xs
xsm
sm
md
lg

คลังสั่งลุยแจกของขวัญปีใหม่-กระตุ้นกำลังซื้อบูมเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - รมว.คลัง “อาคม” ลุยมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงการคลัง สั่งหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มภายในสิ้นปีนี้ หวังมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย พร้อมเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-เร่งรัดเบิกจ่ายงบให้เข้าเป้า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการขยายเวลาการพักชำระหนี้มูลค่า 7 ล้านล้านบาท ให้ธปท.เป็นผู้เป็นผู้พิจารณา กังวลขยายเวลาไปเรื่อยๆ ทำลูกหนี้เคยชินไม่ยอมชำระหนี้

วานนี้ (14 ต.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือฤกษ์สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง ซึ่งประกอบด้วย ศาลพระพรหม ศาลพระภูมิ พระคลังในพระคลังมหาสมบัติ (องค์จำลอง) องค์จำลองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระพุทธรูปประจำกระทรวงการคลัง และองค์ช้างคู่ประจำกระทรวงการคลัง ก่อนจะร่วมประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลัง

นายอาคม กล่าวภายหลังการประชุมมอบโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงการคลัง โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเพิ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นี้ เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายขึ้นจากมาตรการที่มีในปัจจุบัน รวมถึงให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนด้วย ขณะเดียวกันให้เร่งหามาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการดึงกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อการลงทุนเข้ามาในประเทศ

"แม้รัฐบาลจะได้ออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ 3 มาตรการแล้ว ทั้งมาตรการเติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน แต่ก็ขอให้ สศค.ไปติดตามดูว่าควรมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ที่จะต้องมีการใช้จ่ายมาก เพื่อของขวัญรวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว" นายอาคม กล่าว

ส่วนมาตรการระยะยาวจะเน้นเตรียมพร้อมเปิดประเทศ รับการท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างชาติ หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยจะมีการส่งเสริมสิทธิพิเศษ การลงทุนทั่วไป โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการลงทุนจากนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาพักระยะยาว ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะดึงเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทยได้

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง จัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดเบิกจ่ายการลงทุนของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจให้เสร็จใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยการจัดตั้งคณะทำงานชุดนี้จะติดตามการเบิกจ่าย ตรวจสอบการใช้จ่าย ความก้าวหน้าของโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะการลงทุนรัฐจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่คอยประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้

นายอาคม กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนต้องการให้ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้มูลหนี้กว่า 7 ล้านล้านบาท ที่จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 22 ต.ค. นี้ ว่า จะเป็นหน้าที่ของ ธปท. เป็นผู้พิจารณาในเรื่องดังกล่าว แต่ทั้งนี้ตามหลักการควรจะมีการกำหนดระยะเวลาการพักชำระหนี้อย่างมีขอบเขต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดวินัยในการชำระหนี้ และเกิดหนี้เสียสะสมเป็นระยะเวลานาน และหลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ก็ควรจะต้องใช้มาตรการปรับ 2 ต่อ ทั้งปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

"ผู้ประกอบการพักชำระหนี้จะต้องมีระยะเวลาที่แน่นอน ถ้าหากไม่แน่นอน เมื่อมีเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็จะมีความคาดหวังและรอให้ยืดเวลาพักชำระหนี้ต่อ ผู้ประกอบการก็จะไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างธุรกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงได้สั่งในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ว่าให้เอกชนกลับไปคุยกันก่อน"

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระดับโลกประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้มีการพักชำระหนี้ให้กับประเทศลูกหนี้ ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2563 ถึง 30 มิ.ย. 2564 เป็นเวลา 1 ปี เพราะเป็นการพักชำระหนี้ระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมนายอาคม ยังได้มอบนโยบายในการทำงานแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ยึดนโยบายหลัก 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก มุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแลรายรับ รายจ่ายและงบการเงินของประเทศ จึงต้องมีมาตราฐานการเงินการคลังตามมาตรฐานสากล จะต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส

ประกอบที่ 2. จะต้องรอบคอบภายใต้กรอบวินัยการคลังของประเทศ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และประการที่ 3. จะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ที่ดูแลด้านปฏิบัติ ด้านกำกับดูแล ด้านนโยบายในภาพรวม ส่วนในระดับมหภาคหรือในภาพรวมต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น