xs
xsm
sm
md
lg

“กบฏเมษาฮาวาย” รัฐประหารเรื่องคอขาดบาดตาย! กลับกลายเป็นครื้นเครงได้ในเดือนเมษายน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



๐๒.๐๐ น.ของวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ ขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ได้เกิดรัฐประหารขึ้น ผู้ลงมือโค่น “ป๋า” ก็ล้วนแต่เป็นลูกน้องคนสนิท หรือ “ลูกป๋า” เองทั้งนั้น โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ถูกยกให้เป็นหัวหน้าคณะ แต่กลุ่มผู้ลงมือปฏิบัติการก็คือ “ขบวนการยังเติร์ก” กลุ่มนายทหารหนุ่มที่มีบทบาทสำคัญในกองทัพ อาทิเช่น พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ทั้งยังมี พล.ท.วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ ๑ ซึ่งถือว่าเป็นกองกำลังสำคัญที่คุมกรุงเทพฯ เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลทหารมาทุกยุค เข้าร่วมก่อการด้วย

หัวหน้าคณะปฏิวัติคุยอย่างมั่นใจว่ามีกำลังมากกว่าฝ่าย พล.อ.เปรมถึง ๒๐ เท่า แต่ไม่ถึง ๓ วันก็แพ้ราบคาบ แกนนำสำคัญ ๓ คนถูกทหารฝ่ายรัฐบาลจี้จับได้ดื้อๆ ขณะออกตรวจแนวทหารของตัวเอง แต่เผลอไปตรวจทหารฝ่ายรัฐบาลเข้า หัวหน้าคณะบุกโคลนย่ำเท้าเข้าพม่า “ป๋า” ถอยไปตั้งหลักที่โคราช และกลับมายึดกรุงเทพฯได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ก็เพราะมีเชิงเหนือกว่าฝ่ายกบฏ ๒๐ เท่านั่นเอง

ทหารของฝ่ายปฏิวัติได้เคลื่อนกำลังออกคุมจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๒ นาฬิกาเป็นต้นมา โดยตั้งกองบัญชาการที่หอประชุมกองทัพบก ออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า การปฏิวัติครั้งนี้มี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ พลโทวศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพกองทัพภาคที่ ๑ พลเรือเอกสมุทร สหนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้าคณะ และพันเอกมนูญ รูปขจร ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ ๔ รักษาพระองค์เป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ ทั้งยังออกคำสั่งปลดพลเอกเปรมจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายทหารนอกราชการ

ตามธรรมเนียมของการยึดอำนาจแบบนี้ จะต้องยึดกระบอกเสียงไว้ให้ได้มากที่สุด หลังจากที่ได้นำทหารยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสั่งให้สถานีวิทยุทุกแห่งถ่ายทอดเสียงจากสถานีแห่งนี้แล้ว พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.อ.สาคร กิจวิริยะ แกนนำคนสำคัญของคณะปฏิวัติก็นำกำลังไปยึดสถานีโทรทัศน์ต่อไป

เมื่อทหารของคณะปฏิวัติไปถึงสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อ.ส.ม.ท.ในเวลา ๐๕.๓๐ น. นายพฤทธิ์ อุปถัมภ์พานนท์ โฆษกคนดังกำลังเตรียมจะอ่านข่าวภาคเช้า นายทหารคณะปฏิวัติได้ยื่นแถลงการณ์ให้นำไปอ่านออกอากาศ นายพฤทธิ์ยังไม่ทราบข่าวการยึดอำนาจเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา จึงว่าจะขอนำไปปรึกษานายประมุท สูตะบุตร ผู้อำนวยการเสียก่อน ทันใดปืน ๑๑ มม. ประจำตัวนายทหารปฏิวัติก็ถูกกระชากขึ้นมาจากเอว ตบไปที่ใบหน้าของโฆษกคนดังอย่างแรง ฟันร่วงไป ๓ ซี่ เลือดกลบปากและสลบคาที่ เพื่อนๆรีบนำส่งโรงพยาบาล ข่าวภาคเช้าของ ช่อง ๙ วันนั้นจึงเป็นแถลงการณ์และคำสั่งของคณะปฏิวัติ

ในเวลา ๑๐.๐๐ น.ของวันที่ ๑ เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ซึ่งมีหมายกำหนดการวันประสูติ ๒ เมษายน และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานโดยรถพระที่นั่ง มุ่งสู่จังหวัดนครราชสีมา มีรายงานข่าวว่า ในขบวนเสด็จนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ร่วมขบวนเสด็จไปด้วย ตลอดเส้นทางมีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศบินถวายการอารักขาจนถึงโคราช

เวลา ๑๓.๓๐ น. ขบวนเสด็จถึงค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ ๒ พลเอกเปรมได้ทูลเชิญประทับที่สโมสรรื่นเริงชัย นำพลโทลักษณ์ ศาลิคุปต์ แม่ทัพภาคที่ ๒ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ ๒ พลตรีพักตร์ มีนะกนิษฐ์ รองแม่ทัพภาคที่ ๒ พลตรีสุวรรณ รัตนเสวี ผบ.พล ๓ เข้าเฝ้า และอัญเชิญทุกพระองค์เสด็จเสวยพระกระยาหารที่บ้านพักหน้า บก.ช่วยรบ ๒ ถนนสืบศิริ

๑๕.๐๐ น.พลตรีอาทิตย์ กำลังเอกได้ให้นายเลิศ หงส์ภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในจังหวัดและเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยมาพบที่บ้านพัก เพื่อให้พลเอกเปรมแถลงข่าว นักข่าวพากันตื่นเต้นไปตามกันเมื่อเหลือบไปเห็นสมเด็จพระเทพฯ ประทับปฏิสันถารกับคณะผู้ตามเสด็จอยู่อีกห้อง

พลเอกเปรมซึ่งใช้เชิงหลบกลุ่มยังเติร์กออกจากบ้านสี่เสามาได้ เล่าความเป็นมาให้ประชาชนที่กำลังงงงันทราบข่าวจากทางด้านรัฐบาลเป็นครั้งแรก ตอนหนึ่งว่า

“...เมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ นาฬิกาคืนวันที่ ๓๑ มีนาคมศกนี้ ได้มีกลุ่มนายทหารระดับผู้บังคับการกรมมาพบผมและชักจูงให้ผมทำการปฏิวัติ โดยอ้างเหตุผลในเรื่องความเสื่อมโทรมของสังคม ตลอดจนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน กลุ่มนายทหารเหล่านั้นได้กล่าวถึงการใช้อำนาจในลักษณะเผด็จการเพื่อแก้ปัญหาทั้งปวง ตัวผมเองได้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆดังกล่าวแล้วเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้ว่ามีการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ และทุ่มเททรัพยากรของชาติทั้งสิ้นเพื่อการนี้อย่างที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมไม่เห็นด้วยในแนวทางแก้ไขของนายทหารกลุ่มนี้ ซึ่งมีรูปแบบไม่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของชาติ และขัดกับความประสงค์ของประชาชนคนไทยเป็นส่วนรวม ผมได้ชี้แจงขอร้องเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่คณะนายทหารกลุ่มนี้ไม่ยอมรับฟัง เมื่อประมาณ ๐๒.๐๐ น.ของวันที่ ๑ เมษายน กลุ่มทหารดังกล่าวจึงได้เข้าทำการยึดอำนาจภายใต้ชื่อคณะปฏิวัติ โดยมีผู้อ้างเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติตามที่ท่านได้ทราบกันอยู่แล้ว

กลุ่มชนผู้ไม่ปรารถนาดีต่อประเทศชาติและราชบัลลังก์ดังกล่าว ยังได้บังอาจสั่งการที่ผิดกฎหมาย โดยแอบอ้างว่าผมลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกแล้ว นอกจากนั้นยังได้แอบอ้างชื่อท่านผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทั้งๆที่ขณะนี้ผู้บัญชาการทหารอากาศไปราชการอยู่ต่างประเทศ สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดได้แก่การขัดขืนพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน การปราศจากซึ่งความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ดังกล่าว ขัดแย้งกับคำประกาศของตนอย่างน่าละอาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวผมจึงจำเป็นต้องกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาประทับยังที่ปลอดภัย พร้อมด้วยทูลกระหม่อมทุกพระองค์ เพื่อทรงเป็นมิ่งขวัญของประชาชนทั้งชาติ”

ค่ำวันนั้น แม่ทัพภาคที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็พร้อมหน้าอยู่ที่กองบัญชาการของพลเอกเปรมในค่ายสุรนารี ขาดแต่แม่ทัพภาคที่ ๑ ซึ่งไปรับตำแหน่งรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ หลังจากนั้นสถานีวิทยุในเขตภาคอีสานและภาคใต้ก็ออกคำปราศรัยของพลเอกเปรม แม่ทัพภาคที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรเขต ๒ และพลตรีอาทิตย์ รองแม่ทัพภาค ๒ ทุก ๑๐ นาที

ที่สำคัญ ยังได้นำพระราชปรารภของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถออกอากาศด้วย ดังมีสาระสำคัญว่า

“ทหารของชาติมีหน้าที่หลักคือการป้องกันรักษาประเทศชาติ ให้พ้นจากการรุกรานของศัตรูจากนอกประเทศ และมีหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งกำลังคุกคามและบ่อนทำลายความสงบสุขของประเทศชาติอยู่ในขณะนี้ หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของทหารก็คือ การรักษาความปลอดภัย การนำความสงบสุขมาสู่พี่น้องประชาชนทั้งหลาย และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการถวายความปลอดภัยต่อองค์พระประมุขของชาติ

ในปัจจุบัน ขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะสงบ และกำลังจะเข้ารูปเข้ารอยในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่นั้น ก็ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งอ้างว่าเป็นคณะปฏิวัติ ทำการยึดอำนาจและแถลงข่าวว่าจะนำความสงบสุขมาสู่บ้านเมืองนั้น
ความจริงคณะปฏิวัติเป็นเพียงบุคคลกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว และได้ทำการด้วยวิธีการของเผด็จการ ซึ่งวิธีการเช่นนี้แทนที่จะทำให้เกิดผลดีต่อชาติบ้านเมือง กลับจะนำมาซึ่งความสับสนลังเล และอาจเปิดช่องทางให้ศัตรูหรือผู้ไม่หวังดีต่อชาติไทยของเราถือโอกาสเข้าแทรกแซงได้ ดังนั้นจึงใคร่ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนทั้งหลาย อย่าได้หลงเชื่อคำพูดและคำสั่งของคณะปฏิวัติเป็นอันขาด ขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายจงฟังคำสั่งของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกซึ่งจะได้สั่งการให้ทราบเป็นขั้นๆ ต่อไป”

มาถึงขั้นนี้ก็คงรู้กันแล้วว่าจะออกหัวหรือออกก้อย ใครจะเป็นฝ่ายชนะ คณะปฏิวัติก็คงรู้ตัวแล้วว่าไม่มีทางจะเอาชนะพลเอกเปรมได้เพราะอะไร แต่กระนั้นพลเอกสัณห์ก็ได้ออกแถลงทางโทรทัศน์และวิทยุ พรั่งพร้อมด้วยนายทหารระดับผู้บังคับกองพันถึง ๔๒ คน เพื่อแสดงขุมกำลังฝ่ายตน และว่าคณะปฏิวัติจะเข้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆในกรุงเทพฯโดยเร็วที่สุด พลเอกสัณห์แถลงตอนหนึ่งว่า

“คณะปฏิวัติมีความเชื่อมั่นว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์และพลตรีอาทิตย์ กำลังเอก คงจะไม่ผูกขาดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ยอมเปิดโอกาสให้ความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจของคณะปฏิวัติได้มีโอกาสเปิดเผยแก่ประชาชนชาวไทยได้ทราบ คณะปฏิวัติขอยืนยันเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ในการที่จะเข้าเฝ้าและกราบบังคมทูลความจริงทั้งหมด แม้ว่าจะถูกฝ่ายพลเอกเปรม ติณสูลานนท์จับกุม ควบคุมหรือสังหาร ทุกชีวิตของคณะปฏิวัติพร้อมที่จะโถมทับเพื่อแลกกับความจริงมาตีแผ่สู่สายตาประชาชนว่า อะไรถูกอะไรผิด ขอให้ทุกท่านให้ความไว้วางใจแก่คณะปฏิวัติ”

ต่างฝ่ายต่างใช้สถานีวิทยุแถลงการณ์เข้าใส่กัน ต่างคนต่างปลดฝ่ายตรงข้ามออกจากราชการ ประชาชนคนฟังก็งงไปไม่รู้ว่าใครคือผู้กุมอำนาจบ้านเมืองขณะนั้นกันแน่ จึงต้องอดตาหลับขับตานอนคอยนับสถานีวิทยุของแต่ละฝ่ายกันทั้งคืน ว่าฝ่ายไหนจะมีสถานีวิทยุมากกว่า ทั้งๆที่พอจะเดาผลกันได้แล้ว แต่ก็อยากรู้ว่าเมื่อใดสถานีวิทยุฝ่ายปฏิวัติจะเหลือศูนย์ เพราะหมายถึงรัฐบาลยึดอำนาจกลับคืนได้โดยเด็ดขาด เหตุการณ์จะได้กลับคืนสู่ความเป็นปกติ

แต่ละชั่วโมงที่ผ่านไป ปรากฏว่าสถานีวิทยุของฝ่ายปฏิวัติหายไปทีละสถานีสองสถานี บางสถานีก็หยุดออกแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติกลางคัน หันไปอออกแถลงการณ์ของฝ่ายรัฐบาลทันทีทันใด ซึ่งการปฏิวัติครั้งนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กองสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้อย่างหนึ่งคือ งวดวันที่ ๑ เมษายนซึ่งจะต้องออกในเวลา ๑๓.๐๐ น.ที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนิน ไม่สามารถจะออกได้เพราะถูกคณะปฏิวัติยึดไป แม้จะย้ายมาออกที่ชั้นล่างของตึกใหม่กองสลาก แต่ก็ไม่มีสถานีวิทยุจะใช้ประกาศผล กองสลากต้องอัดเทปไว้ออกอากาศในวันหลัง แต่ก็ได้พิมพ์ผลการออกสลากแจกจ่ายไปให้ประชาชนทั่วประเทศถึง ๔ หมื่นชุด

นอกจากยึดสถานีวิทยุเป็นกระบอกเสียงแล้ว ทั้งฝ่ายปฏิวัติและฝ่ายรัฐบาลต่างประกาศเรียกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจ นายธนาคาร และผู้นำแรงงานเข้ารายงานตัวที่กองบัญชาการ เพื่อแสดงพลังของฝ่ายตนว่ามีคนสนับสนุนมากกว่า ทำเอาหลายคนยืนเซ่อไม่รู้จะไปทางไหน แต่เมื่อรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่ที่โคราชแล้ว ทุกคนจึงมุ่งไปที่โคราชโดยไม่ลังเล บางคนอย่าง พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ ไปนั่งแถลงร่วมกับคณะปฏิวัติเสร็จ ก็หาทางลี้หนีไปรายงานตัวที่โคราช นายธนาคารบางคนก็แสดงบทบาทเป็นคนขับรถ ให้ลูกน้องที่หน้าตาท่าทางเป็นเสี่ยนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ที่เบาะหลังรถเบนซ์ วางท่าเป็นนักธุรกิจต่างจังหวัดจะกลับบ้าน ช่วยให้ผ่านด่านที่คณะปฏิวัติตั้งสกัดออกไปถึงโคราชได้

คณะปฏิวัติพยายามดิ้นเฮือกสุดท้ายโดยจะอาศัยกำลังประชาชน นัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในเวลา ๑๕.๓๐ น.ของวันที่ ๒ เมษายน ซึ่งนับเป็นวิธีการแปลกอีกอย่างของการทำรัฐประหารที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีประชาชนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนหมื่น พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรก กล่าวว่าพลเอกเปรมเป็นคนดี ซื่อสัตย์ แต่ว่ามีลักษณะหลีกหนีการแก้ปัญหา และเผยที่ต้องทำปฏิวัติ คือการต่ออายุผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งตนได้เข้าไปคัดค้านแล้ว แต่พล.อ.เปรมไม่ฟัง และบรรดาคณะรัฐมนตรีได้อาศัยความซื่อสัตย์ของ พล.อ.เปรมเป็นเกราะกำบังหาผลประโยชน์ใส่ตัว ทั้งยังเอาคนที่ไม่เหมาะสมมาร่วมรัฐบาล

พ.อ.ประจักษ์เผยด้วยว่า ในวันเกิดเหตุปฏิวัติได้ไปบอก พล.อ.เปรมว่าจะทำปฏิวัติ พล.อ.เปรมจึงเดินไปโทรศัพท์กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งสมเด็จพระราชินีได้รับสั่งขอพูดกับตน ตนก็ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบเนื่องจากความจงรักภักดี แต่ระหว่างที่ตนกราบบังคมทูลทางโทรศัพท์อยู่นั้น พล.อ.เปรมถือโอกาสหนีออกจากบ้านเข้าไปในพระราชวัง กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทูลกระหม่อมทุกพระองค์ให้เสด็จพระราชดำเนินไปที่โคราช

พ.อ.ประจักษ์กล่าวว่า ตนขอยอมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงสถาบันเดียว แต่สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจะต้องเอาประชาชนเป็นหลัก การปฏิวัติครั้งนี้ตนไม่ต้องการอำนาจ ขอเวลาเพียง ๓๐ วันเท่านั้น ๑๕ วันแรกจะตั้งรัฐบาลให้ได้ อีก ๑๕ วันจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๒๑ โดยตัดบทเฉพาะกาลออกเพื่อเป็นของขวัญประชาชน จากนั้นก็จะสลายจากการเป็นคณะปฏิวัติ และใน ๓๐ วันนี้ ถ้าหากพ่อค้าขายสินค้าเกินราคา นักธุรกิจไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และข้าราชการที่ทุจริตคดโกง หากตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม ต้องตายสถานเดียว

ขณะนั้นคณะปฏิวัติรู้ว่าฝ่าย พล.อ.เปรมเตรียมสู้เต็มที่ โดยกำหนดจะเปิดยุทธการยึดกรุงในคืนวันที่ ๒ จึงได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า

“...คณะปฏิวัติไม่มีความประสงค์จะนองเลือด ขอให้ผู้คิดกระทำการแบบจนตรอกอย่างนั้นได้ระงับความคิดอันนั้น ถ้าท่านมีความบริสุทธิ์ใจที่แท้จริงต่อประชาชนชาวไทยแล้ว ขอให้มาสู้กันด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง พิสูจน์ให้ประชาชนชาวไทยได้ทราบกันว่าใครถูกใครผิด ถ้าท่านเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็จงให้ประชามติเป็นเครื่องตัดสิน แต่ถ้าท่านเป็นผู้อ้างประชาธิปไตยเพื่อบังหน้า แล้วจะเคลื่อนกำลังเพื่อปะทะกัน ก็จงอย่าได้คิดว่าคณะปฏิวัติจะเลิกล้มความตั้งใจจริงที่มีต่อประชาชนชาวไทย ขอให้ พล.อ.เปรมและคณะโปรดคำนึงด้วยว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซื้อมาด้วยทรัพย์สินของประชาชนนั้นจุดประสงค์ของประชาชนต้องการให้มีไว้เพื่อทำลายศัตรูภายนอกประเทศ หากท่านจะนำมาใช้กับคนไทยด้วยกัน ก็ขอโปรดระวัง ท่านจะไม่มีแผ่นดินให้ล้มตัวลงนอน”

ตอนเขียนแถลงการณ์นี้คงลืมไปว่า กำลังถืออะไรไปยึดอำนาจเขา

ตลอดคืนนั้นฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารเสือราชินีจากกรมทหารราบที่ ๒๑ ร.อ.ชลบุรี กับกำลังจากพิษณุโลก แต่งกายเป็นพลเรือนกระจายกันเข้ากรุง พอเช้าก็เข้าเปลี่ยนชุดทหารขอรับอาวุธและพาหนะจากกรมกองที่ไม่ได้เข้ากับฝ่ายปฏิวัติ ลงมือเข้ายึดตึกกระทรวงต่างประเทศที่ถนนศรีอยุธยาเป็นอันดับแรก และใช้เป็นกองบัญชาการ
ขณะเดียวกันทหารนาวิกโยธินก็ยกมาทางสายบางนา-ตราด ตามที่พลเรือเอกสมุทร สหนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือได้ประกาศทางวิทยุ สทร.แล้วว่าไม่ได้ร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ

ทหารฝ่ายรัฐบาลยึดกระทรวงการต่างประเทศและย่านนั้นไว้แล้ว ฝ่ายปฏิวัติก็ยังไม่ทราบ ฉะนั้นเมื่อ พล.ต.ทองเติม พบสุข พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.อ.สาคร กิจวิริยะ นั่งรถจิ๊ปออกตรวจแนวทหารฝ่ายปฏิวัติ มาถึงไฟแดงสี่แยกตรงมุมพระราชวังสวนจิตรฯ กับสนามม้าด้านทางรถไฟ จึงเข้าตรวจแนวทหารที่รักษาการณ์อยู่แถวนั้นด้วยโดยคิดว่าเป็นทหารฝ่ายตน ร.อ.พงษ์เทพ กษิษฐานนท์ ผู้บังคับกองร้อยทหารเสือราชินีจึงควบคุมตัวได้อย่างคาดไม่ถึง ร.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก ทหารเสือราชินีในชุดปฏิบัติการอีกคนหนึ่งจึงเข้ามัดมือและถอดแว่นดำออก ร.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก ท่านนี้ ต่อมาก็คือ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม

คงจะเป็นข่าวนี้เองที่ทำให้ พ.อ.มนูญ รูปขจรนำทหารใต้บังคับบัญชากลับเข้ากรมกอง และ พล.ท.วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ ๑ รองหัวหน้าคณะปฏิวัติได้โทรศัพท์ติดต่อ พล.อ.เปรมขอมอบตัว โดยเดินทางไปถึงโคราชด้วยเฮลิคอปเตอร์เมื่อเวลา ๑๓.๕๓ น.ในสภาพอิดโรยหม่นหมอง พร้อมด้วยภรรยาคู่ชีวิต ซึ่งกองอำนวยการฝ่ายรัฐบาลได้จัดบ้านในค่ายสุรนารีให้เป็นที่พัก
เมื่อผู้สื่อข่าวถาม พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ถึงเรื่องที่รองหัวหน้าคณะปฏิวัติบินมามอบตัว พล.ต.อาทิตย์ก็บอกว่า
“ผมถามท่านว่าอาบน้ำมาหรือยัง ท่านบอกว่ายัง ผมก็ให้เจ้าหน้าที่หาผ้าเช็ดตัวให้ท่าน ก็แค่นั้น ยังไม่ได้คุยอะไรกันมากกว่านี้”

ส่วน พล.อ.สัณห์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้ใช้ความพยายามขั้นสุดท้าย ทำหนังสือกราบบังคมทูลให้นายบัญญัติ สุชีวะ ประธานศาลฎีกา เป็นผู้ถือไป แต่ทว่าหนังสือฉบับนี้มาล่าอย่างมาก คณะปฏิวัติได้ถึงจุดอับเข้าตาจนเสียก่อน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา จึงหลบขึ้นเฮลิคอปเตอร์ให้ไปส่งกลางป่า เพื่อเดินเท้าเข้าพม่าทางด้านกาญจนบุรี ขณะเดียวกันก็ปล่อยข่าวว่าลงใต้ถิ่นที่เคยรับราชการเพื่อเข้ามาเลเซีย

เด็กร้านขายของชำเล็กๆ ที่หมู่บ้านคลิตี้ ปากทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีเล่าว่า ในบ่ายของวันที่ ๓ เมษายนหลังฝนตกหนักเพิ่งจางเม็ด มีชายกลุ่มหนึ่งเปียกฝนลุยโคลนขะมุกขะมอมมาขอน้ำล้างเท้า จึงถามชายสูงอายุรูปร่างท้วมที่นำขบวนมาว่า
“มาเที่ยวป่าหรือลุง?”

ชายผู้นั้นก็พยักหน้ารับ และเมื่อล้างเท้ากันหมดทุกคนแล้วก็ออกเดินทางต่อไป แต่เมื่อได้ดูข่าวทีวีภาคค่ำจึงจำได้ว่า ชายที่รับว่าไปเที่ยวป่ามานั้น ก็คือ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะปฏิวัติผู้พ่ายแพ้นั่นเอง

เนื่องจากการปฏิวัติครั้งนี้จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง และเกิดขึ้นในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่มีงานรื่นเริงสโมสรที่เวทีลีลาศสวนลุมพินีในชื่อ “เมษาฮาวาย” เป็นประจำ หนังสือพิมพ์ทั้งหลายจึงให้ฉายากบฏครั้งนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า “เมษาฮาวาย”

กลุ่มนายทหารยังเติร์กที่ถูกปลดประจำการและได้รับอภัยโทษในภายหลัง บางคนก็ได้กลับเข้ารับราชการ และไต่เต้าจนเกษียณในยศพลเอก อย่าง พันเอกพัลลภ ปิ่นมณี เกษียณราชการในยศพลเอกและเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร หันไปทางทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่างมาก พันเอกมนูญ รูปขจร ลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับความสำเร็จสูงถึงตำแหน่งประธานวุฒิสภา แม้แต่พันโทวินัย สมพงษ์ ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการคมนาคม

ตอนจับอาวุธจะยึดอำนาจเขา ตกม้าตายกันเป็นแถว

ใช้ปืนแล้วยังต้องใช้ปากยึดอำนาจที่สนามหลวง

พ.อ.ประจักษ์เสียท่าอย่างไม่คาดคิด
กำลังโหลดความคิดเห็น