xs
xsm
sm
md
lg

New Normal-New Me ชีวิตหลังถูกไวรัสดิสรัปต์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ในหนังสือ “เซเปียนส์” ประวัติย่อของมนุษยชาติวิวัฒนาการของมนุษย์เกิดขึ้นครั้งแรกในแอฟริกาตะวันออก ราว 2.5 ล้านปีมาแล้ว ก่อนจะละทิ้งถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในบริเวณต่างๆ ทั้งในแอฟริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย เกิดเป็นมนุษย์หุบเขานีแอนเดอร์ หรือนีแอนเดอร์ธัลส์ โฮโมอีเรคตัสหรือมนุษย์ตัวตรง โฮมโซโลเอนซิส หรือมนุษย์หุบเขาโซโล ก่อนเผ่าพันธุ์บรรพบุรุษของมนุษย์เหล่านั้นจะสูญหายไปกลายเป็นเราที่สืบสายพันธุ์มาจากมนุษย์โฮโมเซเปียนส์

มีข้อสันนิษฐานต่างๆว่า ทำไมเผ่าพันธุ์มนุษย์เหล่านั้นสูญหายไปจากโลกและยืนหยัดอยู่ได้เพียงเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ของเรา จนกระทั่งมาถึงการเผชิญกับไวรัสในยุคของเรา

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในอดีตนั้นมีทั้งข้อสันนิษฐานว่า น้ำทะเลลดระดับลงจากการก่อตัวเป็นก้อนน้ำแข็งยักษ์ และต่อมาน้ำทะเลจึงเพิ่มระดับขึ้นกะทันหัน จากการละลายของก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์ อุกาบาตพุ่งชนโลก หรือไม่ก็ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งใหญ่ที่บริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก ปลดปล่อยลาวาจำนวนมหาศาลออกมา และอาจทำให้เกิด ภาวะโลกร้อนขั้นวิกฤต

บางข้อสันนิษฐานฟังแล้วก็ขำว่า ไดโนเสาร์อาจจะสูญพันธุ์เพราะตดของมันที่ปล่อยก๊าซมีเทนออกมา

วันนี้วันที่เราเผชิญหน้ากับไวรัสโคโรน่า ผมคิดว่าเรามองข้ามข้อสันนิษฐานนี้ต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไปไม่ได้

ถึงตอนนี้ไม่รู้ว่า มนุษย์จะมีอิสรภาพที่สมบูรณ์อีกเมื่อไหร่ แม้ว่าเสรีภาพจะเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ปรารถนา เราถูกบังคับให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้รอดพ้นจากการจู่โจมของไวรัสที่เข้าไปทำลายร่างกายเรา และถ้าเราไม่แข็งแรงพอที่จะต้านทานเราก็จะเสียชีวิตทันที

จากคนแรกที่ได้รับเชื้อไวรัสเพียงคนเดียวในประเทศจีน วันนี้มันคุกคามมนุษย์เราไปแล้วกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตแล้วกว่าสองแสนคน ดังนั้นเท่ากับว่า ตราบที่เรายังไม่มียาหรือวัคซีนเพื่อต่อต้านมัน แม้มีผู้ติดเชื้อคนเดียวถ้าเราควบคุมไม่ดีพอมันสามารถขยายไปเป็นล้านๆ คนภายในเวลาไม่กี่เดือน

คำถามว่าเราต้องเผชิญชีวิตภายใต้การคุกคามของมันไปอีกนานเท่าไหร่ คำตอบที่เราตอบได้คือ จนกว่าจะมีวัคซีน แต่ถึงตอนนี้พูดกันว่าอย่างเร็วก็อีก 1 ปี กระนั้นก็ไม่รู้ว่าไวรัสมันจะกลายตัวไปแล้วเท่าไหร่ วัคซีนที่คิดค้นจะไล่วิวัฒนาการของมันทันหรือไม่ ที่สำคัญวันนี้มันน่าจะพิสูจน์แล้วว่ามันต่างกับหวัดหลายสายพันธุ์ที่เป็นโรคประจำฤดูกาล เพราะมันสามารถแพร่เชื้อได้ทั้งในอากาศที่หนาวเย็นอย่างจีนและร้อนอย่างบ้านเรา

