จากกรณีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ และการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาถึงความเห็นของเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ถึงสถานะของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผมคิดว่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้ถกเถียงมาก
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ระบุว่า...ส.ว.หลายสิบคน อาจขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่ง? รธน. 60 มาตรา 108 ห้าม ส.ว. “เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็น ส.ส.มาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก”
ส.ว.ปัจจุบันหลายสิบคน รวมถึงประธานวุฒิสภาเคยเป็น สนช.ผู้ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงน่าจะขาดคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่ง ส.ว.ในปัจจุบันหรือไม่? เพราะรธน. 60 มาตรา 263 บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ”
คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เว้นแต่เมื่อเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ อาจได้รับความกรุณาตีความว่า สนช.ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.
ข้างบนนั้นเป็นความเห็นของเจิมศักดิ์ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของเขา
ผมตัดประเด็นเรื่องการเป็นข้าราชการการเมืองออกไป เพราะเห็นว่า ตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทั่ง ส.ส.และ ส.ว.ไม่อยู่ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว
แต่ตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.ถือเป็นตำแหน่ง ส.ส.หรือ ส.ว.หรือไม่ผมคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจ ถ้าพูดกันตามความเป็นจริงคิดว่าคนทั่วไปรวมทั้งตัวผมเองก็มีความเชื่อมาตลอดว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติในภาวะหลังรัฐประหารนั้น แท้จริงก็คือ ผู้ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.นั่นแหละ คือ เป็นทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในตำแหน่งเดียวกัน และอำนาจหน้าที่ที่ผ่านมาของ สนช.ก็เป็นเช่นนั้นโดยชัดแจ้ง
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 6 ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกินสองร้อยยี่สิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถวายคําแนะนํา
ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
มาสู่ประเด็นที่เจิมศักดิ์หยิบยกขึ้นมา รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 (3) ห้าม ส.ว. “เป็นหรือเคยเป็น ส.ส.เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็น ส.ส.มาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก”
นั่นแสดงว่า ถ้า สนช.ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ 2557 คือ ส.ส.อันเป็นคุณสมบัติต้องห้ามจะมีคนจำนวนมากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.ในชุดปัจจุบันนี้ขาดคุณสมบัติ
กรณีนี้สมชาย แสวงการ ส.ว.ชุดปัจจุบันและเป็น สนช.ตามรัฐธรรมนูญ 2557 ด้วยโต้แย้งว่า สมาชิก สนช.มิใช่ ส.ส.และ ส.ว.เหตุเพราะ สนช.มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นองค์กรพิเศษ เช่นเดียวกับ คสช.เพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติพิจารณากฎหมายและอื่นๆ แทน สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ที่ถูกยกเลิกไปในภาวะพิเศษที่มีการรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมไป
ต้องย้อนไปว่า กรณีนี้นั้นเกิดคำถามขึ้นมาเมื่อมีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีการตีความคุณสมบัติต้องห้ามแตกต่างกัน
ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธานได้ลงมติเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 เลือกนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลมีนบุรี และอดีต สนช.ที่เพิ่งพ้น
จากตำแหน่งมาเกือบ 1 ปี
หลังจากคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.มีมติเลือกนายสุชาติ ทำให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อดีต สนช.ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี ตัดสินใจมาสมัครเป็น กสม.ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่ 23 พฤษภาคม - 23 เมษายน 2563 ทั้งๆ ที่ตัวเองเคยถูกคณะกรรมการสรรหา กสม.ตัดชื่อออกมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 62 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามเพราะพ้นจาก สนช.ไม่ถึง 10 ปี เมื่อมาสมัครใหม่ในการประชุมคณะกรรมการสรรหาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ยืนหลักมติเดิมเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งตัดสิทธิ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ผู้สมัครอีกคนเนื่องจากพ้นจาก สนช.ไม่ถึง 10 ปี
โดยสรุปก็คือ คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระทั้ง 2 ชุดตีความต่างๆ กัน โดยคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิฯ เห็นว่า ตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าข่ายต้องห้าม เพราะเป็น ส.ส.และ ส.ว.มาไม่เกิน 10 ปี แต่กรรมการสรรหา ป.ป.ช.ตีความว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นไม่ใช่ ส.ส.หรือ ส.ว.
ทั้งที่บทบัญญัติในข้อหาของพระราชบัญญัติองค์กรอิสระทั้งสองนั้น เขียนข้อห้ามไว้ตรงกันทุกตัวอักษร
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 10 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม (18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 9 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม (18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
ดังนั้นจึงมาสู่คำถามที่ว่า แล้วตกลงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในภาวะหลังรัฐประหารนั้นถือเป็น ส.ส.กับ ส.ว.ในภาวะปกติหรือไม่ ถ้าตีความแบบกรรมการสรรหา กรรมการสิทธิฯ ก็มาสู่คำถามว่าแล้ว ส.ว.ชุดปัจจุบันที่มาจาก สนช.ชุดล่าสุดนั้นขาดคุณสมบัติไหม
ผมเห็นว่า มีความพยายามพูดเรื่องที่มาให้เป็นข้อแตกต่าง รวมถึงพูดว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติบางคนเป็นข้าราชการประจำจึงไม่ใช่ ส.ส.หรือ ส.ว.แต่ผมมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องของการกำหนดคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญ ในอดีตเราก็เคยมี ส.ว.ที่มาจากข้าราชการประจำได้ ดังนั้นที่มาและคุณสมบัติสำหรับผมแล้วมองว่าไม่ใช่ประเด็น
สำคัญอยู่ที่ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น แม้จะมีชื่อเรียกเฉพาะไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ทำหน้าที่ทั้งเป็น ส.ส.และ ส.ว.ในคนเดียวกันในฐานะฝ่ายนิติบัญญัตินั้นถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 109 (3) หรือไม่
ลักษณะของ สนช.นั้นไม่ใช่องค์กรที่มีอยู่ก่อนแล้วหรือมีหน้าที่เดิมเป็นอย่างอื่น แล้วเมื่อไม่มีสภาฯ ก็ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่แทน ส.ส.หรือ ส.ว.ก็หาได้ไม่ แต่รัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 6 ระบุไว้เลยว่า ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
ในความหมายก็คือ สนช.ไม่ใช่ ส.ส.และ ส.ว.แต่ สนช.เป็นทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในตัวนั่นเอง
ทีนี้มาพิจารณาคุณสมบัติต้องห้ามของการเป็น ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือการเป็นคณะกรรมการสิทธิฯ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่ามีเจตนารมณ์อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าน่าจะหมายถึงการป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้ทำต่อเนื่องมาไม่ใช่การให้น้ำหนักในชื่อที่เรียกขาน
ดังนั้นแม้จะอ้างให้พ้นไปได้ว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส.ก็ตาม ผมคิดว่าไม่น่าจะหลีกเลี่ยงคุณสมบัติต้องห้ามพ้น
น่าสนใจว่า เรื่องสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อเรื่องนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกตีความอย่างไร และผลการตีความนั้นจะน่าเชื่อถือหรือรับฟังได้หรือไม่
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan