xs
xsm
sm
md
lg

กลางปีหน้าคนไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 จากศูนย์ผลิตของในหลวง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ข่าวสำคัญ ที่ไม่สู้จะเป็นที่สนใจมากนักข่าวหนึ่ง เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัท แอสตร้า เซนเนก้า ซึ่งคาดว่า จะพัฒนาวัคซีนให้ใช้ได้ และเริ่มผลิตประมาณกลางปี 2564

แอสตร้าเซนเนก้า เป็น 1 ใน 5 บริษัทที่กำลังทดลองวัคซีนโควิดตัวอย่าง ในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย และมีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ อีก 4 รายคือ กามาเลยา/สปุตนิกของรัสเซีย, โมเดอร์นากับไฟเซอร์ของสหรัฐฯ และซิโนวัค จากจีน

แอสตร้า เซนเนก้า เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ออกซฟอร์ดวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด AZD 1222 ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการทดลองขั้นที่ 3 กับกลุ่มตัวอย่าง 18,000 คน ซึ่งหากได้ผล ก็จะสามารถขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานด้านอาหารและยาของสหราชอาณาจักร และผลิตออกมาใช้ได้ทันที

ออกซ์แฟม ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลต่อต้านความยากจนระดับโลก ออกแถลงการณ์ระบุว่า กำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของผู้ผลิตทั้ง 5 รายข้างต้น รวมกันเท่ากับ 5.9 พันล้านโดส ขณะนี้ถูกประเทศร่ำรวย รวมทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น สั่งซื้อ โดยมีการทำสัญญาไปแล้ว 2.7 พันล้านโดส อีก 2.6 พันล้านโดสที่เหลือถูกจับจองโดยประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย และบราซิล

ดังนั้น ถึงแม้ว่าต้นปีและกลางปีหน้า จะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว แต่ใช่ว่าทุกประเทศทุกคนในโลกนี้ จะมีวัคซีนใช้ทันที มีเงินก็ซื้อไมได้ เพราะ 51% ของวัคซีนที่คาดว่าจะใช้ได้ผล ถูกกว้านซื้อไปโดยประเทศร่ำรวยที่มีประชากรรวมกันเพียง 13% ของประชากรโลก

การผลิตวัคซีนต้องใช้เวลา เมื่อผลิตเสร็จแล้ว ต้องกระจายไปยังประชาชนในประเทศต่างๆ ที่มีความต้องการนับพันล้านโดส การขนส่งจึงต้องใช้เวลาเช่นกัน

การเซ็นเอ็มโอยู เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของไทย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ บริษัท เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า เป็นข้อตกลงว่า แอสตร้า เซนเนก้า มอบวัคซีนตัวอย่างที่ได้รับการรับรองแล้ว ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน AZD 1222 ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ ติดตั้งกระบวนการผลิตเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับคนไทย และประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร

ความร่วมมือนี้ เป็นการผลักดันจากกระทรวงสาธารณสุข โดยบริษัท เอสซีจี ซึ่งมีโครงการวิจัยและพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมายาวนาน เป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ถือหุ้น 100% โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ผลิตยาชีววัตถุ (biological product-ยาที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ) แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ที่สามารถผลิตยาได้ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 โดยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในด้านการสาธารณสุขของไทย

ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ปรับพื้นที่บางส่วนของโรงงาน เพื่อใช้ผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก โดยร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยตั้งเป้าผลิตชุดตรวจ 1 แสน ตัวอย่าง มอบให้รัฐบาลส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ

พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการสำนักพระราชวัง ในฐานะประธานกรรมการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า ศูนย์การผลิตของบริษัท มีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับผลิตยารักษาโรคมะเร็ง และโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เครื่องจักรดังกล่าว สามรรถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีน AZD 1222 โดยหลังจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้า เซนเนก้า รวมทั้งขั้นตอนการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าวัคซีนชุดแรกจะพร้อมใช้กลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวสำคัญที่ไม่เป็นที่สนใจมากนัก คือ กลางปีหน้าคนไทยจะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นชาติแรกๆ ในโลก จากโรงงานผลิตวัคซีนของในหลวง




กำลังโหลดความคิดเห็น