ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
การเคลื่อนไหวในทางการเมืองในครั้งนี้ มีกลุ่มคนบางกลุ่มไม่หวังดีทางการเมืองต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่กล้าออกหน้านำมวลชนด้วยตนเอง ขี้ขลาดตาขาว แต่หลอกใช้เด็กลงไปกลางถนน โดยให้ทุกคนเป็นแกนนำด้วยตนเอง
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการชุมนุม คือ การหลงหายในฝูงชน การกระจายความรับผิดชอบต่อสังคม จับมือใครดมไม่ได้ ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุร้าย ทำให้เกิดการนองเลือด
คนบางคนอาจจะอำมหิตกระหายเลือดต้องการการนองเลือดเพื่อให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ถึงกับต้องฆ่าเด็กที่ตนเองส่งเสริมให้เป็นผู้นำด้วยตนเอง อีกไม่นานตามทฤษฎีจิตวิทยามวลชน (Mass psychology) อาจจะมีการฆ่าและการแห่ศพเด็ก ๆ หรือแกนนำ ที่ตัวเองเชื้อเชิญชวนลงมาเป็นแกนนำ และก็ลงมือสังหารได้อย่างเลือดเย็น ไม่ว่าจะเป็นการยิงหรือการวางระเบิด
ทั้งนี้ตามหลักจิตวิทยาสังคมแล้วเมื่อเกิดการหลงหายในฝูงชน (Lost in crowd) และการกระจายความรับผิดชอบต่อสังคม (Diffusion of social responsibility) ในการชุมนุม ก็แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่าย อาจจะกระทบกระทั่งกันเองจนเกิดความรุนแรง หรือมีมือที่สาม หรือแกนนำเบื้องหลังอาจจะต้องการให้มีคนตายเพื่อปลุกกระแสการชุมนุมให้รุนแรงมากขึ้น
หากไม่มีศพหรือความรุนแรงนองเลือด แกนนำจะไม่สามารถปลุกระดมมวลชนให้ฮึกเหิมต่อไปได้ ความตายจะทำให้เกิดความรู้สึกร่วมว่าถูกรังแกเข่นฆ่า อยุติธรรม จะแปรพลังมวลชนให้นำไปสู่ความบ้าคลั่งรุนแรงได้โดยง่ายมาก การแห่ศพจึงเป็นสิ่งที่คาดคะเนได้เสมอในการชุมนุมทางการเมือง และจะจุดไฟความคับแค้นในจิตใจว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกเข่นฆ่าสังหารรังแก เพื่อนำไปสู่ความก้าวร้าว อันเป็นไปตามทฤษฎีความคับแค้นนำไปสู่ความก้าวร้าว (Frustration-aggression hypothesis) ที่เกิดขึ้นเสมอหากขาดสติและการควบคุมฝูงชนให้ดีเพียงพอ
ยิ่งการชุมนุมทางการเมืองเป็นการชุมนุมแบบ Flash mob และแบบดาวกระจาย ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการนองเลือดสูงมาก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าจะไปชุมนุมที่ไหนแน่นอน นัดมาทาง social media แล้วเกิดการไปร่วมชุมนุมอย่างรวดเร็ว และกระจัดกระจายหลายสถานที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการชุมนุม ไม่อาจจะตามไปดูแลความปลอดภัยได้ทั้งหมดและได้ทันท่วงที
สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ คนย่อมต้องห่วงความปลอดภัยของลูกที่เข้าร่วมในการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความตึงเครียดทางการเมืองและมีคนเข้าร่วมชุมนุมมากเท่าไหร่ ยิ่งเกิดอันตรายและการนองเลือดได้โดยง่ายมาก อันเป็นไปตามทฤษฎี
