xs
xsm
sm
md
lg

กรรมการพรรค ปชป.ลาออก : ข่าวลือหรือข่าวจริง?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
ถ้าย้อนไปดูปรากฏการณ์ทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่กรรมการบริหารพรรคจะพากันลาออกเกินครึ่งของกรรมการทั้งหมด และส่งผลให้ต้องมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่ทั้งชุด ก็จะพบว่า มีข่าวความขัดแย้งในพรรคนี้ปรากฏเป็นข่าวออกมาเป็นระยะๆ และทุกครั้งที่มีข่าวในทำนองนี้ ก็จะมีแกนนำภายในพรรคออกมาปฏิเสธว่าไม่จริง ทุกคนในพรรคยังรักใคร่กลมเกลียวกันดี

ในทำนองเดียวกัน เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข่าวกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการ และต่อมาทางหัวหน้าพรรคได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มี และยังแถมท้ายว่าในขณะนี้ได้เตรียมผู้สมัครครั้งต่อไปด้วย จึงเป็นการยืนยันว่าไม่มีเรื่องทำนองนี้ในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ข่าวก็คืออาจจริงก็ได้ ปลอมก็ได้ แต่เท่าที่ผ่านมาไม่ว่าเรื่องใด ถ้ามีข่าวออกมาจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนข่าว และคนปล่อยข่าวส่วนใหญ่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหา และความเป็นมาของข่าวนั้น

ดังนั้น ข่าวดังกล่าวข้างต้น ก็ทำนองเดียวกันคือ ผู้ที่ปล่อยข่าวจะต้องเป็นคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งในส่วนภายในของพรรคเอง และในส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาล โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรี ในทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ แต่อาจไม่รุนแรงเท่ากับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีอายุการจัดตั้งยาวนาน และเป็นการเมืองพรรคเดียวที่มีนโยบายชัดเจน ไม่โลเล และปรับเปลี่ยนเพื่อการเข้าร่วมรัฐบาล เฉกเช่นพรรคเฉพาะกิจทั้งหลาย ทั้งมีพฤติกรรมองค์กรเป็นประชาธิปไตยชัดเจน จะเห็นได้จากการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค และการคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอาจรองรับการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วย ถ้าโอกาสทางการเมืองเปิดให้ ทั้งพฤติกรรมองค์กรของพรรคพลังประชารัฐไม่มีอะไรแน่นอน ปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นแกนนำของแต่ละกลุ่ม ซึ่งมารวมกัน จึงไม่มีเอกภาพทางการเมืองเท่าที่ควรจะเป็น

2. ในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แตกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเห็นด้วยกับการเข้าร่วม และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีน้อยกว่า จึงทำให้ฝ่ายที่เห็นด้วยเข้าร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แต่ถึงกระนั้น ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ยังแสดงพลังให้เห็นเป็นระยะๆ เช่น การออกเสียงสวนมติของฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น

ส่วนพรรคพลังประชารัฐดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายใต้เงื่อนไขการต่อรองผลประโยชน์ ตราบใดที่กลุ่มต่างๆ ยังพอใจกับผลประโยชน์ ก็ไม่มีปัญหาขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น แต่เมื่อใดผลประโยชน์ที่ได้รับไม่เป็นที่พอใจเกิดขึ้น ก็จะแสดงพลังอำนาจเพื่อการต่อรอง และเมื่อการต่อรองไม่เกิดผล ก็ปฏิบัติการยึดอำนาจการบริหารพรรคในรูปแบบต่างๆ เช่น การยกพวกลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรค เป็นต้น

จากเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าถึงแม้ภายในพรรคประชาธิปัตย์จะมีปัญหาขัดแย้ง ในทำนองเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ แต่จะไม่มีการยื่นใบลาออก เฉกเช่นกับที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้จะเห็นได้จากท่าทีของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคบอกให้ทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์ จะทำอะไรให้นึกถึงประชาชนที่เลือกเข้ามา ซึ่งเท่ากับเตือนสติให้ ส.ส.ทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์ลดละ และเลิกทิฐิความเห็นแก่ตัว แต่ให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ดังนั้น คำเตือนนี้จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ทุกคนสงบลงได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ 100% แต่ก็มากพอที่จะทำให้ความอยากมี อยากเป็นชะลอไปได้ในระยะหนึ่ง เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลาอันควร
กำลังโหลดความคิดเห็น