xs
xsm
sm
md
lg

จะถอด “กระท่อม” ออกจากยาเสพติดทั้งที แต่ร่างกฎกระทรวงล้าหลังยิ่งกว่า “กัญชา”? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


“กระท่อม” ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Mitragyna speciosa” ซึ่งเป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ Rubiaceae นั้น คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติให้ถอดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 อย่างมีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563 [1]

และการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบได้นั้น ก็เพราะมาจาการเสนอของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านั้นประมาณเกือบ 3 เดือน ซึ่ง นายสมศักดิ์ เทพสุทินได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับเรื่องกระท่อมสรุปความว่า:


“ กระทรวงยุติธรรมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ปลดพืชกระท่อมออกจากตัวกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีแนวโน้มเห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรี และจะมีการทำ MOU เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ไม่ได้มีการระบุให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่าสารในกระท่อมสามารถนามาช่วยในทางการแพทย์ เป็นยารักษาลดอาการติดฝิ่นได้ กระทรวง ยุติธรรมจะเร่งรัดแนวทางเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง” [2]

หลังจากนั้นผ่านไปเกือบ 3 เดือน วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบการปลดพืชกระท่อมออกจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... โดยให้ความเห็นชอบแบบมีเงื่อนไขความว่า:

“1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม เพื่อเป็นการควบคุมพืชกระท่อมให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพของสังคมไทย รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในเชิงพาณิชย์อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา


โดยให้รับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เห็นควรมีมาตรการทางกฎหมายควบคุมการใช้และการเข้าถึงพืชกระท่อมของเด็กและเยาวชนอาจมีลักษณะเช่นเดียวกับการควบคุมยาสูบหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนศึกษาว่าผู้ใช้พืชกระท่อมยังสามารถควบคุมยานพาหนะหรือเครื่องจักรได้ตามปกติหรือไม่ และเพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปจนกว่ามาตรการควบคุมต่าง ๆ จะเสร็จสิ้น ไปประกอบการพิจารณาด้วย


ทั้งนี้ ให้กระทรวงยุติธรรมเสนอประเด็นการปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ แล้วแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาตามความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป


2. ให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ ที่เห็นควรให้


(2.1) พิจารณาให้มีกฎหมายอื่นรองรับเพื่อควบคุมและกำกับการนำพืชกระท่อมไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง


(2.2) หากมีการยกเลิกพืชกระท่อมหน่วยงานของรัฐควรมีกฎหมายหรือมาตรการควบคุมการเข้าถึงพืชกระท่อมของเด็กและเยาวชน รวมถึงควบคุมการใช้แบบผิดวิธีที่ชัดเจน ก็สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

(2.3) เนื่องจากพืชกระท่อมมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ควรมีการควบคุมการใช้พืชกระท่อมโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน อาทิ กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะใช้พืชกระท่อม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

(2.4) หากรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน มีผลการศึกษาวิจัยเป็นที่ประจักษ์ว่า ไม่ควรจัดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกต่อไป รวมทั้งมีการรับฟังความคิดเห็นและสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนให้เข้าใจถูกต้องครบถ้วนแล้ว ก็สามารถดำเนินการได้


และ (2.5) ควรเร่งสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมในทางที่ถูกต้อง และป้องกันการใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย


3. ให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเร่งสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทั่วไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมและการนำพืชกระท่อมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ในทางที่ถูกต้องต่อไป“ [2]

แม้คณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบการยกเลิกพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นด้วยเงื่อนไขต่างๆข้างต้น ก็ต้องมีการแก้ไขผ่านระดับ พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งก็แปลว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระรับหลักการ และขั้นตอนการแปรญัตติ และวาระที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาอีกด้วย

ในขณะเดียวกันในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีการดำเนินการคู่ขนาน โดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ มาตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งได้ขยายระยะเวลาไปถึงครั้งที่ 3 ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นผลการศึกษาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 [3]
“กระท่อม” เป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งโดยในใบกระท่อมมีสารจำพวกอัลคาลอยด์ชนิดหนึ่งชื่อ ไมทราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depresent) จึงทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกปวดเมื่อยล้าในขณะทำงาน อีกทั้งยังทำให้ทนต่อความร้อนจากแสงแดดได้มากขึ้น ผลก็คือทำให้ผู้ที่ใช้แรงงานสามารถทำงานท่ามกลางแสงแดดได้นานมากขึ้น และอดทนมากขึ้น

ชาวสวนยางและชาวประมงของพี่น้องชาวไทยภาคใต้ ทำให้มีกำลังในการทำงาน และอดทนต่อแสงแดดได้ดีขึ้น นิยมนำใบที่รูดก้านทิ้งออกไปแล้ว นำมาเคี้ยว ต้ม คั่ว และนำมาผสมกับพืชชนิดอื่นๆเพื่อปรุงเป็นตำรับยาไทย
“กระท่อม” เป็นพืชสมุนไพรประจำถิ่นของคนใต้และชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาช้านาน ได้แก่ ประเทศไทย, เมียนมา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ปาปัว นิว กินี [4] ด้วยความเป็นพืชประจำถิ่นทางใต้ของไทยจึงเป็นผลทำให้การบันทึกตำรับยาหลวงของสยามในอดีตที่มีส่วนผสมกระท่อมมีจำนวนน้อยกว่ากัญชามาก
ข้อสำคัญ “กระท่อม”นั้นประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่กำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติด อีกทั้งยังทำลายตำรับยาไทยทุกชนิดที่มีกระท่อมเป็นส่วนผสม ทั้งๆที่กระท่อมไม่ได้เป็นยาเสพติดในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติให้โทษระหว่างประเทศ ค.ศ. 1961 เลย การที่พืชกระท่อมกลายเป็นยาเสพติดจึงทำให้ไม่มีโอกาสที่จะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้เลย

จากรายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ของวุฒิสภา วันที่ 15 ตุลาคม 2546 โดยนายภิญญา ช่วยปลอด เป็นประธานคณะกรรมการธิการวิสามัญชุดดังกล่าวได้สรุปเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า :


“บทสรุป
ประเมินจากข้อมูลที่รวบรวมได้จนถึงปัจจุบัน พบสรุปได้ว่า แอลคะลอยด์ mitragynine ในใบกระท่อมมีฤทธิ์ระงับอาการปวดได้เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า ในขณะที่สารมิตราไจนีนซูโดอินโดซิล (mitragynine psedudoindoxyl) ซึ่งเป็นเมตาโบไลท์ของสาร mitragynine จะมีฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีน 100 เท่า เมื่อใช้เป็นเวลานานจะเกิดการดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณที่ใช้ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลที่ต้องการจนเกิดการติดยาได้ในที่สุด ใบกระท่อมหรือ mitragynine มีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการดังนี้:


1. กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ
2. ไม่ทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน
3. พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี
4. ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา (Carving) จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อมก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย
5. อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และสามารถบำบัดได้ง่ายด้วยยากล่อมประสาทระยะ 2-3 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ที่ติดมอร์ฟีนอาจต้องพึง methadone ซึ่งเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกัน เป็นเวลานาน 3 เดือนขึ้นไป
6. การควบคุมทางกฎหมายไม่มีสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามการปลูกเหมือนฝิ่น
7. ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้” [5]

กระท่อมนอกจากจะช่วยระงับปวดคล้ายฝิ่น ส่งผลเสียน้อยกว่าฝิ่น แถมมาช่วยบำบัดการติดฝิ่นและมอร์ฟีนด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศที่จะได้มีการพัฒนายาจากกระท่อมที่จะช่วยลดการนำเข้ายาแก้ปวด หรือมอร์ฟีนจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะพัฒนาเพื่อผลิตยาหรืออาหารส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย แต่เนื่องจากกระท่อมเป็นยาเสพติดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จึงทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสที่จะไปวิจัยและพัฒนาเพื่อเป็นยารักษาโรคหรือใช้บำบัดอาการติดฝิ่นได้

แต่ในต่างประเทศนั้นมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อม โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยประเทศออสเตรเลียนั้น ได้มีการนำพันธุ์พืชกระท่อมของประเทศไทยไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และมีการจำหน่ายเป็นต้นในประเทศออสเตรเลียโดยไม่ได้เป็นยาเสพติด ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการพัฒนาใบกระท่อมจนสามารถนำไปใช้เป็นยาระงับปวดในการผ่าตัดได้ด้วย [5]