ความรักของพ่อแม่นั้นยิ่งใหญ่ และคงไม่มีความสูญเสียใดที่หนักและทุกข์มากที่สุดเท่ากับการสูญเสียลูกที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการสูญเสียด้วยเหตุอันไม่สมควร เช่น ไปถูกฆ่าตายกลางที่ชุมนุมทางการเมือง ถูกลูกหลงตายในที่ชุมนุม หรือถูกกระทืบตายโดยฝั่งตรงข้ามเมื่อเกิดม็อบชนม็อบและเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง เป็นต้น
สำหรับคนเป็นพ่อแม่ การห้ามลูกไปชุมนุมทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะเด็กทุกคนก็อยากจะโต อยากเป็นตัวของตัวเอง อยากมีอัตลักษณ์ของตัวเอง อยากจะเป็นฮีโร่ นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันทางสังคมจากเพื่อน เช่น หากไม่ไปร่วมชุมนุมด้วยก็จะกลายเป็นแกะดำไม่เข้าพวก ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ซึ่งสำหรับเด็กวัยรุ่นแล้วการได้รับการยอมรับจากเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเพื่อนคือคนสำคัญในชีวิตเป็นอย่างยิ่งสำหรับวัยรุ่น
ประกอบกับวัยรุ่นนั้น พยายามเป็นตัวของตัวเอง ทำตัวเหมือนโคนันทวิศาล ยิ่งบอกให้ไปทางใดก็จะไปในทางตรงข้าม การขอร้องให้ลูกไม่เข้าไปเสี่ยงภัยในที่ชุมนุมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก
ผมเองประทับใจภาพตำรวจหญิงที่นอกจากทำหน้าที่ตำรวจในการพิทักษ์สันติราษฎร์ได้ดีแล้ว ยังทำหน้าที่แม่หรือมนุษย์แม่ได้ดีอีกด้วย เมื่อนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าไปร่วมการชุมนุมแล้วเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากเข้าร่วมชุมนุมอีกต่อไป จะออกจากที่ชุมนุมก็ไม่กล้า ต้องไปขอร้องตำรวจหญิงให้พาออกไป ด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่
ตำรวจหญิงคนนั้น ไม่ว่าอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนใดด้วยความปรารถนาดีเชิงบวก (Unconditional positive regard) เธอเข้าใจเด็กผู้หญิงคนนั้นในทันที เธอจูงมือเด็กนักเรียนหญิงคนนั้นออกไปส่งนอกสถานที่ชุมนุม เธอไม่ได้ทำหน้าที่ตำรวจ แต่ทำหน้าที่ของแม่ที่รักลูกและยอมรับลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข
เด็กทุกคนนั้น แท้จริงแล้วก็ต้องการการยอมรับ ความรัก ความเข้าใจอย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยความปรารถนาดีเชิงบวกเสมอ เด็กต้องการมั่นใจได้ว่ามีคนหนึ่งที่รับฟังพวกเขา ซึ่งฟัง (Listen) ไม่ใช่การได้ยิน (Hear) การฟังที่ดี ไม่ใช่เรื่องงาน และการฟังที่ดีที่สุดคือสามารถเข้าใจได้โดยที่ผู้ส่งสารไม่จำเป็นต้องเปล่งเสียงพูดเลย เราต้องทำให้เด็กมั่นใจในสายใยแห่งรัก และรับรู้เสมอว่ามีพ่อแม่ที่คอยฟังพวกเขาอย่างเข้าใจ การจะทำให้ลูกปลอดภัยได้นั้นต้องทำให้ลูกมั่นใจในอ้อมกอดแห่งรักของพ่อแม่อย่างแท้จริง
