“ส.ว.คำนูณ” เสนอ “ประยุทธ์” ปฏิรูปใหญ่ 5 ประเด็น 10 ขั้นตอนและ 4 ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูป ทั้งเรื่องเหลื่อมล้ำ แก้กฎหมายล้าสมัย ปฏิรูปตำรวจ การศึกษา สร้างอากาศสะอาด เชื่อเปลี่ยนประเทศได้ใน 3 ปี
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว หัวข้อเรื่อง 5 ประเด็นปฏิรูปใหญ่ 10 ขั้นตอนดำเนินการ และ 4 ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ เปลี่ยนประเทศได้ใน 3 ปี ใจความว่า
“ภายในเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่เต็ม 3 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปประเทศเห็นผลสัมฤทธิ์ในเบื้องต้นการให้ปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศโดยเลือกเฉพาะเรื่องใหญ่ที่มีนัยต่อการเปลี่ยนแปลง หรือ Big Rock จากแผนปฏิรูปทั้งหมด 173 เรื่อง 1,000 ประเด็นย่อย ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้ตั้งแต่ 3 ธันวาคม 2562 และมีมติอีกครั้งเมื่อ 5 พฤษภาคม 2563 ให้ขยายเวลาออกไปอีก 90 วัน จึงควรเป็นเรื่องใหญ่ประเภท ‘หัวกระสุน’ หรือ ‘หัวรถจักร’ ที่เมื่อเดินหน้าไปแล้วจะเป็นการลากจูงขบวนรถโดยสารการปฏิรูปประเด็นอื่นตามๆ ไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ข้อเสนอนี้ปรับปรุงจากที่เคยโพสต์มาแล้ว และตั้งใจจะใช้นำเสนอในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อถึงวาระคณะรัฐมนตรีรายงานผลการปฏิรูปประเทศรอบ 3 เดือนและรอบ 1 ปี แต่ไม่แน่ใจว่าเวลาที่ได้รับจัดสรรมาจะเพียงพออรรถาธิบายเชื่อมโยงได้ทั้งหมดหรือไม่ จึงขอนำเสนอต่อสาธารณะ ณ ที่นี้ด้วย
การปฏิรูปใหญ่ที่จะเป็น ‘หัวรถจักร’ ได้ในมุมมองล่าสุดของผมมี 5 ประเด็นดังนี้...
1. กลไกพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน
2. กลไกพิเศษเพื่อยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหมดความจำเป็นและสร้างภาระแก่การใช้ชีวิตหรือประกอบอาชีพของประชาชน (Regulatory Guillotine)
3. ปฏิรูปตำรวจ
4. ปฏิรูปการศึกษา
5. การสร้างอากาศสะอาด หรือแก้ปัญหาไฟไหม้ป่าและมลพิษ PM 2.5
ประเด็นที่ 1 เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดดังที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง และคณะรัฐมนตรีเคยมีมติแล้วเมื่อ 19 ธันวาคม 2561 นายกรัฐมนตรีประกาศต่อสาธารณะแล้วเมื่อ 21 ธันวาคม 2561 แต่จนบัดนี้ยังไม่เกิดขึ้น
ประเด็นที่ 2 หลักการของ Regulatory Guillotine คือกลไกและกระบวนการพิจารณากฎหมายจำนวนมากในครั้งเดียว เพื่อยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น ล้าสมัย หรือปรับแก้ให้สะดวกต่อการปฏิบัติตาม โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กฎหมายใดที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชนให้ยกเลิกพร้อมกันทันที ส่วนกฎหมายที่จำเป็นแต่ไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปจะถูกปรับทอนความยุ่งยากซับซ้อนลง วิธีการนี้ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วในสวีเดน เกาหลีใต้ เม็กซิโก และเวียดนาม เป็นอาทิ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติเกือบ 1,400 ฉบับ กฎหมายลำดับรองอีกกว่า 100,000 ฉบับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติภาครัฐส่วนใหญ่ไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระในการบังคับใช้ต่อภาครัฐเองและสร้างภาระต่อประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการในการปฏิบัติตาม การทบทวนและปรับปรุงโดยกลไกและกระบวนการพิเศษจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วน และจะปล่อยให้อยู่ในการตัดสินใจของภาครัฐฝ่ายเดียวไม่ได้
รัฐบาลชุดที่แล้วตั้งหลักเรื่อง Regulatory Guillotine อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2561 และเริ่มงานบางด้านจนมีสัมฤทธิผลเห็นชัดทำให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลก (Ease of doing business) ของประเทศไทยดีขึ้น 6 อันดับในปี 2562 แต่หลังจากนั้นดูเหมือนงานในภาพรวมสะดุดหยุดลง
ประเด็นที่ 3 งานตำรวจคือข้อโซ่แรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด หากยังมีปัญหาจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน ส่งผลให้ความขัดแย้งที่เกิดจากความรู้สึกและความเชื่อที่ว่ากลุ่มประชาชน 40% ล่างได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมบานปลาย
ประเด็นที่ 4 มองในระยะยาวแล้วคือรากฐานของปัญหาทั้งมวล ก่อนหน้านี้อันดับการศึกษาของประเทศไทยก็ตกต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากแล้ว ยิ่งมาเจอสถานการณ์ COVID-19 ที่จะต้องคิดใหม่ทำใหม่ค่อนข้างมาก หากไม่เร่งปฏิรูปโดยด่วน จะยิ่งถูกทิ้งห่าง
ประเด็นที่ 5 เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเกิดขึ้นทุกปี รุนแรงขึ้นทุกปี สร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ จะต้องแก้ปัญหาที่สมุฏฐานแบบคิดนอกกรอบ กล้าหาญ มีกลไกและกระบวนการที่ทำงานต่อเนื่องและกำหนดทิศทางใหญ่เป็นการเฉพาะโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น กำหนดภายใน 10 ปีรถยนต์บนถนนต้องเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด หรือการกำหนดนโยบายปลูกพืชอุตสาหกรรมบางชนิดใหม่ทั้งระบบ
ทั้งนี้ ประเด็นที่ 1, 3 และ 4 สามารถทำโดยรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ซึ่งจะส่งผลข้างเคียงให้เป็นการเปิดประเด็นทางการเมืองใหม่ ๆ ขึ้นมาคู่ขนานและแซงหน้าประเด็นทางการเมืองเดิมๆ ได้อีกต่างหาก
ถ้าร่างพระราชบัญญัติเสร็จสมบูรณ์สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 2-3 ปี ก็ถือว่าหัวรถจักรเดินหน้าออกจากสถานี ลากจูงการปฏิรูปด้านอื่นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ส่วนประเด็นที่ 2 และ 5 ในเบื้องต้นสามารถทำได้ทันทีโดยมาตรการทางการบริหาร
และในประเด็นที่ 5 เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการอากาศสะอาดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในฐานะร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 อีกฉบับหนึ่ง
ทั้งนี้ โดยกระบวนการทำงาน 10 ขั้นตอนดังนี้
1. นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติกลไกและกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่ง และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีประสบการณ์อีกครึ่งหนึ่ง โดยใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนที่ สศช. (สภาพัฒน์) ยกร่างเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เป็นฐานตั้งต้น ให้ดำเนินการยกร่างให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน
2. นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1 ต่อรัฐสภา ในฐานะร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270
3. นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4) ที่ผ่านการพิจารณาและตรวจแก้มาแล้วจากคณะกรรมการยกร่างที่ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่งและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีกครึ่งหนึ่งมาแล้ว 2 ชุด 2 รอบใช้เวลารวม 2 ปี เข้าสู่รัฐสภา ในฐานะร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270
4. นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนชุดใหม่
5. นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายหรือกำหนดไว้ในคำสั่งแต่งตั้งตามข้อ 2 ให้ถือว่าการจัดกลไกและกระบวนการในการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตหรือการประกอบสัมมาอาชีวะของประชาชน หรือ Regulatory Guillotine คือหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของคณะกรรมการชุดนี้ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี
6. นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยราชการให้ร่วมมือกับคณะกรรมการตามข้อ 4 ปฏิบัติตามกระบวนการ Regulatory Guillotine อย่างเคร่งครัด
7. หนึ่งในข้อปฏิบัติตามข้อ 6 คือการจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนกฎหมายในระดับกระทรวงขึ้นทุกกระทรวง และคณะกรรมการทบทวนกฎหมายระดับชาติ โดยต้องมีองค์ประกอบจากภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบการเข้าร่วมด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญตามที่คณะกรรมการตามข้อ 4 กำหนด
8. นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อประชาชนให้รับรู้ถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการ Regulatory Guillotine โดยขอให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ ตอบแบบสอบถามถึงกฎหมายรวมทั้งกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ รวมถึงความเห็นในการยกเลิกหรือปรับปรุง
9. นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้คณะกรรมการตามข้อ 4 ยกร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการอากาศสะอาดให้เสร็จภายใน 3 เดือนเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี จากนั้นให้ทำหน้าที่เสริมคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศในประเด็นเร่งด่วนที่จะมีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังปรับปรุงใหม่อยู่ในขณะนี้
10. นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ชุดใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2561 ข้อ 13 เรียกประชุมคณะกรรมการครั้งแรกโดยเร็วที่สุดภายในเดือนมิถุนายน 2563 และมีคำสั่งให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2561 ข้อ 7 ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเสริม สศช. (สภาพัฒน์) ซึ่งมีงานล้นมือ กับทั้งให้เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการตามข้อ 4
อนึ่ง ข้อ 10 นั้นทราบว่าจะมีกำหนดนัดประชุมในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 นี้แล้ว
ทั้ง ‘5 ประเด็นการปฏิรูปใหญ่ 10 ขั้นตอนดำเนินงาน และ 4 ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ’ นี้เป็นเพียงตัวอย่างข้อเสนอจากประสบการณ์ของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในกลไกเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศต่างๆ มาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา อาจปรับปรุงได้ แต่ควรได้ข้อสรุปโดยเร็ว ไม่ควรรอช้าถึงอีก 90 วัน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วนายกรัฐมนตรีควรชี้แจงภาพรวมต่อประชาชน และต่อรัฐสภา เป็นการสร้างทิศทางใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดิน และสร้างประเด็นทางการเมืองใหม่ขึ้นมาให้สังคมมีส่วนร่วมให้ความเห็นและเสนอแนะ
อันจะทำให้คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีคนนี้นอกจากจะเป็นคณะรัฐมนตรีตามปกติแล้ว นับแต่นี้ไปยังจะเพิ่มมิติเป็น ‘คณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูปประเทศ’ อย่างชัดเจนอีกต่างหาก เวลาที่เหลืออยู่ 3 ปีของนายกรัฐมนตรีคนนี้จะทรงคุณค่ายิ่ง สามารถเปลี่ยนประเทศได้ในระดับสำคัญเมื่อถึงวันที่ 6 เมษายน 2566 อันเป็นวันครบรอบ 5 ปีแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ”