"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์เปิดเผยตัวเลข เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลดลง 12.2% ต่อเนื่องจากการลดลง 2.0% ในไตรมาสที่ 1 รวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง 6.9%
หดตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ และน้อยกว่า หรือใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศอื่นทั่วโลก ที่ต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดหนักหนาสาหัสพอๆ กัน
เมื่อแยกแยะองค์ประกอบ หรือ “เครื่องจักร” ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ พบกว่า ดับสนิทเกือบทุกตัว มีเพียงการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐเท่านั้น ที่ยังขยายตัวบ้างแต่ก็น้อยมาก ไม่มีแรงพอที่จะต้านไม่ให้จีดีพีดำดิ่งร่วงลงมา
การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง 6.6% เทียบกับการขยายตัว 2.7% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐ ซึ่งทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลงทั้งในหมวดสินค้าคงทน กึ่งคงทน และหมวดบริการ สอดคล้องกับการลดลงของการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญๆ เช่น
การซื้อยานยนต์ (ลดลง 43.0%) การใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้าและรองเท้า (ลดลง 21.4%) การใช้จ่ายในร้านอาหารและโรงแรม (ลดลง 45.8%) การใช้จ่ายซื้อสินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (ลดลง 17.1%) ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อค่าน้ำและค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.8%
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 1.4% เทียบกับการปรับตัวลดลง 2.8% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ 22.3% (สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 19.7% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
รวมครึ่งแรกของปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนลดลง 2.1% และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลง 0.7%
การลงทุนรวมปรับตัวลดลง 8.0% เทียบกับการลดลง 6.5% ในไตรมาสก่อนหน้า แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง 15.0% ต่อเนื่องจากการลดลง 5.4% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง 18.4% และ 2.1% ตามลำดับ
การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 12.5% เทียบกับการปรับตัวลดลง 9.3% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น 21.0% ในขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลง 0.8% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 17.9% เทียบกับอัตราเบิกจ่าย 10.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 16.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
รวมครึ่งแรกของปี 2563 การลงทุนรวมลดลง 7.2% โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 10.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 1.2%
ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 49,787 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 17.8% เทียบกับการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้าตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยปริมาณการส่งออกลดลง 16.1% และราคาส่งออกลดลง 2.0%
กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ลดลง 0.9%) ยางพารา (ลดลง 41.0%) น้ำตาล (ลดลง 28.4%) รถยนต์นั่ง (ลดลง 45.2%) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลง 67.7%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ลดลง 45.0%) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลง 23.4%) เคมีภัณฑ์ (ลดลง 20.4%) ปิโตรเคมี (ลดลง 18.9%) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลง 42.7%) เป็นต้น
กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ผลไม้ (47.4%) ปลากระป๋องและปลาแปรรูป (17.9%) ผลิตภัณฑ์ยาง (23.4%) อาหารสัตว์ (24.0%) และคอมพิวเตอร์ (5.8%) เป็นต้น
การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 41,746 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 23.4% (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6) เทียบกับการลดลง 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก อุปสงค์ในประเทศ และราคานำเข้าสินค้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลง 19.3% ส่วนราคานำเข้าลดลง 5.1% รวมครึ่งแรกของปี 2563 การนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่า 94,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 12.3%
สถานการณ์การว่างงาน ผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 0.75 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากอัตราการว่างงานในช่วงปกติ และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552 ผู้ว่างงาน 64.2% เคยทำงานมาก่อน โดย 58.7% สาเหตุที่ว่างงานเกิดจากสถานที่ทำงานเลิก/หยุด/ปิดกิจการ หรือหมดสัญญาจ้าง
ส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2563 มีมูลค่า 13.48 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก 5.1% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นที่ลดลงตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ความต้องการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนปรับตัวลดลง รวมถึงความต้องการสินเชื่อของครัวเรือนในเกือบทุกประเภท สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 80.1% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2559 ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดย ณ สิ้นสุดไตรมาส 1 ปี 2563 ยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 156,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% และมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.23% เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 2.90% ในไตรมาสก่อน
ไตรมาสสอง คือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสเต็มที่ เพราะมีการแพร่ขยายของการระบาด จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ กิจกรรมทุกอย่างหยุดชะงัก หลังจากนี้ เมื่อมีการเปิดเมือง ธุรกรรมเกือบทุกอย่างกลับมาดำเนินการได้ ยกเว้นแต่ภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ 40 ล้านคนยังมาไม่ได้ จีดีพีไตรมาส 3 และ 4 จะขยับตัวขึ้นหรือดำดิ่งต่อไป