ดังนั้นการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับลูกหลานด้วยความรักความเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่มีเงื่อนไข ยอมรับในสิ่งที่ลูกหลานเป็น โดยไม่ตีตรา และไม่ดูถูกว่าเด็กไม่รู้อะไรเลยจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ลูกหลานไม่ต้องไปตายในการชุมนุม พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความเท่าทัน ใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์ และรับฟังความคิดเห็นของลูกหลานเท่านั้นจึงจะสื่อสารได้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ลองมาดูว่าในฐานะพ่อแม่จะสื่อสารได้อย่างไรกันบ้าง
ข้อแรก การห้ามเด็กไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมที่เป็นอันตราย เป็นเรื่องยากที่เด็กจะรับฟัง ถ้าพ่อแม่มีเวลาและมีความสามารถพอที่จะพาลูกไปร่วมการชุมนุมด้วยตนเองได้ก็ควรพาไป แม้ว่าจะมีความคิดทางการเมืองตรงกันข้ามกับลูกเพียงใดก็ตาม
เด็กวัยนี้ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ การพาลูกไปด้วยตนเอง หรือไปเป็นเพื่อนลูก แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่เปิดใจกว้างและรับฟังลูก นอกจากนี้การไปสอนลูกหลานโดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ไปเบิกเนตร (ใช้ศัพท์เยาวชนปลดแอก) ด้วยตนเองเลย เด็กย่อมไม่ฟัง
การที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกหลานที่ต้องการไปชุมนุมไปร่วมชุมนุมด้วยตัวเองมีข้อดีหลายอย่าง นอกจากทำให้พ่อแม่เข้าใจเด็กมากขึ้น ยังสามารถสอนและช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยได้ เช่น ไม่ควรไปอยู่ในแนวปะทะกับเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ ไม่ควรไปอยู่ใกล้กองขยะที่อาจจะมีการวางระเบิดซ่อนเอาไว้ ให้เด็กรู้จักสังเกตสถานการณ์และความตึงเครียดในการชุมนุม
ในระหว่างการชุมนุมหากผู้ปกครองมีวิจารณญาณและสติปัญญาก็จะสามารถอธิบายให้ลูกหลานฟังได้ว่าพฤติกรรมในการชุมนุม โดยเฉพาะการปราศรัยของแกนนำ มีลักษณะที่อ่อนด้อยภาวะผู้นำอย่างไรบ้าง เนื่องจากม็อบเยาวชนปลดแอกนี้มีแกนนำที่ไร้ความสามารถ เช่น การนำชุมนุมแล้วไม่ได้ผลอะไร ไม่มีพัฒนาการอะไร ไม่มีผลงานอะไรจะอวดอ้างเพื่อหล่อเลี้ยงมวลชน หากผู้ปกครองมีความรู้ก็อธิบายต่อไปได้ว่า แกนนำม็อบต้องมีผลงานถึงจะดึงมวลชนเข้าร่วมได้ ไม่งั้นมันไม่เกิดพฤติกรรมแห่ตามกัน (Herding behavior) แต่ที่ผ่านมาการชุมนุมไม่มีความก้าวหน้ามากนัก ยกตัวอย่างเช่น การที่ไปชุมนุมที่สนามหลวงแล้วโหรงเหรง ไปต่อไม่ได้ แกนนำก็เลือกทำพิธีไสยศาสตร์ ด้วยการปักหมุดฝาส่วนถังขี้กลางสนามหลวง ทำพิธีโดยพราหมณ์เก๊ หรือวันก่อนที่หน้าเรือนจำบางขวาง ถนนงามวงศ์วาน มีการกำหนดประกาศขีดเส้นตาย แล้วไม่ได้ผลอะไร นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ลาออก แกนนำพวกนี้เลยเอากระดาษเขียนชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เผาไฟลงถังทำพิธีสาปแช่ง การทำพิธีไสยศาสตร์เช่นนี้ แสดงถึงความอ่อนด้อยในการเป็นแกนนำมวลชน ที่ไม่มีผลงานในการนำมวลชน