การเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ตามสิทธิพึงได้พึงมีให้ลงตัว ถ้าไม่อยากให้มีปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล ประเทศใดที่มีการเมืองด้อยพัฒนา นักเลือกตั้งจิตสำนึกต่ำ ผลประโยชน์ส่วนตนเหนือสิ่งอื่นใด
ความจงรักภักดีมีไว้ขายให้คนที่เสนอราคาประมูลสูงสุด นี่ก็เป็นธรรมชาติน้ำเน่าของการเมืองเก่า ที่ยังคงอยู่คู่ฟ้าเมืองไทย ด้านอื่นๆ พัฒนาไปมากแค่ไหน การเมืองยังคงย่ำเท้าอยู่กับการจ้องหาผลประโยชน์ ผิดหรือถูกกฎหมายก็ไม่สำคัญ
บ้านเมืองจะอยู่ในยุค New Normal อย่างไร การเมืองไม่เคยเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ ถ้ามีเลือดใหม่เข้ามา ก็จะถูกระบบเก่าบีบให้ละลายอุดมการณ์หรือความตั้งใจแต่เดิม เมื่อถูกบีบให้เดินข้ามผ่านเส้นต้องห้ามบ่อยๆ เส้นก็เลือนจางไปเอง
การประชุมสมาชิกผู้ทรงเกียรติของรัฐสภาช่วงแรกเป็นของ ส.ส.การอภิปรายจะหนักหน่วงหรืออ่อนปวกเปียก มีลีลา “อวยไส้แตก” โดยนักเชลียร์ไม่ซ้ำรอยเดิมของฝ่ายรัฐบาลอย่างไรก็ตาม ในที่สุดผลประโยชน์ร่วมกันต้องมาก่อน
นักการเมืองฝ่ายค้านต้อง “งดออกเสียง” เพราะกลัวเสียคะแนนเสียงของประชาชนถ้าดึงดันคัดค้านการแจกเงินโดยรัฐบาลภายใต้โครงการเยียวยาผู้ประสบความทุกข์ยากลำบากเพราะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด
ส.ส.ฝ่ายค้านคัดค้านแผนของแบงก์ชาติที่จะใช้เงิน 4 แสนล้านบาทอุ้มบริษัทซึ่งออกหุ้นกู้ตราสารหนี้ซึ่งไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนได้ แต่ไม่เป็นผลเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากกว่าเดิมเพราะ ส.ส.ส่วนหนึ่งชิ่งหนีจากฝ่ายค้านมาอยู่กับรัฐบาล
การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวช่วยหลักของบริษัทกู้โดยออกตราสารหนี้ ถ้าไม่มีการระบาด รัฐบาลจะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะช่วยได้ และการสร้างภาระหนี้เพิ่มมากถึง 1.9 ล้านล้านบาทถือว่าเป็นโอกาสพิเศษ ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจตายซาก
การที่ทั่นลุงผู้นำรับรองว่าจะไม่มีการทุจริตในวงเงินหนี้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ชาวบ้านคนรู้ทันฟังแล้วดูเลื่อนลอย เพราะไม่มีมาตรการอะไรที่จะป้องกันการทุจริต ข้ออ้างว่ารัฐบาลอยู่รอดมาได้เป็นเพราะความโปร่งใส ใครมีหลักฐานการโกงก็เอามา
การทุจริตเหมือนเป็นมะเร็งเชื้อโรคร้ายที่กัดกินทรัพยากรแผ่นดินทุกอย่าง แทรกจากระดับบนสู่ล่าง จนถึงชนบทรากหญ้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่การปราบปรามไม่ได้ตัวใหญ่เป้งๆ กระบวนการยุติธรรมก็มีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ
การประกาศว่าจะไม่มีทุจริต จะต้องครอบคลุมไปทุกหน่วยงาน และงบประมาณ เงินแผ่นดินทุกบาท ทุกสตางค์ ไม่ให้รั่วไหล ต้องให้ดูน่าเชื่อถือด้วย ที่ผ่านมา ได้ผลบ้างเพราะจำนนด้วยหลักฐาน รายใหญ่มักหลบหนีออกนอกประเทศ
การเรียกร้องหลักฐานการทุจริตเหมือนเป็นการดูถูกสติปัญญาประชาชน การอ้างว่ามีหน่วยงานตรวจสอบ ป้องกันการทุจริตอยู่มากแล้ว เช่น ป.ป.ช., ป.ป.ท., ปปง., สตง. และอะไรอื่นๆ อีกนั้นก็เป็นหลักฐานฟ้องชัดแล้วว่ามีการโกงกินเยอะด้วยนั่นเอง
ถ้าไม่มีการทุจริตบานเบอะ จะมีหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ไว้สิ้นเปลืองทรัพยากรงบประมาณแผ่นดินทำไม และมีหน่วยงานตรวจสอบมากอย่างนี้ ก็ยังไม่สามารถลดการทุจริต คอร์รัปชันได้ จึงต้องมีนโยบาย รณรงค์ตีปี๊บป่าวร้องเรื่องปราบทุจริตทุกปี
ร่าง พ.ร.ก.ใช้เงินสำหรับโครงการต่างๆ ยังไม่ผ่าน ส.ว. และประกาศใช้ ก็มีเสียงทะเลาะ แก่งแย่งผลประโยชน์ในกลุ่มนักเลือกตั้งซีกรัฐบาล แถมยังมีข่าวว่า ส.ส. แต่ละคนจะได้รับงบไปใช้จ่ายคนละ 80 ล้านบาท ถือว่าก้าวกระโดดจากก่อนหน้านี้
การจัดสรรปันส่วนเงินก้อนนี้ให้ ส.ส.จะเป็นจริงดังว่าหรือไม่ มี ส.ส.ฝ่ายค้านออกมาตีปลาหน้าไซไว้แล้ว ความเป็นไปได้จึงมีมากกว่าจะไม่มี พฤติกรรมที่ผ่านมาเป็นตัวชี้ว่าการทุจริตเป็นหัวเชื้อขับเคลื่อน ผลประโยชน์หลักของการเมืองน้ำเน่าแท้ๆ
อีกไม่นาน หลังจากผ่านกระบวนการต่างๆ ต้องมีเสียงร่ำลือเรื่องการทุจริต หักหัวคิวแน่นอน คำรับรองของทั่นผู้นำจึงเป็นเพียงคำกล่าวลอยๆ ไร้น้ำหนักน่าเชื่อถือ ในยุค 5 ปีของการบริหารโดยการรัฐประหาร ไม่มีนักการเมือง ก็มีข่าวเรื่องโกงตลอด
คำอ้างที่ว่าอยู่มาได้กว่า 6 ปีเพราะความโปร่งใสก็เป็นเรื่องน่าหัวร่อ เพราะตัวช่วยหลักคือกฎหมายให้อำนาจพิเศษต่างหาก การออกกฎหมายคุมเข้มห้ามการชุมนุมเดินขบวนประท้วง ถ้าจะมีต้องขออนุมัติก่อนและจำกัดพื้นที่ความเคลื่อนไหว
ถ้ายังเป็นอยู่เหมือนก่อนการรัฐประหาร ป่านนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แม้กระนั้น ผลงานที่ทำให้เป็นเศรษฐกิจตายซาก สร้างหนี้สินบานเบอะ เป็นรัฐบาลที่ได้ใช้งบมากถึง 20 ล้านล้านบาท รวมการกู้ จึงคุยไม่ได้เมื่อเอาผลความสำเร็จมาเทียบเคียง
การแก่งแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีในกลุ่มพรรคแกนนำรัฐบาลก็เป็นเหตุหลักจากผลประโยชน์ส่วนเฉพาะกลุ่ม ทำกันอย่างไม่อาย ประชาชนได้เศษเนื้อข้างเขียง
ย้ำอีกครั้งว่าถ้าการเมืองยังเป็นแบบเก่า มีปัญหาเรื่องการทุจริต คอร์รัปชันอย่างเดิม การก่อหนี้สินทุกปีงบประมาณ โอกาสที่บ้านเมืองจะเผชิญวิกฤตร้ายแรงมีความเป็นไปได้ เมื่อการรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว ยังคงดูเลือนราง
การชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ยังมีปัญหาเรื่องการทุจริต คงจะได้เพียงกลุ่มที่พร้อมจะจ่ายเงินพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวก คำแนะนำของบรรดา 20มหาเศรษฐี ก่อนหน้านี้ไม่มีสักรายที่ย้ำว่ารัฐบาลต้องหยุดการทุจริตให้ได้เด็ดขาด
การผ่านงบก้อนมหาศาลจึงเป็นในแบบของ “ผลประโยชน์อย่างที่เคยทำ” ในความเป็นจริง งบ 1.9 ล้านล้านบาทเป็นเพียงน้อยนิดถ้าเทียบกับปัญหาประเทศ แต่มองอีกแบบ จะได้ผลด้วยเงินก้อนน้อยกว่านี้ ถ้าแผ่นดินนี้ลดการทุจริตได้อย่างจริงจัง