย เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมของคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้รายงานสรุปแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่ากษัตริย์ไทยทรงได้รับอนุญาตให้ตัดสินพระทัยเป็นบางครั้งบางคราว ตราบใดที่ไม่ได้ปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องบนแผ่นดินของเยอรมนี

“วิกฤตทางการเมืองของไทยเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเยอรมนี แต่การถอนวีซ่าของประมุขรัฐหนึ่งๆ นั้นอาจก่อผลกระทบทางการทูตใหญ่หลวง” แหล่งข่าวระบุกับสำนักข่าวรอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น