xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องวุ่นๆ ของสุรพลกับศรีนวล

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ขึ้นหัวอย่างนี้ใครๆ ก็อาจจะงงไพล่คิดไปถึงเรื่องของขุนพลเพลงลูกทุ่งสุรพล สมบัติเจริญกับคู่ชีวิตศรีนวล สมบัติเจริญ ว่าเกิดเรื่องอะไรในชีวิตครอบครัวของขุนพลเพลงผู้ล่วงลับไปหลายสิบปีแล้ว

ทั้งนี้หมายถึงกรณี นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ชนะเลือกตั้ง แต่ถูกใบส้ม กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ โดย กกต.ได้มอบใบส้มให้นายสุรพลซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวในการเพิกถอนสิทธิ 1 ปี แต่หลังจากนั้น กกต.ได้นำข้อกล่าวหาดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อขอเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเมื่อศาลไต่สวนวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีมูลแล้ว จึงยกคำร้อง

ทั้งนี้ กกต. กล่าวหาว่า การใส่ซองทำบุญให้กับพระสงฆ์ของนายสุรพล จำนวน 2,000 บาท มีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) ฐานให้เงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใดในช่วงที่มีการเลือกตั้ง

ใบส้มก็คือ ใบแดงชั่วคราว ซึ่ง กกต.ต้องไปยื่นต่อศาล โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดอำนาจ กกต.ในการให้ใบแดง ซึ่งเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ตามที่เคยมีอยู่เดิมให้เป็นอำนาจของศาลแทนในการให้ใบแดง

แต่เมื่อคดีไปสู่ศาล ศาลวินิจฉัยว่า เงินดังกล่าวเป็นค่าเทียนสะเดาะเคราะห์ และในวันที่ไปทำบุญนั้นไม่ได้พูดหาเสียง เพียงแต่ทักทายกับประชาชนเท่านั้น ไม่ได้ฝากเนื้อฝากตัวกับชาวบ้านจึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการบริจาคเงินทำบุญให้กับวัดเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเอง และไม่จำเป็นต้องชดใช้ค่าเลือกตั้งซ่อมตามคำร้อง

กรณีนี้เป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้ถูกตัดสิทธิชนะคดีถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง

หลายคนตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไร จะคืนความยุติธรรมให้กับนายสุรพลอย่างไร เพราะหลังตัดสิทธิ กกต.ได้เลือกตั้งใหม่และนางศรีนวล บุญลือ ซึ่งตอนนั้นสังกัดพรรคอนาคตใหม่ชนะเลือกตั้ง ก่อนจะย้ายพรรคไปซบภูมิใจไทย

ทนายของนายสุรพลได้ออกเรียกร้องสิทธิ ส.ส.คืน บอกว่า เบื้องต้นทีมทนายได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้ทำหน้าที่ ส.ส.จาก กกต.แล้วจำนวน 70 ล้านบาท ฐานให้ใบส้มโดยมิชอบ ใช้อำนาจหน้าที่โดยละเมิด แต่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งหาก กกต.ยังไม่คืนสิทธิก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่า กกต.จะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะโดยหลักสุจริตแล้ว นางศรีนวลก็ได้ตำแหน่ง ส.ส.มาโดยชอบ เพราะ กกต.เป็นคนจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม

จริงๆ นายสุรพล เคยไปร้องต่อศาลปกครองให้ระงับเลือกตั้งซ่อมมาแล้ว แต่ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ฟ้องคดีไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี และมีมติสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งเขตเลือกตั้งที่ 8 ของจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นการดำเนินการตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับมาตรา 132 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 อีกทั้งมาตรา 225 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ยังบัญญัติให้คำสั่งตามวรรคหนึ่งของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นที่สุด

ทีนี้ไปดูมาตรา 132 พ.ร.ป.เลือกตั้ง บัญญัติว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทํา สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้บุคคลอื่นกระทําการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วไม่ดําเนินการเพื่อระงับการกระทํานั้น ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทําการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคําสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่ จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่

คําสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด

รวมทั้งเขียนแบบเดียวกันในมาตรา 225 ของรัฐธรรมนูญ 2560

นอกจากนั้น พ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติว่า กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัด หรือเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่งของคณะกรรมการ หรือปฏิบัติตามคําสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เก้าอี้ ส.ส.เชียงใหม่จึงยังเป็นของนางศรีนวล แม้นายสุรพลจะไปฟ้อง กกต.เพื่อขอเก้าอี้คืนก็ยาก เพราะการใช้อำนาจของ กกต.นั้นถือเป็นที่สุด จะไปฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายกกต.ก็มีกฎหมายคุ้มครองเอาไว้ว่าไม่ต้องรับผิด

แต่สิ่งที่นายสุรพลได้คือ ไม่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และไม่ต้องชดใช้เงินค่าเลือกตั้งตามคำตัดสินของศาลเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า การวินิจฉัยของศาลคดีเลือกตั้งนั้นก็ชัดเจนว่า นายสุรพลไม่ได้กระทำผิดตามที่ กกต.กล่าวหาจนกระทั่งออกใบส้มตัดสิทธิเลือกตั้ง ทำให้สิทธิของนายสุรพลหายไปโดยไม่เป็นธรรม อันนี้มีคำถามว่า กฎหมายจะปกป้องสิทธิของเขาอย่างไร จะปกป้องสิทธิของประชาชนที่ลงคะแนนเลือกนายสุรพลมาเป็น ส.ส.ของเขาอย่างไร

ทั้งนี้โดยหลักแล้วควรจะมีกฎหมายป้องกันการใช้อำนาจที่ผิดของ กกต.หรือไม่ หาก กกต.ทำงานไม่รอบคอบหรือคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ได้ เพราะคิดว่ามีกฎหมายคุ้มครองการทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ หรือกระทั่งสมมติว่า กกต.ใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งใครจะป้องกันอย่างไร และความสุจริตเช่นกรณีของนายสุรพลควรจะมีกฎคุ้มครองเพื่อให้ความเป็นธรรมกับเขาไหม

หรือต้องไปพิสูจน์ตามวรรคสองของมาตรา 23 ว่า กกต.ได้กระทำไปโดยสุจริตหรือไม่ เพราะถ้าไม่สุจริตก็ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยากมาก เพราะอย่างไรเสีย กกต.ก็ต้องยืนยันว่า ได้กระทำไปตามกรอบของกฎหมายที่ได้ให้อำนาจไว้

ผมคิดว่านี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกที่ไม่เขียนเพียงแต่ให้กกต.ใช้อำนาจหน้าที่ แต่ไม่ได้มีบทแซงก์ชันเพื่อป้องกันการใช้อำนาจมิชอบ และปกป้องคนสุจริตตามหลักนิติรัฐ และไม่เปิดช่องให้ผู้บริสุทธิ์ได้เรียกร้องความยุติธรรมกลับคืนมา

จะเห็นได้ว่า ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเรานับกว่าสิบปีมานี้นั้นมีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ ความยุติธรรมของกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม กรณีที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีช่องโหว่ของกฎหมายที่ยังไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ

ถึงตอนนี้นึกไม่ออกเลยว่าจะคืนความยุติธรรมให้กับนายสุรพล และชาวเชียงใหม่ที่เลือกเขามาเป็นผู้แทนอย่างไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น