xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ”เสนอมาตรการเร่งด่วน ช่วยแรงงาน-คนทำงานจากผลกระทบโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายทรัพยากรมนุษย์ ทีดีอาร์ไอ

สืบเนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจมากมายจากทั้งภายนอกและภายในประเทศจนทำให้หลายหน่วยงานทางเศรษฐศาสตร์ ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2563 คาดว่าอาจจะเติบโตเป็นศูนย์หรือติดลบ

ขณะที่หลายสถาบันเคยให้ผลการพยากรณ์เศรษฐกิจเอาไว้เมื่อต้นปีว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมน่าจะอยู่ที่ 1.8-2.8% เมื่อสิ้นปี 2563 สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งล่าสุดถูกซ้ำเติมด้วยปัญหา “ช็อกโลก” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดไวรัสปอดอักเสบสายพันธุ์ใหม่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนคือ “ไวรัสอู่ฮั่น” ภายหลังตั้งชื่อเป็นโรคไวรัสโคโรนา (Corona Virus Disease) หรือย่อว่า โควิด-19 (COVID-19) มีผู้ป่วยติดเชื้อนี้เริ่มแรกที่ประเทศจีนถึงร้อยละ 99 ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก ซึ่งคุณสมบัติของโควิด-19 นี้ คือ แพร่ระบาดเร็วฉับไวจนผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดขององค์การอนามัยโลก ได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ให้เป็นโรคระบาดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อลุกลามไปทั่วโลก (Pandemic) และยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันได้และ/หรือยาที่ใช้รักษาได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับโรคระบาดอื่นๆ ที่เคยมีมาในอดีต

ความไม่รู้จักโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” นี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ณ เดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบคนในเมืองอู่ฮั่นของสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากนั้นมาถึงเช้าวันที่ 24 มีนาคม 2563 ห่างกันเพียง 50 วัน ตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั่วโลกขยายเป็น 192 ประเทศ สูงถึง 339,590 คน มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 4.47 ขณะที่ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อ 4,084 คน คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของยอดรวม (192 ประเทศ) นับว่ายังไม่มาก มีผู้เสียชีวิตเพียง 97 คน หรือร้อยละ 2.37 แต่หลายฝ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุขมีการคาดประมาณว่า ยอดนี้อาจจะเพิ่มได้เป็นพันหรือเป็นหมื่นและไทยจะเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 ซึ่งขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการใช้นโยบายในการควบคุมการขยายตัวของโควิด-19 ในประเทศไทยได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน

จากการที่ประเทศจีนใช้นโยบายทั้งกักบริเวณและปิดประเทศตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม แต่โรคไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เริ่มขยายไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นแหล่งที่คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวและคนไทยไปทำงานมากกว่า 10 คน มีถึงร้อยละ 40 ของประเทศที่คนไทยเดินทางไปทำงาน ซึ่งบางส่วนของนักท่องเที่ยวที่ต้องติดค้างก็ทยอยกลับประเทศและคนงานทั้งถูกและผิดกฎหมายส่วนมากกลับมาจากประเทศที่ติดเชื้อโควิด-19 แทบทั้งสิ้น คนเหล่านี้บางส่วนกลายเป็น Super spreader คือกลุ่มคนที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆ จำนวนมากได้ เช่น ผู้กลับจากการชุมนุมทางศาสนาที่มาเลเซีย หลายกลุ่มประเภทกีฬา เช่น มวยไทย และการแข่งขั้นกีฬาประเภทต่างๆ เป็นต้น

จุดสำคัญของปัญหาการแพร่กระจายโควิค-19 ก็คือ ไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากมาช่วยพยุง (Support) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน กลุ่มเอเซียตะวันออก กลุ่มอาเซียน กลุ่มยุโรปและสหรัฐฯ เป็นสำคัญ และเมื่อประเทศไทยห้ามการเข้าประเทศของประเทศเหล่านี้เพื่อควบคุมการแพร่กระจายตัวของโควิด-19 โดยประเทศไทยห้ามการเข้าประเทศเพราะโรคนี้จัดเป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อเฝ้าระวังปัองกันและควบคุมการติดต่อโรคอันตราย ทำให้กระแสนักท่องเที่ยวหยุดชะงักจากทุกประเทศเกือบร้อยละ 80 จากการที่มีนักท่องเที่ยวจากทุกทวีปมาไทยประมาณ 39.8 ล้านคนในปี 2563 ถ้าปีนี้การแพร่โรคโควิด-19 ยังยืดเยื้อต่อไปบวกกับความเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นจนถึงสิ้นปี 2563 นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยอาจจะเหลือไม่ถึงร้อยละ 50 หรือ 20 ล้านคน ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวในวงกว้าง รายได้จากการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอาจจะลดลงนับล้านล้านบาทก็เป็นได้ ทำให้มีผลกระทบต่อแรงงานและคนทำงานสืบเนื่องมาจากการท่องเที่ยวที่หดตัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้

ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานของการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักหรือชะลอตัวไปหมด ซึ่งธุรกิจสายตรงในโซ่อุปทานคือ 1) กิจการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวหลายล้านคนที่มาโดยตรงและ/หรือมากับการจัด/ร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ 2) โรงแรมที่พักทุกประเภทหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ 3) ธุรกิจร้านอาหารทั้งจากที่พักและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นับหมื่นแห่ง 4) การขนส่งพานักท่องเที่ยวไปกลับที่พักทั้งวันทั้งทางบกและทางน้ำ (ทะเล) มีผู้เกี่ยวข้องหลายแสนคน 5) ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวร้านค้า ร้านค้าของที่ระลึกนับหมื่นแห่ง 6) เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องแต่งกายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจำนวนมาก 7) บริการ นวดไทย นวดสปา และอุตสาหกรรมต่อเนื่องนับหมื่นแห่ง เหล่านี้เป็นต้น ล้วนหยุดหรือชะลอการให้บริการทั้งสิ้น ซึ่งแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้โดยรวมประมาณ 4.5-5 ล้านคน หรือมากกว่า 2 ล้านครอบครัว ที่ต้องเผชิญปัญหาทันทีจากการไม่มีงานทำและขาดรายได้ในขณะนี้

มาตรการการประกาศปิดกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่างกรรมต่างวาระ รวมทั้งมาตรการเข้มข้นในการจำกัดการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชากรของรัฐ เช่น การปิดสถานศึกษา การงดกิจกรรมทำกันเป็นกลุ่ม เช่น การปิดสถานบันเทิง บาร์เบียร์ นวด สปา โรงหนัง แยกผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ซึ่งรัฐเรียกมาตรการกลุ่มนี้ว่า Social Distancing และมาตรการของรัฐอีกกลุ่มหนึ่งเป็น การจำกัดการเดินทาง คือ การปิดเมือง จำกัดการเดินทางของประเทศกลุ่มเสี่ยง การปิดชายแดน การจำกัดการเคลื่อนย้ายคน เป็นต้น ซึ่งเป็นผลจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 มีผลอย่างยิ่งกับสถานประกอบการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการดังกล่าว มีแรงงานและคนทำงานที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนมากทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยเฉพาะที่เป็นลูกจ้างรายวัน

คนไทยส่วนหนึ่งไม่มีรายได้และทนค่าครองชีพในเมืองใหญ่ไม่ได้จึงต้องกลับไปตั้งหลักที่ต่างจังหวัด ซึ่งยังไม่ทราบว่าโรคอุบัติใหม่นี้จะหยุดการแพร่กระจายเมื่อไร อาจจะเป็นเดือนหรือหลายๆ เดือน เมื่อโรคระบาดใหม่นี้หยุดลงก็ต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะเรียกความมั่นใจจากทุกภาคส่วนกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะคนงานต่างด้าวหลายหมื่นคนที่เดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ และคนที่ถูกกระทบจากไม่มีงานทำเพราะกิจกรรมของนายจ้างต้องปิดตัวจากธุรกิจต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว การกลับไปของแรงงานต่างด้าวคราวนี้จะก่อให้เกิดปัญหากับตลาดแรงงานของไทยได้อีกครั้งหนึ่งคือ การขาดแคลนแรงงานระดับล่าง

การแก้ปัญหาที่สำคัญในช่วงเร่งด่วนนี้ ถ้าเป็นสถานประกอบการโดยเฉพาะสถานประกอบการที่ถูกกระทบก็มีมาตรการทางการเงินมากมายทั้งของรัฐและเอกชนที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินการต่อไปได้ ไม่ปลดพนักงานหรือลูกจ้างออก แต่อย่าลืมว่าการปิดตัวรวมทั้งการชะลอการจ้างงานนี้มาด้วยสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพราะโควิด-19 ดังได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น

