วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ
ศูนย์กลยทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในมิติของเทคโนโลยี สังคม หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม จึงเกิดคำถามสำคัญที่ชวนให้คิดว่า “ปริญญายังจำเป็นหรือไม่ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานอย่างเห็นได้ชัด บุคลากรซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Big Data, Internet of Things หรือการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ใช้การประโยชน์จากข้อมูลที่ได้มาแบบ Real-Time จากแหล่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ บุคลากรที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้เรียนสิ่งเหล่านี้จากหลักสูตรปริญญาตรีหรือโทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ได้มีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือทำหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีของผู้พัฒนาเทคโนโลยี เมื่อทุกคนจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเราใช้เวลาในมหาวิทยาลัย 4 ปีบ้าง 2 ปีบ้าง แต่โลกไม่หยุดเปลี่ยนแปลง เมื่อเราจบมาแล้ว ความรู้ตลอดระยะเวลาที่เรียนมาสามารถนำมาใช้จริงได้มากน้อยขนาดไหน จากการศึกษาของ McKinsey ในปี 2020 พบว่า องค์กร 87% กำลังเผชิญปัญหาในเรื่องของช่องว่างของทักษะ (Skill gaps) ในปัจจุบันและอีก 5 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่า ทักษะปัจจุบันที่คนในภาคอุตสาหกรรมมีอาจไม่เพียงพอ หรือไม่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม เมื่อปริญญาไม่ตอบโจทย์การทำงานอย่างแท้จริง วันนี้หลายๆ สถาบันการศึกษาจึงพูดถึงการ Upskill และ Reskill นโยบายนี้เชื่อว่าจะสามารถช่วยองค์กรต่างๆ ในการลดช่องว่างของทักษะได้เป็นอย่างดี ความท้าทาย คือ ใครควรจะเป็นคนกลุ่มแรกที่จะต้อง Upskill และ Reskill ใช่บุคลากรทางการศึกษาหรือเปล่า ถ้าอาจารย์ยังใช้องค์ความรู้เดิม ใช้ตำราเล่มเดิม และใช้วิธีการสอนแบบเดิม คงไม่สามารถที่จะไป Upskill และ Reskill คนในภาคอุตสาหกรรมที่ทำงานจริงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เป็นประจำทุกวันได้
วันนี้การเรียนรู้เฉพาะเรื่องแต่เรียนให้บ่อยในลักษณะ Non-degree programs จึงกลายเป็นสิ่งที่คนในภาคอุตสาหกรรมต่างแสวงหาเพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และนำไปสู่การพัฒนาองค์กร หลายคนสำรวจตัวเองพบว่าความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาในสมัยปริญญาตรี หรือ ปริญญาโทได้นำมาไม่ใช้กี่เรื่อง สิ่งที่เรียนมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วในมหาวิทยาลัยหมดอายุไปเสียแล้ว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนเพื่อให้ทำเป็น สำคัญกว่าการเรียนเพื่อให้ได้แค่รู้ เพราะในชีวิตจริงของการทำงาน ความรู้ไม่ได้มีไว้สอบ แต่มีไว้ใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับองค์กร วันนี้คนต้องการเรียนทันทีที่ต้องการรู้ จึงหมดยุดของการสมัคร สัมภาษณ์ รอเปิดเทอมแล้ว เวลา คือ ทรัพยากรที่ทรงคุณค่า เวลา 4 ปี หรือ 2 ปี กว่าจะได้ใช้ความรู้นำไปสร้างคุณค่าจึงนานเกินความจำเป็นแล้ว หากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังมีความคิดว่า “เราได้เปรียบเพราะเรามีปริญญา” คงเป็นคำพูดที่ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์และติดกับดักที่จะทำให้สถาบันการศึกษาถึงทางตัน
การพัฒนา Non-degree programs ในรูปแบบของ Omnichannel learning จึงเป็นทางออกที่จะปิดช่องว่างของทักษะในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งฝ่าทางตันของสถาบันการศึกษา Omnichannel learning คือ การผสมผสานการเรียนรู้ในรูปแบบของห้องเรียน (Offline) กับช่องทางออนไลน์ (Online) เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตรงความต้องการให้กับผู้เรียนอย่างไร้รอยต่อโดยไม่ยึดติดกับรายวิชา สถานที่ หรือไม่กระทั่งรูปแบบการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ แนวทางการพัฒนาหลักสูตรลักษณะนี้จึงไม่ใช่วิธีการเดิมๆ แต่เป็นการเข้าใจว่าเดือนหน้าบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมจะทำงานอะไร เขาเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้หรือทักษะอะไรที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในวันนี้ มากกว่าการตั้งคำถาม ก็คือ การมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม
ลองถามตัวคุณเองอีกครั้งว่า “ปริญญายังจำเป็นหรือไม่ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”