ทำอะไรไม่ได้เรื่องเลย ไม่มีปัญญาจะนำม็อบเลย ก็เลยพึ่งพิธีไสยศาสตร์ ถือว่าเป็นความก้าวหน้า ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความก้าวหน้าใดๆ แต่เป็นแค่ความสะใจเท่านั้น และใช้มุขนี้ตลอด ถ้าไม่มีอะไรก้าวหน้าหล่อเลี้ยงมวลชน ถือว่าเป็นผลงานเป็นความก้าวหน้าทุกครั้งไป ทั้งๆ ที่เป็นไสยศาสตร์ จัดว่าเป็นเดรัจฉานวิชชา แกนนำไร้ความสามารถเช่นนี้ กระจอกมาก เฮงซวย โง่ ไร้สาระแบบนี้ ไม่มีน้ำยา ไม่ใช่วิธีการของคนรุ่นใหม่ อย่าได้ไปเชื่อถือ หรือการใช้คำหยาบคาย การขีดเขียนคำหยาบคายด่าทอลงบนพื้นถนน เป็นสิ่งที่คนดีๆ เขาไม่ทำกัน และเป็นการทำลายสมบัติของทางราชการเป็นความผิดคดีอาญา หากพ่อแม่พาเข้าไปในการชุมนุม แล้วกลับมาที่บ้าน แล้วอธิบายความไม่ถูกต้อง ความอ่อนแอในการนำ การทำผิดกฎหมายในการชุมนุม จนลูกหลานเกิดการเบิกเนตร เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร อาจจะเกิดการหยั่งรู้ ว่าอะไรเป็นอะไร และท้ายที่สุดอาจจะตัดสินใจไม่เข้าร่วมในการชุมนุมเหมือนน้องนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายคนนั้นก็ได้
ข้อสอง พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะให้ลูกหลานไปเข้าร่วมชุมนุมเอง แต่สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองนอกจากเคารพและฟังความคิดของลูกหลานแล้ว อาจจะแสดงความห่วงใย โดยเฉพาะการสอนให้ลูกหลานได้ระวังตัวอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัย หากพ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดยังนึกไม่ออกว่าจะอธิบายเรื่องความปลอดภัยในการชุมนุมได้อย่างไร ก็ขอให้ลองอ่านบทความจดหมายจากใจลุงไดโนเสาร์ถึงหลานเยาวชนปลดแอก https://mgronline.com/daily/detail/9630000093276 ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางในการอธิบายวิธีการระวังตัวในการชุมนุมได้ในระดับหนึ่ง
สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือ CHECK ผู้ดำเนินรายการ คนค้นตน และผู้บริหารในบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ได้สอนลูกและอธิบายให้เข้าใจเรื่องการชุมนุมได้อย่างน่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่เราใช้เรียนรู้สำหรับพ่อแม่ที่จะสื่อสารกับลูกหลานที่ต้องการไปชุมนุมทางการเมืองได้เป็นอย่างดี ขอให้อดทนรับฟังและอาจจะปรับบางส่วนนำไปใช้ได้ หรืออาจจะส่งคลิปนี้ให้ลูกหลานได้รับชมก็ได้ น่าจะเป็นประโยชน์
พ่อแม่และผู้ปกครองควรนั่งรอเปิดประตูรับลูกหลานกลับบ้านหลังจากการชุมนุม แสดงสีหน้าดีใจและหมดห่วง หาข้าว หาน้ำ หาขนม ให้กิน และสอบถามว่าได้เรียนรู้อะไรจากการเข้าไปร่วมชุมนุมบ้าง แสดงความรักและความห่วงใยที่มี เพื่อให้ลูกหลานเกิดความเกรงใจที่ต้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองมานั่งรอตัวเอง จะได้ไม่กลับดึกจนเกินไปจนเกิดอันตรายจากการชุมนุมได้ง่าย
การให้ความรักและความปรารถนาดีเชิงบวก โดยปราศจากเงื่อนไขเช่นนี้ จะเป็นสายใยและฉุกให้ลูกหลานเกิดสติว่าการไปเข้าร่วมชุมนุมอาจจะมีอันตราย และทำให้พ่อแม่ที่อาจจะอายุมากแล้วต้องฝืนสังขารมาทนนั่งรอลูกหลานกลับบ้านด้วยความเป็นห่วง โปรดเข้าใจว่าเด็กทุกคนต้องการความรักความเข้าใจ ห่วงหาอาทร และการยอมรับอย่างหมดใจจากพ่อแม่ผู้ปกครอง สายใยรักในครอบครัวจะเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งเด็กให้คิดหน้าคิดหลังก่อนจะไปร่วมชุมนุมทางการเมืองที่มีความเสี่ยงภัย
จากแม่คนหนึ่ง พรุ่งนี้ลูกต้องไปชุมนุมอีกแล้ว แม่เห็นเขาเรียกมาทางหน้าจอมือถือของลูก คืนนี้แม่นอนไม่หลับอีกแล้ว ตื่นทั้งคืน สวดมนตร์ภาวนาให้ลูกปลอดภัย อย่าให้ลูกถูกจับ ให้แม่ต้องเอาโฉนดบ้านไปประกันตัว อย่าให้บาดเจ็บ ต้องหยุดเรียนไปอยู่โรงพยาบาล กลับมาบ้านให้แม่ป้อนข้าวป้อนน้ำ แม่สิ้นหวังถึงกับอธิษฐานว่า อย่างร้ายที่สุด ขอแค่ป้อนข้าวป้อนน้ำเถอะ อย่าให้ถึงขั้นเห็นศพลูกถูกแห่ไปรอบเมือง จากกระสุนที่ไหนไม่รู้เอาชีวิตไป เหลือแต่ร่างให้เขาไปโฆษณาว่าเป็นเหยื่อ เป็นคนกล้า จุดชนวนให้ล้มล้างบ้านเมืองได้สำเร็จ จากนั้นพอเขาสมประสงค์แล้ว ชื่อและร่างของลูกก็ไม่มีใครจดจำได้อีก นอกจากแม่ที่ตื่นมา ตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้ลูกจนตลอดชีวิตแม่ แต่ไม่มีลูกให้แม่เกาะแขน ไปหาหมอเมื่อแม่ป่วย ไม่มีคนอยู่ข้างเตียงเมื่อแม่เจ็บหนักใกล้สิ้นใจ ไม่มีคนทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แม่เมื่อแม่ตาย ลูกจะรู้ไหมว่าคนที่กำลังพาลูกไปตาย เขากำลังพาแม่ไปตายด้วย |
ข้อสาม ความรักและความทุกข์ของพ่อแม่ที่ลูกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง อาจจะทำให้ลูกเปลี่ยนใจไม่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองได้
ขอเล่าถึงกรณีอีกกรณีที่พ่อแม่ใช้ในการดึงลูกไว้ไม่ให้เข้าไปร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างได้ผลเช่นกัน
กรณีนี้ลูกชายหัวรุนแรงมาก ต้องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม มาขอแม่เข้าไปร่วมชุมนุมทางการเมือง แม่ไม่พูดอะไรมาก แต่โผเข้ากอดลูก แล้วพูดว่า แม่ไม่ห้ามนะที่ลูกจะเข้าไปร่วมชุมนุม แม่ถือว่าลูกโตแล้วและมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการที่ลูกเข้าไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อหวังว่าจะเห็นบ้านเมืองดีขึ้น ปรับปรุง ปฏิรูปก็เป็นสิ่งที่แม่ชื่นชมนะที่หนูโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่แม่ห่วงหนูที่เป็นแก้วตาดวงใจของแม่เหลือเกิน แล้วแม่ก็ร้องไห้ กอดลูกแน่นกว่าเดิม หนูไปได้เลย แต่แม่คงรออยู่ที่บ้านด้วยความทุกข์ใจ จนกว่าหนูจะกลับบ้านมาอย่างปลอดภัย
เมื่อแม่ร้องไห้ยาวนานมาก ด้วยความห่วงและรักลูกดังแก้วตาดวงใจ ลูกชายหัวรุนแรง ก็ไม่ไปชุมนุมทางการเมืองในท้ายที่สุด เพราะรู้ว่าจะทำให้แม่ทุกข์ใจมาก