ผู้เขียนเคยประมาณการไว้แล้วว่า อัตราการว่างงานอาจจะสูงถึง 2 เท่าของปีที่ผ่านมา 2563 คือประมาณร้อยละ 2 หรือประมาณ 6 แสนคน ถ้าปัญหาสงครามการค้าในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าสินค้าไทย ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปัญหาการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยียังดำเนินการอยู่ต่อไป และมีปัญหาที่ซ้ำเติมเข้ามา คือ เศรษฐกิจชะลอตัวอันเนื่องมากจากโควิด-19 จะทำให้ปัญหาการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างน้อยในช่วง 9 เดือนที่เหลือ ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แสนคน รวมจากตัวเลขเดิมก็จะมีการว่างงานถึง 7-8 แสนคน หรือร้อยละ 2.2-2.5 ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะกลางช่วยเหลือผู้มีแนวโน้มในการว่างงานดังกล่าว

ทางทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีข้อเสนอหลายประการในการแก้ปัญหาเร่งด่วน ( https://tdri.or.th/2020/03/tdri-economic-measures-covid19/ ) สำหรับคนทำงานและ/หรือแรงงานที่ถูกกระทบจากมาตรการของรัฐดังได้กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยให้มีเงินเพียงพอที่ครอบครัวจะดำรงชีพพื้นฐานได้ นั่นก็คือการจัดสรรเงิน “แบบให้เปล่า” ให้กับทุกครัวเรือนที่เดือดร้อนโดยไม่เลือกหน้า แต่มีข้อแม้ว่ารัฐต้องตรวจสอบคนในครอบครัวทุกคนที่ได้รับเงินต้องมีมูลค่าทรัพย์สิน (บ้าน ที่ดิน) ไม่เกิน 3 ล้านบาท มีเงินออมไม่เกิน 100,000 บาท หรือมีเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่ง TDRI คาดว่าจะมีคนอยู่ในข่ายได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 6-7 ล้านคน ทาง TDRI ได้ตัดคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน และอยู่ในข่ายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานจากประกันสังคมออกไปอีกส่วนหนึ่งเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ประมาณ 4-5 ล้านคน เท่านั้น

มาตรการที่ TDRI เสนอเพิ่มเติม เช่น การให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อมไม่ให้ต้องเลิกจ้างด้วยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่าและ/หรือค่าจ้าง เป็นต้น ซึ่งทางสถาบันการเงินก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกลุ่มนี้อยู่แล้วระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม รัฐต้องดูแลปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพเพิ่มเติมในรูปของร้านค้าธงฟ้าซึ่งกระจายไปทั่วประเทศคืออย่างน้อยต้องมีสินค้า ข้าวสาร ไข่ไก่หรือไข่เป็ด น้ำมันพืช และบะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น ไม่ให้ขาดแคลนสามารถหาซื้อได้โดยง่ายในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล อาจจะต้องมีคาราวาน “ธงฟ้า” เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ห่างไกลสัปดาห์ละหนึ่งหรือสองครั้ง โดยรัฐอาจจะไม่ต้องลงทุนซื้อรถบรรทุก แต่รับสมัครจดทะเบียนรถ “พุ่มพวง” ซึ่งเป็นปิ๊กอัพนำของไปขายให้ชาวบ้านอยู่แล้วมาเป็นสมาชิก โดยรัฐอาจอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้บางส่วนด้วยการรับสินค้า “ธงฟ้า” จากศูนย์กระจายสินค้าของรัฐไปกระจายตามหมู่บ้านห่างไกล

มาตรการเร่งด่วนอื่นๆ ที่จริงแล้ว ผู้มีรายได้หรือคนใจบุญก็สามารถช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงินและ/หรือสิ่งของช่วยเหลือ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเงินใช้สอยในการจับจ่ายซื้อหาอาหารที่จำเป็นนี้ได้ในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าที่ยังมีวิกฤตอยู่ เช่น การจัดโรงทานในหมู่บ้าน หรือตำบล หรือแม้แต่ในเมืองย่านคนจน ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อจาก Johns Hopkins, CSSE, 23 มีนาคม 2563 บ่งชี้ว่า ปัญหาโควิด-19 ยังจะเป็นปัญหาต่อเนื่อง 6 เดือนหรือจนถึงสิ้นปีในไทยและอีกหลายประเทศจากการแพร่กระจายที่เป็นปัญหาจาก Epidemic และ/หรือ Pandemic การเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคนไทยด้วยกันเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายสิบล้านคนให้กลับมาเยือนไทยดังเช่นแต่ก่อนคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ข้ามคืน ไทยช่วยไทยจึงน่าจะเป็นทางออกของประเทศในปี 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น