xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่เรื่อง! “พี่เนาว์” ค้านปลดศิลปินแห่งชาติ “สุชาติ” ไม่สน ลุยต่อ.. “บุญส่ง” ดักคอเครื่องมือขจัดฝ่ายตรงข้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จากแฟ้ม
กรณีถอดถอนศิลปินแห่งชาติ “พี่เนาว์” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไม่เห็นด้วยเด็ดขาด ชี้ความเสื่อมเป็นเรื่องส่วนตัว “สุชาติ” มั่นใจตรวจสอบสังหารหมู่ประชาชน ปี 53 คือหน้าที่ ด้าน “บุญส่ง” คนเดือนตุลา ดักคอ “เครื่องมือขจัดศิลปินฝ่ายตรงข้าม”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (24 พ.ค. 63) เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2536 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีมีกฎใหม่เกี่ยวกับการให้อำนาจถอดถอนศิลปินแห่งชาติได้ ว่า

“มีสื่อมวลชน (มติชน) ถามความเห็นมา ผมได้ให้ความเห็นด้วยวาจาไปแล้ว จึงขอแสดงความคิดเห็นยืนยันความ “ไม่เห็นด้วย” กับมาตรการนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เป็นเกียรติคุณที่มีพระราชวงศ์ทรงเป็นองค์พระราชทานโดยเฉพาะ การถอดถอนภายหลังจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระองค์ท่านด้วยโดยปริยาย

2. การกำหนดมาตรการถอดถอนหลังการประกาศยกย่องในทุกเกียรติคุณ เป็นการหลู่เกียรติตำแหน่งนั้นๆ เสียแต่ต้น สร้างความไม่แน่นอนมั่นคงให้กับตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งไม่เคยมีกติกาทำนองนี้กับการยกย่องเกียรติคุณใดๆ มาก่อน

3. ความผิดพลาด บกพร่องของศิลปินแห่งชาติ หรือผู้ได้รับยกย่องเกียรติคุณใดๆ ย่อมถือเป็นกรณีส่วนตัวโดยเฉพาะ หาใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงานหรือสถาบันผู้มอบเกียรติคุณนั้นไม่ กล่าวคือเป็นความผิดต่อภายหลังซึ่งย่อมเป็นไปตามเฉพาะกรณีแห่งความผิดนั้นๆ เอง เช่น สังคมจะประณาม เป็นส่วนตัว หรือตามกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดต่อการกระทำนั้นๆ

4. มาตรการนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมืองนำมาอ้างโจมตีกันได้ ดังที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดยมีเหตุผลใน 3 ประการ คือ ประการแรก การเป็นศิลปินแห่งชาติไม่ใช่การให้รางวัล แต่เป็นการยกย่องให้เกียรติผู้ที่ทำผลงานเป็นที่โดดเด่นในสาขานั้นๆ

ประการที่ 2 การมีมติเช่นนี้ทำให้ศิลปินแห่งชาติขาดเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคง อาจมีการกลั่นแกล้งทำให้ถูกถอดถอน ที่สำคัญทำให้การยกย่องศิลปินแห่งชาติไม่ได้รับความศรัทธา เชื่อถือ และต่อไปหากไปเชิญศิลปินที่มีความสามารถมาเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็อาจถูกปฏิเสธเพราะไม่มีใครอยากเอาชื่อเสียงมาเสี่ยง

และประการที่ 3 การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นการทำงาน และคุณงามความดีที่สะสมมาในช่วงนั้น หากศิลปินแห่งชาติคนใดกระทำความผิด ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล มีกฎหมายกำกับดูแล อีกทั้งคนเป็นศิลปินแห่งชาติหากทำความผิดก็มีสิทธิติดคุกได้ ดังนั้น จึงไม่ควรนำปัญหาส่วนบุคคลมาแก้ไขในภาพรวม เชื่อว่าศิลปินแห่งชาติแต่ละคนพยายามดูแลตัวเองไม่ให้เสียชื่อเสียงอย่างดีที่สุด

“ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ที่ปิดปากไม่ให้ศิลปินแห่งชาติวิพากษ์วิจารณ์สังคม เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่การออกหลักเกณฑ์เช่นนี้ ถือเป็นความอ่อนด้อยของระบบราชการ ที่ขาดดุลพินิจ พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และความเหมาะสมให้รอบด้าน เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอและพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญการยกร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ไม่เคยสอบถามความเห็นจากศิลปินแห่งชาติด้วย”

สุชาติ สวัสดิ์ศรี (ภาพจากแฟ้ม)
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วานนี้นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า

“ศิลปินแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง อันเนื่องมาจากการสังหารหมู่ประชาชน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553”

และนายบุญส่ง ชเลธร อดีตคนเดือนตุลา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎกระทรวง ให้สามารถเพิกถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติได้ หากประพฤติเสื่อมเสียว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับกฎกระทรวงของกระทรวงวัฒนธรรม เรื่องให้ปลดศิลปินแห่งชาติได้

อันนี้เป็นเรื่องอันตรายที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องตระหนักโดยเฉพาะถ้าคิดนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองกวาดล้างศิลปินผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล

ศิลปินกลุ่มแรกที่จะโดนก็คงฝ่ายที่มองเห็นเผด็จการแล้วร้องว่า “กูยืนหยัดต้านทานจนสุดฤทธิ์”

ส่วนศิลปินกลุ่มที่ “สมพาสยักษ์รักร่วมภิรมย์สม” กับฝ่ายอำนาจนิยมย่อมยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับกฎกระทรวงนี้

เรื่องของศิลปิน เรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเมื่อมอบรางวัลให้ไปแล้ว จะดึงกลับมาด้วยเหตุผลทางการเมือง ระวังให้จงดี อย่าไปเชื่อว่าอำนาจทุกวันนี้เป็นสิ่งสัมบูรณ์และฟ้าไม่มีวันเปลี่ยนสี เชื่อแบบนั้นแสดงว่าไร้จินตนาการ

สำหรับกฎกระทรวงถอดถอน “ศิลปินแห่งชาติ” ดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 63 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563

ประเด็นสำคัญ คือ ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 10 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 10 ในกรณีที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้องและครบถ้วน ให้เสนอผลการตรวจสอบ รวมทั้งเอกสารหลักฐาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว

หากปรากฏว่าศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความมผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คณะกรรมการโดยมติด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติได้ เมื่อได้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใดเป็นศิลปินแห่งชาติตามวรรคสอง ให้งดการจ่ายประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ”

ลงนามโดย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

แน่นอน, เหตุผลของทุกฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องนี้นับว่าน่ารับฟัง โดยเฉพาะเหตุผลของ “พี่เนาว์” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่แจกแจงออกมาเป็นข้อๆ อย่างมีน้ำหนัก

ยิ่งถ้าเป็น “สุชาติ” และ “บุญส่ง” ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าไม่เห็นด้วยแค่ไหน โดยเฉพาะ “บุญส่ง” กรณีเห็นว่า อาจถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองกวาดล้างศิลปินผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ก็ถือว่าดักคอเอาไว้แล้ว

สอดรับกับที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีความเห็นว่า “มาตรการนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นทางการเมือง นำมาอ้างโจมตีกันได้ ดังที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้”

ดังนี้แล้ว ทางออกที่ดีที่สุด กระทรวงวัฒนธรรมควรนำเอาเรื่องนี้กลับไปทบทวน เพราะไม่เช่นนั้นแทนที่จะเป็นการช่วยแก้ปัญหา จะกลายเป็นยิ่งเพิ่มปัญหา และเพิ่มประเด็นถูกโจมตีทางการเมืองให้กับรัฐบาลเข้าไปอีก หรือคิดว่าอย่างไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น