ร่อนไป-ร่อนมา...ใน “โลกของพวกผู้ใหญ่” มานานแล้ว วันนี้...สงสัยคงต้องขออนุญาตเปลี่ยนบรรยากาศ ชวนให้ลองไปแวะ “โลกของพวกเด็กๆ” เขาดูมั่ง!!! เพราะดูเหมือนว่าบ้านเราช่วงนี้ ใครต่อใครออกจะตะลึงพรึงเพริดกับความเป็นไปของพวกเด็กๆมิใช่น้อย เรียกว่า...เพียงแค่เห็นพวกเด็กๆ เขาออกมา “ชู 3 นิ้ว” หน้าเสาธงชาติ ก็เล่นเอาแทบ “ช็อก” กันไปเป็นรายๆ...
ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว...อาการแปลกๆ ประหลาดๆ ของบรรดาพวกหนูเล็กๆ และเด็กๆ ทั้งหลายนั้น มันได้มีมานานแสนนานไม่ใช่แค่เฉพาะในยุคนี้ สมัยนี้ หรือไม่ใช่แต่เฉพาะยุคเผด็จการ ยุคประชาธิปตง ธิปไตย ที่คงไม่ถึงกับเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันกับอาการแปลกๆ ประหลาดๆ ของพวกเด็กๆ เขามากมายสักเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตย ประเทศเผด็จการ ก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่หนีไม่พ้นต้องเจอกับอาการแปลกๆ ประหลาดๆ ของพวกเด็กๆ ยุคใหม่ รุ่นใหม่ ที่เริ่มแสดงออกให้เห็นอย่างค่อนข้างจะชัดเจน มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น “สหัสวรรษใหม่” หรือยุคที่เทคโนโลยีอย่าง “คอมพิวเตอร์” เริ่มกลายเป็น “เครื่องใช้ปกติ” ภายในบ้านแต่ละบ้าน กันมาตามลำดับ...
เพราะนับจากนั้นเป็นต้นมา...บรรดาเด็กๆ ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในช่วงนี้ ต่างก็ค่อยๆ สร้างความน่าแปลกใจ ประหลาดใจ จนส่งผลให้บรรดาพวกผู้ใหญ่ หรือผู้คนในสังคมแต่ละสังคม ถึงกับต้องลงทุนศึกษา ค้นคว้า ต้องวิเคราะห์-วิจัยกันอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าในแง่พฤติกรรม อุปนิสัย-ใจคอ ทัศนคติ มุมมอง และแนวคิด ของบรรดาเด็กๆเหล่านี้ ที่ถูกเรียกขาน ถูกให้คำนิยามกันไปต่างๆ นานา เช่นถูกเรียกว่า “คนรุ่นสหัสวรรษ” (Millennial Generation) บ้าง หรือ “คนรุ่นโลกาภิวัตน์” (Global Generation)บ้าง หรือ “คนรุ่นอินเทอร์เน็ต” (Net Generation) บ้าง ไปจนถึงคำนิยามแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่ออกจะติดปากใครต่อใครอย่างเป็นพิเศษ นั่นคือ “คนรุ่นเจเนอเรชั่น เอกซ์-วาย-แซด” (Gen X-Y-Z) ไปจนถึงรุ่นอัลฟา เบตา อะไรประมาณนั้น อันเป็นคำนิยามที่นักเขียนชาวแคนาดารายหนึ่ง ชื่อว่า “นายดักลาส คูปแลนด์” (Douglas Coupland) เขาได้ประดิษฐ์ คิดค้นขึ้นมา เพื่อใช้เรียกพวกเด็กๆ ที่เป็นลูกๆ หลานๆ ผู้คนในยุคทศวรรษ 1960 หรือยุคซิกส์ตี้ ยุคฮิปปี้ ยุคแสวงหา ฯลฯ ที่มีอันต้องกลายเป็นไดโนเสาร์-เต่าล้านปี ไปแล้วในทุกวันนี้...
