ผู้จัดการสุดสัปดาห์-การปลุกชีพเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาพคล้ายซอมบี้เป็นงานยากมากถึงยากที่สุดไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้นเนื่องจากไวรัสโควิด-19ระบาดไปทั่วโลกกระเทือนกันทุกภาคส่วนแต่ที่หนักสุดคือ ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจไทยเสียด้วยการคลายล็อกเฟส 3จึงมาพร้อมการทุ่มแจกเงินฟรีเที่ยวกันให้สำราญใจต่อลมหายใจธุรกิจให้ฟื้นคืนด้วยว่าตอนนี้โรงแรมไม่แต่แห่ชัตดาวน์ยังเร่ขายทิ้งแบบถูกกดราคาน่าอนาถอีกด้วย
การแจกเงินเที่ยวฟรีไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีก่อนก็เคยทำกันแต่ว่ารอบนี้มีพิเศษเป็นแพ็กเกจให้ “กำลังใจ” นักรบชุดขาวและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขทุกระดับและ “เที่ยวปันสุข” กระตุ้นไทยเที่ยวไทยให้เงินหมุนเวียนในประเทศ
แต่ไม่ว่าจะคลอดแพ็กเกจชวนเที่ยวออกมาแบบสุดประทับใจขนาดไหนต้องรอดูว่าจะช่วยปลุกชีพการท่องเที่ยวให้ฟื้นได้หรือไม่เพราะตอนนี้ล้วนแต่อยู่ในสภาพ “ตายชั่วคราว” กันถ้วนหน้า
ทำคลอดแพ็คเกจฟื้นคืนชีพท่องเที่ยวไทย
แพ็กเกจกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศรอบนี้ นายยุทธศักดิ์สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหารือกับกระทรวงการคลังได้ข้อสรุประยะเวลา 4เดือนระหว่างกรกฎาคม – ตุลาคม2563โดยแพฌกเกจ“กำลังใจ”จ่ายให้เที่ยวฟรีเพื่อตอบแทนการทำงานของหน่วยหน้าในการสู้ศึกโควิด-19เช่นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)จำนวน1.2ล้านคนเที่ยว 3วัน2คืนผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศคาดว่าจะใช้งบกว่า 2,000ล้านบาท
อีกหนึ่งคือแพ็กเกจ “เที่ยวปันสุข”เงื่อนไขเดินทางข้ามจังหวัดอายุ 18ปีขึ้นไปจำนวน 4ล้านคนลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ซื้อบัตรกำนัลเมื่อนำบัตรกำนัลไปใช้แล้วทางรัฐบาลจะโอนเงินคืนให้ผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์เพื่อใช้จ่ายในโรงแรม เช่นค่าห้องพัก ห้องอาหาร สปาฯลฯ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะจ่ายให้2,000บาทหรือ 3,000บาทต่อคนกรอบวงเงินงบประมาณ 8,000-12,000ล้านบาท
สำหรับข้อเสนอของเอกชนขยายแพ็กเกจเที่ยวปันสุขเป็น 10ล้านคนให้คนละ 3,000บาทนั้น นายลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กระทรวงการคลังบอกทั้งหมดต้องหารือกันและนำเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ก้อน4แสนล้านบาทและนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาอนุมัติเสียก่อน
หลังโควิด-19 แพร่ระบาด ททท.หันมาปลุกตลาดภายในประเทศ เช่น “สร้างแบรนด์ เที่ยวไทย ให้จดจำ”, “เที่ยวชุมชน สุขใจ ที่ปลายทาง” พร้อมระบบการจัดการสมัยใหม่ ฯลฯ การตลาดเชิงรุกปลุกคนไทยเที่ยวไทยของ ททท.จะช่วยเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวได้มากน้อยแค่ไหน ก็ยังรอลุ้น แต่สถานการณ์ย่ำแย่ที่แน่ๆ เวลานี้ คือ โรงแรมทั่วไทยเร่ขายถูกกันจนน่าใจหาย เป็นข่าวคราวผ่านสื่อหลายสำนัก
ที่น่าจับตาก็อย่างภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวเบอร์ต้นของไทย ที่มีโรงแรมขนาดเล็ก กลางและใหญ่ รวมๆ 3,000 แห่ง จำนวนห้องพักประมาณ 120,000 ห้อง ซึ่งเมื่อเจอภาวะเศรษฐกิจขาลงบวกกับโควิด-19 เข้าไป ต่างบอกขายกันระนาวทั้งบอกต่อกันในวงการหรือผ่านนายหน้า ทั้งโรงแรมระดับ 3-6 ดาว สนนราคาตั้งแต่หลัก 10 ล้าน จนถึงเป็น 10,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวที่เป็นนายหน้ารายหนึ่งในภูเก็ตให้ข้อมูลกับ “ศูนย์ข่าวภูเก็ต ผู้จัดการออนไลน์” ว่า ขณะนี้มีเจ้าของโรงแรมต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าตอง ฝากขายโรแรมไม่น้อยกว่า 50 แห่ง มีอยู่ทุกถนน ทุกซอย ทั้งแต่หน้าหาด ไปจนถึงบนเขา
