xs
xsm
sm
md
lg

คำถามถึงรัฐมนตรีศึกษาธิการ เรียนทางไกลทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

ขอยกความเห็นของมูลนิธิสถาบันพัฒนาประเทศไทยมานำความว่า

“ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลค่อนข้างสูง ข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) บ่งชี้ว่า สัดส่วนของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจน และครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

“ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีนักเรียนกว่า 8 หมื่นคน อยู่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ดังนั้น รัฐบาลต้องสำรวจความพร้อมของครัวเรือนเด็ก และมีมาตรการที่หลากหลายเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนทางไกลของเด็กที่มีสภาพความขาดแคลนแตกต่างกัน”

(TDRI https://tdri.or.th/2020/05/basic-education-in-covid-19-crisis-reopening-school-after-lockdown/)

ผมมีคำถามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า

1. กระทรวงศึกษาธิการมีข้อมูลความพร้อมของเด็กและของครอบครัวเด็กทุกคนในประเทศนี้หรือไม่ ว่ามีเพียงใดในการรองรับการจัดการเรียนทางไกล ทั้งๆ ที่กระทรวงมีบุคลากร มีครู ในทุกโรงเรียน ที่ควรทำข้อมูลทุกครัวเรือนของเด็กนักเรียนในโรงเรียนของตนเองโดยละเอียด

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้สั่งให้เขตการศึกษาส่งข้อมูลทุกโรงเรียน ทุกหมู่บ้านมาที่กระทรวงหรือ เพื่อวิเคราะห์สภาพที่เป็นจริงของเด็กนักเรียนทั้งหมดว่า ถ้าจัดการศึกษาทางไกลจะมีเด็กจำนวนเท่าไรที่จะ “ตกหล่น” “ขาดเรียน” เพราะไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีทีวี ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีไฟฟ้า หรือไม่มีแม้แต่บ้านจะซุกหัวนอน มีกี่บ้านที่เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย หรืออยู่กับแม่ที่แยกทางกับพ่อที่ต้องทำมาหากิน ปล่อยให้ลูกอยู่บ้านคนเดียว ใครจะช่วยดูแล ช่วยเหลือให้เรียน

ถ้าไม่มีข้อมูลโดยละเอียดของนักเรียน “ทุกคน” “ทุกครัวเรือน” จะมีแต่มาตรการแบบเหมารวม ทำให้เด็กจำนวนเป็นแสนที่จะตกหล่น ขาดโอกาส

2. ทำไมแม้ยามโควิดยังคิดถึงแต่ห้องเรียน ไม่ใช่ห้องเรียนจริงก็ห้องเรียนเสมือนจริง ถามว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือ ทำไมยังต้องมี “ห้องเรียนดิจิทัล” ที่ต้องมีอุปกรณ์ไอทีที่เด็กหลายคนไม่มี ทั้งๆ ที่มีธรรมชาติ มีไร่นา ป่าเขา มีสวน มีห้วยหนองคลองบึง

แม้จะรักษาระยะห่างและมาตรการต้านไวรัสก็ยังสามารถจัดกิจกรรมมากมายให้เด็กได้เรียนรู้ที่บ้านและในธรรมชาติแบบโครงงานได้ ที่เน้นการปฏิบัติ ให้เด็กได้คืนสู่ธรรมชาติ เรียนรู้เรื่องอากาศ สิ่งแวดล้อม มลพิษ

เห็นพูดกันมากว่า “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” นี่เป็นโอกาสดีที่จะไม่ต้องเรียนในห้องเรียน ไม่ว่าห้องสี่เหลี่ยมจริง หรือเสมือนจริง เป็นโอกาสที่เด็กจะได้ทำโครงงานในชีวิตจริงว่า สองเดือนนี้ เทอมนี้ ปีนี้ อยากเรียนอะไร มีจุดหมายอะไร ซึ่งหากจัดการเรียนแบบบูรณาการ กิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้เรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาได้ และได้ดีกว่าเพียงท่องจากหนังสือ

เช่น อยากเรียนปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำหัตถกรรม เพาะกล้าไม้ ปลูกต้นไม้ อยากเรียนเรื่องงานศิลปะ คิดประดิษฐ์ หรืออะไรก็ได้ที่สนใจ ซึ่งเด็กทุกคนมีเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่โรงเรียนไม่เคยให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาศักยภาพ (ที่แปลว่าความสามารถภายในที่ยังไม่พัฒนา หรือยังไม่พัฒนาเต็มที่) ไม่เคยให้โอกาสชุมชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการจัดการศึกษา

ครูที่โรงเรียนก็ให้คำแนะนำและคอยติดตามว่าทำไปได้ถึงไหนอย่างไร แนะนำการเรียนรู้กับผู้รู้ในชุมชน อาจเป็นเรื่องที่ทั้งครูและเด็กอาจนึกไม่ออกว่าจะเรียนเรื่องอะไรอย่างไร เพราะที่ผ่านมาครูก็ได้แต่ “สอนหนังสือ” เด็กก็ได้แต่ “ท่องหนังสือ” ไม่รู้การเรียนเพื่อชีวิตต่างจากการเรียนเพื่อรู้อย่างไร เพราะแยกการเรียนจากชีวิตจริงมาตลอด

ถ้าไม่ปรับวิธีคิด กระบวนทัศน์การศึกษาที่กระทรวง ที่กรมวิชาการ ที่สพฐ.และหน่วยงานกลางก็ยากที่จะเปลี่ยน เพราะระบบการจัดการแบบรวมศูนย์ก็ทำให้ครูรอแต่คำสั่งและวิธีการทำงานจากกรุงเทพฯ

คำถามของผมจึงอาจจะไม่มีคำตอบ แต่ถ้ารัฐมนตรีและผู้บริหารคิดว่าเป็นคำถามที่มีประโยชน์ จะนำไปใช้ไปคิดต่อก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการปฏิรูปการศึกษาที่พูดกันมานาน แต่ไม่เคยมียุคไหนที่ทำจริง หรือทำได้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น