เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่า ท่านอธิบดีกรมการขนส่งทางบกมีดำริจะให้ตรวจสอบสมรรถนะของผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ ซึ่งท่านให้ข้อมูลว่ามีอยู่ราว 1,000,000 คน ถ้าไม่พร้อมจะยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ เพราะมีผู้ถือใบอนุญาตดังกล่าวทำให้เกิดอุบัติเหตุ
ใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพนี้ถูกระงับไม่ออกให้แก่บุคคลใดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 คือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว หมายความว่าคนที่อายุตั้งแต่ 20 ปี ในปี พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบันซึ่งอายุประมาณ 37 ปี จะไม่ถือใบขับขี่ตลอดชีพ
น่าเสียดายที่ท่านอธิบดีไม่ได้ให้ข้อมูลว่า สถิติของผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพกับผู้ถือใบขับขี่ไม่ตลอดชีพ ใครก่ออุบัติเหตุมากน้อยกว่ากัน เพียงไร
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามข่าวอุบัติเหตุผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยฉกรรจ์ ไม่ใช่วัยชรา จึงน่าจะสรุปในเบื้องต้นได้ว่า อายุที่สูงวัยไม่ใช่ปัจจัยในการก่ออุบัติเหตุ ตรงกันข้าม ผู้สูงวัยมีการได้รับบาดเจ็บล้มตายจากผู้อยู่ในวัยฉกรรจ์หรือวัยรุ่น ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อสันนิษฐานของท่านอธิบดี
งานของกรมการขนส่งทางบกที่เป็นงานหลักในปัจจุบัน น่าจะได้แก่ การตรวจสภาพยานพาหนะ ( เพื่อต่อทะเบียน ) ต่อทะเบียนยานพาหนะ สอบใบขับขี่ อนุญาตออกใบขับขี่ ตรวจสอบรถควันดำ รถดัดแปลง ฯลฯ
ปรากฏผลงานของกรมการขนส่งทางบกโดยสรุป ดังนี้
การตรวจสภาพยานพาหนะเพื่อต่อทะเบียนให้เอกชนรับไปดำเนินการ
การสอบใบขับขี่ อนุญาตออกใบขับขี่ ( สอบผ่านไม่ผ่าน ) ให้เอกชนรับไปดำเนินการ
การตรวจสอบรถควันดำ รถดัดแปลง ฯลฯ กรมการขนส่งทางบกดำเนินการเอง
ในเรื่องการตรวจสภาพรถ รายได้ทั้งหมดถือเป็นของเอกชน แทนที่จะเข้ารัฐเป็นเงินงบประมาณ
การสอนขับรถ สอบใบขับขี่ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติรายละ 6,000 – 10,000 บาท เข้าเอกชนไม่เข้ารัฐ
สรุปงานที่มอบให้เอกชนทำ ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ปีละเป็น 10,000 ล้านบาท
งานที่กรมการขนส่งทางบกทำเอง เช่น ตรวจจับรถควันดำ , รถดัดแปลง ฯลฯ ผลงานโดดเด่น คือมีรถควันดำและรถดัดแปลงวิ่งเต็มเมือง
มารยาทของผู้ขับขี่ซึ่งไม่ได้ถือใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ คือการวิ่งสวนเลน วิ่งบนฟุตบาท ขับรถเร็วเกินอัตรา ฯลฯ ไม่เคยได้รับการตรวจสอบ พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต
บัดนี้ กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดนโยบายใหม่เรื่องใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพขึ้นให้พรรคการเมืองที่บริหารกระทรวงคมนาคมนำไปปฏิบัติ
ผลจากนโยบายดังกล่าวน่าจะมีข้อพิจารณา ดังนี้
( 1 ) กรมการขนส่งทางบกดำเนินการเอง ผลงานน่าจะเทียบได้กับการควบคุมมารยาทของผู้ขับขี่ยานพาหนะในปัจจุบัน
( 2 ) กรมการขนส่งทางบกให้เอกชนดำเนินการ ถ้ารัฐบาลจ้างเอกชนก็จะต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลสำหรับการตรวจสอบสมรรถนะของคน 1,000,000 คน แต่ถ้ารัฐบาลไม่จ้าง ให้ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพเสียค่าใช้จ่ายเอง ประชาชน 1,000,000 คน ก็จะต้องขวนขวายหาเงินมาให้เอกชนอย่างลำบาก และเอกชนก็จะกลับมามีรายได้พลิกฐานะจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที
( 3 ) ถ้าถูกเพิกถอนใบอนุญาต แล้วต้องสอบใบขับขี่ใหม่ คน 1,000,000 คน จ่ายค่าเรียน , สอบใบขับขี่ให้เอกชน เงินจะสะพัดประมาณ 10,000 ล้านบาท ถ้ารัฐคิดเปอร์เซ็นต์จากค่าเล่าเรียน 10% ก็จะได้เงิน 1,000 ล้านบาท , 20% ก็จะได้เงิน 2,000 ล้านบาท , 30% ก็จะได้เงิน 3,000 ล้านบาท ตามลำดับ ถ้ารัฐไม่คิดเปอร์เซ็นจากการเรียนและสอบใบขับขี่ใหม่ ก็น่าจะเสียดายเงินจำนวนนี้เป็นอย่างยิ่ง
ปัญหามีต่อไปว่า ถ้าเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพหมดทั้ง 1,000,000 คน แล้ว สถิติอุบัติเหตุไม่ลดลง ใครจะรับผิดชอบ ? ที่ถูกผู้รับผิดชอบคือผู้กำหนดนโยบายทั้งความเดือดร้อน ทั้งความเสียหายที่เกิดแก่ปัจเจกชนคนไทย รัฐบาลไทย คะแนนเสียงพรรคการเมืองที่บริหารกระทรวงคมนาคม ข้อสำคัญคือ ท่านผู้กำหนดนโยบายจะเอาอะไรมารับผิดชดใช้ให้แก่เงินงบประมาณ ความเดือนร้อนของประชาชน ?
รัฐบาลไทยห่วงว่า ต่างชาติจะไม่มาลงทุนเหตุที่ต่างชาติใช้เป็นหลักในการตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศคือความแน่นอน
ถ้าเรายกเลิกสิ่งที่มีอยู่ และทำกับคนไทยเจ้าของประเทศโดยปราศจากข้อมูลสถิติที่แท้จริง รวมทั้งความผิดพลาดบกพร่อง ผิดฝาผิดตัวไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานและบุคลากรที่รับผิดชอบ น่าเชื่อว่า ทั้งต่างชาติและคนไทยจะไม่มีใครลงทุนในประเทศของเราอีก
ขวัญชัย รัตนไชย
นักฎหมายอดีตผู้พิพากษา
10 สิงหาคม 2563