ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา
ผมทราบดีว่ามีขบวนการล้มเจ้าบนโลกออนไลน์ ใช้เงินทุน มีนายทุนและดำเนินการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ใช้การตลาดดิจิทัล และใช้ความรู้ด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) และการตลาดดิจิทัล จำนวนมากมายมีทั้งที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก หรือนักรบไซเบอร์ตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นตัวอวตารอยู่มากมาย ตลอดจนมีการสร้างเนื้อหาโดยนักเขียนและสื่อมวลชนชั้นนำ และอินโฟกราฟิกต่าง ๆ ตลอดจนมีวอร์รูมที่ประชุมกันทุกเช้า และทำ social listening อย่างเข้มข้น https://mgronline.com/daily/detail/9630000064482 ที่ดำเนินการอย่างได้ผล จนขบวนการล้มเจ้าขยายตัวและสังคมไทยเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายกษัตริย์นิยม (Royalist) และปฏิกษัตริย์นิยม (Anti-royalist) อย่างที่ไม่เคยแตกแยกรุนแรงเช่นนี้มาก่อนเลย
ขบวนการดังกล่าว เล่นหลายหน้าในเวลาเดียวกัน หน้าแรก ทำธุรกิจ โดยเป็น social listening tools ที่เก่งที่สุดของภาษาไทย ที่ต้องใช้ความรู้ด้านการวิเคราะห์เครือข่ายสังคม (Social network analysis) และการวิเคราะห์ข้อความและประมวลผลภาษาธรรมชาติภาษาไทย (Thai text mining and natural language processing) อย่างเข้มข้น บริษัทนี้เก่งที่สุดในประเทศไทย ค้นคว้าและวิจัยจนเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจด้านนี้ และอีกหน้าหนึ่งกลุ่มเดียวกันนี้ก็เล่นบทบาทภาคประชาสังคมที่ต่อต้านรัฐบาลและมีทัศนคติปฏิกษัตริย์นิยม และอีกบทบาทหนึ่งก็คือพรรคการเมืองปฏิกษัตริย์นิยมเช่นเดียวกัน ทั้งสามหน้านี้เป็นกลุ่ม developer กลุ่มใหญ่ ที่มีความสามารถสูงยิ่งยวด จับกลุ่มกัน และเล่นสามบทบาทในเวลาเดียวกัน ต้องยอมรับว่าเก่งมากในเชิงเทคนิค และทำงานด้วยใจ (และคงได้เงินด้วยเช่นกัน) มีพรรคการเมืองบางพรรคหนุนหลังและให้ทุนสนับสนุนเต็มที่
นอกจากนี้ในขบวนการก็มีมีตัวละครล้มเจ้า ปฏิกษัตริย์นิยม แบบเล่นเดี่ยว ไม่ค่อยจะเป็นทีมมากนัก แต่แย่งชิงการนำอย่างได้ผล แย่งชิงการนำ โดยการใส่ชุดความคิดให้กับเยาวชนปลดแอกไปได้อย่างไม่ต้องลงทุนทางการเมืองใด ๆ เลย ตัวละครเล่นเดียวล้มเจ้านี้ก็มีอยู่หลายราย แม้จะไม่ได้ประสานงานหรือร่วมงานกันโดยตรงและก็แหกปากประสานเสียงกันกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ทั้งในฐานะสถาบันและในฐานะส่วนพระองค์อย่างโกหกร้ายกาจ สร้าง Facebook page ที่กระทรวง DE ไปฟ้องศาลให้สั่งปิดไป ใช้เวลาสามเดือน แต่พอ Facebook แจ้งเพจนั้นก็สามารถอพยพสมาชิกเพจทั้งหมดออกไปตั้งเพจใหม่ได้ในสามชั่วโมง
ผมได้พูดกับคนที่ทำงานด้านความมั่นคง การข่าว เทคโนโลยีสารสนเทศ ในหน่วยราชการแม้กระทั่งกองทัพ มาตลอดเกือบจะสองปีแล้วว่า การเน้นไปที่การดำเนินคดีจับกุม ทำอย่างไรก็ไม่ชนะ ไม่มีทางชนะ และพอผมเล่ารายละเอียดให้ข้าราชการเหล่านั้นฟัง เขาก็ทำสีหน้าตกใจ เช่น การทำคอนเทนต์ปฏิกษัตริย์นิยมบน Youtube ของ Youtuber เป็นรายได้ของเขา เพราะยิ่งด่าเจ้า นินทาเจ้า ใส่ร้ายเจ้า จาบจ้วงเจ้า แล้วมีคนเข้าไปดูมาก ๆ เขายิ่งได้เงินจาก Youtube เป็นต้น ดังนั้นเขาจะไม่มีวันเลิกเพราะนี่คือรายได้มหาศาลสำหรับคนที่ทำเช่นนี้ ข้าราชการและนักการเมืองเหล่านี้ก็ได้แต่ทำตาโต แต่ไม่ทำอะไร
ผมบอกว่ากองทัพเคยใช้ปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological operations) โดยการลงชุมชน ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนแนวคิดของประชาชน เพราะนี่คือสงครามแย่งชิงการนำมวลชน ก็แค่ปรับวิธีการแบบเดิมที่เคยทำได้ผลบนโลกทางกายภาพในระหว่างสงครามเย็น ให้ปรับมาเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาไซเบอร์ (Cyber-Psychological operations) ก็ไมได้ทำ ยังคิดแค่ว่าจะไปตามไล่จับกุมกันอย่างไร การรบด้วยนิติสงคราม (ขอยืมศัพท์มาใช้หน่อย) บนโลกออนไลน์ไม่มีทางชนะ และกฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ง่ายๆ เพราะในทางเทคนิค พวกนี้ไปไวกว่า ซึ่งมีวิธีหลบหนีการจับกุมได้ง่ายมาก (ผมจะไม่กล่าวในที่นี้เพราะจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก (ทำชั่ว))
ผมพูดเรื่องนี้มาสองปีกว่า ผมก็ไม่เห็นหน่วยราชการเหล่านี้จะขยับอะไรเลย หนึ่งคือทำไม่เป็น ไม่มีความรู้ความสามารถทางเทคนิคเพียงพอ ในขณะที่อีกฝั่ง ใช้ Data Science ใช้ AI เขียน Robot เพื่อแทนนักรบไซเบอร์ และยิงเนื้อหาล้มเจ้าหรือปฏิกษัตริย์นิยมกันรัว ๆ บนโลกออนไลน์ ใช้การตลาดดิจิทัลอย่างได้ผล ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าหน่วยราชการไทย โดยเฉพาะกองทัพ/หน่วยงานความมั่นคง/หน่วยงานการข่าว ไม่มี know how พวกนี้ ยังล้าหลัง และทำเรื่องเหล่านี้ไม่เป็น เพราะผมพยายามให้ศึกษาว่าอีกฝั่งใช้วิธีการอย่างไรแล้วทำอย่างไร
ที่ผมเห็นคือมีกลุ่มประชาชนที่ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ บางคนพยายามจะทำไอโออย่างที่ว่าเอง แน่นอนว่าก็แชร์เนื้อหาจากเพจของทางราชการ โดยเฉพาะของกองทัพเองหรือจากเพจฝั่งตรงข้ามก็ทำเพื่อ counter อีกฝั่ง โดยการติเตียนเนื้อหาของอีกฝั่ง อย่างไรก็ตามมีลักษณะที่ต่างคนต่างทำ เครื่องมืออุปกรณ์ ความรู้ด้านวิทยาการข้อมูลและการตลาดดิจิทัลก็ไม่มี ทุนก็ไม่มี แล้วก็ไม่ได้สามัคคีกันทำ ผลก็คือไม่ได้ผล ไม่เกิดผลใด ๆ สร้าง engagement ไม่ได้ ไม่มีคนแชร์ คอมเมนต์เท่าที่ควร จริง ๆ คือไม่ได้ผลอะไรเลย
เพราะประชาชนกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล สนับสนุนทหาร และสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ เหล่านี้ลุกขึ้นมาสร้าง twitter account เพื่อต่อสู้ตามที่ตนเชื่อและสนับสนุนกันเอง แต่ไม่ได้มี cyber war room ที่จะกำหนดกลยุทธ์การสู้ให้เป็นเอกภาพ เป็นระบบ อย่างที่ฝั่งปฏิกษัตริย์นิยมทำอยู่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ผลก็เป็นดังบทวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่กล่าวว่า ผลการดำเนินการ IO (Information operation) ของฝั่งกองทัพ มี twitter account ที่เกี่ยวข้องมากมาย ทำแล้วไม่มีผลกระทบอะไร เพราะไม่มีคนกดไลค์ คอมเมนต์ หรือแชร์ ส่วนใหญ่เป็น twitter account ปลอม ๆ อวตาร ที่ไม่มีใครสนใจ เอาเงินภาษีมาใช้แล้วไม่ได้ผล
บทวิเคราะห์ของ Stanford internet observatory- Cyber policy center ในรายงานชื่อ Cheerleading Without Fans: A Low-Impact Domestic Information Operation by the Royal Thai เขียนโดย Army Josh A. Goldstein, Aim Sinpeng, Daniel Bush, Ross Ewald, Jennifer John โดยมี Technical support ของ David Thiel ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่ามีคนไทยด้วย เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2020 นั้น ผมคิดว่ามีอคติมากหลายประการและเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน (Hypothesis) ที่หลักฐานยังไม่แน่นหนาพอที่จะโยงหรือกล่าวหาว่าเป็น IO ของกองทัพด้วยเหตุผลหลายประการดังนี้
ประการแรก ไม่ได้วิเคราะห์อีกฝั่งคือฝั่งปฏิกษัตริย์นิยมเลยแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จกว่ามากมายหลายเท่า มีคนติดตามมี engagement ดีมาก มีคนเชื่อมากกว่ามาก มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ และมีความเชื่อมโยงในเชิงตัวบุคคล และในเชิงการเงินที่ชัดเจนกว่ามาก ทำไมจึงเลือกวิเคราะห์เพียงฝั่งเดียวและเขียนเนื้อหาโจมตีฝั่งเดียวอย่างจงใจขนาดนี้ มีการรับงานหรือรับเงินทุนวิจัยมาจากไหนหรือไม่?
ประการที่สอง ในบทวิเคราะห์อาศัยการเชื่อมโยงที่แสนจะตื้นเขินมากว่า twitter account เหล่านี้ที่เป็น IO ของกองทัพ โดยเชื่อมโยงแค่การแชร์เนื้อหาจากเพจที่เป็นทางการของกองทัพซึ่งมีหลายเพจ การวิเคราะห์ตื้นเขินขาดการโยงในตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของบัญชี กับความสัมพันธ์ระหว่าง admin ของบัญชีของกองทัพ ถือว่าเป็น social network analysis ที่มี edge หรือเส้นโยงที่บางมาก จนหาเหตุผลหรือความสัมพันธ์ว่าเป็น IO ของกองทัพไม่ได้เลย สิ่งที่ต้องนำมาใช้เป็น edge ที่จะโยงได้ว่าเป็นของกองทัพจริง ๆ ควรเป็น ความสัมพันธ์ระดับบุคคลระหว่างโหนด (node) และเส้นทางการเงิน การยึดโยงแค่เส้นทางการแชร์ข้อมูลต่อกันนั้นบางเกินไป
ประการที่สาม เนื้อหาข่าวสารที่แชร์ระหว่าง IO กับบัญชีของกองทัพ ไม่ได้เป็นข่าวที่จะโจมตีฝั่งที่โจมตีรัฐบาลหรือโจมตีฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมทั้งหมด ทั้งยังแชร์จากแหล่งข่าวของฝั่งตรงข้ามอีกมาก และแชร์เนื้อหาจากสื่อมวลชนอื่น ๆ ทั่วไป อีกเป็นจำนวนมาก ไม่มีการผลิตเนื้อหาเองเท่าที่ควร บางเนื้อหาเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นเรื่องที่คนสนใจโดยทั่วไป เช่น ข่าวการระบาดของโควิด-19 ข่าวการยิงหมู่ที่โคราช ซึ่งใคร ๆ ก็แชร์กันอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะ IO จะแชร์ แต่เหมานับรวมเข้าไปว่าแชร์จากเพจหรือบัญชีของกองทัพ ทั้ง ๆ ที่เป็นการแชร์เรื่องทั่ว ๆ ไปก็กล่าวหาว่าเป็น IO ของกองทัพ ถ้าเช่นนั้นผมแชร์เนื้อหาอะไรจากพรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองล้มเจ้าบางคน อานนท์จะมิกลายเป็น IO ของพวกล้มเจ้าหรือพวกปฏิกษัตริย์นิยมไปด้วยหรือ ทั้ง ๆ ที่ผมอาจจะแชร์มาเพื่อลากไส้ด่าแหลกก็ได้ การวิเคราะห์เครือข่ายสังคมแบบนี้เป็นการวิเคราะห์ที่ตื้นเขินมากและเต็มไปด้วยข้อบกพร่องทางวิชาการ
ประการที่สี่ Twitter account เหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็น IO ของกองทัพ แต่เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านกองทัพ และฝ่ายต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้ ผมเองทราบว่ามีคนพยายามทำเช่นนี้มาก สิ่งที่เห็นชัดมากคือ IO ตามที่มหาวิทยาลัย Stanford วิเคราะห์นั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ก็เพราะว่าต่างคนต่างทำกันเอง ไม่มีกลยุทธ์ ไม่มีเงินทุนมาจ้าง เลยออกมาห่วยไม่ได้ผล ถ้ากองทัพจ้างจริง ๆ แล้วทำได้แค่นี้ ก็ควรไปร้องเรียนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้เข้ามาตรวจการใช้เงินเถิดว่าทำไมใช้เงินงบประมาณได้อย่างไร้ประสิทธิภาพมากที่สุด
ประการที่ห้า ผมประเมินศักยภาพของกองทัพในการทำ IO แบบสร้างเนื้อหา ใช้การตลาดดิจิทัล หรือใช้วิทยาการข้อมูล ตลอดจน social listening, social network analysis, natural language processing ผมคิดว่ากองทัพและหน่วยงานความมั่นคงหรือการข่าวของไทย ยังไม่ได้เก่งกาจพอที่จะทำได้จริงๆ อย่างที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล/ฝ่ายต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำเรื่องพวกนี้อยู่ ผมยืนยันว่าคนเหล่านี้เก่งและมีศักยภาพสูงกว่าข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้มาก ผมเลยไม่มีความเชื่อว่าจะทำได้เท่าใดนัก แต่หากจะทำอย่างน้อยก็จะมีเอกภาพ ไม่สะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง อย่างที่ได้มีการวิเคราะห์กันในครั้งนี้ เพราะในทางการทหาร สามารถสั่งและมีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน และมีการรวมศูนย์อำนาจมากกว่านี้มาก
ประการที่หก ถึงแม้หากกองทัพจะทำ IO จริงๆ ก็ทำได้ และควรต้องทำด้วย เพื่อ counter กับฝั่งปฏิกษัตริย์นิยม เพราะการไปไล่จับกุม ไม่มีทางชนะ นี่คือสงครามชิงมวลชน ต้องมีปฏิบัติการจิตวิทยาบนโลกไซเบอร์ให้ได้ผลจริง ๆ ต่อต้านกับอีกฝั่ง ทั้งนี้เพราะการใดอันเป็นภัยความมั่นคงต่อชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นหน้าที่และพันธกิจของกองทัพเช่นกัน หากกองทัพปล่อยให้เกิดการทำลายองค์อธิปัตย์ ดึงฟ้าต่ำ ทำหินแตก แยกแผ่นดิน เยี่ยงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ย่อมแปลได้ว่ากองทัพทำหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรง เพราะกองทัพมีหน้าที่เพื่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน สิ่งที่กองทัพต้องไม่ทำ IO คือการไป counter ต่อต้านฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องการเมืองและกองทัพต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด
ขอฝากกองทัพให้ไปคิดว่า ควรทำหน้าที่ในการปกป้องชาติและราชบัลลังก์แล้วหรือไม่ หรือจะแค่กลัวต่างชาติกล่าวหาว่าทำ IO แล้วไม่ทำอะไรแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนเกิดความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนั้นหรือ?
🇹🇭Today, Twitter announced that it removed 926 accounts from its platform, attributing the network to the Royal Thai Army. My team @stanfordio (Daniel Bush, @RossEwald, @jennifer_neda) partnered w/@Usyd_ssps's @aimsinpeng to analyze the takedown. 📡 📄⏱: https://t.co/8MigXZAXf2— Josh Goldstein (@JoshAGoldstein) October 8, 2020