สนนราคาก็อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท จนถึงถึงราคาเป็น 10,000 ล้านบาท โดยจุดหน้าหาดป่าตอง โรงแรมที่ต้องการขายจะเป็นระดับ 4-5 ดาว ส่วนสาย 2 สาย 3 เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว และยังมีรีสอร์ตหรูบนเนินเขาถนน 50 ปี ที่ตั้งราคาขายไว้ 6,000 ล้านบาท โดยรวมๆ แล้วราคาโรงแรมที่บอกขายมีทุกระดับตั้งแต่หลัก 100-1,000-6,000 ล้านบาทขึ้นไป ระดับกลางลงมาตั้งแต่ 100-200-300 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มผู้ซื้อมีเข้ามาหลายกลุ่มทั้งทุนไทยและทุนนอกที่ติดต่อผ่านนอมินี ขอซื้อแบบกดราคาสุดๆ บางรายกะซื้อในราคา 50% ของราคาที่บอกขาย ทำให้การเจรจาซื้อขายยังปิดดีลกันไม่ได้ อีกอย่างคือพวกใจเย็นรอซื้อของถูกกว่านี้ เพราะโรงแรมหลายแห่งโดยเฉพาะที่เปิดใหม่ยังมีหนี้เงินกู้มาลงทุน ต้องจ่ายดอกเบี้ยถ้าเจรจาผ่อนหนี้กับแบงก์หรือเจ้าหนี้ไม่ได้ก็ต้องปล่อยมือ ตอนนี้ที่หวั่นกันในวงการก็คือ ธุรกิจโรงแรมของไทยจะถูกต่างชาติฮุบไปหมด
นอกจากภูเก็ตแล้ว แหล่งเที่ยวเที่ยวขึ้นเชื่อ เช่น เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ พัทยา จังหวัดชลบุรี เขาหลัก จังหวัดพังงา ก็บอกขายกันระนาวเช่นกัน มีทั้งโรงแรมระดับ 4-5 ดาว สนนราคา 1,000-10,000 ล้านบาท ระดับ 3 ดาว ราคา 500-1,000 ล้านบาท และขนาดเล็ก 50-100 ล้านบาท
เหตุที่ต้องปล่อยขายเนื่องจากโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อดังกล่าว มีลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ เมื่อตัวเลขรายได้เป็นศูนย์ ก็อยู่กันไม่ไหว และยังมองไม่เห็นทางรอด โดยคาดว่าถึงไตรมาส 3 ราคาซื้อขายโรงแรมหลายแห่งจะยังถูกกดราคาลงต่ำอีก
นักธุรกิจในแวดวงท่องเที่ยวประเมินว่าอีกสองปีข้างหน้า สถานการณ์ท่องเที่ยวถึงจะเริ่มดีขึ้น ตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าใครสายป่านยาวแค่ไหน ถ้าไม่ไหวคงขายทิ้ง โดยตอนนี้ธุรกิจโรงแรมเรียกได้ว่าหยุดกันแทบทั้งหมด
สำหรับพื้นที่เกาะสมุยนั้น นายวรสิทธิ์ ผ่องคำพันธ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย และรองกรรมการผู้จัดการโรงแรมในเครือโนราเกาะสมุย ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อบ่งบอกสถานการณ์ย่ำแย่หนัก โรงแรมราว 600 แห่ง ห้องพัก 30,000 กว่าห้องที่เกาะสมุยเคยมีรายได้ปีละประมาณ 4 หมื่นล้าน ตอนนี้ขายห้องพักได้ไม่ถึงพันห้อง เพราะลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ตอนนี้มีโรงแรมประมาณ 20% หรือร้อยกว่าแห่งประกาศขายกิจการ มีทั้งโรงแรมขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ทั้งเจ้าของประกาศขายเองและขายผ่านนายหน้า
ส่วนกระบี่ ก็อยู่ในอาการย่ำแย่ไม่ต่างกัน คาดการณ์ว่า ในปลายปี 2563 จะมีการประกาศขายโรงแรมเพิ่มขึ้นอีก หลังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องนับจากโควิด-19 ระบาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ลากยาวมาถึงเดือนพฤษภาคม แวดวงธุรกิจการท่องเที่ยวโรงแรมในกระบี่คาดมูลค่าความเสียหายกว่าแสนล้าน
หากดูตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น DotProperty.co.th, ddproperty.co.th ฯลฯ จะพบการประกาศขายกิจการโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ อย่างต่อเนื่อง โดยภูเก็ต เกาะสมุย พัทยา มีการประกาศขายนับจากต้นปีจนถึงบัดนี้ราว 190 กว่าแห่ง โดยภูเก็ตมากสุด 1002 แห่ง สมุย 42 แห่ง พัทยา 42 แห่ง ราคาตั้งแต่ 20-3,000 ล้านบาท
เช่น ที่หาดป่าตอง ภูเก็ต ประกาศขาย The Lantern Patongm ระดับ 4 ดาว มูลค่า 1,000 ล้านบาท, เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ประกาศขาย Paradise Beach Resort ระดับ 4 ดาว มูลค่า 650 ล้านบาท โรงแรมอมรินทร์สมุย ระดับ 3 ดาว มูลค่า 299 ล้านบาท, พัทยา ชลบุรี เช่น The magnolias pattaya ระดับ 3 ดาว มูลค่า 125 ล้านบาท เป็นต้น
การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นวิกฤตสาหัสสุดยิ่งกว่าวิกฤตครั้งไหนๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบสิบปีที่ผ่านมาที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นกว่า 180% หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 18% ปี 2562 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 2.02 ล้านบาท กระตุ้นให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศ สนใจซื้อโรงแรมในไทยอย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก และเวลานี้ต่างชาติก็รอซื้อแบบทุบราคาหาของถูก เพราะสถานการณ์ท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน
ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ไตรมาส 1/2563 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.69 ล้านคน ลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ 3.3 แสนล้านบาท ลดลง 40.39% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 24.10 ล้านคน หดตัว 29.52% สร้างรายได้ 1.8 แสนล้านบาท หดตัว 33.65% โดยรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด 5.1 แสนล้านบาท หดตัว 38.15%
ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับประมาณการใหม่คาดการณ์ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทย 16 ล้านคน เทียบปี 2562 อยู่ที่ 39.79 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยคาดอยู่ระหว่าง 80-100 ล้านคน-ครั้ง ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม ซึ่งอยู่ที่ 60 ล้านคน-ครั้ง รายได้รวมท่องเที่ยวไทยปรับเพิ่มเป็น 1.23 ล้านล้านบาท จากเดิมเคยตั้งเป้า 1.12 ล้านล้านบาท แต่ยังเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.01 ล้านล้านบาท
สำหรับการซื้อขายโรงแรมในช่วงที่ผ่านมานั้น นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ให้ภาพรวมว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายโรงแรมรวมอยู่ที่ประมาณ 124,530 ล้านบาท โดยช่วงปี 2560-2561 มีมูลค่าซื้อขายสูงกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่พุ่งกระฉูด ส่วนปี 2562 อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งโรงแรมที่เสนอขายมีค่อนข้างน้อย แต่หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการเร่ขายกันมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวหลัก
ก่อนหน้านี้ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ McKinsey เก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งคาดการณ์ว่ายังไม่มีรายได้เข้ามาในเดือนเมษายน จะมีพนักงานในภาคอุตสาหกรรมโรงแรมกว่า 1.6 ล้านคน ได้รับผลกระทบ โดยโรงแรมในกรุงเทพฯ ปิดตัวชั่วคราวแล้ว 27 แห่ง ภูเก็ต มีโรงแรมกว่า 87% ต้องปิดให้บริการ และประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยปีนี้ลดลง 60% เหลือราว 19 ล้านคน
สถานการณ์ที่ย่ำแย่ทำให้กลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ปรับตัวให้รอด เช่น โรงแรมเซ็นทารา (CENTEL) ประกาศปิดเครือข่ายโรงแรม 28 แห่ง ปรับลดเงินเดือนพนักงาน 25% ส่วนโรงแรมของกลุ่ม บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ปิดโรงแรมในกรุงเทพฯ ทั้งหมด และบัดเจ็ดโฮเทล อย่าง โรงแรมบีทู อัตราการเข้าพักลดลงจากเดิม 70-90% เหลือ 10%
นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มจะมีการควบรวมหรือซื้อขายกิจการมากขึ้น โดยมีรายงานว่า โรงแรมระดับ 4 ดาว-5 ดาว ในย่านสุขุมวิท สีลม พระราม 3 วิภาวดี-รังสิต หลักสี่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองเตย จำนวนไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ที่ประกาศขายธุรกิจผ่านนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ อยู่ระหว่างการเจรจาราคาเสนอขายตั้งแต่หลักร้อยล้านจนถึงหลักหมื่นล้าน
ธุรกิจโรงแรมของทุนไทยที่กำลังจะหลุดมือเตรียมขายให้ต่างชาติในราคาต่ำเพราะสู้พิษโควิด-19 ไม่ไหว ทำให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หารือกับรัฐบาลขอให้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า หากโรงแรมต้องการรับความช่วยเหลือโดยเปิดให้กองทุนรวมตราสารทุน (อิควิตี้ฟันด์) ที่สนใจลงทุนกิจการโรงแรมเข้ามาลงทุนภายใต้เงื่อนไข เช่น ซื้อหุ้นได้ไม่เกิน 75% กำหนดระยะเวลาการถือหุ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิม สามารถมาซื้อหุ้นคืนได้ เช่น 5-7 ปี เมื่อกิจการดีขึ้น
สำหรับสถิติ ณ เดือนมีนาคม 2563 ประเทศไทยมีจำนวนโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศ 32,564 แห่ง จำนวนห้องทั้งหมด 1,254,168 ห้องพัก อัตราส่วนห้องพัก 1 ห้อง ใช้พนักงานโรงแรม 1.3 คน หรือมีพนักงานโรงแรมทั้งหมด 1,630,419 คน คาดการณ์ว่ากว่า 95% ของโรงแรมทั้งหมด หรือ 30,936 แห่ง จะไม่มีรายได้ เพราะการระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้
ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างเต็มเหนี่ยว
นอกเหนือไปจากการกระตุ้นท่องเที่ยว อุ้มภาคอุตสาหกรรมโรงแรมในภาวะวิกฤตนี้แล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ..... (พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภท ดังนี้
1.ที่ดินประกอบการเกษตร คิดอัตราภาษีอยู่ที่ 0.01% ซึ่งถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดภาษีลงจะเหลือชำระภาษีเพียง 50 บาท
2.ที่อยู่อาศัยหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนบ้านหลังอื่น หากราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย 0.02% คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีลงจะเหลือชำระเพียง 100 บาท
3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น เช่น กิจการพาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมจะเสียภาษี 0.3% คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท เมื่อลดภาษีจะชำระเพียง 1,500 บาท
และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ ราคาประเมิน 5 ล้านบาทจะเสียภาษี 0.3% คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีให้จะชำระเพียง 1,500 บาท
ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเร่งส่งจดหมายที่คำนวณภาษีที่ดินใหม่ให้ผู้ถือครองที่ดิน ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2563 นี้ มติ ครม.ในการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในรอบนี้ ส่งผลต่อรายได้อปท.ทั่วประเทศเหลือเพียง 4,000 ล้านบาท
ให้ยาเร่งปลุกท่องเที่ยว และลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างรอบนี้ ได้แต่หวังว่าจะช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจและประชาชนคนไทยอีกเฮือก