"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
มีปรากฎการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการเมืองไทยนั่นคือ ในยามเริ่มขึ้นมาบริหารประเทศ มีอำนาจมากมายมหาศาล ผู้บริหารประเทศมักมองว่าตนเองเก่งเหนือผู้อื่นทั้งปวง ไม่รับฟังความคิดผู้ใด ปิดกั้นการมีส่วนร่วม มองผู้คิดต่างเป็นศัตรู และมักตัดสินใจตามความต้องการของตนเองเป็นหลัก ครั้นล่วงมาถึงในยามที่อำนาจใกล้สูญสิ้น กลับพยายามปรับเปลี่ยนความคิด เปิดกว้าง สร้างการมีส่วนร่วม แต่ก็มักจะสายเกินไป
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสาธารณะเป็นสัญญาประชาคมเกี่ยวกับทิศทางและแนวทางการบริหารประเทศแบบ new normal หลังวิกฤตโควิด ที่มุ่งการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ด้วยแนวทางการผนึกทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ร่วมตรวจสอบประเมินผลการทำงานของภาครัฐ และการทำงานเชิงรุก พลเอกประยุทธ์เพิ่งคิดได้และแถลงหลักคิดและแนวทางการทำงานเช่นนี้ภายหลังการครองอำนาจกว่า ๖ ปี ทั้งที่ในอดีตบรรดานักวิชาการและภาคประชาสังคมได้เสนอแนวทางเช่นนี้มาอย่างยาวนาน แต่พลเอกประยุทธ์ไม่เคยให้ความสนใจแต่อย่างใด
อะไรที่ทำให้พลเอกประยุทธ์เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนจริงลึกลงถึงโครงสร้างความคิดและความเชื่อหรือเป็นเพียงสิ่งฉาบฉวยเพื่อเหนี่ยวรั้งกระแสความตกต่ำของรัฐบาล และหากเปลี่ยนจริงจะสามารถนำแนวคิดและวิธีการเหล่านี้ลงไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงมากน้อยเพียงใด
เริ่มจากมุมมองและการวิเคราะห์ตนเองของพลเอกประยุทธ์ที่แถลงผ่านสาธารณะ พลเอกประยุทธ์ระบุว่า วิกฤตการณ์โควิดทำให้ตนเองเกิดความตระหนักถึงความพิเศษของสังคมไทยคือ คนไทยมีคนเก่งเป็นจำนวนมากในทุกระดับของสังคม และคนไทยมีความพร้อมใจร่วมมือช่วยเหลือกันในยามวิกฤต การตระหนักรู้เช่นนี้จึงทำพลเอกประยุทธ์มีความปรารถนาที่จะรักษาสถานภาพแห่งความร่วมมือร่วมใจของคนไทยให้ดำรงอยู่ต่อไปแม้วิกฤตจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม หรือทำงานดุจดังที่ทำในยามวิฤต
กล่าวได้ว่าวิกฤตโควิดทำให้ความคิดในการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์เปลี่ยนแปลงนั่นเอง
นอกจากวิกฤตโควิดแล้ว อาจมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของนายกรัฐมนตรีอยู่ไม่น้อย นั่นคือกระแสความเบื่อหน่ายของประชาชนเกี่ยวกับเกมการเมืองแบบเก่าของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยังหมกมุ่นอยู่กับการแย่งชิงตำแหน่งอำนาจและผลประโยชน์เป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงสถานการณ์ที่เป็นปัญหาภายในประเทศแต่อย่างใด เห็นได้จากการเล่นเกมการเมืองแย่งชิงตำแหน่งกันภายในพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหวังจะให้เกิดการปรับคณะรัฐมนตรีตามมา รวมทั้งการแย่งรุมทึ้งช่วงชิงงบประมาณเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจสี่แสนล้านบาทของหน่วยงานราชการ ที่เขียนโครงการเพื่อหวังได้มีส่วนแบ่งงบประมาณเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ประโยชน์และผลลัพธ์ที่เกิดต่อประเทศแต่อย่างใด จนผู้คนในสังคมเอือมระอากันทั่วหน้า
การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่วิพากษ์การครอบงำของกลุ่มอำนาจนำในสังคมก็ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของพลเอกประยุทธ์ไม่น้อยทีเดียว กลุ่มคนรุ่นใหม่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในการวิพากษ์วิจารณ์ระบบอภิสิทธิ์ชน การบริหารประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจ การปิดกั้นเสรีภาพ และการกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้มีรูปแบบผสมผสานทั้งการเคลื่อนไหวแบบดั้งเดิม เช่นการชุมนุมประท้วง และการเคลื่อนไหวแบบหลังภาวะทันสมัยที่การผสมผสานระหว่างการทำกิจกรรมทางการเมืองแบบฉับพลันกับเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์เข้าด้วยกัน รวมทั้งมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ที่หน่วยงานของรัฐพยายามปกปิดเป็นความลับก็ถูกทำให้สาธารณะสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง จนทำให้รัฐบาลและสถาบันอำนาจของรัฐจำนวนมากประสบกับวิกฤตศรัทธาอย่างไม่เคยมีมาก่อน
กล่าวได้ว่าวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันอำนาจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐสภา องค์กรอิสระ และกองทัพ แพร่กระจายไปแทบทุกระดับของสังคมไทย
กระแสการเคลื่อนไหวเชิงลึกของหลากหลายกลุ่มในสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ไม่มีสมรรถนะเพียงพอในการบริหารจัดการประเทศได้อีกต่อไป และมองว่าเงื่อนไขโครงสร้างการเมืองในปัจจุบันโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญไม่สามารถสร้างฉันทามติร่วมในสังคมได้ หากสถานการณ์ดำเนินต่อไปในลักษณะนี้จะสร้างผลกระทบต่อประเทศอย่างรุนแรง
กลุ่มนี้พยายามที่จะผลักดันให้มีรัฐบาลเฉพาะกิจแห่งชาติขึ้นมาโดยใช้เวลาบริหารประเทศ ๑-๒ ปี เพื่อปรับทิศทางในการบริหารเศรษฐกิจ การปฏิรูปประเทศและแก้รัฐธรรมนูญ จากนั้นก็ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อเริ่มศักราชใหม่ของการเมือง
การเปลี่ยนแปลงความคิดและวิธีการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์จึงเป็นส่วนผสมทั้งเหตุผลของความตระหนักรู้ด้วยตนเอง และเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อแรงกดดันจากภายนอก เพราะหากไม่เปลี่ยน ไม่ช้าไม่นานรัฐบาลประยุทธ์ก็คงไปไม่รอด เพราะไม่อาจทนรับกับมรสุมที่พัดกระหน่ำอย่างรุนแรงได้ ส่วนตัวพลเอกประยุทธ์เองก็คงถูกประวัติศาสตร์จารึกในแบบที่เจ้าตัวไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง
หากพลเอกประยุทธ์มีเจตจำนงที่แน่วแน่และดำเนินการจริงตามที่ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมเอาไว้แล้วนั้น สิ่งที่ตามมาและประชาชนควรได้เห็นภายในเดือนนี้หรือเดือนหน้ามีเรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้
๑) ในสัปดาห์หน้าเราจะเห็นพลเอกประยุทธ์ออกมาปฏิบัติการเชิงรุก ด้วยการประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน และแถลงแผนการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นคือการสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชนในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง อันเป็นการสร้างความหวังให้แก่ประชาชนในทุกระดับ โดยเริ่มจากการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและองค์การบริหารจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศซึ่งอาจจัดในช่วงเดือนกันยายน ต่อด้วยการเลือกตั้งเมืองพัทยาและเทศบาลทุกแห่งในช่วงเดือนตุลาคม และปิดท้ายด้วยการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลในช่วงเดือนพฤศจิกายน
๒) จากนั้นเราจะเห็นพลเอกประยุทธ์ออกมาประกาศว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างอย่างกว้างขวาง และมีเนื้อหาที่มีความเป็นประชาธิปไตย เพิ่มอำนาจแก่ประชาชน ขยายการมีส่วนร่วมและเสรีภาพมากขึ้น ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างใหม่นี้คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกินสามเดือน
๓) ประกาศยกเลิกยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี (๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) เพราะยุทธศาสตร์ฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและในปัจจุบันก็ล้าสมัยไปแล้ว พร้อมกันนั้นก็แก้ไขพรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๕๖๐ เสียใหม่ เพื่อผนึกพลังทางสังคมและให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติใหม่ และสิ่งสำคัญอีกประการในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติคือ การกำหนดระยะเวลาที่ใช้ยุทธศาสตร์ไม่ควรเกิน ๔ ปี เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในปัจจุบันและอนาคต มีความไม่แน่นอนสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ในชั่วข้ามคืน
๔) ประกาศสนับสนุนและสร้างกลไกที่เป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตำรวจ และกองทัพ โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
๕) การปรับคณะรัฐมนตรี โดยปรับบุคคลทุกคนที่มีชื่อเสียงและพฤติกรรมอื้อฉาวเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ ปกปิดทรัพย์สิน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และบุคคลที่ไร้ความสามารถออกจากตำแหน่งทุกคน จากนั้นแต่งตั้งบุคคลใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทนโดยพิจารณาจากความสามารถ ความซื่อสัตย์ และการเสียสละต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง มิใช่แต่งตั้งตามจำนวนโควต้าของส.ส.ของแต่ละกลุ่ม แต่ละพรรค
แต่หากในสัปดาห์หน้าประชาชนยังไม่เห็นสัญญาณ ๕ ข้อข้างต้น ก็หมายความว่าสิ่งที่พลเอกประยุทธ์แถลงเป็นสัญญาประชาคมในวันที่ ๑๗ มิถุนายนนั้นเป็นปฏิบัติการเชิงจิตวิทยามวลชน เพื่อบรรเทาแรงกดดันต่อรัฐบาลเท่านั้นเอง และหากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าพลเอกประยุทธ์เป็นคนที่ไร้สัจจะซ้ำซาก ดังที่เคยละเมิดสัญญาประชาคมเรื่องการปฏิรูปและการคืนความสุขให้แก่ประชาชน
เมื่อสร้างความหวังและให้สัญญาประชาคมแล้ว หากพลเอกประยุทธ์ไม่รักษาสัญญาในครั้งนี้ อนาคตภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของพลเอกประยุทธ์คงหมดสิ้นไป แต่หากสามารถรักษาสัญญาและทำได้จริงดังที่ประกาศเอาไว้ ความทรงจำของสังคมที่มีต่อพลเอกประยุทธ์หลังหมดสิ้นอำนาจก็จะแตกต่างออกไป
แต่หากจะให้ประเมินจากการเฝ้าสังเกตในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า พลเอกประยุทธ์คงจะไม่สามารถรักษาสัญญาประชาคมได้ เพราะสิ่งที่ประกาศออกมานั้นมีแนวโน้มเป็นอารมณ์ความรู้สึกชั่ววูบที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันภายนอกมากกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความคิดและจิตสำนึกภายในอย่างแท้จริง ส่วนเจตจำนงเกิดขึ้นชั่วคราวดุจไฟไหม้ฟาง หาได้มีความเข้มข้น แน่วแน่ มั่นคง และยืนยงแต่อย่างใด
ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ผลักดันวิธีการใหม่ออกมา แล้วเผชิญการท้าทายจากความเป็นจริงทางการเมืองที่เต็มไปด้วยเครือข่ายโครงสร้างอำนาจอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง และผลประโยชน์ ผมคิดว่าพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถยืนหยัดได้ยาวนาน เจตจำนงก็จะอ่อนลง และหวนกลับไปสู่การกระทำในแบบเดิม ๆ หรือ old normal ดังเช่นที่เคยเป็นมาตลอด ๖ ปีที่ครองอำนาจ
ความเป็นจริงทางการเมืองที่เราพบเห็นบ่อยครั้งของผู้มีอำนาจคือ ยามที่มีอำนาจล้นฟ้า มักยะโสโอหัง มองตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ทำอะไรไม่ฟังใคร ไม่ชอบการตรวจสอบ แต่ยามใกล้หมดอำนาจ ก็มักสำนึกผิด จิตอยากเป็นประชาธิปไตย และอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อหวังใช้ประชาชนเป็นฐานยืดเวลาแห่งอำนาจของตนต่อไป แต่นั่นก็สายเต็มทีแล้ว