สำหรับ “รสยา” ของใบกระท่อมนั้น มีรสฝาดเฝื่อน เมาเบื่อขม มีสารสำคัญประกอบด้วยแอลคะลอยด์ ซึ่งมีบางอการคล้ายเสพฝิ่น มีสารแทนนินอยู่มาก จึงนิยมนำมาใช้เป็นกลุ่มยาสมานแผล แก้บิด แก้ปวดมวน แก้ปวดเบ่ง แก้ปวดท้อง แก้ท้องร่วง แก้ปวดเมื่อยร่างกาย ซึ่งหากมีการบริโภคเกินก็เกิดโทษได้ ทั้งอาการมึนเมาและท้องผูก และอุจจาระเป็นเม็ดกลมๆ คล้ายมูลแพะสีเขียว

ด้วยรสยาดังที่กล่าวมาข้างต้นทำให้การประมวลสรรพคุณของกระท่อมในตำราสรรพคุณต่างๆมีความคล้ายคลึงกันคือ

“เป็นยาสมาน คุมธาตุ แก้ท้องร่วง ลงแดง แก้ปวดเบ่ง แก้บิดมูกเลือด และใบกระท่อมรสขม เฝื่อนเมา แก้บิดปวดมวน ทำให้มึนชา รับประทานมากทำให้เมา อาเจียน คอแห้ง”

ยาและสมุนไพรในโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่มีคุณและมีโทษแตกต่างกันไป แต่สำหรับการแพทย์แผนไทยนั้นจะใช้วิธีปรุงเป็นตำรับยา คือผสมสมุนไพรหลายชนิดเพื่อถ่วงรสยา และลดผลเสียจากรสยา รวมถึงกระบวนการผลิตตัวยาที่จะช่วยลดผลเสียได้

ทั้งนี้ในบันทึกการประชุมครั้งที่ 5 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ได้ระบุสรรพคุณทางยาในตำราแพทย์แผนโบราณเอาไว้ว่า:

“สรรพคุณทางยา
ตำราแพทย์แผนโบราณ ใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยาเรียกว่าประสะกระท่อม ใช้รักษาโรคบิด แก้ปวด มวนท้อง ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง ทำให้นอนหลับ และระงับประสาทในมุมมองของแพทย์แผนไทยส่วนใหญ่จะนำพืชกระท่อมมาใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง” [5]

รายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ของวุฒิสภา วันที่ 15 ตุลาคม 2546 จึงได้อธิบายขยายความหมายของภูมิปัญญาการใช้กระท่อมตำรับยาแผนไทยความว่า :


“ที่กล่าวว่ามีประสะกระท่อมนั้น แสดงว่าในใบกระท่อมนั้นมีพิษอยู่ด้วย คนโบราณนั้นหากยาชนิดไหนที่มีพิษจะมีการประสะ คือ ทำให้พิษอ่อนลง ซึ่งวิธีการประสะนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การต้ม การคั่ว หรือการผสมกับสารตัวอื่นในปริมาณที่เท่ากัน ก็จะเรียกว่าประสะ ซึ่งหากการแพทย์แผนโบราณนำกระท่อมมาเป็นยารักษาโรค ก็จะวิเคราะห์อย่างพอเหมาะพอสม โดยการวิเคราะห์ว่าแต่ละคนธาตุอะไร เท่าไหร่ อย่างไร แพทย์ก็จะปรุงยาให้อย่างเหมาะสม คนไข้ก็จะไม่มีอาการข้างเคียง ซึ่งในทางแผนโบราณนั้นหากเป็นยาจะต้องมีการ ผสม ประสะ แก้พิษ จะต้องเป็นตำรับ


ถ้าเป็นตำรับแล้วมีกระท่อมเป็นส่วนประกอบจะทำให้มีความพอดี เมื่อรับประทานเข้าไปจะไม่มีผลข้างเคียง และไม่ติดเนื่องจากแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ และถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้วย และที่สำคัญในอดีตเคยมีการนำกระท่อมาทดแทนฝิ่นหรือเฮโรอีนได้ เนื่องจากกระท่อมสามารถลดอาการถอนยา อาการปวดเมื่อย และรักษาอาการอยากยาได้” [5]

สำหรับตัวอย่างของตำรับยาไทยที่ใช้กระท่อมเป็นส่วนหนึ่งของการถอนยาฝิ่นนั้น เช่น ตำรับยาชื่อ “ตำรับยาอดฝิ่น” ซึ่งบันทึกอยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยแผนโบราณเล่ม 3 เขียนโดย ขุนโสภิตบรรณรักษ์ (อำพัน กิตติขจร) ซึ่งมีการใช้ตำรับยา “ขี้ยาฝิ่น กัญชา และกระท่อม”ร่วมกันโดยใช้ใบกระท่อมเป็นยาหลักมากกว่ายาทั้งหลายความว่า:

“ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา 2 สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กันชาครึ่งกรัม ใบกระท่อมเอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินเข้าไป 1 ถ้วย ให้เติมน้ำ 1 ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่าจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป”

ในขณะที่ต่างชาติยังไม่รู้ว่าจะใช้กระท่อมอย่างไรให้มีความปลอดภัย เพื่อลดผลข้างเคียงจาการถอนยาที่เกี่ยวกับฝิ่น มอร์ฟีน หรือกลุ่มยาแก้ปวดโอปิออยด์ (Opioid) โดยเฉพาะการรายงานกรณีศึกษาทั้งที่ได้ผล [6] และทั้งที่มีผลข้างเคียงที่น่าวิตกกังวล [7] แต่ประเทศไทยกลับมีภูมิปัญญาที่มีบันทึกการใช้สมุนไพรเหล่านี้อย่างละเอียดรอบคอบและก้าวหน้ากว่าต่างประเทศมาก

น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ตำรับยาดังกล่าวข้างต้นกลายเป็น “ยาต้องห้าม” ที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ โดยอ้างเหตุว่ามี ฝิ่น กัญชา และกระท่อมซึ่งเป็นยาเสพติด ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วตำรับยาดังกล่าวเป็นตำรับยาสำหรับ “เลิกยาเสพติด”เสียด้วยซ้ำ

คำถามมีอยู่ว่าเมื่อกระท่อมเป็นพืชประจำถิ่น ซึ่งประเทศไทยมีความชาญฉลาดและรู้จักวิธีใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นอย่างดี เหตุใดจึงขึ้นบัญชีกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ได้?

คำตอบอยู่ที่ “เบื้องหลัง” ในการตรา พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าการให้กระท่อมกลายเป็นยาเสพติดนั้นได้ปรากฏในคำอภิปรายที่แสดงให้เห็นว่าเบื้องหลังการทำให้กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ เป็นเพราะในขณะนั้นรัฐต้องการมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากฝิ่นมากขึ้น ดังนั้นการมีกระท่อมที่ประชาชนเสพได้อย่างแพร่หลายย่อมทำให้คนติดฝิ่นน้อยลง รัฐย่อมจะจัดเก็บภาษีจากฝิ่นได้น้อยลง โดยในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2486 (สมัยวิสามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2486 ได้ปรากฏบันทึกคำอภิปรายของ พลตรีพิณ อมรวิสัยสรเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง ในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ความว่า:


“ฝิ่นนั้นมีภาษีมาก แต่พืชกระท่อมไม่มีภาษี เมื่อฝิ่นแพงคนก็หันไปสูบกระท่อมแทนฝิ่น ทำให้การค้าของรัฐบาลลดหย่อนลงเช่นนี้ เพื่อให้ต้องตามวัฒนธรรมอันดีแล้ว จึงเห็นว่าฝิ่นสำคัญกว่าควรจะยกเลิก(กระท่อม)” [5]
หลังจากนั้นกระท่อมก็กลายเป็นยาเสพติดต่อๆกันมาในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงในวันนี้ ประเทศไทยก็ต้องรอแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ต่อไป ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรกว่าจะมีการแก้ไขได้เสร็จ

โดยในระหว่างการรอนี้ กองวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นในร่างกฎกระทรวงของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเสพและการครอบครองพืชกระท่อม ในท้องที่ที่ประกาศให้เสพพืชกระท่อมได้ โดยไม่เป็นความผิด พ.ศ. .... โดยขึ้นเว็บไซต์ของกองวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และได้เสร็จสิ้นกระบวนการด้วยเพราะหมดเขตรับฟังความคิดเห็นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563
เป็นที่น่าสนใจว่า กฎกระทรวงที่เกี่ยวกับพืชกระท่อมที่กำลังจะพิจารณาต่อจากนี้กลับล้าหลังและอาจจะสร้างปัญหาหนักยิ่งกว่ากัญชาเสียอีก

เพราะนอกจากกฎกระทรวงดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การอนุมัติและการตัดสินใจจาก “ฝ่ายปราบปราม” คือสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)แล้ว ยังไม่คำนึงถึงการพัฒนาในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหรือ อาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วย อันทำให้สูญเสียโอกาสทางด้านการพัฒนายาและอาหารจากพืชประจำถิ่นที่มีคุณลักษณะจำเพาะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน่าเสียดายยิ่ง

โดยข้อความที่ปรากฏอยู่ในร่างกฎกระทรวงกระท่อมดังกล่าวที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้


“ ข้อ 3 วิธีการเสพพืชกระท่อม ให้กระทําได้เฉพาะการเสพตามวิถีชาวบ้านด้วยวิธีการเคี้ยว การบด การต้ม ใบสดของพืชกระท่อม โดยไม่นําสารหรือสิ่งอื่นใดมาเจือปน


การครอบครองใบพืชกระท่อมเพื่อเสพตามวรรคหนึ่ง ให้มีได้คนละไม่เกินสามสิบใบ”


“ข้อ 5 ผู้เสพ หรือครอบครองใบพืชกระท่อมเพื่อเสพ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ผู้เสพและครอบครองใบพืชกระท่อมเพื่อเสพ ท้ังนี้ การขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่สํานักงาน ป.ป.ส. ประกาศกําหนด” [8]

ภายใต้กฎกระทรวงดังกล่าว ตำรับยาในการแพทย์แผนไทยที่มีกระท่อมเป็นส่วนผสมนั้น จะไม่สามารถนำมาใช้ได้เลย เพราะตำรับยาไทยที่มีส่วนผสมนั้นจะต้องมีสมุนไพรชนิดอื่นนำมาผสมร่วมด้วย จึงเท่ากับแพทย์แผนไทยไม่สามารถนำกระท่อมมาใช้ได้ทั้งหมด

ด้วยเพราะกฎกระทรวงข้อ 3 ใช้คำว่า “ไม่นำสารหรือสิ่งอื่นใดมาเจือปน” ซึ่งเป็นทัศนะที่มองแต่สูตรผสม 4 คูณ 100 ที่เป็นปัญหา ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นใช้สูตร กระท่อมต้มมาผสมกับโค้ก ยากันยุง และหลอดนีออนที่ก่อให้เกิดโทษแต่เพียงอย่างเดียว แต่ความเป็นจริงตำรับยาไทยก็มีสารและพืชอย่างอื่นมาผสมกับกระท่อมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาได้ด้วยเช่นเดียวกัน กฎกระทรวงนี้จึงเป็นการร่างขึ้นมาใช้ทัศนะปราบปรามจนขาดทัศนะทางการแพทย์อย่างสิ้นเชิง

ไม่ต้องพูดถึงการพัฒนาเพื่อสกัดสารสำคัญจากใบกระท่อมเพื่อให้มาเป็นยารักษาโรค เพื่อลดการนำเข้ากลุ่มยาแก้ปวดที่มาจากฝิ่น กฎกระทรวงดังกล่าวก็ยังไม่เปิดช่องให้สำหรับมีการวิจัยหรือเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันด้วยซ้ำไป

จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่ยังล้าหลังกว่ากัญชา ที่ยังสามารถใช้ในตำรับยาไทย หรือวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นยาได้

หรือแม้แต่จะพัฒนาเป็นเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกไปยังต่างประเทศก็ยังไม่สามารถจะกระทำได้ด้วย

อีกทั้งการระบุว่าจะต้องเคี้ยว ต้ม บด จากใบสดเท่านั้น คำถามมีอยู่ว่าหากชาวประมงออกเดินทางไปในท้องทะเลเป็นเวลานาน หากใบสดกลายเป็นใบแห้งจะถูกดำเนินคดีหรือไม่?

หรือหากมีผู้ที่จะพัฒนาให้เป็นยาที่กำหนดปริมาณที่ชัดเจนเพื่อลดผลเสีย โดยการนำมาต้มแล้วไปแปรรูปแบบสเปรย์ดรายเป็นผงแห้ง เพื่อให้ใช้สะดวกไม่เน่าเสีย หรือเพื่อให้ปลอดภัยขึ้น จะเป็นประโยชน์หรือโทษต่อผู้บริโภคมากกว่ากัน


หรือหากจะมีผู้ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นลูกอม หมากฝรั่ง เพื่อทำให้ใช้สะดวกมากขึ้น สะอาดมากขึ้น และลดผลเสียได้ดีขึ้นนั้น รัฐควรจะส่งเสริมหรือควรจะขัดขวางโดยใช้กฎกระทรวงเช่นนี้กันแน่


และการให้ใช้พืชกระท่อมโดยการกำหนดบางท้องที่ ก็แปลว่าแพทย์แผนไทย และแพทย์ทุกสาขาซึ่งอยู่นอกพื้นที่ หรืออยู่ในจังหวัดอื่น ก็จะไม่สามารถนำกระท่อมนั้นมาใช้ประโยชน์ในสถานพยาบาลได้เลย จึงเป็นการออกแบบกฎหมายที่เน้นการปราบปราม โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ทางการแพทย์เลย

เหตุที่ร่างกฎหมายออกมาเช่นนี้ ก็เพราะกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ เมื่อถูกกำหนดยกร่างขึ้นมาโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จึงย่อมขาดทัศนะการส่งเสริมเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างสิ้นเชิง จึงเหลือเอาไว้แต่เพียงวิถีชีวิตของท้องถิ่นเท่านั้น (เพื่อให้ง่ายแก่การควบคุมในอำนาจของตัวเอง)

เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กลายเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์เงื่อนไข และรับขึ้นทะเบียนในการเสพและการครอบครองกระท่อม ลองคิดดูว่าจะเกิดปัญหามากเพียงใดเมื่อใช้ทัศนะองค์กรที่มีหน้าที่ “ป้องกัน” และ “ปราบปราม” ยาเสพติดไปดำเนินการพืชประจำถิ่นที่มีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมหาศาล ผลที่ตามมาจึงได้ร่างกฎกระทรวงที่ล้าหลังเช่นนี้

น่าเสียดายจริงๆ


ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง:
[1] เว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ...., 10 มีนาคม พ.ศ. 2563
http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99334768&key_word=%A1%C3%D0%B7%E8%CD%C1&owner_dep=&meet_date_dd=&meet_date_mm=&meet_date_yyyy=&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=

[2] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรุปข่าวรัฐสภา, การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง), วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2562 เวลา 13.00 น.
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=62944&filename=The_House_of_Representatives

[3] หนังสือคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ 0019.10/4740 เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/564057/hrO525630708.pdf?sequence=1

[4] Rech, MA; Donahey, E; Cappiello Dziedzic, JM; Oh, L; Greenhalgh, E (February 2015). “New drugs of abuse”. Pharmacotherapy. 35 (2): 189-97 DOI:10.1002/phar.1522. PMID 25471045.

[5] สำนักกรรมาธิการ 2 สำนักงานเลาธิการวุฒิสภา, รายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่, วันที่ 15 ตุลาคม 2546
http://library.senate.go.th/document/Ext2191/2191415_0002.PDF

[6] Edward W. Boyer, et al., Self-treatmen of opiod withdrawal using kratom (Mitragynia spciosa korth), Addiction Journal, First published: 28 June 2008,
https://doi.org/10.1111/j.1360-0443.2008.02209.x

[7] Durga Bestha, MBBS, Kratom and the Opioid Crisis, Innvoations in Clinical Neuroscience, 2018 June 1; 15(5-6): 11, Published online May-June 2018, PMCID:PMC6040724, PMID:30013812

[8] เว็บไซต์กองวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเสพและการครอบครองพืชกระท่อม ในท้องที่ที่ประกาศให้เสพพืชกระท่อมได้ โดยไม่เป็นความผิด พ.ศ..... ฉบับรับฟังความคิดเห็น, หมดเขตรับฟังความคิดเห็นวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563
http://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/PublicHearing/draft_publicHearing34.pdf


กำลังโหลดความคิดเห็น