ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังเปิดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ดัน “คนไทยเที่ยวไทย” ส่วนหนึ่งในมาตรการ “เที่ยวปันสุข” กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวในประเทศมาเดือนเศษตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. 2563 พบว่ายอดลงทะเบียนสูงแต่คนใช้สิทธิน้อยไม่เป็นไปตามเป้า มียอดจองโรงแรมเพียง 625,000 ราย คิดเป็นวงเงินแค่ 1,874 ล้านบาท ยิ่งใกล้สิ้นสุดโครงการในเดือน ต.ค. 2563 ยังคงต้องลุ้นกันเฮือกใหญ่ว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 5 หมื่นล้านตามวาดหวังหรือไม่
สำหรับรายละเอียด “เราเที่ยวด้วยกัน” ใช้งบ 20,000 ล้านบาท มาตรการกระตุ้นให้คนไทยไปเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น โดยรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐค่าห้องพัก 40 % สูงสุด 5 คืนต่อสิทธิ และรับคูปองดิจิทัลหรืออีวอยเชอร์มูลค่าส่วนลดสูงสุด 600 บาทต่อวัน เป็นส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการฯ รวมถึงสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินเดิมกำหนดไว้ 40% หรือไม่เกิน 1,000 บาท
ต่อมาคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ปรับเพิ่มสิทธิต่างๆ และขยายสิทธิจากเดิมเฉพาะบุคคลธรรมดาให้เพิ่มนิติบุคคลร่วมโครงการฯ ด้วย เพื่อใช้ในการจัดอบรมประชุม สัมมนา ดูงาน สำหรับพนักงาน ส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้และเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ขยายจำนวนสิทธิจาก 5 คืนต่อ 1 สิทธิ เป็น 10 คืน ต่อ 1 สิทธิ และมาตรการช่วยเหลือสายการบิน เดิม 1,000 บาท เพิ่มเป็น 2,000 บาท สามารถใช้สิทธิระหว่าง 15 ก.ค. – 31 ต.ค. 2563
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผลคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินกระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวในประเทศไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท สร้างรายรับในธุรกิจหมุนเวียน 1.23 แสนล้าน กระจายลงในทุกพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้ GDP โตขึ้นร้อยละ 0.2-0.3 โดยตอนนี้มีผู้ประกอบการโรงแรมเข้าร่วมกว่า 4000 ราย และร้านอาหารกว่า 1 ล้านแห่ง
ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนคนไทยเที่ยวเมืองไทยช่วยชาติ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีผู้ลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 4.92 ล้านคน ลงทะเบียนสำเร็จ 4.67 ล้านคน จากจำนวนสิทธิ์ทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์ ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ณ วันที่ 23 ส.ค.2563 เปิดเผยตัวเลขล่าสุด มียอดจองโรงแรมมีเพียง 625,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 1,874 ล้านบาท โดยรายละเอียดมีการจองโรงแรมทั้งสิ้น 3,823 แห่ง และมีการเข้าพัก (เช็กอิน) แล้ว 207,243 ห้อง และมีการแจ้งออกจากที่พัก (เช็กเอาต์) แล้ว จำนวน 198,241 ห้อง โดยราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 2,980 บาท
โดยจังหวัดที่มียอดเข้าพักมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ1. ชลบุรี จำนวน 33,960 ห้อง 2. ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 17,371 ห้อง 3. กรุงเทพมหานคร จำนวน 14,148 ห้อง 4. เชียงใหม่ 13,831 ห้อง และ 5. เพชรบุรี จำนวน 12,063 ห้อง
ทว่า สถานการณ์ยอดจองโรงแรมผ่านแพคเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่เปรี้ยงปร้าง ต่ำกว่าเป้า โดยนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) วิเคราะห์สาเหตุมากจากปัจจัยสำคัญอันได้แก่ เศรษฐกิจไม่ดีส่งผลให้คนไม่กล้าจับจ่าย บริษัทและกิจการต่างๆ ปิดตัวกันมาก และไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว อีกทั้งเข้าใกล้ฤดูหนาวเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสกลับมาแพร่ระบาดมากขึ้น และกลุ่มเป้าหมายการท่องเที่ยวคือกลุ่มครอบครัว คนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเสี่ยงจะนำผู้สูงอายุไปเที่ยวเพราะหวั่นติดเชื้อ ทั้งยังเป็นช่วงเปิดเทอมจังหวะไม่เอื้อสักเท่าไหร่
นอกจากนี้ยังมีโครงการ “กำลังใจ” เป็นอีกหนึ่งในมาตรการ "เที่ยวปันสุข" ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ใช้งบ 2,400 ล้านบาท อนุมัติเงินเที่ยวในรูปแบบแพคเก็จทัวร์ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (รพ.สต.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เที่ยวในประเทศ 2 วัน 1 คืน คนละไม่เกิน 2,000 บาท จำนวน 1.2 ล้านสิทธิ เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ดูเหมือนบริษัททัวร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเข้าร่วมโครงการ เพราะค่าเพราะค่าจัดโปรแกรมทัวร์ที่รัฐบาลตั้งไว้น้อยจนแทบไม่เหลือกำไร
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนในมาตรการ “เที่ยวปันสุข” ผ่าน 2 โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” ยังเหลือโควตาอีกเป็นจำนวนมากนับล้านสิทธิ รอให้คนไทยออกไปเที่ยวไทย ยิ่งปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 30 ล้านคน ภาคการท่องเที่ยวขาดหายไปกว่า 2 ล้านล้านบาท ถ้าคนไทยไม่ออกมาเที่ยวกันเอง การท่องเที่ยวไทยอาจพังครืนจนไม่สามารถประคองตัวได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศดังกล่าว รัฐอัดงบกระตุ้นราวๆ 2.42 หมื่นล้านบาท ยังสร้างผลกระทบค่อนข้างจำกัด คิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ และคิดเป็นเพียง 0.7% ของมูลค่าการท่องเที่ยวทั้งหมดของไทยที่ 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยังซมพิษไข้โควิด-19 อยู่ในสภาวะฟื้นตัวช้า ขณะที่ “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ตระหนักดีว่าลำพังอัดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศหนุนให้คนไทยเที่ยวไทยนั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องเปิดรับ “นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” ให้เดินทางเข้ามาในเมืองไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประเทศ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ตามกรอบแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจ สนับสนุนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ของคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ดีเดย์ 1 ต.ค. 2563 นำร่องเปิดรับชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่าจะมีกำหนดมาตรการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศอย่างเหมาะสม เป็นการค่อยๆ ผ่อนปรนมีมาตรการรองรับ ขอให้ประชาชนยอมรับไม่สร้างความตื่นตระหนก
อีกทั้งประเทศไทยมีความสามารถตรวจสอบคัดกรองเชื่อโควิด-19 หากมีการหลุดรอดของเชื้อโควิด-19 สามารถติดตามรักษาได้ มีสถานพยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ เรื่องเศรษฐกิจและสุขภาพของประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป
“หากเราตื่นตระหนก ไม่ยอมผ่อนคลายก็จะอยู่ที่เดิม และจะแย่ไปกว่าเดิมไหม รัฐบาลจะหาเงินที่ไหน เพราะภาษีเราก็เก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทยดำเนินภายใต้มาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ (New Normal) ตามนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการ “ชา” (Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควบคู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว
รัฐบาลยืนยันความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป มีโต้โผใหญ่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำร่อง “ภูเก็ตโมเดล” เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัด เพื่อฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งเป้า 6 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 - มี.ค. 2564 จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่ม 2 ล้านคน
สำหรับ “ภูเก็ตโมเดล” การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยในพื้นที่จำกัด โดยจะเริ่มที่บางพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ยกตัวอย่าง หาดป่าตอง จะปิดพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่เป็นเวลา 14 วัน เมื่ออยู่ครบ จะมีการตรวจเชื้อโควิด-19 หากผลตรวจไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวคนนั้นจะสามารถออกจากพื้นที่จำกัด ไปท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นภายในจังหวัดภูเก็ตได้ หากนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการจะเดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยต้องอยู่ในสถานที่จำกัดอีก 7 วันรวมเป็น 21 วัน และจะมีการตรวจหาเชื้ออีกครั้ง ก่อนอนุญาตให้ออกไปท่องเที่ยวในจังหวัดอื่น ๆ ได้
พร้อมกันนี้ ยังเตรียมแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในจังหวัดท่องเที่ยวหลักของ 6 ภูมิภาค ให้เป็นเหมือนกับ ภูเก็ตโมเดล อาทิ ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย, ภาคอีสาน อุบลราชธานี หรืออุดรธานี, ภาคตะวันออก จันทบุรี ระยอง, ภาคตะวันตก ราชบุรี กาญจนบุรี, ภาคใต้ นอกจากภูเก็ตแล้ว อาจเป็นกระบี่ หรือสุราษฎร์ธานี ส่วนภาคกลางที่ กรุงเทพฯ เป็นต้น คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 2 ล้านคน
ข้อสำคัญจะสำรวจความสมัครใจประชาชนในพื้นที่ก่อนว่า ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่ หากปฏิเสธด้วยกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทางการจะไม่นำนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไปโดยเด็ดขาด