xs
xsm
sm
md
lg

"พุทธิพงษ์"ลั่นปิดเพจตามศาลสั่ง-ไม่กลัวเฟซบุ๊กฟ้อง-รุกฟันพวกไล่ล่า-จัดทัวร์-บูลลี่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-"พุทธิพงษ์"มั่นใจเฟซบุ๊กไม่ฟ้อง หลังตอบรับคำสั่งศาลให้ลบเพจผิดกม. ยันรัฐบาลดำเนินการตามกม. เตรียมส่งจม.พร้อมคำสั่งศาล ให้เจ้าของแพลตฟอร์ม ปิดกั้นอีก 1,024 ยูอาร์แอล เฉพาะเฟซบุ๊ก 661 ยูอาร์แอล ย้ำไม่ดำเนินการเจอโทษขัดคำสั่งศาล พ่วง ม. 27 พ.ร.บ.คอมพ์ ไม่หวั่น "รอยัลลิสต์มาร์เก็ต เพลส" เปิดเพจใหม่ "ตลาดหลวง" ประกาศตามล้างตามเช็ดไม่เลิกทุกเพจที่ทำผิด รุกคืบเตรียมจัดการพวกไล่ล่า บูลลี่ จัดทัวร์ลง ชี้คนดี-คนเห็นต่าง ต้องได้รับการดูแล ด้าน"แอมเนสตี้" บูลลี่ "เฟซบุ๊ก" ก้มหัวให้รัฐบาลไทย ยอมบล็อกกลุ่มวิจารณ์สถาบันฯ

วานนี้ ( 26 ส.ค.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงกรณีเฟซบุ๊ก ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจที่กระทรวงดิจิทัลฯ ส่งคำสั่งศาลให้เฟซบุ๊กปิดกั้นเพจที่ผิดกฎหมาย เฉพาะอย่างยิ่ง เพจ "รอยัลลิสต์มาร์เกต เพลส" โดยยืนยันว่าดำเนินการทั้งหมด เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือกลั่นแกล้งใคร ทุกยูอาร์แอลที่ส่งให้ดำเนินการ มีทั้งที่โพสต์เกี่ยวข้องสถาบันฯ และอื่นๆ แต่เป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาลของไทย โดยเมื่อ15 วันที่แล้ว กระทรวงฯ ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนพร้อมกับแนบคำสั่งศาลไปถึงเฟซบุ๊ก ขอให้ช่วยลบและนำข้อความที่ผิดกฎหมายออกจากแพลตฟอร์ม จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล ซึ่งครบกำหนด 15 วัน เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยถึงวันนี้ เฟซบุ๊กได้ลบให้ทั้ง 1,129 ยูอาร์แอลแล้ว และยังมีเว็บที่ไม่เหมาะสมอีกจำนวนหนึ่ง โดยวันนี้จะนำส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้น ซึ่งมีคำสั่งศาลแล้วไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ อีก 1,024 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 661 รายการ, ยูทูป 289 รายการ, ทวิตเตอร์ 69 รายการ และ เว็บอื่น 5 รายการ ซึ่งถ้าครบ 15 วันจากวันนี้แล้วแพลตฟอร์มไม่มีการปฏิบัติการตามคำสั่งศาลไทย ก็จำเป็นที่เราต้องดำเนินการตามกฎหมาย

"ขอเรียนว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความผิดต่างๆ กระทรวงไม่ได้คิดเองเพื่อไปรังแกใคร เราใช้คำสั่งศาล ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย เราปกป้องอธิปไตยของไทย ซึ่งวันนี้อาจไม่ได้มาในรูปแบบของพื้นที่ ขอบเขตดินแดนเหมือนเดิม แต่เป็นอธิปไตยไซเบอร์ ที่มาเร็วและก่อความเสียหายกับคนไทยอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และที่บางคนบอกว่า กระทรวงทำช้า ทำไม่ทัน ขอเรียนว่าวันนี้ที่เราดำเนินการตรวจสอบภายใน 48 ชม. หลังได้รับแจ้งว่ามีเพจที่ผิดกฎหมาย แล้วส่งศาลพิจารณาทันที เมื่อศาลมีคำสั่งให้ลบ ก็จะส่งไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มให้ดำเนินการ ส่วนความความผิดในคดีอาญาก็ส่งตำรวจ ถ้ามองว่าตัวเลขการดำเนินการคดียังช้า ก็ต้องไปถามทางตำรวจว่า ทำไม แต่ในส่วนของกระทรวงฯ เราถือต้องทำเร็วขึ้น และบังคับใช้กฎหมายจริงจังมากขึ้น"

ส่วนที่มีข่าวว่าเฟซบุ๊ก จะมีการฟ้องรัฐบาลไทยนั้น ยังไม่เห็นเอกสารอย่างเป็นทางการ ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ถ้ามีการฟ้องจริง ก็ต้องมีการตั้งทีมกฎหมายที่จะชี้แจงตามกระบวนการยุติธรรม ว่าการดำเนินการที่ผ่านมาทำเป็นระบบ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่น่าจะมีการฟ้องร้อง ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยใช้เฟซบุ๊กเยอะ และคำขอที่ให้ลบเพจผิดกฎหมาย ก็เป็นการทำตามคำสั่งศาล ซึ่งได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากเจ้าของแพลตฟอร์ม กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าเรามีมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย

ส่วนที่แอดมินเพจ"รอยัลลิสต์มาร์เก็ต เพลส" มีการเปิดเพจใหม่ "รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส- ตลาดหลวง" ก็จะติดตาม หากมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย กระทรวงฯ ก็ยึดมาตรฐานเดิม ไม่ว่าจะเปิดใหม่อีกกี่เพจก็ตาม และจะใช้มาตรฐานนี้กับทุกเพจ ที่กระทำผิดกฎหมายไม่ใช่เฉพาะเพจนี้เท่านั้น

"ที่ผ่านมา เราไม่เคยดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าของแพลตฟอร์มไหนเลย แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ทำได้ อย่างกรณี เพจ รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ไม่ได้มีเรื่องของการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก่อนหน้านี้เราส่งหนังสือพร้อมคำสั่งศาลไป 2 ครั้ง มีการแจ้งเตือนขอความร่วมมือให้ลบทุกครั้ง เมื่อครบ 7 วัน แต่ไม่มีการดำเนินการ ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 เรามีการแจ้งไปว่า มีมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการภายใน 15 วัน เขาอาจจะเพิ่งเข้าใจว่า หากไม่ลบก็จะมีความผิด จึงรีบดำเนินการ ซึ่งจะเป็นลักษณะปิดกั้นการมองเห็นของคนไทย หรือว่าลบแอคเค้าท์ อันนี้ไม่รู้แต่คำสั่งศาลไทยคือ ให้ลบ และถ้าเขาไม่ดำเนินการ เราก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ตำรวจดำเนินคดีอาญา ซึ่งก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานขัดคำสั่งศาล ประกอบกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 27"

ส่วนที่เจ้าของเฟซบุ๊กระบุว่า กรณีดังกล่าวมีผลทำให้เฟซบุ๊ก ต้องทบทวนแผนการลงทุนในไทย ส่วนตัวเห็นว่าการที่บริษัทข้ามชาติจะมาลงทุนในไทย ถือเป็นสิทธิของบริษัทนั้น และเมื่อเขามาทำธุรกิจในไทย ก็ต้องเคารพกฎหมายไทย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายของเรา ก็ทำอย่างเท่าเทียมกับคนที่กระทำความผิดไม่เฉพาะว่าเป็นคนไทย แล้วต่างชาติได้รับการยกเว้น ซึ่งถ้ากฎหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ บริษัทต่างชาติหลายแห่งคงไม่เข้ามาลงทุน รวมทั้งไม่มองว่ากรณีที่เกิดขึ้น จะมีผลทำให้คนออกมาชุมนุมทางการเมืองกันมากขึ้น เพราะสิ่งที่ดำเนินการเนื่องจากมีการทำผิดกฎหมาย ไม่ได้จะไปจุดไฟอะไร จึงเป็นคนละประเด็นกัน ถ้าไม่มีการโพสต์อะไรที่ผิดกฎหมาย ทำได้หมด แม้กระทั่งการชุมนุม ถ้าไม่ทำอะไรผิดกฎหมายก็ชุมนุมได้

นายพุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีกระบวนการไล่ล่า คนทำดี คนเห็นต่าง ไม่ว่าใครก็ตาม หรือคนมีชื่อเสียงถูกไล่ล่าทางโซเชียลฯ ซึ่งลักษณะแบบนี้ถือว่าไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่เราใช้อยู่ ชวนกันไป บูลลี่ กดดันให้เขาทำธุรกิจไม่ได้บ้าง ทัวร์ลงบ้าง ทำให้เขาถูกถอดออกจากหน้าที่การงาน ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้อื่น ฉะนั้นถ้ามีการร้องเรียนเข้ามา หรือพบว่ามีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย กระทรวงฯ ก็จะรับไปดำเนินการ และส่งให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)ไปดำเนินการ

แอมเนสตี้โวย'เฟซบุ๊ก'ก้มหัวให้รบ.ไทย

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International)แสดงความผิดหวังต่อรายงานข่าวที่ระบุว่า เฟซบุ๊ก ยอมปฏิบัติตามคำร้องคัดกรองของรัฐบาลไทย บล็อกกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

ราซา อับดุล ราฮิม รักษาการ ผอ.ร่วมฝ่ายเทคโนโลยีขององค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการขององค์กร ตอบสนองต่อข่าวเฟซบุ๊ก ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอเซ็นเซอร์จากเจ้าหน้าที่ของไทย ระบุว่า "เป็นอีกครั้งที่เฟซบุ๊กยอมแพ้ต่อความต้องการของรัฐบาลผู้กดขี่ของชาติต่างๆ วิงวอนร้องขอสิทธิมนุษยชนอย่างนอบน้อม ก่ออีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นอันตรายต่อการแสดงออกทางออนไลน์"

"ทางบริษัทควรทำทุกอย่างภายในขอบเขตอำนาจที่มี ขัดขืนข้อเรียกร้องเซ็นเซอร์ตามอำเภอใจของรัฐบาลไทย สิทธิมนุษยชนไม่ใช่การเข้าถึงตลาด มันควรต้องมีการขีดเส้นใต้อย่างเด็ดขาด"

คำแถลงบอกอีกว่า "นิรโทษกรรมสากลรู้สึกยินดีที่ตอนนี้เฟซบุ๊ก มีแผนดำเนินการทางกฎหมายคัดค้านข้อเรียกร้องคัดกรองของรัฐบาลไทย แต่อันตรายได้เกิดขึ้นไปแล้ว บริษัทไม่ควรทำตามข้อเรียกร้องตั้งแต่แรก"

"คำขู่ดำเนินการทางกฎหมายของรัฐบาลไทยที่บีบให้เฟซบุ๊ก ยอมให้ความร่วมมือเซ็นเซอร์ทางออนไลน์ เทียบเท่ากับเป็นการประทุษร้ายอีกครั้งหนึ่งต่อเสรีภาพการแสดงออกทางออนไลน์ ตามที่องค์การนิรโทษกรรมเคยรายงานในเดือนเมษายน 2020 ไทยใช้กฎหมายคลุมเครือต่างๆ นานา หว่านเมล็ดพืชแห่งความกลัวแก่ประชาชนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์" คำแถลงระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น