xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรจะพูดได้เต็มปากว่าเรารักในหลวง

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



(จากหนังสือ “ทำอย่างไร จะพูดได้เต็มปากว่า เรารักในหลวง” ธรรมนิพนธ์โดย โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยตัดทอนเนื้อหาบางส่วน เพื่อให้มีความยาวที่พอดีกับพื้นที่หน้า)


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระองค์นั้น แม้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่เหมือนยังประทับอยู่ในฟากฟ้าบรรยากาศที่ปกแผ่ทั่วผืนแผ่นดินไทย เป็นมิ่งขวัญอยู่ในดวงหทัยของมวลประชาราษฎร์ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้เสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญไว้แผ่ขยายกระจายอยู่ทั่วผืนแผ่นดิน สมดังพระปฐมบรมราชโองการที่ทรงประกาศในวันบรมราชาภิเษกว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระปฐมบรมราชโองการที่ได้ทรงประกาศนั้น นับว่าได้เป็นพระราชปณิธานยั่งยืนนานมาตราบจนตลอดรัชกาล

ประชาชนชาวไทยได้รู้เห็นเป็นประจักษ์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดกาลเวลานานแสนนาน ความจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระคุณแห่งพระมหากรุณา และภาพแห่งพระราชจริยาวัตรที่งดงามนั้น จึงสนิทติดตรึงตราอย่างลึกซึ้งเปี่ยมดวงใจ เมื่อถึงคราเสด็จสวรรคตจากไป จึงพากันเศร้าโศกอาลัย ร่ำไห้ปริเทวนาการ และพากันหาทางแสดงออกซึ่งน้ำใจที่มีสำนึกแห่งกตัญญุตาธรรม คือความกตัญญู ด้วยประการต่างๆ หลากหลายมากมาย

ความมีใจจงรักซาบซึ้งเชิดชูบูชาพระคุณ ที่เป็นไปในมวลประชาภายในก็ดี ความภูมิใจต่อเสียงแสดงความชื่นชมนิยมนับถือจากสากล ที่รายล้อมข้างนอกก็ดี เป็นความสุขความภาคภูมิใจ ซึ่งผ่อนเบาความเศร้าโศกลงไปได้บ้าง

แต่อย่างไรก็ดี ความชื่นใจ ความภูมิใจทั้งหมดนี้ แม้จะเป็นคุณความดีที่มีค่าสูง ก็รวมอยู่ในระดับของจิตใจ

ในการปฏิบัติต่อพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คนไทยไม่ควรพอใจอยู่เพียงเท่านั้น แต่ควรก้าวต่อขึ้นไปให้ถึงขั้นของปัญญา และการกระทำ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีพระพุทธศาสนาในหมวดแห่งชาดก ชื่อเรื่อง “พระมหาชนก” อันว่าด้วยการบำเพ็ญพระวิริยบารมีของพระโพธิสัตว์ ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” นี้ นำให้เห็นชัดว่าพระองค์ทรงถือเป็นสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นคนมีความพากเพียร พยายามมุ่งหน้าทำการให้สำเร็จ ไม่ยอมระย่อท้อถอย

พระมหาชนกนั้นตรัสแสดงคติธรรมไว้ว่า การงานใดไม่ทำให้จบสิ้นไปด้วยความพากเพียร ก็ไร้ผล เป็นคน ก็ควรพยายามเรื่อยไป ไม่ยอมท้อแท้

คนไทย เมื่อรักในหลวง ก็ควรพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติเช่นความเพียรพยายามนี้ ให้สมดังที่ได้ทรงหวัง ได้ทรงสั่งสอนไว้

ประชาชนชาวไทยได้ยินพูดกันทั่วไปว่า “เรารักในหลวง” เมื่อรักในหลวง ก็คือจะพยายามทำให้สมพระราชหฤทัย โดยนัยที่ได้บรรยายมา ประชาชนจะแสดงตนชัดว่ารักพระองค์ โดยมีการแสดงออก 4 ประการที่ได้กล่าวมาตามลำดับ กล่าวคือ

1. กตัญญู สำนึกรู้เข้าใจมองเห็นซาบซึ้งในพระคุณนานัปการที่ได้ทรงบำเพ็ญ อันสมดังพระราชปณิธานว่าจะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

2. อัตถัญญู มีปัญญารู้คุณค่า ความหมาย เหตุ ผล ตระหนักในความมุ่งหมาย และวัตถุประสงค์ ทั้งที่เป็นพระราชปณิธานอันเป็นข้อหลักใหญ่ และพระราชประสงค์จำเพาะของโครงการพระราชดำริ หรือกิจการงานที่เกี่ยวข้องมาถึงตน

3. ปฏิบัติบูชา เมื่อรักพระองค์ จะยกย่องเทิดทูน ก็ทำอย่างที่พระสอนว่า ให้บูชาพระองค์ด้วยการปฏิบัติ โดยร่วมมือร่วมแรงทำกิจหน้าที่ของตน เพื่อให้สำเร็จบรรลุผลที่มุ่งหมายจนได้ถวายความสำเร็จนั้นเป็นเครื่องบูชาพระคุณ

4. ภาวนาปธาน สุดท้าย เพื่อให้ทำได้ปฏิบัติได้อย่างนั้น จึงจะต้องไม่อยู่อย่างเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา แต่พยายามพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติดีงาม มีศีล มีวินัย มีความเพียรพยายาม มีสติปัญญาความสามารถ ให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ ผู้ได้พัฒนาแล้วอย่างดี

เมื่อทำดังว่ามานี้ ความอาลัยรักภักดี ที่แสดงกันต่างๆ มากมาย จึงจะเป็นของจริงจังมีความหมาย มิใช่เป็นของเสียหายหรือสูญเปล่า

ดังได้กล่าวย้ำบ่อยครั้งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งหลาย เช่นที่ตั้งเป็นโครงการพระราชดำริต่างๆ มากมาย ก็เพื่อความมุ่งหมายที่มั่นแน่วเป็นหนึ่งเดียว คือเพื่อแก้ไขปัญหาบำบัดทุกข์ ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน

เมื่อได้ทรงเพียรพยายามแก้ไขปัญหา ทรงนำพาชาวถิ่นชาวบ้านทั่วไปในการที่จะรู้จักพึ่งพาช่วยตัวเองแล้ว ครั้นเสด็จฯ เยือนท้องถิ่นใดๆ ทอดพระเนตรเห็นประชาชนเป็นอยู่ดีขึ้น พระองค์ก็ย่อมทรงชื่นชมยินดี เรียกทางธรรมว่าทรงมีมุทิตา

ถ้าประชาชนคนไทยชาวถิ่นชาวบ้านจะเจริญรอยพระยุคลบาท โดยปฏิบัติมุทิตาธรรมข้อนี้ เป็นข้อเริ่มแรก ก็จะได้ชื่อว่ากระทำปฏิบัติบูชา และจะพาให้ท้องถิ่นดินแดนประเทศไทยนี้เจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์

การเจริญมุทิตาอย่างแช่มชื่นเบาใจ ทำง่ายๆ เป็นอย่างไร

ชาวถิ่นชาวบ้านนั้น เมื่อใดขึ้นเขา หรือเข้าป่า มองไปเห็นต้นไม้มีลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ใบเขียวสด ดอกสะพรั่ง มีผลดก แผ่กิ่งก้านขยายกว้างขวางร่มรื่น ได้เห็นแล้วก็มีใจยินดี ชื่นชม ตั้งใจหวังดีขอให้ต้นไม้นี้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่ต่อไป และเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป แล้วนึกคิดต่อไปอยากให้มีต้นไม้ที่งอกงามสมบูรณ์อย่างนั้นมากมายทั่วแถบ ทั่วถิ่น เมื่อยังไม่มี ก็คิดว่าจะปลูกเพิ่มขึ้นขยายออกไปๆ แล้วชวนกันปลูก ช่วยกันบำรุงรักษา ส่วนการที่จะกินจะใช้ ก็ทำไปตามที่สมควรแก่เหตุผล โดยพยายามไม่ให้เป็นการรุกรานเบียดเบียนพืชพรรณของธรรมชาติ

การที่จะได้มุทิตานั้น ก็หมายถึงว่า เมื่อได้ช่วยกันทำให้พืชพรรณงอกงาม แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ดีขึ้น ทุกคนก็จะได้ชื่นชมยินดีกับชุมชนและท้องถิ่นของตนๆ นั่นเอง ที่เจริญงอกงามขึ้นมา มีความผาสุก ด้วยการปฏิบัติเพื่อเจริญมุทิตาดังกล่าวมาฉะนี้ ก็จะบันดาลให้ผืนแผ่นดินไทยอุดมสมบูรณ์ อำนวยพืชพรรณธัญญาหารให้อย่างเพียงพอ ทำให้ได้อยู่ได้กินกันอย่างพอเพียง

ชาวถิ่นชาวบ้านเจริญมุทิตาธรรมต่อแผ่นดินไทย โดยสามารถชื่นชมยินดีต่อท้องถิ่นที่อุดมและชุมชนที่อยู่กันดีของตนเองได้อย่างนี้ ก็จะเป็นการถวายปฏิบัติบูชา ที่จะนำพาทุกถิ่นดินแดนทั่วประเทศไทยให้เจริญพิไลสุขสมบูรณ์ สนองพระจำนงแห่งพระราชหฤทัย

เมื่อปฏิบัติดังนี้ จึงควรแก่การนับถือว่าได้บำเพ็ญบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล อย่างเยี่ยมยอดเลิศอุดม สมแก่การที่จะได้ชื่อว่ารักในหลวง ด้วยการช่วยกันสนองพระราชปณิธาน


กำลังโหลดความคิดเห็น