ข้อสี่ การสร้างเงื่อนไขผลกรรมและสภาพแวดล้อมบางอย่าง จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกไปร่วมชุมนุมทางการเมืองได้
ยกตัวอย่างเช่น หลานคนหนึ่ง อยากไปร่วมชุมนุมทางการเมือง ป้าที่เลี้ยงมา และเป็นป้าที่มีฐานะดี มั่นคง และเอาใจหลาน ให้เงินหลานใช้ พาหลานไปเที่ยวต่างประเทศ ซื้อของให้หลานกิน หลานเล่นมาตลอด ก็กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า
ป้ามีเสรีภาพของป้าในการแสดงความเห็นทางการเมือง ป้ารักพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ หลานจะไม่รักก็ไม่เป็นไร แต่ป้ารักหลานมาก ป้าเคารพในสิทธิและเสรีภาพของหลานในการแสดงความเห็นทางการเมือง หลานจะไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์และจะไปร่วมชุมนุมทางการเมือง ก็ไปได้เลย ป้าไม่ห้ามเลย เคารพความคิดหลาน แต่ก็ห่วงมาก คงกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ผุดลุกผุดนั่งจนกว่าหลานจะกลับมา แต่ป้าก็อยากจะบอกหลานว่า เงินในกระเป๋าป้าทุกบาททุกสตางค์ ป้าทำงานหนักหาเงินมาด้วยวิชาความรู้อย่างสุจริต ป้าก็มีสิทธิและเสรีภาพที่จะใช้เงินของป้า จะให้ใครหรือไม่ให้ใครก็ได้ตามที่ใจป้าปรารถนา หวังว่าหลานคงเข้าใจที่ป้าพูดนะ
เมื่อนายทุนตัวจริงของหลาน ประกาศสิทธิและเสรีภาพในการใช้เงินของตัวเอง และแสดงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกมาอย่างชัดเจน หลานก็ไม่โง่พอที่จะทุบหม้อข้าวตัวเอง และไม่โง่พอที่จะสละมรดกกองใหญ่ ของตนเอง ที่ตนเองมีสิทธิได้รับ
อีกกรณีหนึ่งพ่อแม่ใช้การกำหนดเงื่อนไขและสภาพแวดล้อม โดยการไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียนตอนเช้า และกลับบ้านในตอนเย็นในทันที และสอนลูกเรื่อง assertive training หรือสอนให้ลูกแสดงความคิดเห็นและเป็นตัวของตัวเองอย่างกล้าหาญแต่ไม่ก้าวร้าว บอกให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องตามเพื่อน และต้องไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันของเพื่อน หากเพื่อนจะไม่คบเพราะไม่ไปร่วมชุมนุม ก็สอนลูกว่าไม่เป็นไร คนเราถ้าจะไม่คบกันเพราะความเห็นต่างเพียงเท่านี้ก็ไม่เป็นไร และไม่ต้องผูกใจเจ็บ ไม่ต้องโกรธเพื่อนที่ไม่คบด้วย
อันที่จริงการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูกหลาน เพื่อจะให้ลูกหลานปลอดภัยไม่ต้องไปตายเพราะการชุมนุมทางการเมืองนั้น ทำได้หลายวิธี ไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว แต่ละวิธีก็เหมาะสมกับลูกหลานแต่ละคนที่แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือ 1. รับฟัง 2. ไม่ดูถูกปรามาส 3. ยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วยความปรารถนาดีเชิงบวก 4. ด้วยความรัก 5. ด้วยความเข้าใจ 6. ใจเย็น มีสติ ไม่ใช้อารมณ์ 7. วิเคราะห์และใช้ปัญญาในการสร้างเงื่อนไขผลกรรมและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปรับพฤติกรรม (ซึ่งควรเลือกใช้เป็นแนวทางสุดท้าย)