ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นร้อนกรณีกฎกระทรวงให้อำนาจ “ถอดถอนศิลปินแห่งชาติ” นำมาซึ่งกระแสวิจารณ์ถึงเบื้องหน้า-เบื้องหลังมากมาย และหนึ่งในนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวโยงกับ “การเมือง” หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 โดยประเด็นสำคัญคือ ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 10 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 10 ในกรณีที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้เสนอผลการตรวจสอบ รวมทั้งเอกสารหลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว หากปรากฏว่าศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรคสอง ให้งดการจ่ายประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ”
ประกาศลงนามโดย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ทันทีที่กฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ประกาศใช้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการตีความอาจเครื่องมือทางการเมืองขจัดศิลปินขั้วตรงข้ามรัฐบาล ในประเด็นนี้ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 ออกมาแสดงความ “ไม่เห็นด้วย" กับกฎใหม่ที่ให้อำนาจถอดถอนศิลปินแห่งชาติผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า
“ไม่เห็นด้วย กับมาตรการนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1. เป็นเกียรติคุณที่มีพระราชวงศ์ทรงเป็นองค์พระราชทานโดยเฉพาะ การถอดถอนภายหลังจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระองค์ท่านด้วยโดยปริยาย
2. การกำหนดมาตรการถอดถอนหลังการประกาศยกย่องในทุกเกียรติคุณ เป็นการหลู่เกียรติตำแหน่งนั้นๆ เสียแต่ต้น สร้างความไม่แน่นอนมั่นคงให้กับตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งไม่เคยมีกติกาทำนองนี้กับการยกย่องเกียรติคุณใดๆ มาก่อน
3. ความผิดพลาด บกพร่องของศิลปินแห่งชาติ หรือผู้ได้รับยกย่องเกียรติคุณใดๆ ย่อมถือเป็นกรณีส่วนตัวโดยเฉพาะ หาใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงานหรือสถาบันผู้มอบเกียรติคุณนั้นไม่ กล่าวคือเป็นความผิดต่อภายหลังซึ่งย่อมเป็นไปตามเฉพาะกรณีแห่งความผิดนั้นๆ เอง เช่น สังคมจะประณาม เป็นส่วนตัว หรือตามกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดต่อการกระทำนั้นๆ
4. มาตรการนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองนำมาอ้างโจมตีกันได้ ดังที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้”
ก่อนหน้านี้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดยให้เหตุผลใน 3 ประการ ประการแรก การเป็นศิลปินแห่งชาติไม่ใช่การให้รางวัล แต่เป็นการยกย่องให้เกียรติผู้ที่ทำผลงานเป็นที่โดดเด่นในสาขานั้นๆ
ประการที่สอง การมีมติเช่นนี้ทำให้ศิลปินแห่งชาติขาดเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคง อาจมีการกลั่นแกล้งทำให้ถูกถอดถอน ที่สำคัญทำให้การยกย่องศิลปินแห่งชาติไม่ได้รับความศรัทธา เชื่อถือ และต่อไปหากไปเชิญศิลปินที่มีความสามารถมาเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็อาจถูกปฏิเสธเพราะไม่มีใครอยากเอาชื่อเสียงมาเสี่ยง
และประการที่สาม การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นการทำงาน และคุณงามความดีที่สะสมมาในช่วงนั้น หากศิลปินแห่งชาติคนใดกระทำความผิด ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล มีกฎหมายกำกับดูแล อีกทั้งคนเป็นศิลปินแห่งชาติหากทำความผิดก็มีสิทธิติดคุกได้ ดังนั้น จึงไม่ควรนำปัญหาส่วนบุคคลมาแก้ไขในภาพรวม เชื่อว่าศิลปินแห่งชาติแต่ละคนพยายามดูแลตัวเองไม่ให้เสียชื่อเสียงอย่างดีที่สุด
“ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ที่ปิดปากไม่ให้ศิลปินแห่งชาติวิพากษ์วิจารณ์สังคม เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่การออกหลักเกณฑ์เช่นนี้ ถือเป็นความอ่อนด้อยของระบบราชการ ที่ขาดดุลพินิจ พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และความเหมาะสมให้รอบด้าน เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอและพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญการยกร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ไม่เคยสอบถามความเห็นจากศิลปินแห่งชาติด้วย” เนาวรัตน์ให้สัมภาษณ์
สำหรับผู้ที่ถูกจับจ้อง “เซ่นกฎกระทรวงฯ” ถูกถอดถอนจากศิลปินแห่งชาติ ลำดับแรก คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554 ที่มักแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการเมืองต่างๆ ต่อต้านรัฐบาล ตลอดจนตั้งข้อสังเกตถึงการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ในแต่ละสาขาจะมีรายชื่อเสนอเข้ามาในแต่ละปี จะมีการชักเข้าชักออกอย่างเป็นทางการอยู่ 2 ขั้นตอน แสดงถึงความไม่ชอบมาพากลของระบบการเลือกสรรที่ขาดหลักการ และอคติทางการเมือง
นอกจากนี้ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ได้ตั้งคำถามถึง “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ที่ออกมาแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับกฎกระทรวงให้อำนาจ “ถอดถอนศิลปินแห่งชาติ” เหตุใดเพิ่งออกมาทักท้วงทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกลางของกระทรวงวัฒนธรรม หากเห็นว่าการแก้กฎกระทรวงฯ ไม่เหมาะสมควรออกเสียงคัดค้านตั้งแต่ต้น
ศิลปินแห่งชาติลำดับถัดมาที่ถูกจับตามอง “แอ๊ด คาราบาว” หรือ “ยืนยง โอภากุล” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักประพันธ์เพลงไทยสากล) ปี 2556 ไม่นานมานี้ตกเป็นกระแสร้อนหลังเปิดคอนเสิร์ตในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดพอดิบพอดี โดยเจ้าตัวได้วิพากษ์วิจารณ์ไม่พอใจการปิดผับของรัฐบาลเพื่อยับยั้งเชื้อไว้รัสโควิด - 19 กล่าวพาดพิงการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ทั้งปลัดอำเภอ นายอำเภอ มีการใช้คำพูดที่คล้ายเป็นการดูหมิ่นอย่างหยาบคายต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก กระทั่ง สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติศิลปินแห่งชาติ ความเหมาะสมการใช้คำพูดของศิลปินเพื่อชีวิตรายนี้
นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือหนาหูถึงศิลปินแห่งชาติในวงการเพลงลูกทุ่ง ซึ่งคุณสมบัติเข้าเกณฑ์เซ่นกฎกระทรวงฯ อีกรายหนึ่ง คือ “ชลธี ธารทอง” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ปี 2542 ตกเป็นข่าวฉาวตกเป็นเป้าวิจารณ์ประพฤติตัวไม่เหมาะสม มีคดีความฟ้องร้องเรื่องชู้สาว
อย่างไรก็ดี สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ ให้อำนาจถอดถอนศิลปินแห่งชาติ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ต้องไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย และไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษและกำหนดให้มีการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
สุดท้ายการให้อำนาจถอดถอนศิลปินแห่งชาติ จะถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่อย่างไร รวมทั้งจะส่งผลต่อระบบการคัดสรรศิลปินแห่งชาติหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป