xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ขยายงบลงทุน"สายสีแดง" ยืดสัญญาทางคู่สายใต้15เดือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บอร์ดรฟท. เคาะเพิ่มงบฯรถไฟสายสีแดง 3.1 พันล้าน จ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้กรอบลงทุนรวมเป็น 9.7 หมื่นล้าน พร้อมขยายเวลาสร้างทางคู่ใต้ 2 สัญญาอีก15 เดือนจากปรับแบบ เผยปี 65 ตั้งของบฯ อุดหนุนบริการสังคม 4.26 พันล้าน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดรฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่15 ต.ค.ที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติปรับกรอบวงเงินลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้แหล่งเงินกู้ ECPกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มงวด 27 ถึง 29 กรณีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และกรณีค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรจากการนำเข้า พร้อมทั้งขออนุมัติจัดหาแหล่งเงินรองรับ วงเงินรวม 3,143.35 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงบางซื่อ-รังสิต 2,255 ล้านบาท ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 887 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินโครงการที่ครม.ได้อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.59 ที่ 93,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 97,093 ล้านบาท

โดยจะต้องนำเสนอครม.พิจารณาต่อไป แต่ทั้งนี้ การปรับกรอบวงเงินดังกล่าวไม่เกี่ยวกับ กรณีงานก่อสร้างเพิ่มเติมสายสีแดงแต่อย่างใด ซึ่งรฟท.อยู่ระหว่างรอความเห็นของอัยการสูงสุด ในประเด็นการสั่งงานเพิ่ม




ขยายเวลาทางคู่"ประจวบฯ-ชุมพร"

นอกจากนี้ บอร์ดรฟท. ยังได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาสัญญาจ้างก่อสร้าง โครงการรถไฟทางคู่ช่วง ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร จำนวน 2 สัญญา ออกไปสัญญาละ15เดือน ได้แก่

สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. งบฯ 6,465 ล้านบาท สัญญามีระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.63 ไปสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.65 มีกิจการร่วมค้า เคเอส-ซี เป็นผู้รับจ้าง

สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กม. งบฯ 5,992 ล้านบาท สัญญามีระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.64 ไปสิ้นสุด วันที่ 30 เม.ย.65 มีกิจการร่วมค้า เอสทีทีพี เป็นผู้รับจ้าง

ทั้งนี้ เนื่องจากแบบเดิม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ออกแบบ เมื่อเข้าพื้นที่ก่อสร้างจำเป็นต้องมีการปรับแบบในบางจุดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริง ทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่ม เป็นการขยับแนวมาก่อสร้างอีกด้าน รวมถึงต้องหยุดก่อสร้างกรณีที่เกิดอุทกภัย เป็นต้น ซึ่งการขยายระยะเวลาก่อสร้างให้ผู้รับจ้างนี้ ไม่ส่งผลทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่จะกระทบต่อกำหนดแผนงานเปิดเดินรถให้ล่าช้าออกไปประมาณ 1 ปี




ซื้อรถอเนกประสงค์ตรวจซ่อมสะพาน

อนุมัติซื้อรถไฟอเนกประสงค์ สำหรับตรวจสะพานและอุโมงค์ 1 คัน จากบริษัท บรอดแคส ดี พอท (ไทยแลนด์) จำกัด วงเงิน 328.811 ล้านบาท ซึ่งเป็นรถไฟที่จะใช้ในการตรวจสภาพและซ่อมสะพาน เพื่อรองรับทางรถไฟที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่

พร้อมกันนี้ ยังเห็นชอบข้อเสนอการรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 65 วงเงิน 4,266.742 ล้านบาท เพื่อรองรับการบริการประชาชน ซึ่งเป็นการตั้งกรอบวงเงินได้มีการเจรจากับสำนักงบประมาณแล้ว

สำหรับการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อบริหารทรัพย์สินของรฟท.นั้น นายนิรุฒ กล่าวว่า ได้มีการเสนอบอร์ดพิจารณากระบวนการจัดตั้ง ถ่ายโอน ส่งมอบงาน จากรฟท.ไปให้บริษัทลูก และเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี แต่บอร์ดยังไม่อนุมัติ โดยให้กลับไปทำรายละเอียดขั้นตอนการจัดตั้งให้กระชับมากขึ้น รวมถึงวางแผนวิธีการดำเนินธุรกิจที่มีความคล่องตัวและเกิดประโยชน์สูงสุด

โดยหลังจากครม.เห็นชอบแล้ว จะมีกระบวนการจัดตั้ง บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัดทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการได้ภายในปี 63 จากนั้นจะตั้งบอร์ดบริษัท และมีการสรรหา ซีอีโอ รับพนักงาน เริ่มถ่ายโอนงาน โดยประเมินว่าในช่วง 3 ปี ต้องการคนรวม 100 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น