ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ระบุเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง เหลื่อมล้ำสูง แนะเร่งปฏิรูป เพื่อให้อยู่รอดในยุคหลังโควิด-19
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 “ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง” โดยระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจขณะนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจำเป็นต้องเร่งปฏิรูป โดยวิกฤตโควิด-19 ทำให้ปัญหาเด่นชัดขึ้น 3 ด้าน คือ มีผลิตภาพต่ำ เศรษฐกิจไทยภูมิคุ้มกันต่ำและขาดความสามารถในการรับมือ และผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยกระจุดตัว มีความเหลื่อมล้ำสูง โดยคนไทยมีความเหลื่อมล้ำตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และติดตัวจนส่งผลไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ผู้ประกอบการรายใหม่หรือเอสเอ็มอี ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันกับรายใหญ่รายเดิมได้ เนื่องจากข้อจำกัดในกฎเกณฑ์ของภาครัฐ
ผู้ว่าการ ธปท.แนะการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วงโควิด-19 มี 3 ประเด็นที่ต้องคำนึง คือ 1.การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น ต้องสอดคล้องต่อทิศทางเศรษฐกิจระยะยาว โดยเพิ่มน้ำหนักจากการเยียวยาไปสู่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่ยุคหลังโควิด-19 มากขึ้น ภาครัฐควรลดการออกมาตรการเหวี่ยงแห เพราะจะกลายเป็นการใช้งบแบบเบี้ยหัวแตก 2.การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ด้วยการโยกย้ายทรัพยากรข้ามภาคธุรกิจ ที่ผ่านมาทำได้ยากและมีต้นทุนสูง เพราะติดข้อจำกัดกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่มีความซ้ำซ้อนไม่ยืดหยุ่นและมีกฎระเบียบที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และ 3.ท้องถิ่นต่างจังหวัดต้องเป็นเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เร่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้ประชาชนแต่ละพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
ผู้ว่าการ ธปท.ระบุด้วยว่า การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่าคำถามที่สำคัญตอนนี้ ไม่ใช่แนวคิดว่าจะปฏิรูปโครงสร้างเศษฐกิจไปในทิศทางไหน แต่ต้องมาคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้เกิดจริง
ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งจะเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.คนที่ 21 วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ได้เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย