xs
xsm
sm
md
lg

แม่ของแผ่นดินผู้เข้มแข็งเด็ดขาดและเปี่ยมด้วยเมตตา

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นแม่ของแผ่นดินผู้เข้มแข็งเด็ดขาด และเปี่ยมด้วยเมตตา

สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเป็นลูกทหาร และทรงเติบโตมาในท่ามกลางภาวะสงครามโลก ต้องทรงอดทนลำบากผ่านภาวะสงคราม เช่น ต้องเสด็จด้วยรถรางสาธารณะไปโรงเรียน ทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชินี แต่สงครามโลกมีการทิ้งระเบิดบ่อยครั้ง ไม่ปลอดภัย ประกอบกับวังของพระบิดาอยู่ใกล้กับโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ที่ปลอดภัยจากการถูกบอมบ์มากกว่าทำให้ต้องทรงย้ายโรงเรียนเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยเช่นกัน

พระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ คือ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระยศเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) ทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ซึ่งสมัยก่อนเรียนนายร้อยกันตั้งแต่ชั้นประถมและชั้นมัธยม) แล้วทรงเป็นนักเรียนทุนกระทรวงกลาโหมไปทรงศึกษาต่อที่อังกฤษ ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยฝรั่งเศสแซงซี (École Spéciale Militaire de Saint Cyr) กลับมาทรงรับราชการทหารจนเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทำให้ต้องทรงออกจากราชการทหาร เป็นทหารปลดประจำการ แล้วทรงเปลี่ยนไปรับราชการด้านการทูตแทน โดยทรงรับตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

ด้วยเหตุที่พระบิดาต้องไปทรงรับราชการในต่างประเทศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงทรงเติบโตมาในบ้านของเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) พระอัยกา ในราชสกุลสนิทวงศ์

เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นลูกทหาร ทำให้ทรงมีพระนิสัยเข้มแข็งอดทนแบบทหาร

ประกอบกับการที่สมเด็จฯ ทรงงานหนักตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร องค์จอมทัพไทย ไปยังถิ่นทุรกันดาร ยากลำบากทั่วราชอาณาจักร เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร แม้ท้องที่ยังเป็นพื้นที่สงคราม หรือมีภัยคอมมิวนิสต์อันตรายตามชายแดนก็เสด็จไปทรงเยี่ยมและพระราชทานขวัญและกำลังใจให้ทหารอย่างไม่ทรงหวั่นเกรงภยันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้ได้ทรงฝึกพระองค์ให้ทรงเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจพระราชสำนักได้เขียนเล่าถึงความเข้มแข็งเด็ดขาดของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ว่าคราวหนึ่งเสด็จเยี่ยมราษฎรที่ชายแดนใต้ แล้วเกิดเหตุระเบิดต่อหน้าพระพักตร์ ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ทรงสงบนิ่ง ไม่ทรงหวั่นกลัวภยันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จฯ ทรงอยู่ในพระอาการสงบ ทรงพระสติมั่นคง และไม่ทรงหนีไปไหนจากที่เกิดเหตุ ในขณะที่ข้าราชการทหารตำรวจ ผู้ถวายอารักขาต่างพากันหนีกระเจิง แม้กระทั่งตัวพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชรเองก็กระโจนออกมาจากพลับพลาที่ประทับ พอสิ้นเสียงระเบิดหันกลับไปเห็นล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ยังทรงนิ่งเฉย เข้มแข็ง ทำให้ตัวท่านเองกลับรู้สึกละอายใจ รีบกลับเข้าไปล้อมถวายอารักขาความปลอดภัยในทันที

สมเด็จฯ ทรงใส่พระทัยในกิจการทหารเป็นอันมาก ทรงรับกรมทหารราบที่ 21 เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ เป็นกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ได้รับพระราชทานสมญานาม ว่า "ทหารเสือนวมินทราชินี" หรือ "ทหารเสือราชินี" นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ฝึกกำลังพลทหาร เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจเป็นพิเศษ ในหลากหลายรูปแบบและสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมีการฝึกฝนอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 16 สัปดาห์ ผู้ผ่านการฝึกหลักสูตร ทหารเสือพระราชินี จะได้รับพระราชทาน เครื่องหมายเชิดชูเกียรติทหารเสือของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และมีสิทธิประดับบนเครื่องหมายดังกล่าวบนเครื่องแบบทหารได้


เมื่อคราว “เสธ.เปา” พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) ทหารเสือพระราชินี ถูกยิงเสียชีวิตที่สี่แยกคอกวัว ในปี 2553 สมเด็จฯ ทรงพระกรุณาเสด็จไปพระราชทานพวงมาลาและพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) ด้วยทรงเศร้าสลดพระทัยที่ทหารต้องปฏิบัติหน้าที่ พลีชีพเพื่อชาติ

สมเด็จ ฯ ทรงฝึกหัดใช้พระแสงปืนโดยเสด็จพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ทรงพระแสงปืนได้แม่นยำ และโปรดศึกษาการใช้อาวุธ ตลอดจนการซ่อมแซมอาวุธปืนเป็นอย่างยิ่ง แม้ทรงเป็นสตรีแต่ก็ทรงพระแสงปืนได้เป็นอย่างดี ดังปรากฎในพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงพระแสงปืนในโอกาสต่าง ๆ คราวเมื่อสมเด็จฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมค่ายทหารและชายแดน






สมเด็จ ฯ ยังทรงเป็นแม่ของแผ่นดินที่ทรงเด็ดขาด ดังจะเห็นได้จากคราวกบฎเมษาฮาวาย ก่อการโดยกลุ่มทหารหนุ่มยังเติร์ก เมื่อรัฐบาลโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กราบบังคมทูลเชิญล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ให้เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานไปประทับยังค่ายทหารที่จังหวัดนครราชสีมา

โรม บุนนาค ได้เขียนเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ว่า

ค่ำวันนั้น แม่ทัพภาคที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็พร้อมหน้าอยู่ที่กองบัญชาการของพลเอกเปรมในค่ายสุรนารี ขาดแต่แม่ทัพภาคที่ ๑ ซึ่งไปรับตำแหน่งรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ หลังจากนั้นสถานีวิทยุในเขตภาคอีสานและภาคใต้ก็ออกคำปราศรัยของพลเอกเปรม แม่ทัพภาคที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรเขต ๒ และพลตรีอาทิตย์ รองแม่ทัพภาค ๒ ทุก ๑๐ นาที

ที่สำคัญ ยังได้นำพระราชปรารภของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถออกอากาศด้วย ดังมีสาระสำคัญว่า

“ทหารของชาติมีหน้าที่หลักคือการป้องกันรักษาประเทศชาติ ให้พ้นจากการรุกรานของศัตรูจากนอกประเทศ และมีหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งกำลังคุกคามและบ่อนทำลายความสงบสุขของประเทศชาติอยู่ในขณะนี้ หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของทหารก็คือ การรักษาความปลอดภัย การนำความสงบสุขมาสู่พี่น้องประชาชนทั้งหลาย และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการถวายความปลอดภัยต่อองค์พระประมุขของชาติ

ในปัจจุบัน ขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะสงบ และกำลังจะเข้ารูปเข้ารอยในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่นั้น ก็ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งอ้างว่าเป็นคณะปฏิวัติ ทำการยึดอำนาจและแถลงข่าวว่าจะนำความสงบสุขมาสู่บ้านเมืองนั้น

ความจริงคณะปฏิวัติเป็นเพียงบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ เพียงกลุ่มเดียว และได้ทำการด้วยวิธีการของเผด็จการ ซึ่งวิธีการเช่นนี้แทนที่จะทำให้เกิดผลดีต่อชาติบ้านเมือง กลับจะนำมาซึ่งความสับสนลังเล และอาจเปิดช่องทางให้ศัตรูหรือผู้ไม่หวังดีต่อชาติไทยของเราถือโอกาสเข้าแทรกแซงได้ ดังนั้นจึงใคร่ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนทั้งหลาย อย่าได้หลงเชื่อคำพูดและคำสั่งของคณะปฏิวัติเป็นอันขาด ขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายจงฟังคำสั่งของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกซึ่งจะได้สั่งการให้ทราบเป็นขั้น ๆ ต่อไป” (จาก “กบฏเมษาฮาวาย” รัฐประหารเรื่องคอขาดบาดตาย! กลับกลายเป็นครื้นเครงได้ในเดือนเมษายน!!

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000040057)

พระราชปรารภของสมเด็จ ฯ ที่รัฐบาลในขณะนั้นได้อัญเชิญออกอากาศสะท้อนให้เห็นถึงความเด็ดขาดของพระองค์ ในคราวคับขันของบ้านเมืองที่ทรงแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการรักษาชาติบ้านเมือง

เมื่อคราวเขมรแตกในเดือนพฤษภาคม 2522 เขมรแดงฆ่าล้างพันธุ์เผ่านับล้านคน ชาวเขมรนับหลายแสนคน อดอยากและหนีตายเข้ามาชายแดนไทยที่จังหวัดตราด ที่อำเภอคลองใหญ่ ในสภาพปางตาย มีที่บาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก บริเวณชายแดนที่ชาวเขมรอพยพเข้ามาในฝั่งไทยนั้น มีการยิงปืนกลและโยนระเบิดเข้ามาใส่อยู่เนืองๆ แม้เหล่านาวิกโยธินจะทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดินไทยอย่างเต็มที่แต่ก็เป็นพื้นที่ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

สมเด็จฯ ขณะนั้นประทับที่พระราชวังไกลกังวล เมื่อทรงทราบก็รีบเสด็จพระราชดำเนินมาที่อำเภอคลองใหญ่เพื่อเยี่ยมชาวเขมรอพยพหนีตายในขณะนั้นทันที ทางราชการได้รวบรวมชาวเขมรอพยพจำนวนหนึ่งมาให้เข้าเฝ้าที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งห่างจากชายแดนออกมา เพื่อให้ถวายความปลอดภัยได้

แต่สมเด็จฯ เมื่อทอดพระเนตรแล้วทรงยืนยันว่าจะเสด็จไปยังบริเวณใกล้ชายแดนที่ชาวเขมรอพยพเข้ามาเพื่อให้ทรงเห็นสภาพที่แท้จริงอันสุดเวทนา แม้ทางราชการ/ทหาร จะทัดทานว่าไม่ปลอดภัยก็ตาม สภาพเด็กเขมรอพยพเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก พื้นที่อยู่อาศัยเต็มไปด้วยกองอุจจาระและกลิ่นปัสสาวะเหม็นคละคลุ้ง สมเด็จฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินหลายกิโลเมตรเพื่อทรงเยี่ยมชาวเขมรอพยพหนีตายทั้งหมดนั้นไปจนสุดชายหาด ด้วยพระเมตตายิ่ง

ความเด็ดขาดของสมเด็จเมื่อเห็นสภาพอันสุดเวทนา ได้มีพระราชปณิธาน เข้มแข็งว่า “ฉันตัดสินใจจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ เท่าที่กำลังความสามารถของฉันจะมี”

หนังสือ “ราชการุณย์” ที่จัดพิมพ์โดยสภากาชาดไทย ในปี 2537 ได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า สมเด็จฯ ตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวไม่ยอมเสด็จกลับพระราชวังไกลกังวล จนกว่าการสร้างศูนย์อพยพของสภากาชาดไทยจะแล้วเสร็จ ประทับรอให้ทางราชการกางเต๊นท์กองอำนวยการจนแล้วเสร็จ ทรงสั่งการต่าง ๆ เพื่อเตรียมของช่วยเหลือผู้อพยพด้วยพระองค์เอง แม้เมื่อธงชาติไทยและธงสภากาชาดไทย ถูกชักขึ้นบนเสาซึ่งทำจากไม้สนสองต้นที่เพิ่งถูกตัดลงจากชายหาดตอนใกล้ค่ำก็ยังไม่ยอมเสด็จกลับ จนต้องมีผู้กราบบังคมทูลว่าหากมืดลงเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจะมีทัศนวิสัยไม่ชัดเจนเป็นอันตรายได้ จึงยอมเสด็จกลับ แต่ทรงสั่งให้ราชเลขานุการและรองราชเลขานุการในพระองค์คือท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์และท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ อยู่ที่ศูนย์อพยพ ถวายงานต่อเพื่อช่วยเหลือชาวเขมรอพยพตามพระราชเสาวนีย์


เหตุการณ์ที่เขมรแตกและคลื่นชาวเขมรอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในคราวนั้นนอกจากจะสะท้อนความเข้มแข็งเด็ดขาดของสมเด็จ ฯ แล้ว ยังสะท้อนพระเมตตาในสมเด็จ ฯ ที่ทรงช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา หรือการเมืองความเชื่อใด ๆ ก็ตาม

สมเด็จ ฯ นั้นทรงสืบราชสกุลสองราชสกุลหลักคือฝั่งพระบิดาซึ่งทรงเป็นทหาร ทำให้ทรงเข้มแข็งเด็ดขาด ในฝั่งพระมารดาคือหม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ สืบราชสกุลแพทย์ประจำพระองค์มาโดยตลอด ทำให้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา

แพทย์ประจำพระองค์แห่งราชสกุลสนิทวงศ์ รุ่นที่หนึ่ง คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ต้นราชสกุล สนิทวงศ์ ทรงเป็นแพทย์แผนไทย ทรงกำกับกรมหมอในรัชกาลที่ ๓ แต่ทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า ยาแก้ไข้แบบไทยที่ปั้นเป็นลูกกลอนของกรมหลวงวงศาธิราชสนิทนั้น เมื่อผ่าออกดูจะมียาฝรั่งสีขาวคือยาควินิน ที่ช่วยลดไข้ได้ดีกว่ายาไทย ทรงปั้นยาลูกกลอนไทยลดไข้หุ้มยาควินินไว้ เพราะในสมัยนั้นคนไทยยังไม่ศรัทธาในการแพทย์แบบฝรั่งสมัยใหม่

แพทย์ประจำพระองค์แห่งราชสกุลสนิทวงศ์ รุ่นที่สอง คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (เดิมหม่อมเจ้าสาย) ทรงกำกับกรมหมอหลวง และทรงเป็นแพทย์ไทยประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสเรียกว่า “หมอสาย”

แพทย์แห่งราชสกุลสนิทวงศ์ รุ่นที่สาม คือ พันตรี หม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ซึ่งสืบทอดวิชาแพทย์ต่อจากพระบิดา พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ จบการศึกษาแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก และเป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำพระองค์

แพทย์ประจำพระองค์แห่งราชสกุลรุ่นที่สี่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขาธิการสภากาชาดไทย หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นพี่น้องกับหม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ และเป็นผู้ถวายพระประสูติกาล พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอในสมเด็จฯ ทุกพระองค์ สมเด็จฯ ทรงเคารพนับถือในฐานะพระประยูรญาติผู้ใหญ่ และได้ถวายงานสมเด็จ ฯ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขตลอดอายุขัย

เช่นเดียวกับ พลโท นายแพทย์ หม่อมหลวงจินดา สนิทวงศ์ แพทย์ประจำพระองค์ เป็นพี่น้องกับหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระมารดาของสมเด็จฯ

ราชสกุลสนิทวงศ์ยังมีแพทย์ประจำพระองค์อีกหลายท่านเช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์ดนัย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และศาสตราจารย์ นายแพทย์วงศ์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นแพทย์ประจำพระองค์รุ่นที่ห้า

นอกจากนี้พระเชษฐาแท้ ๆ ของสมเด็จฯ คือศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร ศัลยแพทย์หัวใจ ก็เป็นแพทย์ประจำพระองค์ด้วยเช่นกัน และต้องนับว่าคุณชายกร๋อย เป็นแพทย์ประจำพระองค์แห่งราชสกุลสนิทวงศ์เช่นกัน (โปรดอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ ราชสกุลแพทย์ประจำพระองค์ ใน หนังสือลิลิตเตลงพ่าย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ ในปี 2539)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นแม่แห่งแผ่นดินที่ทรงเข้มแข็งเด็ดขาด แต่ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา พระราชกรณียกิจที่ทรงงานหนักมาโดยตลอดเป็นที่ประจักษ์แก่ใจปวงชนชาวไทยทั้งปวง

ในวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2563 ปวงชนชาวไทยขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรให้ทรงพระเจริญ พระสุขภาพแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ร่มไทร แห่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ร่มไทรแห่งปวงชนชาวไทย เป็นศูนยรวมดวงใจของปวงชนชาวไทย ไปตลอดกาลนาน

ทีฆายุกา โหตุ ปรมราชินีนาถ ปรมราชมาตา

ขอจงทรงพระเจริญ พระชนม์ยืนหมื่นปี หมื่น หมื่นปี




กำลังโหลดความคิดเห็น