xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”แย้มอาจต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศิริราชชี้ไทยเสี่ยงระบาดรอบ2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 5 ราย กลับมาจากอียิปต์ 2 ราย และกาตาร์ 3 ราย ไม่มีรายงานติดเชื้อในประเทศต่อเนื่อง 29 วัน "บิ๊กตู่"ย้ำโควิดระบาดยังไม่จบ จำเป็นก็ต้องต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่นั้นสถานการณ์คงไม่เป็นเช่นวันนี้ วอนอย่านำไปโยงการเมือง เซ็งถูกปล่อยข่าวหยุดชดเชยสงกรานต์ 8 วันรวด "อนุทิน"เผยการทดลองวัคซีนไม่เน้นเร็ว แต่เน้นปลอดภัย แจงแผน“ทราเวล บับเบิ้ล”เข้า ที่ประชุม ศบค.ศุกร์นี้ ด้านศิริราชชี้ "ไทย" มีโอกาสโควิดระบาดรอบ 2

วานนี้ (23 มิ.ย.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงข่าวประจำวันว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 5 ราย เดินทางกลับจากต่างประเทศ (อียิปต์-กาตาร์) และเข้าพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ ดังนั้น การติดเชื้อในประเทศจึงยังคงเป็น 0 ราย ต่อเนื่องมา 29 วันแล้ว มีรักษาหายเพิ่ม 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ส่งผลให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,156 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศคงเดิม 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่เฝ้าระวัง 219 ราย หายป่วยรวม 3,023 ราย ยังรักษาใน รพ. 75 ราย เสียชีวิตรวมคงที่ 58 ราย

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 9.18 ล้านราย เป็นรายใหม่ 1.4 แสนราย เสียชีวิตเพิ่ม 3.6 พันราย เสียชีวิตรวม 4.74 แสนราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยยืนยันมากที่สุด คือ 2.38 ล้านราย เป็นรายใหม่ 3.1 หมื่นราย ส่วนบราซิล ป่วยรวม 1.11 ล้านราย เป็นรายใหม่ 2.4 หมื่นราย ขณะที่เม็กซิโก เป็นอันดับ 13 ของโลก มีผู้เสียชีวิตรายใหม่มากที่สุด 759 ราย ฝั่งเอเชีย ยังคงเป็นอินเดียที่มีผู้ป่วยรวมมากที่สุด และป่วยรายใหม่มากที่สุด คือ ป่วยรวม 4.4 แสนราย และรายใหม่ 1.3 หมื่นราย

ด้านความพร้อมในการเปิดเทอม วันที่ 1 ก.ค.นั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมมือกันจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติให้สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติตาม เน้นปลอดภัยการแพร่เชื้อโควิด มีจุดคัดกรองรับส่งนักเรียน วัดอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียน บุคลากร ครู และทุกคนสวมหน้ากากตลอดเวลา มีจุดล้างมือเพิ่มขึ้น การทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง เช่น ประถมศึกษาไม่เกิน 20 คนต่อห้อง มัธยมศึกษาไม่เกิน 25 คนต่อห้อง หากนักเรียนมีจำนวนเกิน อาจสลับกันเรียน เช่น เรียน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ เรียนอังคาร พฤหสบดี หรือสลับวันคู่วันคี่ ตามแต่ละโรงเรียนเห็นชอบ โดยเน้นย้ำผู้ปกครองว่า หากลูกหลานไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ ควรให้อยู่ที่บ้าน ไม่ไปโรงเรียน และฝากว่าเวลาไปเรียนต้องสวมหน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อย รักษาระยะห่างระหว่างเพื่อนๆ กันก่อน

“บิ๊กตู่”ย้ำจำเป็นก็ต้องต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมครม. ถึงการต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจะหมดอายุใน วันที่ 30 มิ.ย.นี้ว่า กำลังพิจารณาอยู่ เมื่อมีความจำเป็นก็ต้องใช้ ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีความจำเป็นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในวันนี้ก็เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ปลอดภัยอยู่ทุกวันนี้ ตนบอกมาหลายครั้งแล้วว่าถ้ามันจำเป็นก็จำเป็น แต่จะพยายามผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากการหารือจากคณะทำงานทุกฝ่าย ทุกคนก็มีความเห็นชอบในทุกๆ เรื่อง การจะต่อหรือไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่จากตนเพียงคนเดียว ทั้งนี้ อยากให้ย้อนกลับไปดูว่าถ้าเราทำแบบเดิมไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีมาตรการป้องกันโควิด-19 จะมาถึงวันนี้หรือไม่ แล้ววันนี้สถานการณ์มันจบแล้วหรือยัง วันนี้สถานการณ์ยังไม่จบ ทั่วโลกยังมีการติดเชื้อมีการแพร่ระบาดเกือบจะ 10,000,000 คนอยู่แล้ว

"ผมไม่ได้ต้องการจะใช้กฎหมายมากดดันใครเลย หลายคนก็มาจ้องเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งมันเป็นคนละเรื่อง แล้วทำไมต้องมาจ้องกันตรงนี้ ทำไมจะต้องมาเคลื่อนไหวกันตอนนี้ บ้านเมืองกำลังมีปัญหา การค้าการลงทุนก็ยังมีปัญหา เศรษฐกิจโดยรวมก็มีปัญหา แต่ก็จะขัดแย้งกัน มันใช่เวลาหรือไม่ ลองคิดตรงนี้ดูและนี่คือแนวคิดรวมไทยสร้างชาติเข้าใจหรือไม่" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันไม่มีการหยุด 8 วันรวด

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงเรื่องวันหยุดราชการพิเศษ ชดเชยวันสงกรานต์ โดยมีคนเผยแพร่ว่า จะหยุด 8 วันว่า คงไม่มีรัฐบาลไหนทำแบบนั้น ซึ่งวันหยุดสงกรานต์ที่เรามีอยู่ 3 วัน ตนได้สั่งการให้ไปพิจารณาว่า จะสอดใส่ตรงไหน อาจจะเป็น 3 วาระ อะไรทำนองนี้ อย่างน้อยถ้าหยุด เสาร์-อาทิตย์ วันจันทร์ไม่หยุด แล้วไปหยุดวันอังคาร ตรงนี้อาจจะเติมวันจันทร์ให้เป็นวันหยุด จะได้เป็น 4 วัน จากนั้น ก็จะเหลือวันหยุดสงกรานต์ อีก 2 วัน ก็จะหาวาระเติมวันหยุดชดเชยลักษณะนี้ให้เกิดความเหมาะสม เพราะการหยุดราชการนานๆ ไม่ใช่สิ่งที่ดี ประชาชนอาจชอบ แต่บางคนไม่ชอบ หลายคนไม่อยากให้หยุด เพราะการติดต่อราชการจะมีปัญหาอีก ข้าราชการต้องทำหน้าที่ให้ประชาชนดีที่สุดในการอำนวยความสะดวก เรื่องวันหยุดสงกรานต์ จะได้เลิกดรามากันเสียที

"การให้ข่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ อย่างเช่นการปล่อยข่าวว่า รัฐบาลอนุมัติแล้ว ให้มีการหยุดราชการ 8 วันติดต่อกัน ไอ้อย่างนี้มันควรจะเสนอข่าวไหม ผมพูดหรือยัง รัฐบาลกำหนดออกมาหรือยัง ถ้ายังคนไปเผยแพร่ทำไม่ถูก ท้ายที่สุดหากไม่ได้วันหยุด 8 วัน ก็เล่นงานนายกฯ เล่นงานครม.ใช่หรือไม่ " นายกฯ กล่าว

หยุดชดเชย 4-7 ก.ค.ไม่เกี่ยวกับสงกรานต์

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ครม. มีมติให้ประกาศวันหยุดชดเชย ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตรงกับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ให้หยุดชดเชย 2 วัน เป็นวันจันทร์ที่ 6 และ 7 ก.ค. โดยจะเลื่อนวันประชุมครม.เป็นวันที่ 8 ก.ค. แต่การหยุดดังกล่าว ยังไม่ได้ใช้โควตาชดเชยวันหยุดสงการนต์ ซึ่งทาง ครม.จะประเมินให้ใช้ในเดือนถัดๆ ไป โดยจะต้องประเมินสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้ง ต้องพิจารณาประกอบกับ แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ

"อนุทิน"ย้ำทดลองวัคซีนเน้นปลอดภัย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในการวิจัย ทดลองวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ว่า คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนภาคเอกชนกำลังค้นคว้าวิจัย ซึ่งขณะนี้ผลในการทดลองกับสัตว์เป็นที่น่าพอใจ และจะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อฉีดในสัตว์ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งตนจะไปพบ คณบดีแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ และสถาบันวัคซีนเพื่อจัดงบประมาณไปสนับสนุนการทดลองวัคซีน ของสถาบันการแพทย์ต่างๆในประเทศไทย เราจะเร่งรัดให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม เรื่องการผลิตให้ได้โดยรวดเร็ว ไม่สำคัญเท่ากับการผลิตให้ปลอดภัย เพราะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เราไม่สามารถก้าวล่วงได้ เรามีเพียงหน้าที่สนับสนุนให้มีการผลิตวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนความคืบหน้า แผนทราเวล บับเบิ้ล หรือการจับคู่ประเทศท่องเที่ยวนั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับสถานทูตหลายประเทศ และได้เริ่มร่าง กรอบ กติกา เงื่อนไข ที่หลายประเทศจะยอมรับได้ ทั้งนี้ การจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ไม่ใช่การเปิดกว้าง แต่จะเลือกประเทศที่มีความสามารถในการควบคุมบริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีในระดับที่เรารับได้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย หรือไม่มีเลย หรือประเทศที่มีธุรกิจเร่งด่วนที่จะต้องเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย โดยจะจำแนกประเทศเป็นกลุ่มๆ เอาไว้ก่อน ซึ่งวิธีการก็คือต้องต่างตอบแทนกัน เช่น เราใช้กฎนี้กับเขา เขาก็ต้องยอมรับกฎนี้กับเราในตอนที่เราเดินทางไปประเทศเขาด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด การคัดกรองผู้ที่จะเดินทางมาประเทศเราเป็นอย่างไร เขาต้องยอมรับกฎระเบียบต่างๆ ของเราด้วย

นอกจากนี้ ต้องดูมาตรการของแต่ละประเทศ ต้องดูรายละเอียดเรื่องการระบาด เราเน้นที่ความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งในข้อตกลงเอ็มโอยู ต้องเขียนชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์สามารถแก้ไขกติกาได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม. จะต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ศบค.ก่อน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่รวบรวมเงื่อนไขต่างๆ เพื่อส่งต่อที่ประชุมศบค. คาดว่าจะเข้าที่ประชุมในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ซึ่งยังไม่ต้องกังวลอะไร เพราะเราเลือกคนที่จะเดินทางเข้ามาแบบจำเพาะเจาะจงกลุ่ม ยังไม่ใช่นักท่องเที่ยวทั่วไป

สำหรับแนวโน้นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่หลังไม่พบคนติดเชื้อในประเทศ 29วัน ก็ต้องหารือในที่ประชุมศบค. ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะไปชี้นำก็ไม่ดี เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของ ศบค. ที่มีนายกฯ เป็นผอ.ศบค. เรามีหน้าที่เพียงนำเสนอข้อมูล และต้องรับฟังความเห็นจากส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

ศิริราชชี้ "ไทย" ยังไม่ปลอดภัย เสี่ยงระบาดรอบ2

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผ่านเฟซบุ๊กสรุปสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จากทั่วโลก และการปรับกระบวนทัศน์แบบองค์รวมที่ประเทศไทยต้องทำให้เกิดสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนการเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่และอันตรายของเชื้อโควิด-19 หรือการระบาดระลอก 2 เนื่องจากแต่ละวันตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยใหม่และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในประเทศที่เคยควบคุมได้ดี เช่น กรณีกรุงปักกิ่ง กรุงโซล โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า 81 ประเทศมีอุบัติใหม่ต่อวันเพิ่มสูงขึ้น มีเพียง 36 ประเทศที่ลดลง

"ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้น อย่างวันที่ 12 มิ.ย. ป่วยเพิ่มขึ้น 1.37 แสนราย วันที่ 20 มิ.ย. ขึ้นไปที่ 1.8 แสนรายใน 1 วัน เมื่อดูย้อนหลัง อุบัติการณ์ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อัตราการเสียชีวิต 4-6 พันรายต่อวัน ตอนแรกดูลดลงตอนนี้ก็เริ่มกลับขึ้นมา อย่างสหรัฐอเมริกาตัวเลขรายใหม่ต่อวันก็เพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นกว่ารายมาเป็น 3 หมื่นกว่าราย" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวและว่า กลุ่มประเทศที่มีการเปิดประเทศผ่อนคลายเร็วเกินไปและเกิดการก้าวกระโดดของผู้ป่วยใหม่และอัตราเสียชีวิต เช่น สหรัฐอเมริกาและบราซิล ส่วนบางประเทศเกิดระบาดใหญ่มีแนวโน้มเริ่มลดลงและกลับขึ้นมาอีก ก็คือกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งเอเชียบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า รูปแบบการกลับมาระบาดระลอกใหม่ มี 3 รูปแบบ คือ 1. เป็นคลื่นลูกเล็กๆ ต่อเนื่องกันไป คือ ระบาดรอบแรกสูง พอเริ่มลดลง เข้าสู่การผ่อนคลาย แต่เกิดการติดเชื้อขึ้นมาใหม่ เมื่อรัฐบาลจัดการทันทีได้ โดยเฉพาะการค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อ ก็จะควบคุมเฉพาะจุดหรือธุรกิจที่มีปัญหา ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินการได้ เศรษฐกิจประเทศจะไปต่อได้ ประชาชนออกจากบ้านไปร่วมกิจกรรมได้ แต่ต้องลดความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อด้วย แต่จะเกิดภาพนี้ได้ ผู้ประกอบการและประชาชนต้องให้ความร่วมมือด้วย ที่สำคัญผู้ป่วยจะไม่เกินศักยภาพการดูแล อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ ค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพไม่สูง ไม่เกิดค่าใช้จ่ายของประเทศที่ไม่จำเป็น หากประเทศไทยจะมีการระบาดรอบใหม่ขึ้นจริง ก็ขอให้เป็นภาพเช่นนี้

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า รูปแบบที่ 2 คือ เป็นยอดเขาและหุบเขา หากเราไม่ช่วยกันเต็มที่ อาจจะเกิดรูปแบบนี้ คือ รอบแรกเกิดขึ้นมาสูง หลังผ่อนคลายก็เกิดติดเชื้อขึ้นมาใหม่ใกล้เคียงกับครั้งแรก แปลว่ามาตรการควบคุมจะกลับมาเข้มงวด เศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจก็จะช้า การเจ็บป่วยกลับมาเยอะ ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะสูงขึ้น โอกาสเสี่ยงเสียชีวิตก็จะมากขึ้นตามจำนวนการป่วย หรือรูปแบบที่ 3 ที่เราไม่อยากให้เกิด คือ รอบแรกเจ็บป่วยเสียชีวิตสูง แต่ครั้งที่ 2 เจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นกว่ามากมาย แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดแบบนี้ในโลกปัจจุบันจากบทเรียนในอดีต

"ปัจจัยที่ทำให้โควิดแต่ละประเทศมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน คือ 1. คน ทั้งวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม วินัย สิ่งต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญผมเชื่อว่าทำให้ไทยและภูมิภาคแถวนี้จัดการได้ค่อนข้างดี 2. การบริหารจัดการ จังหวะการตัดสินใจ 3. เทคโนโลยี ทั้งการตรวจ สืบสวนติดตาม การรักษาพยาบาล พัฒนาวัคซีน 4. สถานการณ์ในประเทศต่างๆ เราไม่สามารถแยกตัวจากประเทศอื่น หากรอบตัวยังมีการติดเชื้อ ก็มีโอกาสหลุดเข้ามาและแพร่ระบาดในไทยได้ และ 5. ตัวไวรัส ว่าจะมีการกลายพันธุ์ให้ก่อให้เกิดผลกระทบการเสียชีวิตที่ชัดเจนแตกต่างจากก่อนหน้านี้หรือไม่" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

"หลายประเทศเกิดระบาดรอบ 2 แล้ว แต่หากจำนวนผู้ป่วยไม่มาก เพราะติดตามตัวได้ กิจการธุรกิจยังเดินต่อได้ ถ้าไม่ช่วยกัน คนติดเชื้อมาก เสียชีวิตมาก เศรษฐกิจแย่ลงแน่นอน นอกจากนี้ การที่เจอเพียงแต่ผู้ป่วยที่กลับมาจากต่างประเทศ ไม่ได้สื่อว่าประเทศเราปลอดภัยจากเชื้อ เพราะมีโอกาสจะมีอะไรเกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่งได้ เช่น เกาหลีใต้ เจอในธุรกิจขายส่ง เยอรมนี เกิดในโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ มีผู้ป่วยใหม่ 1,500 ราย เป็นพันคนต้องแยกมากัก สั่งปิดเมือง ปิดโรงเรียนไปแล้ว หรือจีนที่ไม่มีติดเชื้อในประเทศ 57 วัน แต่ตลาดทางตอนใต้ปักกิ่งติดเชื้อและแพร่กระจาย ซึ่งยังกลับมาได้ แต่ไทยเรา 28-29 วันเท่านั้น ถึงแม้ว่าไม่ได้ตรวจวัดภูมิคุ้มกันของคนไทยทุกคน แต่เชื่อว่าคนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 น้อยมาก" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ดังนั้น ขอว่าอย่าการ์ดตก หากพลาดแค่นิดเดียว วันเดียว สถานการณ์จะเปลี่ยน สิ่งที่เราพยายามสร้างสมดุลสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมจะเสียไป ประเทศไทยจะชนะโควิด-19 หรือไม่ อยู่ที่คน เราควบคุมสถานการณ์ได้ดี และผ่อนคลายกันมาสักระยะแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครอยากกลับไปเป็นเหมือนเมื่อก่อนอีก หวังว่าวัคซีนจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน เมื่อเราร่วมมือกัน ประเทศก็ปลอดภัย คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น