“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
ปัญหาการเมืองไทยไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรเลย ตราบใดที่การเลือกตั้งยังสกปรกโสมม ย่อมได้“นักการเมืองส่วนใหญ่เลว-สภาเลว-นายกฯ เลว-รัฐบาลเลว” เลวด้วยการโกหกประชาชนและโกงชาติโดยไม่รู้จักพอ!
ที่ผ่านมากว่า 80 ปี รัฐบาล “เลือกตั้ง” และ “รัฐประหาร” ไม่เคยปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง เพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งชาติกับประชาชนจะได้ “นักการเมืองส่วนใหญ่” ที่ดีมีคุณภาพมากด้วยคุณธรรมนั่นเอง
ซ้ำร้าย “นักการเมือง” ทั้งสองรูปแบบ ยังโกงชาติไม่รู้จักพอมาโดยตลอด ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องสามานย์ เพราะ“กลุ่มนักการเมืองเลว” ทำแต่เรื่องน่าขยะแขยงซ้ำๆ ซากๆ ชวนสะอิดสะเอียนมาตลอด นั่นคือ“รัฐบาลเลือกตั้งสกปรกโกงชาติ” กับ “รัฐประหารไม่ปฏิรูปและโกงชาติ” ด้วยการทำเรื่อง “สมบัติชาติผลัดกันโกง”มาจนทุกวันนี้
ปัญหาต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นในชาติไทยนานแล้ว และเป็นสิ่งที่ “จารย์โต้ง” อยากเข้าสภาฯ ไปผลักดันให้เกิดการแก้ไขทั้งทางตรงทางอ้อม ทว่าเมื่อ “จารย์โต้ง”ได้เป็นทั้ง “ส.ส.” และ “ส.ว.” ก็ทำให้ได้รู้แจ้งเห็นจริงว่า การจะแก้ต้นเหตุปัญหาสำคัญๆให้ชาติ ผ่าน“นักการเมือง” ในสภาฯและรัฐบาลนั้น เป็นเรื่อง“ มองโลกสวยเกินจริง” แม้จะทุ่มทั้งเวลา-แรงกาย-แรงใจ แต่เกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่น้อยมาก..เพราะในโลกจริง นักการเมืองไทยด้อยคุณภาพ มุ่งหาแต่ประโยชน์ส่วนตน พรรคและพวกพ้อง..
ก่อนที่ “จารย์โต้ง” จะก้าวขึ้นไปเป็น ส.ส. และ ส.ว. “จารย์โต้ง” กรุยทางสู่บทบาททางการเมืองด้วยการเป็น“ที่ปรึกษา”
ในปี 2539-2542 “จารย์โต้ง”ได้เป็น “ที่ปรึกษา” ด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม ของ“ดร.พิจิตต รัตตกุล” ผู้ว่ากทม. โดย “จารย์โต้ง”ได้เผยความในใจว่า
“ผมสนุกกับการทำงานมาก เพราะได้ร่วมงานกับคนที่มีความคิดสอดคล้องกันในหลายเรื่อง”
จริงแท้แน่นอน! เพราะ“จารย์โต้ง”เล่าว่า “ผมรู้จักกับ ดร.พิจิตต ในแวดวงของคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเมือง ชื่นชมเขาตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อรณรงค์เรื่องมลพิษทางอากาศ พอมาเป็นผู้ว่าฯ เรื่องแรกที่เขาทำก็คือการจับรถที่ปล่อยควันพิษ โดยออกระเบียบห้ามรถยนต์ปล่อยควันดำ ห้ามติดเครื่องยนต์ขณะจอดรถ กำหนดโทษปรับ ซึ่งผมถือว่าเป็นครั้งแรกที่กทม. จัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง โดยมีงานวิชาการที่น่าเชื่อถือรองรับ”
เรื่องที่ท้าทายอย่างขยะในกทม. ที่“ดร.พิจิตต”มอบหมายให้ “จารย์โต้ง” ดูแล ทั้งขยะบ้าน ขยะพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมกับขยะก่อสร้าง ที่สะสมเป็นปัญหาวิกฤตของกทม. โดยมีการรณรงค์ให้ลดขยะและนำขยะไปรีไซเคิล ออกกฎหมายห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ ปรับปรุงระบบเก็บขยะและคัดแยกขยะ จนสามารถลดขยะในกทม. จากวันละ 15,000 ตันเหลือวันละ 10,000 ตัน
“จารย์โต้ง” กับผมและ“ทีมงาน” ได้เดินทางไปดูการกำจัดขยะที่ประเทศญี่ปุ่น แต่น่าเสียดายที่โรงงานกำจัดขยะที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยถึง 3 แห่ง ในพื้นที่รามอินทรา อ่อนนุช และหนองแขม มีการทุจริต “ฮั้วกัน”จนไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ นั่นเพราะ“จารย์โต้ง”เป็น “ตัวพ่อ” ขององค์กรเอ็นจีโอ.ที่ต่อต้านการโกงชาตินั่นเอง
อีก“ความฝัน”ที่ “จารย์โต้ง”ภูมิใจก็คือ การผลักดันให้เกิด “พิพิธภัณฑ์เด็ก”กับ “หอศิลป์กทม.” โดยการทำงานของ “จารย์โต้ง”ห้วงนี้จวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต มี “โจ้-ยุทธพงษ์ มีชัย” เป็นกำลังสำคัญ เสมือนเป็น“เงาตามตัว” ของ “จารย์โต้ง” โดยผมเป็นเพียงกองหนุนคอยหนุนช่วยเท่านั้น
ทั้งนี้เพราะผมได้ไปช่วยงานที่ “สื่อเครือผู้จัดการ” ของ “พี่สนธิ ลิ้มทองกุล” และจะมาช่วย “จารย์โต้ง”ในเรื่อง “พิพิธภัณฑ์เด็ก”และ “หอศิลป์กทม.”เป็นครั้งคราว ส่วน “จารย์โต้ง” กับ “โจ้”ผลักดันเต็มที่อยู่ในกทม.
เรื่อง “พิพิธภัณฑ์เด็ก”นั้น “จารย์โต้ง” เริ่มต้นจากความคิดที่ว่า สังคมไทยไม่ค่อยดูแล-ให้ความสำคัญกับเด็ก ไม่มีสถานที่ให้เด็กได้เรียนรู้ในรูปแบบที่สนุกและสร้างสรรค์ “จารย์โต้ง” จึงชวน“ ดร.พิจิตต”ไปดูงานที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยเด็ก เพราะเด็กได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน โลกรอบตัว หลักการทำงานของอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เด็กๆเข้าใจว่าอุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มันสร้างขึ้นมายังไง ทำงานยังไง มีการจำลองอุปกรณ์ต่างๆ ให้เด็กได้ลองทำด้วยตนเอง มันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีมากๆ เราก็คุยกันว่าเมืองไทยน่าจะมีแบบนี้
การไปดูงานครั้งนั้นไม่สูญเงินภาษีของคนกทม.เปล่าๆ เพราะ“ดร.พิจิตต” กับ“ จารย์โต้ง” กลับมาผลักดัน โครงการสำหรับเด็กในกทม.ทันที ปี 2544 การก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์เด็ก” ที่สวนจตุจักรสำเร็จเรียบร้อย ปรากฏว่า..มีผู้คนเข้าชมเป็นเรือนแสน..
นับเป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์ และแหล่งการเรียนรู้แบบลงมือทำ หรือ discovery learning สำหรับเด็กและครอบครัว ในด้านการบริหาร มีการตั้ง“มูลนิธิพิพิธภัณฑ์เด็ก” ขึ้นมาดูแล ในเบื้องต้นมูลนิธิฯได้ให้กลุ่มบริษัทรักลูก มาบริหารจัดการอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ ในเรื่องของเด็กและเยาวชน ตอนนั้นเขาทำได้ดีมาก มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียน มีกิจกรรมหลากหลายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ทั้งยังจัดสถานที่ได้สวยงามน่าสนใจสำหรับเด็กๆอีกด้วย..
