คือความขัดแย้ง การกระทบกระทั่งกันระหว่าง “จีน” และ “อินเดีย” ช่วงหลังนี้...มันคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในบริเวณเส้นแบ่งแนวพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ ที่ไม่ว่าจะเจรจากันแบบไหน เสริมกำลังกันไปถึงขั้นไหน สุดท้าย...มันก็น่าจะยังคงมีเรื่องอื่นๆ และถือเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารมิใช่น้อย ที่ต้องพูดจาว่ากล่าวกันอีกเยอะ...
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของจีน หรือที่เรียกๆกันว่า “แอปพลิเคชัน” (Application) ทั้งหลาย ที่เคยมีตลาดขนาดใหญ่เอามากๆ ในอินตะระเดีย อย่างเช่นแอปพลิเคชัน “TikTok” ที่บรรดาแขกทั้งหลาย เคยต้อง “โหลด” เก็บไว้ ไม่น้อยไปกว่า 611 ล้านรายเป็นอย่างน้อย หรือ 30.3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเอาเลยถึงขั้นนั้น แต่จู่ๆ...ก็ถูกทางการอินตะระเดียสั่ง “แบน” เอาดื้อๆ ตามการชี้แนะ ชี้นำ ของคุณพ่ออเมริกาผู้นี้นี่เอง รวมทั้งแอปพลิเคชันจีนอีกนับเป็นจำนวนร้อยๆ จาก 144 แอปพลิเคชัน ต่างก็ถูกทางการอินเดียห้ามโหลด ห้ามใช้ ให้หันไปใช้แอปพลิเคชันของอเมริกัน อย่างเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ฯลฯ กันแทนที่...
นอกเหนือไปจากนั้น...บรรดานักธุรกิจ การค้า นักลงทุนในอินตะระเดียจำนวนไม่น้อย ยังหันมา “ต่อต้านสินค้าจีน” แบบอุตลุด ฉุดไม่อยู่ กู่ไม่กลับ รวมทั้งพยายามหันไปฉุดกระชากลากถูนักลงทุนอเมริกัน ให้หันมาลงทุน หรือหันมาสร้าง “ห่วงโซ่อุปทาน”ในอินเดียกันแทนที่ โดยเฉพาะในช่วงที่ “สงครามการค้า” ระหว่างจีนและอเมริกา กำลังกลายสภาพเป็น “สงครามเย็นยุคใหม่” ยิ่งเข้าไปทุกที และที่ออกจะ “ชัดเจน” ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือการ “ถลำตัว” เข้าไปสร้างความร่วมมือทางทหาร กับประเทศผู้ช่วยนายอำเภอ อย่างออสเตรเลีย ในการ “ปิดล้อมจีน” ตามแผน “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” นั่นเอง...
บรรดาความขัดแย้งเหล่านี้...จึงไม่ใช่การกระทบกระทั่งบริเวณชายแดน แบบปกติธรรมดาอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็น “ความขัดแย้งด้านยุทธศาสตร์” ที่คงต้องอาศัย “เวลา” และ “เหตุปัจจัย”อีกหลายต่อหลายอย่าง ถึงจะพอสามารถคลี่คลายลงไปได้ตามลำดับขั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอาศัยหลักฐานและข้อพิสูจน์ ว่าระหว่างมหาอำนาจคู่แข่งอย่างจีน กับมหาอำนาจสูงสุดอย่างคุณพ่ออเมริกา ใครกันแน่??? ที่ควรจะ “เลือกข้าง” หรือควรจะยืนหยัดเคียงบ่า-เคียงไหล่ ไม่ว่าในฐานะพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ หรือฐานะใดๆ ก็แล้วแต่...
และก็แน่นอนนั่นแหละว่า...สำหรับคุณพ่ออเมริกา ที่มีพลังอำนาจทางการทหารสูงสุดในโลก ชนิดถือเป็น “จุดขาย” สำคัญเอาเลยก็ว่าได้ ย่อมหนีไม่พ้นต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นตัวสร้าง “หลักประกัน” ให้กับบรรดาผู้ที่คิดจะยืนเคียงบ่า-เคียงไหล่กับตัวเองอยู่แล้วแน่ๆ ด้วยเหตุนี้...จึงไม่ถือเป็นเรื่องแปลก ที่ในระหว่างการพูดจาปราศรัยของรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกัน “นายมาร์ค เอสเปอร์” (Mark Esper) ณ บริษัท แรนด์ คอเปอร์เรชั่น แคลิฟอร์เนีย เมื่อช่วงวันพุธ (16 ก.ย.) ที่ผ่านมา การป่าวประกาศถึงแผนการเพื่อนำไปสู่การ “พลิกเกม” หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบ เหนือแสนยานุภาพทางทะเลของมหาอำนาจคู่แข่งอย่างจีน โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เรียกขานกันในนาม “แผนมุ่งสู่อนาคต” หรือแผนทางทหารที่จะเริ่มต้นตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2045 ด้วยการเพิ่มกำลังรบของกองทัพเรืออเมริกัน จากเดิมทีที่เคยมีเรือรบอยู่ประมาณ 293 ลำ ขึ้นเป็น 355 ลำให้จงได้!!! ไม่ว่าจะเป็นเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ ทั้งแบบมีคนขับ-ไม่มีคนขับ หรือบรรดาเรือโดรนและเครื่องบินโดรนทั้งหลาย ฯลฯ โดยยึดเอาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ถือเป็น “เขตสงครามที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ”...
แต่ก็อีกนั่นแหละว่า...ความหวัง ความตั้งใจ ในการสร้าง “หลักประกัน” เช่นนี้ ย่อมหนีไม่พ้นต้องขึ้นอยู่กับการจัดสรร “งบประมาณ” อย่างมิอาจปฏิเสธได้โดยเด็ดขาด โดยแม้ว่า “กองทัพเรือควรได้ส่วนแบ่งงบประมาณจากกระทรวงกลาโหมมากขึ้น” ตามคำพูด คำเน้นย้ำของ “นายมาร์ค เอสเปอร์”ไปในระดับไหนก็ตาม แต่ก็น่าจะยังก่อให้เกิด “คำถาม” ตามมาอีกมากมายเยอะแยะ อาจมากซะยิ่งกว่าการซื้อ “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือบ้านเราไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า โดยเฉพาะคำถามที่ว่า...แล้วจะไประดมเม็ดเงินงบประมาณมาจากไหน??? ภายใต้สภาวะที่แม้แต่ผู้ก่อตั้งกองทุนการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างกองทุน “Bridgewater” ชื่อว่า “นายRay Dalio” เพิ่งออกมา “ฟันธง” กับบรรดานักธุรกิจที่ “MarketWatch” เมื่อช่วงวันศุกร์ (18 ก.ย.) ที่ผ่านมานี่เอง ว่า...สัญญาณ “ความเสื่อมทางเศรษฐกิจ” ของระบบเศรษฐกิจอเมริกา กำลังปรากฏตัวให้เห็นแล้วอย่างชัดเจน อันเนื่องมาจาก “ปัญหาหนี้สิน” รวมทั้ง “การผงาดขึ้นมาของจีน”!!!
หรือถ้าว่ากันตามคำพูดแบบคำต่อคำก็คงประมาณว่า... “ระบบเศรษฐกิจอเมริกากำลังประสบความยากลำบากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะโอกาสที่บุคคลธรรมดาจะเข้าถึงระบบการเงิน หรือมีขีดความสามารถในการใช้จ่ายมีแต่จะลดลงๆ ยิ่งเข้าไปทุกที อีกทั้งนักลงทุนทั่วโลกเริ่มขาดความเชื่อถือต่อเงินดอลลาร์ อันเป็นตัวทำลายอำนาจการซื้อ-ขาย รวมทั้งทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้คนมีแต่จะลดต่ำลงไปอย่างมิอาจปฏิเสธได้ แม้ว่าระบบทุนนิยมจะเป็นระบบที่ดี แต่มันกลับไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่ช่วยให้เกิดการลดช่องว่างระหว่างความรวย-ความจน ดังนั้น...ไม่วันใด-วันหนึ่ง เราอาจต้องสูญเสียขีดความสามารถโดยไม่อาจบังคับตัวเองให้เพิ่มผลผลิตได้อีก และวันนั้นนั่นเองที่เราจะสูญเสียขีดความสามารถในการชำระหนี้ โดยหนีไม่พ้นต้องหันไปตัดลดงบประมาณ อันจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด รวดร้าว ไปทั้งประเทศ...”
นี่...แล้วถ้าหากมันถึงจุดที่ว่านี้ขึ้นมาจริงๆ ท่านรัฐมนตรี “มาร์ค เอสเปอร์” ท่านจะไประดมเอาเม็ดเงินภาษีนับเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ มาเพิ่มกองเรือรบกันแบบไหน อย่างไร ก็ยังแทบนึกภาพไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเม็ดเงินงบประมาณทั้งหมดของอเมริกาในทุกวันนี้ กว่าครึ่ง กว่าค่อน มันถูกนำไปใช้ในกิจการทหาร จนแทบไม่เหลือเม็ดเงินเอามาตรวจรักษาผู้ติดเชื้อไวรัส “COVID-19” จนตายห่า ตายโหง หรือจนกลายเป็น “จ้าวโรค” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะด้วย “ปัญหาหนี้สิน” ของอเมริกาที่พอกพูนขึ้นไปเกือบจะถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์ในอีกไม่ใกล้-ไม่ไกล แม้กระทั่งโอกาสที่จะ “ใช้หนี้” มันอาจเป็นไปอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และประธานบริษัท “Roubini Global Economics” อย่าง “ศาสตราจารย์Nouriel Roubini” เคยวาดภาพจินตนาการเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเกือบสิบปีที่แล้วนั่นแหละว่า... “เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ เดินไปถึงจุดที่ต้องหาทางกู้ยืมเงินมาเพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้กับหนี้สินที่ตัวเองกู้มา เมื่อนั้น...รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือพรรคใด ย่อมต้องถูกผลักดันให้ก้าวสู่วงจรแบบเดียวกับพวกแชร์ลูกโซ่ทั้งหลาย ก่อนที่จะนำไปสู่ความล้มละลายของประเทศทั้งประเทศในท้ายที่สุด...”
และอาจเป็นด้วยข้อวิเคราะห์ ไปจนถึงหลักฐานและข้อพิสูจน์ในลักษณะนี้นี่เอง...ที่ทำให้บรรดานักคิด นักวิชาการ ไปจนถึงนักประวัติศาสตร์อเมริกันจำนวนไม่น้อย จึงไม่ได้มองประเทศมหาอำนาจคู่แข่งอย่างประเทศจีนเป็น “ศัตรู” ของอเมริกาเอาเลยแม้แต่น้อย แต่กลับมองไปว่า... “ศัตรูที่แท้จริงของจักรวรรดินิยมยุคใหม่ อย่างอเมริกา ก็คือ...ตัวตน...ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง”ด้วยเหตุนี้...ใครจะเลือกข้าง แบ่งข้าง กันไปแบบไหน อย่างไร ก็คงต้องแล้วแต่พ่อเจ้าประคุณรุนช่องจะไปว่ากันเอาเองนั่นแล...