xs
xsm
sm
md
lg

ความรักสำคัญกว่าความรู้และจิตวิทยาสำหรับครูในการลงโทษเด็ก

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ครูสอนอนุบาลผมที่โรงเรียนอนุบาลขอนแก่นชื่อครูอ็อบจบอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้าใจว่าอย่างนั้น แต่มาสอนอนุบาล 2 ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูหรอกครับ

ผมจำได้ว่าเห็นครูอ็อบตอนที่ผมเรียนมัธยมแล้วขับรถจักรยานยนต์มาเช่าหนังสือไปอ่านหลายต่อหลายครั้ง และจำได้เงาๆ ว่าครูอ็อบจบอักษรศาสตร์ แต่เหตุใดมาเป็นครูสอนเด็กอนุบาลสองแบบผม ผมก็ไม่แน่ใจ

ที่ผมจำได้แม่น ผมขี้แตกใส่กางเกงในโรงเรียน ครูอ็อบพาไปล้างก้นให้ หากางเกงมาให้ใส่ และจับกางเกงเปื้อนขี้ใส่ถุงพลาสติกให้ผมหิ้วกลับบ้านไปให้แม่ผมซักด้วย

ผมนี่พอหวนกลับไปคิดแล้ว ก็รู้สึกว่ารักครูอ็อบมาก และครูอ็อบก็ต้องรักลูกศิษย์มากเหลือเกิน รักลูกศิษย์ เหมือนกับลูกของตัวเองก็ว่าได้ ไม่มีความรังเกียจแม้แต่ขี้ของลูกศิษย์ คนเป็นครูสอนเด็กอนุบาลนี่ต้องรักเด็กจริงๆ เหมือนกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ต้องไม่รังเกียจที่จะล้างก้น ล้างขี้ให้ลูก ถ้าไม่รักจริงๆ จะทำแบบนี้ไม่ได้เลย

พ่อแม่คือครูคนแรกของลูก พ่อแม่บางคนไม่ได้จบอะไรเลยก็เลี้ยงลูกเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นอภิชาตบุตรก็ได้้

ความรักสำคัญกว่าความรู้ สำคัญกว่าใบบ้าบอทั้งปวง

ผมเองเป็นผลผลิตของครูสองแบบ (เป็นส่วนใหญ่) แบบแรกคือครูที่ไม่มีใบปริญญา จบ แค่ ปกศ. สูง พม. หรือ ปม. หรือวุฒิครูมูล ครูที่สอนผมแบบนี้เป็นครูภูธร แต่ส่วนใหญ่คือเด็กที่สอบได้ที่หนึ่งของจังหวัด แล้วมาเรียนครูเพราะได้ทุนเรียนครู ครูแบบนี้เก่ง วิชาความรู้แน่น รักเด็ก มีความเป็นครูสูงมากครับ

ครูของผมแบบที่สอง คือครูที่มีปริญญา แต่ไม่มีปริญญาทางครูหรือการศึกษา ผมเรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ภาษาฝรั่งเศส กับครูที่จบทางอักษรศาสตร์ เรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา กับครูที่จบวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท เป็นส่วนใหญ่ ครูแบบหลังนี้ไม่ได้เรียนครูมาโดยตรง สมัยนี้จะสอบใบประกอบวิชาชีพครูได้ลำบาก แต่คนที่เก่งในเนื้อหาและสอนด้วยความรัก ก็สอนได้ดีทั้งนั้น และน่าจะดีกว่าครูที่เรียนวิชาครูมาแน่น สอนเก่ง แต่สอนเนื้อหาที่ผิดให้เราจดจำได้แม่นด้วยซ้ำไปครับ

ย้อนกลับไปที่ครูสอนอนุบาลสองของผม ครูอ็อบ สมัยนั้นไม่มีหรอกครับใบประกอบวิชาชีพครู แต่สิ่งที่ครูอ็อบมีอยู่เต็มเปี่ยมคือความรักความเมตตาต่อเด็ก ผมว่าสำคัญกว่าเป็นไหน

ผมเชื่อว่าเด็กเล็กๆ ไม่ได้จำเป็นต้องมีความรู้อะไรมากมายหรอกครับ สิ่งที่เด็กเล็กๆ ต้องการคือความรัก ความเข้าใจ การสอนให้มีทักษะชีวิตและรู้จักช่วยเหลือตนเองได้ ไอ้การอ่านหนังสือออก คิดเลขได้ พูดภาษาอังกฤษได้ ใช้คอมพิวเตอร์ได้ แบบที่พ่อแม่สมัยนี้อยากให้ลูกเป็นยอดมนุษย์ตั้งแต่อนุบาลได้นั้น ผมว่าไม่จำเป็นเลย

ทำอย่างไรให้เด็กอนุบาลมีความสุข มีทักษะในการใช้ชีวิต ช่วยเหลือตัวเองได้ เติบโตไปทั้งทางร่างกาย สังคม อารมณ์ จิตใจ ไปครบด้าน ส่วนที่จะพัฒนาสติปัญญา เรียนหนังสือได้เก่ง ไปเริ่มในประถมศึกษาก็ได้ อย่าไปเร่งรัดเด็กมากเกินไปเลยครับ เวลาและพัฒนาการของเด็กควรให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่าไปเร่งรัดให้มากจนเกินไปเลย

และถ้าครูจะตีเด็ก ก็ต้องตีด้วยความรัก สอนสั่ง อธิบายเหตุผล ตีเพื่อสอน ไม้เรียวสร้างคนมาเยอะแยะแต่ต้องเป็นไม้เรียวแห่งความรัก ความเข้าใจ ใช้เหตุผล

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา) ผู้แต่งเพลงกราวกีฬา และเพลงสามัคคีชุมนุม อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการและประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของไทย ท่านเป็นครู ได้เขียนกลอนชื่อ “ไม้เรียว” ในหนังสือชื่อ โคลงกลอนของครูเทพ ซึ่งอยากจะขอคัดลอกมาให้ได้อ่านกันบางส่วนดังนี้

***************************************

วิสัยเด็กเปรียบได้กับไม้อ่อน  ที่ดัดร้อนลนไฟนั้นไม้คร่ำ
ดัดเย็นได้ไฉนจักไม่ทำ?    ดัดด้วยน้ำรัก-กระด้างอ่อนดังใจ
ถืออำนาจเหตุผลกุศลกรรม  ยุติธรรมปลุกเสกเด็กผู้ใหญ่
ของใครดีให้ประนอมยอมกันไป  แต่มิให้ตามใจขอไปที
ให้เหตุผลครอบงำย่อมทำได้  เด็ก ผู้ใหญ่ ครูศิษย์ ไม่ผิดที่
อบรมด้วยเหตุผลได้คนดี  น้ำรักมีเมตตาเป็นยาพอ
เก็บไม้เรียวห่อไว้ในตู้เหล็ก  สำหรับเด็กเกกมะเหรกและเหลือขอ
ทารกอ่อนเชาน์ไวใช้ลูกยอ  แล้วหุ้มห่อด้วยรักจักมีชัย
ครูเป็นผู้เพ่งจิตตวิทยา  ใช้วิชาด้วยวิธีที่แจ่มใส
เพื่อศิษย์ล้วนร่าเริงบันเทิงใจ  ได้เจริญเชาวน์ไวในชีวิต
การเฆี่ยนตีเป็นวิธีทำลายขวัญ  โทษมหันต์ คุณมีกะจี้หริด
ห้ามก้าวหน้าพาหู่อยู่เป็นนิตย์  เป็นยาพิษมิให้ใช้บำรุง
ผู้เฆี่ยนตีโดยมากไม่อยากคิด  โทสจริตครอบงำทำให้ยุ่ง
มีอำนาจก็จะใช้ไม่ปรับปรุง  ตั้งศาลเตี้ยตามมุ่งแต่ใจตน
เหตุฉะนั้นการตีมีแต่ห้าม  ไม่ต้องตามยุยงส่งเสริมผล
ก็สงครามใครตามไปปรือปรน  มีแต่คนคอยห้ามสงครามไว้
โบราณว่าเสียดายไม้เป็นภัยแก่  ยุวชนนั้นแน่หรือไฉน?
เดี๋ยวนี้โลกเจริญมากหากเปลี่ยนไป  เป็นขอให้เสียดายพร้อมออมไม้เรียว
อารยชนไม่ชอบหวาย, ฉันใด  ลูกของเขาไม่ชอบไม้หวดเควี้ยวๆ
อันนี้ก็เช่นกันฉันนั้นเทียว  พึงเฉลียวเลือกใช้ให้ชอบ เทอญ

กรกฎ ๗๗.


***************************************

ที่มา: ครูเทพ (นามแฝง). โคลงกลอนของ “ครูเทพ” เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา,๒๕๑๕.

ภาพถ่ายครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) vs. ภาพล้อครูเทพ  ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
การใช้จิตวิทยาในการลงโทษของครูอย่างถูกวิธีอาจจะทำให้ครูไม่ต้องใช้ไม้เรียวเลยสักนิดก็ได้ และได้ผลมากยิ่งกว่ามาก ครูเทพสอนไว้ได้ถูกต้องจริงๆ

ผมได้อ่านเรื่องนี้ที่ อาจารย์ คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้พูดสอนนักเรียนที่อ่อนที่สุดในห้องคนหนึ่ง ด้วยความเป็นครูหมดหัวใจ และไม่โทษเด็ก แต่ใช้ความรักความเมตตาเด็ก สอนเด็กจนเด็กได้ดี ผู้ที่ถูกคุณหญิงพรรณชื่น สอนจนได้ดีคือ ดร. เฉลิมพล ไวทยางกูร นักวิชาการอิสระ/ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านภาษาอังกฤษ/ที่ปรึกษากรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เขียนเรื่องราวที่แสนประทับใจไว้บน Facebook ดังนี้

***************************************

ถูกครูตีน้ำตาไม่ไหล แต่ครูพูด น้ำตาริน...


ผมนั้น บางครั้งบางเวลาก็ออกจะห้าวๆเหมือนกัน จนบางครั้งก็ถึงกับถูกทำโทษ
ผมจำได้ว่าถูกครูตีครั้งสุดท้ายตอนเรียน ม.ปลาย มศ.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
เด็กโรงเรียนเตรียมฯนั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าต้องเรียบร้อยแบบผ้าพับไว้ เรื่องอะไรที่ห้าวๆไม่ค่อยมี
ต่างจากโรงเรียนข้างๆคือ รร.ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ที่มีเรื่องตีกับช่างกลปทุมวัน ไม่งั้นก็ตีกับเด็กโรงเรียนอื่นอยู่เรื่อยๆ
แต่ผมก็เคยถูกตี ที่โรงเรียนเตรียมฯ ทั้งๆที่เป็นหนุ่มแล้ว...
เรื่องมีอยู่ว่า ตอนเรียน มศ.4 พวกเด็กผู้ชายจะเรียน รด.ทุกคน
และก็ต้องตัดผมสั้น
ผมนั้น ก็เหมือนคนอื่น แต่เรื่องตัดผมสั้นนั้น ผมตัดลองทรงสั้นข้างๆ แต่ด้านบนนั้นไว้ผมนิดหน่อย หวีแล้วจะเรียบแปร้
วันหนึ่ง ทางโรงเรียนเรียกนักเรียนชายทั้งโรงเรียนมาตรวจผม ที่โรงอาหารใหญ่ของโรงเรียน ที่ใช้เป็นหอประชุมด้วย
ปรากฎว่าวันนั้นมีคนถูกตีเรื่องผมยาวเยอะเลย...รวมทั้งผมด้วย
ครูที่ทำหน้าที่วัดผมนั้นเป็นครูที่ดูแลเรื่องเรียน รด.ด้วย (ผมจำชื่อท่านไม่ได้)
ผมถูกทำโทษ เพราะไว้ผมด้านบนยาวเกินกำหนด แม้ว่าด้านข้างจะไถเรียบ..
ครูบอกว่า...ไว้ผมทรงตะปิ้ง..ไม่ได้ ต้องไม่ยาวเกินกำหนด
ถูกตีพอเป็นพิธี ไม่ได้เจ็บอะไรมาก ไม่ถึงกับน้ำตาไหล โรงเรียนให้รู้ว่าทำผิดกฎ ไปแก้ไขเสีย
เป็นการถูกตีครั้งสุดท้ายในชีวิตของการเป็นนักเรียน ม. ปลาย ที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย
ถูกครูตี น้ำตาไม่ไหล..แต่ครูพูด น้ำตาริน..ได้อย่างไร...
ตอนเรียน มศ. 5 นั้น ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย ทางโรงเรียนเตรียมฯมีติวเข้ม บางห้องเช่นห้องคิง ควีน เรียนกันตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ก่อนเรียนวิชาปกติ ติวเข้ม เพราะต้องสอบข้อสอบกระทรวงทั่วประเทศ
นักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งที่สองของห้องคิง มักเป็นที่หนึ่งที่สองของประเทศด้วย..
แล้วโรงเรียนก็พยายามสืบสานให้รุ่นเราทำได้เหมือนรุ่นพี่ๆ...
ผมเรียนห้องธรรมดา...ไม่ใช่ห้องเด็กเก่ง..แล้วผมเองก็เป็นเด็กหลังห้อง ที่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ ทางโรงเรียนก็คงไม่ได้หวังมากนัก นอกจากให้ทุกคนจบ ม.ปลาย เข้ามหาวิทยาลัยได้หมด
เรื่องมีอยู่ว่า...การสอบกลางปีระหว่างเรียน ม.ศ. 5 นั้น ผมสอบวิชาภาษาอังกฤษ writing ของ อาจารย์พรรณชื่น รื่นศิริ ได้คะแนนต่ำสุดของห้อง
ไม่ใช่แค่ต่ำสุด แต่สอบตก และตกคนเดียวในห้อง....
ในวันที่ประกาศผลสอบวิชา Writing ท่านอาจารย์พรรณชื่น เข้ามาในห้อง พร้อมทั้งประกาศคะแนนของแต่ละคนเรียงตามลำดับคนที่ได้คะแนนสูงสุด
แน่นอน ผมเป็นคนสุดท้าย...
เมื่ออาจารย์บอกคะแนนนั้น นักเรียนที่ถูกพูดถึงจะยืนขึ้นรับทราบคะแนนสอบ
ผมยืนขึ้นเป็นคนสุดท้าย...ผมรู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องมีปัญหาแน่ เพราะเพราะผมอ่อนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะวิชา Writing ของอาจารย์พรรณชื่น
อาจารย์ประกาศชื่อผม แล้วท่านก็เงียบไป..ผมก็เงียบ
แล้วท่านก็พูดต่อว่า...ครูสอนไม่ดีหรือไง...
ท่านไม่ได้ว่าผมว่าขยันไม่พอ เรียนอ่อน ไม่ได้ทุ่มเท ขี้เกียจ สอนเท่าไรไม่รู้จักจำ หรืออะไรต่อมิอะไร ที่ทั่วๆไปมักจะได้ยินตอนนักเรียนสอบตกในชั้น
ท่านว่าตัวท่านเอง...ครูสอนไม่ดี
ผมมีความรู้สึกจุกที่คอ พูดอะไรไม่ออก นอกจากตอบอาจารย์เบาๆว่า...เปล่าครับ
แล้วก็น้ำตารินออกมา... ไม่ได้มองหน้าครู แต่มองออกไปนอกหน้าต่างห้อง
มีเพื่อนบางคนเห็น แต่ทุกคนก็เงียบหมด
ผมเคยเล่าเรื่อง ผมสอบตกคนเดียวในห้องมาบ้างแล้ว จะไม่พูดอีกวันนี้...
เพียงแต่บอกความลับ ที่ทำให้ผมน้ำตาไหล ครั้งเดียวและสุดท้าย
อาจารย์พรรณชื่น ไม่ได้ดุอะไรผมสักคำ...ท่านว่าตัวท่านเอง
แต่ทำให้ผมถึงกับน้ำตาไหล..
ครูตี น้ำตาไม่ไหล...ครูพูด น้ำตาริน.....
(ปล. เมื่อครั้งมีงานโรงเรียนสมัยลูกสาวเป็นเด็กเตรียมฯ ครอบครัวผมก็ไปงาน ผมเข้าไปไหว้อาจารย์สมัยผมเรียนที่นั่งเรียงๆกันตั้งแต่ อาจารย์ ผอ. คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู อ.คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ และ อ.คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ...ผมกราบอาจารย์พรรณชื่นเป็นสุดท้าย แล้วบอกว่าผมชื่ออะไร อาจารย์จำได้ไหม ที่ให้ผมกินข้าววันละ 15 นาที สอนภาษาอังกฤษพิเศษที่ห้องพักครู..อาจารย์พูดทันทีว่า จำได้สิ จำได้...ผมคิดเองว่าผมอาจเป็นลูกศิษย์คนเดียวหรือไม่กี่คนในชีวิตครูของท่านที่ต้องทุ่มเทขนาดนี้ ท่านยังไม่ลืม)

***************************************

ดร. เฉลิมพล ไวทยางกูร ยังได้เขียนถึงอาจารย์คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ ไว้อีกครั้งบน Facebook ว่า

***************************************

อาจารย์คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
To teacher with love...แด่ ครูในดวงใจของผม...

16 มกราคม ของทุกปี คือวันครู..
ผมนั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นครูอาจารย์ในหลายเรื่องหลายมิติ
เพราะตั้งแต่เกิดมา คุณพ่อผมเป็นครู และคุณแม่ผมก็เป็นครู ก่อนจะย้ายมาทำงานเสมียนศาล และพนักงานธุรการแผนกอัยการต่อมา
ในจำนวนน้องผมทั้งคุณแม่เดียวกัน และคนละคุณแม่ รวม 6 คน ก็เป็นครูอาจารย์ 5 คน ตั้งแต่ผมที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย กับน้องสาวอีก 4 คนที่เป็นตั้งแต่ครูอนุบาล ถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ มีเพียงน้องชายคนเล็กคนเดียวที่อยู่ต่างประเทศที่ไม่ได้เป็นครู
ความเป็นครูจึงอยู่ในสายเลือดของพวกผมตลอดชีวิต...
ถึงผมจะเป็นครู แต่ผมมีคนที่เป็นครูของผมท่านหนึ่ง ที่เป็นครูในดวงใจของผม
ท่านคืออาจารย์คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ ...อดีต ผอ.หลายโรงเรียน ที่สำคัญคือ รร.บดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) และผอ.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ผมจบ ม.ปลาย
แต่ตอนที่ท่านสอนผมนั้น ประมาณปีการศึกษา 2509-2510 ท่านยังไม่ได้เป็น ผอ. เป็นแต่ครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเตรียมอุดม
ผมไม่ทราบประวัติท่านมากนักในขณะเรียน ม.ปลายทั้ง มศ.4, 5 รู้แต่ว่าท่านเข้มงวดกวดขันกับนักเรียนเรื่องภาษาอังกฤษที่ท่านสอน ไม่ว่า reading, writing, grammar, structure
ซึ่งผมมีปัญหามากที่สุดในห้อง....
ผมนั้นเป็นเด็กต่างจังหวัด สอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯแผนกวิทย์ แต่สอบไม่ติด และทางโรงเรียนจัดให้ไปเรียนศิลป์คำนวณ อาจเพราะตอนสอบเข้าคะแนนคณิตศาสตร์พอใช้ได้ แต่วิทยาศาสตร์ยังไม่เก่งพอ
แต่ถ้าอยากเรียนแผนกวิทย์จริงๆ ก็อาจไปเรียนโรงเรียนอื่นที่ใช้คะแนนสอบของเด็กที่ไม่ติดเตรียมฯไปยื่นได้เช่น รร.ทางฝั่งธนบุรี โรงเรียนบางแสนวิทยาลัย ที่บางแสน
ผมนั้น บอกตรงๆ (เป็นความลับมานาน) ว่าอยากเรียนวิศวะ จุฬา จึงสอบเข้าแผนกวิทย์ เหมือนเพื่อนอีกสองสามคนที่ติดศิลป์คำนวณ ก็อยากเรียนวิทย์มากกว่า
เพื่อนๆที่ติดศิลป์คำนวณ พากันทิ้งแผนกศิลป์คำนวณ รร.เตรียมฯไปสมัครเรียนวิทย์ที่ รร.อำนวยศิลป์ เหลือผมคนเดียว
ผมอายุแค่ 14 ยังเป็นเด็กชาย ไม่รู้อะไรมาก แต่ก็คิดอย่างหนึ่งว่า ที่อยากเรียนวิทย์นั้น เพราะจะเข้าวิศวะ จุฬา แต่ก็คิดต่อว่า ขนาดเข้าแผนกวิทย์ รร.เตรียมฯที่รับถึง 800 คน ผมยังสอบไม่ได้ แล้วผมจะไปแข่งกับเด็กเก่งทั่วประเทศที่ต้องการเข้าวิศะ จุฬา ที่รับแค่ 2-300 คน บวกภาคค่ำอีก 200 ยังไงๆก็ไม่เกิน 500 คนไหวหรือ
ในที่สุดก็ตัดสินใจ ไม่ย้าย ไม่หาที่เรียนใหม่ อยู่ รร.เตรียมฯนี่แหล่ะ เป็นเด็กศิลปะ ก็เป็นกัน
โดยหารู้ไม่ว่า แผนกศิลป์นั้น ต้องเรียนภาษาอังกฤษหนักหน่วงกว่าแผนกวิทย์เป็นเท่าตัว แล้วเด็กต่างจังหวัดอย่างผมจะไปสู้เด็กศิลป์ที่มาจากสาธิต เซ็นโย มาแตร์ อัสสัม คริสเตียน เซ็นคาเบรียล ราชินี ได้อย่างไร พวกเขาเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาล ในขณะที่ผมเรียนโรงเรียนวัดจากต่างจังหวัด ป.1-4 ที่ชัยนาท และเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ a, b, c, d เมื่อเข้า ม.1 (ป.5 ปัจจุบัน) โรงเรียนโชติรวี ที่นครสวรรค์
ยิ่งไปกว่านั้น ผมก็ยังย้ายมาเรียนแผนกศิลป์ฝรั่งเศส ต่อมา แทนที่จะเป็นศิลป์คำนวณ เพราะศิลป์คำนวณเพิ่งตั้งใหม่ ไม่รู้เรียนจบจะไปสอบเข้าคณะไหน ถ้าเรียนฝรั่งเศส อาจไปเรียนต่อกฎหมายที่ฝรั่งเศสได้ ผมไม่ได้คิดเองนะครับ คุณพ่อผมบอกอย่างนั้น
เวรกรรมของผม... ภาษาอังกฤษก็ไม่ดี แล้วยังมาเรียนภาษาฝรั่งเศส ที่เพื่อนๆจบมาจาก รร.ข้างต้นเขาเรียนกันมาตั้งแต่เล็กๆ แต่ผมไม่เคยเรียน อา เบ เซ เด แม้แต่คำเดียวในชีวิต
ผมกลายเป็นเด็กมีปัญหาด้านภาษาอังกฤษ ระหว่างเรียน มศ. 4 ผมสอบได้คะแนนรั้งท้าย ทั้งอังกฤษ ก ข ค สามฉบับ แต่ภาษาฝรั่งเศสพอกล้อมแกล้มผ่านได้
แต่พอขึ้น มศ.5 โรงเรียนเข้มงวดมากขึ้น มีเรียนเสริมเพิ่มเติม ผมก็ยิ่งมีปัญหา...
ผมกลายเป็นเด็ก มศ. 5 ของห้องที่สอบภาษาอังกฤษตก คนเดียวในห้อง
และครูคนเดียวกันที่สอนภาษาอังกฤษผมทั้ง มศ.4, 5 ก็คือท่านอาจารย์พรรณชื่น รื่นศิริ
การสอบกลางภาค มศ.5 ที่ผมสอบภาษาอังกฤษตกคนเดียวในห้อง น่าจะสร้างความหงุดหงิดให้กับอาจารย์พรรณชื่น ไม่น้อย เพราะท่านเป็นอาจารย์ประจำชั้นห้อง King แผนกศิลป์ด้วย แล้วก็สอนหลายห้อง ไม่มีเด็กสอบวิชาที่ท่านสอนตก...มีผมคนเดียว
วันประกาศคะแนนสอบภาษาอังกฤษนั้น ดูเหมือนอาจารย์ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดีกับเด็กที่สอบตกคนเดียวในห้อง
ผมนั่งท้ายสุดของแถวติดหลังชั้น ได้ยินอาจารย์ถามเพื่อนๆที่นั่งข้างหน้าว่า คะแนนวิชาอื่นของผมเป็นอย่างไร
วันนั้นมีประกาศคะแนนสอบ midterm หลายวิชาตั้งแต่เช้า
เกือบทุกวิชาที่ประกาศ ผมทำคะแนนระดับ top ของห้องทั้งหมด ไม่ว่าภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ก. วิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาษาไทย ทั้ง ก และ ข
อาจารย์คงเอะใจว่า ตกลงผมเก่งหรือไม่เก่งกันแน่ที่ทำคะแนนสูงสุดในห้องเกือบทุกวิชา แต่ภาษาอังกฤษสอบตกคนเดียวในห้อง
และเมื่อภาษาอังกฤษไม่ดี ภาษาฝรั่งเศสก็ได้แค่พอกล้อมแกล้ม ไม่ดีมาก แค่ผ่านไปได้
อาจารย์พรรณชื่น เรียกผมไปพบที่ห้องพักครูตอนกลางวันวันหนึ่ง แล้วบอกว่า เอาอย่างนี้ ให้ผมกินข้าวกลางวันๆละ 15 นาที แล้วเขียน diary เป็นภาษาอังกฤษทุกวันให้อาจารย์ตรวจตอนพักเที่ยงที่ห้องพักครู
อาจารย์ตักข้าวเข้าปากเคี้ยวไปด้วย ตรวจภาษาอังกฤษผมไปด้วย
ผมคงทำบาปกับคุณครูคนนี้ของผมพอสมควร...
วันแรกๆที่ผมเขียน diary นั้น ปรากฎว่า อาจารย์ใช้ปากกาแดงแก้ แดงเถือกไปทั้งหน้า
ต่อมาผมเริ่มเขียนดีขึ้น มีแก้น้อยลงๆ จนเกือบไม่มีแก้
เป็นเดือนๆ ที่ผมกินข้าว 15 นาที และไม่ได้เล่นกับเพื่อนตอนพักเที่ยง
เพื่อนแหย่ผมว่า ผมถูกทำโทษแล้ว...
วันหนึ่งในวิชาของอาจารย์ ให้นักเรียนขึ้นกระดาน เขียนเติมคำโดยผัน tense ที่ถูกต้อง
เมื่อผมถูกเรียกให้ไปขึ้นกระดาน ผมเขียน tense ภาษาอังกฤษถูกทั้งหมด ไม่มีผิดเลย
ยังจำติดหูติดตา... อาจารย์อุทานว่า ..ครูเหมือนยกภูเขาออกจากอก
อีกสองเดือนต่อมา เมื่อมีการสอบปลายปี ใช้ข้อสอบกระทรวง...
ผมสอบได้คะแนนสูงสุดในห้อง เป็นที่หนึ่งของห้อง และเป็นคนเดียวที่สอบติดบอร์ดแห่งประเทศไทย
จากนั้น ชีวิตการเรียนหนังสือของผมก็เดินต่อด้วยดี จนถึงบัดนี้
ผมมีวันนี้ เพราะมีครูดีในวันโน้น
อาจารย์คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ ได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว
แต่คงเป็นครูในดวงใจของผม ตราบนานเท่านาน
To teacher with love....
สวัสดีวันครู ครับ......


***************************************

เชื่อผมเถิดครับว่าความรักนั้นสำคัญกว่าความรู้ และครูควรใช้จิตวิทยาในการลงโทษเด็กมากกว่าการใช้ไม้เรียวหรือความรุนแรง


กำลังโหลดความคิดเห็น