ภายหลังจาก “พิพิธภัณฑ์เด็ก” เปิดได้เกือบ 10 ปี ก็มีปัญหาเรื่องขาดงบประมาณ ในการซ่อมบำรุงและการบริหารจัดการ เพราะกทม.ไม่ได้ให้เงินอุดหนุน จึงต้องปิดปรับปรุงไปประมาณ 5 ปี จนมาเปิดอีกครั้งในปี 2558 ในสมัย “ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร”
ส่วน“หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกทม.” เริ่มจาก “จารย์โต้ง”เห็นว่ากทม.ไม่เคยมีนโยบายสนับสนุนงานศิลปะวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ทั้งๆที่ศิลปะเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน มนุษย์เราไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเรียนตัวเลข บวกลบคูณหาร แต่เริ่มจากศิลปะ มนุษย์มาจากศิลปะแล้วก็ตายไปพร้อมศิลปะ เด็กที่เก่งศิลปะก็มักจะเก่งด้านอื่นๆด้วย เราจึงทอดทิ้งเรื่องศิลปะไม่ได้ เพราะมันเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาสติปัญญาอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์
“จารย์โต้ง” เล่าให้ฟังว่า “ช่วงนั้นผมกับเครือข่ายศิลปิน ร่วมกันผลักดันให้มีการสร้างหอศิลปะร่วมสมัย ซึ่ง ดร.พิจิตต ก็สนับสนุนและมีมติร่วมกับ คกก.โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2538 ให้กทม.จัดสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกทม. บนที่ดินของกทม.สี่แยกปทุมวัน โดยมีการออกแบบ วางแนวคิดและแนวทางการทำงานร่วมกับศิลปิน และภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องไว้อย่างเรียบร้อย”
“หอศิลป์กทม.”มีการวางศิลาฤกษ์ในสมัย “ดร.พิจิตต” ซึ่ง “จารย์โต้ง”และ“โจ้” มอบหมายให้ผมเป็นหนึ่งในคกก.จัดหาบริษัทออกแบบ “หอศิลป์กทม” ทว่าแม้จะได้แบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ราคาค่าก่อสร้าง“หอศิลป์กทม.” สูงกว่าเงินงบประมาณที่เตรียมไว้ ทำให้หอศิลป์แห่งนี้ไม่เสร็จในสมัย “ผู้ว่าฯพิจิตต”
เรื่องจึงยืดเยื้อจนถึงยุค“สมัคร สุนทรเวช” เป็นผู้ว่ากทม. ซึ่งมีการเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นตึกศูนย์การค้า-ลานจอดรถ และให้ชั้นบนตึกเป็นหอศิลป์ ส่วนดาดฟ้าเป็นสวนน้ำ ทำให้ศิลปินกับประชาชนประท้วงกันอย่างหนัก
จนถึงห้วงหาเสียงผู้ว่ากทม.อีกครา เครือข่ายศิลปินและประชาชน ได้มีการเซ็นปฏิญญาร่วมกับ“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ว่า หาก “อภิรักษ์”ได้เป็นผู้ว่ากทม. จะต้องส่งเสริมเรื่องศิลปวัฒนธรรม ด้วยการสร้างหอศิลปะร่วมสมัยกทม. ตามแบบที่ทำไว้แล้วในสมัยผู้ว่าฯ“พิจิตต”
“จารย์โต้ง”สรุปเรื่องนี้ในหนังสือ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต มุมมอง ความคิด” ตบท้ายไว้ว่า
“ในที่สุดเราก็ได้หอศิลป์กรุงเทพฯมา ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของศิลปินและภาคประชาชนในเรื่องนี้มีความหมายมาก”
..โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า..