xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.แนะรัฐลดเหวี่ยงแห เน้นช่วยรายกลุ่มดันไทยรอด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-ธปท.เสนอเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เป็น “ทางรอด” ของประเทศไทย พร้อมแนะลดมาตรการแหว่งแห่ จนเกิดเป็นเบี้ยหัวแตก เน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือที่แท้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 “ปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง” ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุขที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ และยังไม่ทราบว่าวิกฤตดังกล่าวจะจบลงเมื่อใด รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นทิศทางใดต่อจากนี้ ดังนั้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมีสิ่งที่ไทยจะต้องทำให้เกิดขึ้น คือ 1.ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ 2.การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีและสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ และ 3.การกระจายผลประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รุนแรงขึ้น

“การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะทำให้เกิดได้จริง จะต้องร่วมกันในระดับจุลภาคและมหภาค เพื่อให้ครัวเรือนปรับตัวในทิศทางที่ควรจะเป็น โดยนโยบายจุลภาคจะต้องลดอุปสรรคและลดความลักลั่นในระบบ ภาครัฐต้องเปิดเสรีให้ผู้แข่งขันรายใหม่ ลดอุปสรรคต้นทุนในสิ่งไม่จำเป็น และภาครัฐควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลเพื่อรองรับการเข้าถึงข้อมูล จะต้องตระหนักว่านโยบายภาพใหญ่จะเข้าถึงทุกคน โดยแรงงานต้องปรับทักษะ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวการแข่งขัน เพื่อสร้างแรงจูงใจในระยะยาว”

นายวิรไทกล่าวว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจท่ามกลางโควิด-19 ภาครัฐต้องคำนึงถึงประเด็นหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นสอดคล้องกับการปรับตัวระยะยาว เพราะไม่ทราบปัญหาจะลากยาวแค่ไหน ภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดสรรทรัพยากรการเยียวยาเพื่อประคองระยะสั้น และรองรับการปรับตัวระยะยาว โดยปรับจากมาตรการเยียวยามาเป็นการปรับโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ แม้ว่ามาตรการเยียวยายังจำเป็น แต่ต้องควบคู่กับการปรับตัวสู่โลกหลังโควิด-19

“ภาครัฐต้องลดมาตรการเหวี่ยงแหแบบทุกคน แต่เน้นกลุ่มคนที่ต้องช่วยเป็นพิเศษ เพราะแรงงานและผู้ประกอบการมีการฟื้นตัวแตกต่างกัน เพราะการเหวี่ยงแหจะเกิดเบี้ยหัวแตก ไม่เกิดประสิทธิผล แต่จะต้องอาศัยกลไกตลาดคัดกรอง สร้างแรงจูงใจ เพราะถ้าทำไม่ดีจะเกิด Zombie Firm จะสร้างผลเสียและขาดแรงจูงใจ และกลไกถูกบิดเบือน และทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐขาดทรัพยากรไปช่วยเหลือประเทศ” นายวิรไทกล่าว

2.การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ถ้าไม่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาพเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกเศรษฐกิจหนึ่งได้ จึงจำเป็นต้องมีอุปสรรคในการโยกย้ายทรัพยากรข้ามธุรกิจ แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้นทุนสูงมาจากกฎภาครัฐที่ซับซ้อนไม่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้นทุนของเอสเอ็มอีสูงกว่ารายใหญ่ ทำให้เกิดโครงการทบทวนศึกษากฎหมาย หรือเรียกว่า Regulation Guillotine พบว่า 424 กระบวนการไม่จำเป็น และอีก 472 เป็นกระบวนการที่ควรปรับปรุง เพื่อลดขั้นตอน เป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวโดยไม่สร้างภาระให้งบประมาณของรัฐบาล

3.การยกระดับท้องถิ่นต่างจังหวัด จะต้องเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมชนบทต่างจังหวัดเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหามากมายทั้งปัญหาแรงงานสูงอายุในภาคเกษตร ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ คุณภาพการศึกษาในชนบทที่ตกต่ำ

อย่างไรก็ดี การเกิดโควิด-19 ทำให้เกิดการย้ายแรงงานมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเป็นพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่างจังหวัด สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมชนบท ยกระดับผลิตภัณฑ์ในภาคเกษตรและวิสาหกิจชุมชน เป็นโอกาสในการเพิ่มอุปทานและกำลังซื้อในท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นจะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยภาครัฐจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี เพราะการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด และไม่ใช่จะมาปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจว่าจะไปในทิศทางไหน แต่ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น