ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัญหาเรื่อง “การทำประมง” ในประเทศไทยดูเหมือนว่า ยังคงคาราคาซังและจวนเจียนใกล้ประทุใหญ่มากขึ้นทุกที เมื่อ สมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน และสมาคมประมงแห่งประเทศไทย รวมทั้งสมาคมประมง 22 จังหวัดทั่วประเทศ เตรียมชุมนุมใหญ่เพราะทนไม่ไหวกับสภาพที่ดำรงอยู่ กระทั่งภาครัฐเต้นเป็นเจ้าเข้า ต่อสายทั้งทางลับและทางเปิดเผยเพื่อสยบม็อบที่กำลังสุมใส่รัฐบาลจากทุกทิศทุกทาง จนกระทั่งผู้นำประเทศชักอารมณ์บ่จอย
สำหรับในส่วนของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยนั้น ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาโดยมีข้อเรียกร้อง 14 ประเด็น และดูเหมือนจะได้ข้อยุติเป็นที่น่าพอใจไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยกรมประมงรับปากจะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และดำเนินแก้ไขบางเรื่องบางประเด็น
แต่ระเบิดลูกใหญ่กว่าที่เร่งมือปลดชนวนให้ทันการณ์ อยู่ที่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งขู่นำม็อบบุกกรุงเทพฯนับแสนพร้อมข้อเรียกร้องต่างๆ กระทั่งนำมาสู่การนัดประชุมหารือถึงแนวทางออกของการแก้ไขปัญหาประมงร่วมกัน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสยบม็อบและลดกระแสที่ก่อหวอดกันมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม ซึ่งบรรดาสมาคมประมงฯ ทั้งหลาย แห่ขึ้นป้ายประกาศเลิกอาชีพ ขายเรือคืนรัฐเพราะทำธุรกิจต่อไปไม่ไหว
ตามเหตุตามผลที่ว่า ผู้ประกอบการประมงเชิงพาณิชย์ ต้องปรับตัวรับกฎหมายใหม่ที่เข้มงวดอันเป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการห้ามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) ที่ไทยเคยได้ใบเหลืองจากอียูมาแล้ว และกว่าจะปลดล็อกได้ก็ใช้เวลานานโข
นอกจากนั้น ยังมีแรงงานประมงที่ขาดแคลน เพราะแรงงานประมงส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แรงงานก็แห่กลับบ้าน และไม่กลับมาอีก ไม่นับว่าช่วงเวลานี้พม่าเกิดการแพร่ระบาดหนัก และไทยมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนแทบจะปิดพรมแดน
ช่วงนั้น นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมสมุทรสงคราม และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ระดมพลกลายๆ ขึ้นป้ายขายเรือคืนรัฐเลิกอาชีพทั่วประเทศ ซึ่งสมาชิกในสมาคมประมงจังหวัดหลายแห่งก็รับลูก กดดันรัฐบาลที่ว่าอะไรๆ ก็อ้างกฎของอียูคุมเข้มตลอด ไม่นับกฎหมายประมงของไทยที่เข้มกว่ากฎของอียูเสียอีก คือ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ.2560 ที่มีโทษและค่าปรับสูงมาก ยังไม่นับคำสั่ง กฎระเบียบต่างๆ ยิบย่อยจากหลากหลายหน่วยงานที่คุมเข้มการทำประมง
อุ่นเครื่องกระทั่งร้อนขึ้นตามลำดับ จนเป็นอันตกลงกันว่าต้องลุกขึ้นมาทวงสัญญาที่เคยหารือกับรัฐบาลตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการแก้ไขปัญหาให้เรือประมงพาณิชย์ ทั้งเรื่องแรงงาน สินเชื่อ การแก้ไขกฎหมาย ฯลฯ
“.... หากไม่มีคำตอบ นายกสมาคม 22 จังหวัดชายทะเล พร้อมที่จะเดินไปทวงคำตอบโดยการเดินทางเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาล ครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายแล้ว ..... ถ้าไม่สู้ในรุ่นนี้ รุ่นลูก รุ่นหลานก็ทำไม่ได้ ดังนั้นต้องให้จบที่รุ่นเรา.... ” นายศราวุธ โถวสกุล ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขู่ก่อม็อบผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อ
พอสัญญาณเรียกพลขึ้นบกของชาวประมงดังขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเคยรับปากกับชาวประมงว่าจะดูแลเป็นพิเศษในระดับที่ว่าเรื่องประมงถือเป็นวาระแห่งชาติ ก็โยนลูกให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือกับผู้นำสมาคมประมงฯ โดยเชิญ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ร่วมประชุมพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กระทั่งปลายเดือนสิงหาคม นายเฉลิมชัย ซึ่งเป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี รับหนังสือร้องเรียนจากสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้นั่งเจรจาหารือกับคณะผู้แทนชาวประมง และทำข้อสรุปเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งรูปธรรมที่นายเฉลิมชัย รับปากจะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วคือ เรื่องสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมล วงเงิน 10,300 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ ยังเดินสายไปยังกระทรวงแรงงาน ที่มี นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ และ “ดร.แหม่ม” นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ใหม่ถอดด้าม ควงคู่กันมารับเรื่องราวแบบที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่ามีรายการแย่งซีนกันทำผลงานให้เข้าตา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อีกด้วย
การเดินทางไปร้องเรียนยังกระทรวงแรงงานนั้น นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงฯ ซึ่งรู้จักมักคุ้นกับนางนฤมล มาก่อนเป็นผู้ประสานขอเข้าพบนางนฤมล ซึ่งอันที่จริงงานที่นางนฤมลดูแลคือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานประมงทะเล ตามหมายกะว่าหลังเจอดร.แหม่มแล้วจึงว่าจะไปหานายสุชาติ แต่พอนายสุชาติ รู้ว่าสมาคมประมงฯ ยกคณะมา ก็ขอรวบมาเจอพร้อมกันทีเดียวเลย และสั่งการให้อธิบดีที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง โชว์พาวข่มกันในทีเห็นๆ
ข้อเรียกร้องเรื่องแรงงานประมงทะเล ที่นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงฯ ขอให้รัฐบาลเร่งมือแก้ไขคือปัญหาที่ผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศ ขาดแคลนลูกเรือประมงร่วม 5 หมื่นคน และขณะนี้ไม่สามารถนำแรงงานต่างชาติมาทำงานในกิจการประมงได้ เดือดร้อนกันหนักจนต้องประกาศขายเรือ เลิกกิจการ
สมาคมฯ จึงเสนอให้ใช้มาตรา 83 พ.ร.บ.ประมง ขึ้นทะเบียนอนุญาตแรงงานต่างชาติ และให้คนไทยในพื้นที่ราบสูง กลุ่มเลขบัตรประชาชนเลขศูนย์ รวมถึงคนไทยที่ตกสำรวจไม่มีบัตรประชาชน สามารถทำบัตรประชาชนและลงเรือทำประมงได้เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าให้กลุ่มแรงงานที่วีซ่าหมดอายุ 30 กันยายนนี้
นายสุชาติ เออออทำเป็นเข้าใจปัญหาของชาวประมง แต่ก็การ์ดสูงทุกสิ่งอย่างต้องเดินตามกรอบของกฎหมาย พร้อมกับยก ข้อสั่งการของ “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ขึ้นมาอ้างว่าทั้งสองให้ความสำคัญกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายโดยให้แต่ละส่วนบูรณาการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะแรงงานประมง
ด้าน “ดร.แหม่ม” ก็เอ้ออ้าไปตามเรื่องและแสดงบทบาทเพียงแต่สรุปในช่วงสุดท้ายว่า พล.อ.ประวิตร ให้ความสนใจ และให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาให้กลุ่มประมง
คุยกันไปคุยกันมาหลายวงกระแสม็อบก็ยังคุๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมารับหน้าเสื่อยืนยันรัฐบาลไม่ทิ้งชาวประมง ร่ายเป็นฉากๆ ว่า ตามที่มีข้อเรียกร้องของสมาคมประมงฯ ที่ขอให้แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่ออาชีพประมง สืบเนื่องจากการออกระเบียบเพื่อแก้ปัญหา IUU นั้น รัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจและดำเนินการแล้วในหลายเรื่อง โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และรายงานความก้าวหน้าแก่นายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกับย้ำอีกครั้งว่า นายกรัฐมนตรี กำหนดให้เรื่องการแก้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ และเน้นย้ำให้การทำงานต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่เสี่ยงต่อการถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรป อีกทั้งต้องควบคู่ไปกับการรับฟังเสียงชาวประมงด้วย โดยที่ผ่านมากรมประมง มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบให้เหมาะสมเพื่อผ่อนปรนและช่วยเหลือชาวประมง เช่น การแก้ไขรายการเครื่องมือทำการประมง การแก้ไขรายการพื้นที่ทำการประมง การออกหนังสือคนประจำเรือเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ส่วนการพัฒนาปรับปรุงระบบติดตามเรือให้มีประสิทธิภาพ ลดความยุ่งยากในการแจ้งเข้า-แจ้งออกของเรือประมงที่อยู่ในร่องน้ำเดียวกันอยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน 3 มาตรา และประมงพาณิชย์ 15 มาตรา ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการปรับปรุงกฎหมายที่ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
ขณะเดียวกัน การรับซื้อเรือประมงออกนอกระบบ แบ่งการดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มระยะเร่งด่วน เรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายประมง (เรือขาว-แดง) มี 568 ลำ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้ครบถ้วนแล้ว 252 ลำ และอีก 53 ลำ จะจ่ายครบถ้วนในเดือนตุลาคมนี้ คิดเป็นเงินเยียวยารวม 764.45 ล้านบาท ที่เหลือ 263 ลำ อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ
ส่วนกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์นำออกนอกระบบจำนวน 2,505 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ในการนำออกนอกระบบให้สอดคล้องกับความสามารถในการทำการประมงของเรือประมง ซึ่งรัฐบาลจะรับไปพิจารณาในลำดับต่อไป
นอกจากนั้น มาตรการเสริมสภาพคล่องและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง จะได้มีเงินทุนในการปรับปรุงเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และจ้างแรงงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านทางธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท
การรับฟังปัญหาและพยายามแก้ไขของฟากรัฐบาล รวมทั้งการต่อสายล็อบบี้ลดกระแสกดดัน ทำให้กลุ่มประมงชะลอเดินเท้าเข้ากรุงเป็นการชั่วคราว โดยวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย พร้อมนายกสมาคมการประมง 22 จังหวัดชายทะเล เข้าพบ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอแก้กฎหมายประมงใหม่โดยเสนอร่าง พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. ....เพื่อให้ชาวประมงได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ระเบียบ กติกา
ปลดชนวนม็อบซื้อเวลาต่อลมหายใจของรัฐบาลกันไป เพราะถ้าขืนปล่อยม็อบประมงเข้ากรุง ผสมโรงกับม็อบนักศึกษาและประชาชนที่ฮึ่มฮั่มกันไม่หยุดมีหวังยุ่งกันไปใหญ่