xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อฤดูหนาวมาเยือน อุตสาหกรรมการบินโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"


วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีและนักลงทุนชาวอเมริกัน ประธานบริษัท เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ซึ่งเป็นบริษัทในรูปแบบทีเรียกว่า โฮลดิ้ง คัมปะนี คือ เข้าไปลงทุนถือหุ้นระยะยาวในบริษัทที่มีพื้นฐานดี มีอนาคต กล่าวในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท ซึ่งจัดแบบทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอล เมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคมว่า วิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ของโลก ธุรกิจการบินทั่วโลกกำลังเสี่ยง “ล้มละลาย” เมื่อการท่องเที่ยวเเละการเดินทางต้องหยุดชะงักจากการเเพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เเม้สายการบินหลายเจ้าจะประสบปัญหาการเงินมาก่อนหน้านี้เเล้ว เเต่เมื่อต้องเจอมรสุมอันหนักหน่วงนี้เข้าไป จุดที่ “ยื้อต่อไม่ไหว” ก็มาถึง

เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ จึงตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ในสายการบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งของสหรัฐฯ เพราะหนึ่งในหลักการพื้นฐานของการลงทุนคือการไม่ทุ่มเงินไปกับบริษัท หรือกองทุนที่ยากจะสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้ ถือหุ้น

สายการบินทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อเมริกัน แอร์ไลน์ สายการบินใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทของบัฟเฟตต์มีหุ้นอยู่ 10% ขณะเดียวกันยังมีหุ้นทั้งหมด 11% ในเดลตา แอร์ไลน์ 10% ในเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ และ 9% ในยูไนเต็ด แอร์ไลน์

บัฟเฟตต์ กล่าวว่า เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ลงทุนในหุ้นของสายการบินทั้ง 4 แห่งไปประมาณ 7,000 ถึง 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 226,100 ถึง 258,400 ล้านบาท) แต่ผลตอบแทน “ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้” และบัฟเฟตต์กล่าวว่าเขา “ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด” ในการให้บริษัทลงทุนในสายการบินทั้ง 4 แห่ง

เมื่อบัฟเฟตต์พูด โลกต้องเงี่ยหูฟัง นักลงทุนต้องคิดตาม และทำตาม คือ ขายหุ้นสายการบินทิ้ง

ก่อนหน้านี้ Centre for Aviation หน่วยงานด้านการตลาดในธุรกิจสายการบินและการท่องเที่ยว เคยฟันธงว่า ภายในเดือนพฤษภาคม สายการบินส่วนใหญ่ในโลกอาจจะต้องเผชิญกับภาวะล้มละลาย เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ธุรกิจสายการบินกำลังเผชิญ

“รัฐบาล และอุตสาหกรรมการบินจะต้องร่วมมือกันเดี๋ยวนี้เพื่อให้รอดพ้นจากหายนะ สืบเนื่องจากผลกระทบจากโคโรนาไวรัส และมาตรการควบคุมการเดินทางของรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้สายการบินหลายแห่งกำลังเดินทางเข้าสู่ภาวะล้มละลายในทางเทคนิค หรืออย่างน้อยที่สุดก็ประสบปัญหาในการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการชำระหนี้สิน” Centre for Aviation ระบุ

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะต้องการมาตรการช่วยเหลือและเงินสนับสนุนจากรัฐมูลค่าประมาณ 1.5-2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้

มิฉะนั้นแล้วการระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลให้หลายสายการบินต้องล้มละลาย หรือเกิดการควบรวมกิจการ

ล่าสุด IATA ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ความสูญเสียรายได้ของธุรกิจการบินโลกว่า ขณะนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อนเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเคยประเมินไว้ที่ 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดมาตรการ “ล็อกดาวน์” ในหลายประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงมาก การที่จะฟื้นฟูเส้นทางบินระหว่างประเทศ “ล่าช้า” กว่าที่เคยคาดไว้ เเละจำนวนผู้โดยสารในปีนี้ลดลงถึง 55% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา


ด้านสามเครือข่ายสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Oneworld SkyTeam และ Star Alliance เรียกร้องให้รัฐบาล “ประเมินทุกแนวทางที่เป็นไปได้” เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน เครือข่ายสายการบินเหล่านี้เป็นตัวแทนของ 58 สายการบินชั้นนำของโลก โดยมีสายการบินในยุโรปบางแห่งได้ยื่นขอความช่วยเหลือเร่งด่วนแล้ว ขณะที่สายการบินไรอันแอร์ (Ryanair) ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปได้ประกาศระงับเที่ยวบินเกือบทั้งหมดเป็นเวลา 7-10 วัน

สายการบินขนาดใหญ่ทั่วโลกได้ประกาศลดจำนวนเที่ยวบินเป็นจำนวนมาก มีเครื่องบินงดทำการบินหลายร้อยลำ พนักงานของสายการบินถูกขอให้พักงานโดยไม่รับค่าแรง ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกลดเงินเดือน สายการบิน American Airlines ประกาศลดเที่ยวบินระหว่างประเทศลง 3 ใน 4 ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม ถึง 6 พฤษภาคม ขณะที่สายการบิน Delta Airlines กำลังลดเที่ยวบินลงร้อยละ 40 ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นการลดเที่ยวบินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสายการบิน โดยจะเหลือเที่ยวบินจากสหรัฐอเมริกาไปยังห้าเส้นทางในยุโรปเพียงวันละหนึ่งเที่ยวบิน

สายการบินใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลียอย่าง Virgin Australia กลายเป็นสายการบินแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิก ที่เข้าสู่กระบวนการ “ล้มละลาย” พนักงานกว่าหมื่นคนเสี่ยงตกงานกะทันหัน

ก่อนหน้านี้ สายการบินพยายามยื่นขอให้รัฐบาลจัดหาเงินกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ ในวงเงิน 888 ล้านเหรียญสหรัฐ เเต่รัฐบาลออสเตรเลีย “ปฏิเสธ” ด้วยเหตุผลว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Virgin Australia เป็นสายการบินต่างชาติ (เเต่ Qantas สายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ยังได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 715 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย)

Virgin Australia มีผู้ถือหุ้นหลักๆ ประกอบด้วย สายการบิน Etihad Airways ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถือหุ้น 20.94% สายการบิน Singapore Airlines ของสิงคโปร์ ถือหุ้น 20.09% บริษัทหนานชาน กรุ๊ป ถือหุ้น 19.98% บริษัท HNA Group ถือหุ้น 19.82% และบริษัท Virgin Group ของนักลงทุนชื่อดัง Richard Branson ถือหุ้นอยู่ 10.42%

โดยสายการบินมีเครื่องบินถึง 130 ลำ พนักงานรวมกันกว่า 10,000 คน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกราว 6,000 คน ต้องเเบกรับหนี้สินระยะยาวอยู่ราว 3,170 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 แสนล้านบาท)

ที่ผ่านมา Virgin Australia มีส่วนแบ่งรายได้ 31% ของเที่ยวบินในประเทศออสเตรเลีย เป็นอันดับ 2 รองจากคู่เเข่งอย่าง Qantas ที่มีส่วนแบ่ง 58% เเละที่เหลือเป็นของสายการบินขนาดเล็กในประเทศ โดยธุรกิจการบินในออสเตรเลียประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาพักใหญ่ ก่อนที่จะเกิดวิฤกต COVID-19

การล้มละลายของ Virgin Australia เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของวิกฤต ต่อจากนี้ 2-3 เดือน จะมีสายการบินล้มละลายอีกจำนวนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น