อาการแปลกๆ ประหลาดๆ ของคนรุ่นเจน เอกซ์ เจน วาย เจน แซด ต่อไปยังเจน อัลฟา เบตา อะไรก็แล้วแต่ ได้ทำให้ผู้คนในบางประเทศ มองเห็นถึง “ปัญหา” ซึ่งกำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา อย่างชนิดอาจหนักหนาสาหัส ซะยิ่งกว่าปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แบบโดยปกติธรรมดา จนถึงกับต้องใช้คำเรียกขานถึงปัญหาเหล่านี้เอาไว้ประมาณว่า “วิกฤตการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน” (Unprecedented Crisis) เอาเลยถึงขั้นนั้น และต้องวิเคราะห์ วิจัย อย่างเป็นระบบเป็นกิจการ อย่างเอาจริง-เอาจังมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan’s Monitoring the Future Study) มหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ (UCLA & The American Freshman Survey) ในสหรัฐฯ การวิจัยของสถาบันผู้นำและผู้บริหาร หรือ “Institute of Leadership & Management” การวิจัยของบริษัทเอกชน อย่าง “McCredie and Associates” ไปจนถึงการวิจัยของปัจเจกบุคคล อย่างเช่นงานวิจัยชื่อว่า “Generation Me” ของ “จีน ทเวนจ์” (Jean Twenge) หรือการวิจัยของ “คิมเบอร์ลี พาลเมอร์” (Kimberly Palmer) ที่มหาวิทยาลัยบริกแฮม (Brigham Young University) ให้การสนับสนุน ฯลฯ ฯลฯ...
ที่น่าสนใจเอามากๆ ก็คือว่า...บรรดารายงานการวิเคราะห์และวิจัยเหล่านี้ ล้วนให้ข้อสรุปไปในแนวทางเดียวกันถึงพฤติกรรม อุปนิสัยใจคอ ทัศนคติมุมมองของบรรดาพวกเด็กๆ รุ่นใหม่ เช่น อาการ “หลงตัวเอง” (Narcissism) ชอบแสดงสิทธิความเป็นเจ้าเข้า-เจ้าของ ปฏิเสธพันธะที่ควรมีต่อสังคม อันเป็นสิ่งที่ “จีน ทเวนจ์” ได้สรุปไว้ในหนังเรื่อง “Generation Me” หรือ “คนรุ่นตัวกู-ของกู” อะไรประมาณนั้น หรือการแสดงออกถึงอาการ “โตช้า” หรือโตแบบที่ “ระดับวุฒิภาวะ” ไม่ได้โตตามไปด้วย ตามข้อสรุปของ “คิมเบอร์ลี พาลเมอร์” การก่อให้เกิดปัญหาในที่ทำงาน ห้างร้าน บริษัท อันเนื่องมาจาก “ช่องว่างความเข้าใจระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้บริหารในบริษัทต่างๆ” ที่บริษัท “McCredie and Associates” ได้สรุปเอาไว้ ด้วยเหตุเพราะสิ่งที่บรรดาคนรุ่นเจน เอกซ์ เจน วาย เจน แซด หรือเจน อัลฟา เบตา ทั้งหลาย ต่างเรียกร้อง ต้องการ เอากับบรรดาบริษัทต่างๆ ที่ตัวเองเข้าไปร่วมงาน มักประกอบไปด้วยปัจจัยประมาณ 5 ประการ อันได้แก่ “1. หน้าที่การงานที่ตัวเองได้รับการมอบหมาย ต้องมีความสมดุลกับการใช้ชีวิตของตัวเอง 2. บริษัทที่ตัวเองทำงานด้วย ควรต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้ากันได้กับความรู้สึกของตัวเอง 3. งานที่ได้รับการมอบหมายควรต้องมีความหลากหลาย หรือไม่เป็นอะไรที่จำเจ ซ้ำซาก 4. ผู้บริหารองค์กรต้องเป็นผู้ที่มีความโปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย มีความเคารพต่อทีมงานหรือผู้ร่วมงาน และ 5. ผู้บริหารพึงต้องยอมรับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแบบเป็นหมู่คณะ”... นี่ ฟังแล้ว ต้องเรียกว่าแทบไม่ต่างอะไรไปจาก “ข้อเรียกร้อง 11 ประการ” ของพวกเด็กๆ ประเภท “ผูกโบขาวต่อต้านเผด็จการ” ในบ้านเรา เอาเลยก็ว่าได้...
การที่ต้องเจอกับพฤติกรรม อุปนิสัยใจคอ ทัศนคติและมุมมองที่เปลี่ยนไปของบรรดาเด็กๆ ยุคใหม่ อันก่อให้เกิดความตะลึงพรึงเพริด หรือเกิดอาการ “ช็อก” ไปตามๆกัน จึงทำให้บรรดานักวิเคราะห์ นักวิจัยทั้งหลาย ไม่ว่าในระดับมหาวิทยาลัย สถาบัน องค์กรเอกชน หรือปัจเจกบุคคล ในแต่ละราย ต่างพยายามค้นหา “คำตอบ” ว่า...อะไรกันแน่??? ที่เป็น “เหตุปัจจัย” ส่งผลให้บรรดาเด็กๆ เหล่านี้ เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเดิมๆ ยุคเดิมๆ ที่ไม่ถึงกับก่อให้เกิด “ปัญหา” ระดับที่กำลังนำไปสู่ “วิกฤตการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน” วิกฤตการณ์ที่แก้ได้ยากเอามากๆ หรือแทบแก้ไม่ได้เอาเลยก็ไม่แน่ ซึ่งก็มีทั้ง “คำตอบแบบพื้นๆ” เช่น เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา วิธีการเลี้ยงดูของพ่อ-แม่ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่างๆ ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่มักได้ยิน ได้ฟัง จากบรรดานักวิชาการ นักวิชาเกิน ทั้งหลายแบบซ้ำๆ ซากๆ มานานแล้ว...
แต่ก็มีบาง “คำตอบ” ที่อาจผิดแผกแตกต่าง หรือแหวกแนวไปจากคำตอบแบบพื้นๆ อยู่บ้าง เช่น คำตอบของ “วิลเลียม ดราเวส” (William A. Draves) และ “จูลี คอเตส” (Julie Coates) สองนักวิจัยผู้ร่วมกันเขียนหนังสือชื่อว่าด้วยวิถีชีวิตของคนในยุคศตวรรษที่ 21 หรือ “Nine Shift : Work, Life and Education in 21 Century” ที่ได้ “ฟันธง” ลงไปแบบมิดด้าม เต็มด้าม เอาไว้ประมาณว่า... “ความแตกต่างทางทัศนคติและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ๆ กับผู้คนรุ่นก่อนนั้น สืบเนื่องมาจากบทบาทของ...เทคโนโลยี...ที่เป็นตัวกำหนดให้เกิดบุคลิกที่มีลักษณะเฉพาะเหล่านี้” อันเป็นคำตอบที่สอดคล้องต้องกัน กับผลงานการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมองและประสาทวิทยา อย่าง “ดร.พอล โฮเวิร์ด-โจนส์” (Paul Howard-Jones) ซึ่งได้สรุปไว้ในรายงานเรื่อง “The Impact of Digital Technologies on Human Wellbeing : Evidence from the Sciences of Mind and Brain” หรือ “ผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ : หลักฐานจากวิทยาศาสตร์ทางจิตและทางสมอง” ที่ได้ “ฟันธง” เอาไว้แบบมิดด้าม เต็มด้าม อีกเช่นกัน ว่าด้วยเทคโนโลยีประเภทดิจิทัลทั้งหลายนี่เอง คือตัวการสำคัญในการสร้างอาการแปลกๆ ประหลาดๆ จนทำให้บรรดาผู้คนรุ่นอะนาล็อกทั้งหลาย ถึงกับต้องออกอาการ “ช็อก” ต่อบรรดาเด็กยุคใหม่เอาง่ายๆ โดยจะมีเหตุผลใดๆ มารองรับ คงต้องไปว่ากันต่อวันพรุ่งนี้อีกสักวันก็แล้วกัน...