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการปลดล็อคดาวน์ โดยอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ว่า ต้องมี 6 ข้อตามที่ WHO กำหนดจึงจะสามารถปลดล็อคดาวน์ได้ ได้แก่

1. สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศแล้ว

2. ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค

3. มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา

4. โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณสุขต่างๆ ต้องมีมาตรการโรคที่มีประสิทธิภาพ

5. สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้

6. คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ ภายใต้สังคมทีเปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค

ลองดูว่าจาก 6 ข้อที่อนามัยโลกตั้งธงไว้นั้นเราใกล้เคียงกับความจริงหรือยัง หรือว่าต้องใช้เวลาอีกยาวนาน แล้วถ้านานผลกระทบกับชีวิตของเราที่ต้องต่อสู้ทางเศรษฐกิจเพื่อเอาตัวรอดด้วยจะดำรงชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน แล้วมันจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร มาตรการที่รัฐบาลออกมาเพื่อรับมือนั้นสามารถช่วยเหลือเยียวยาตัวเราและประเทศได้ในระยะยาวหรือไม่ คนจนยากลำบากแสนเข็ญอีกกี่คนที่ต้องเลือกจบชีวิตลงเพราะไม่มีทางออก

วันนี้สิ่งที่เรายอมรับเหมือนกันว่า หลังจากนี้ไปเราต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิมๆ ที่เราเรียกกันว่า New Normal หรือ New Me ที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของเราแต่ละคน


ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะค้นพบยาที่รักษาได้โดยตรง หรือค้นพบวัคซีน ถ้าไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 เป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นอีกได้เหมือนกับไข้หวัดทั่วไป และสามารถพัฒนาสายพันธุ์ของมันไปได้เรื่อยๆ นับจากนี้เราต้องมีระยะห่างจากกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ กิจกรรมที่รวบรวมคนจำนวนมากต้องหยุดหมด ยกเว้นว่า เมื่อเราสามารถมีภูมิคุ้มกันหมู่มากได้

เมื่อก่อนนั้นถ้าเรายืนอยู่เมื่อเห็นคนพยายามขยับตัวให้ออกห่างจากเรา เราอาจดูเหมือนเขารังเกียจเรา เราอาจไม่พอใจ และมองว่าอาการแบบนั้นเป็นการเหยียดกัน แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว พฤติกรรมของเราเปลี่ยนไปว่า การรักษาระยะห่างแบบ Physical Distancing นั้นเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อกัน เราจะรังเกียจเมื่อใครพยายามจะเข้ามาอยู่ใกล้เราจนเกินไป หากเป็นคนที่เราไม่คุ้นชินกันมาก่อน

การเข้าแถวแบบมีระยะห่างกำลังกลายเป็นความคุ้นชินแบบใหม่ของมวลมนุษย์ การไปมาหาสู่จะเกิดขึ้นเท่าที่จำเป็น มนุษย์จะเดินทางน้อยลง และแต่ละประเทศจะมีกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นในการรับนักท่องเที่ยว หรือกระทั่งเราอาจต้องมีพาสปอร์ตโควิดกัน

ร้านอาหารจะเปลี่ยนแปลงไปหมดต้องเป็นร้านที่ปลอดโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่แออัดยัดเยียด ความคิดแบบเดิมว่า ร้านนี้คนเยอะอาหารน่าจะอร่อย แล้วเราชอบเข้าไปก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเลือกร้านที่คนน้อยลง หรือไม่ก็สั่งไปกินที่บ้านโดยใช้บริการที่เติบโตได้มากในยุคโควิดก็คือบริการส่งอาหาร แต่ถามว่า เราไว้ใจหรือว่าคนส่งอาหารจะไม่นำโรคมาให้เรา หรือไม่ร้านอาหารก็ต้องตั้งในที่มีพื้นที่กว้างให้โทรไปสั่งก่อนแล้วสามารถขับรถเข้าไปรับได้แบบได้แบบไดร์ฟ-ทรูได้

การแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ต การแสดงต่างๆ ถ้าจัดได้ก็ต้องจัดที่นั่งไม่เบียดเสียดแบบเดิมอีก แต่ต้องจัดที่นั่งแบบมีระยะห่าง อรรถรสความมันก็จะหายไปไม่น้อย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หายไปไม่ได้ ลองนึกดูสิว่าช่วงนี้เมื่อสิ่งเหล่านี้หายไปมันทำให้รสชาติชีวิตเราจืดจางลงแค่ไหน

วันนี้เราก็เห็นว่า ศิลปินหลายคนพยายามหาช่องทางของตัวเองในโลกโซเชียลด้วยการแสดงสดให้ชม มีการสื่อสารกันสองด้าน แล้วแนบเบอร์บัญชีธนาคารเพื่อขอค่าการแสดง ซึ่งแม้จะท้าทายธรรมดาของมนุษย์ที่ชอบของฟรีอยู่บ้าง แต่ในอนาคตไม่แน่ว่ามันอาจจะเกิดวัฒนธรรมใหม่จนกลายเป็นช่องทางใหม่ของศิลปินก็ได้

ผมคิดว่าห้างสรรพสินค้าที่เดิมก็ถูกดิสรัปต์อยู่แล้วด้วยเทคโนโลยีจะมีอาการหนักขึ้น เพราะช่วงนี้คนที่ไม่เคยสั่งสินค้าทางแอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือทางออนไลน์ก็จะมีความคุ้นชินมากขึ้น และเห็นว่ามันสะดวกกว่าการเสียเวลาไปเดินห้างที่วันนี้ไม่ปลอดภัยแบบเดิมแล้ว แสดงว่าวันนี้ผู้ประกอบกิจการไม่ได้แข่งขันกับร้านค้าในไทยแล้ว แต่แข่งกับร้านค้าในต่างประเทศด้วย แถมรัฐที่ปรับตัวไม่ทันจะเก็บภาษีได้น้อยลง และเงินกระดาษจะค่อยๆลดความจำเป็นลงไป

แต่ผู้ค้าก็จะมีมากขึ้นมีคู่แข่งมากขึ้น เพราะไม่ว่ารายเล็กรายน้อยก็ลงมาแข่งขันในออนไลน์ได้หมด และมีโอกาสปังเร็วถ้ามีคุณภาพและเทคนิคการขายที่ดีพอ นั่นแสดงว่าการแข่งขันทางการค้าจะเกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อนตัดราคาและแข่งขันกันให้บริการและคุณภาพกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภค

เจ้าของกิจการจำนวนมากมองเห็นว่า แม้ในระยะข้างหน้าไวรัสจะไปแล้วหรือเรามีวัคซีนแล้วแต่การให้พนักงานทำงานที่บ้านก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อพนักงานไม่ต้องเดินทางมาก็สามารถลดสวัสดิการต่างๆ และประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องออฟฟิศได้มาก ที่สำคัญนายจ้างจะเริ่มมองเห็นว่า ใครเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นก็จะกลายเป็นคนตกงานซึ่งผมคิดว่าจะมีจำนวนมาก ที่สำคัญนายจ้างจะเรียกประชุมเมื่อไหร่ก็ได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่นแบบเห็นหน้าเห็นตากันไม่ต้องรอให้มาพร้อมกันในห้องประชุมแบบเดิม


ระบบขนส่งสาธารณะอาจมีคนใช้บริการน้อยลง ผู้ประกอบการรถสาธารณะหรือคนขับแท็กซี่พากันตกงาน ผู้คนหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น มลภาวะก็ยิ่งหนักกว่าเก่าเพราะปัญหารถติดจะกลับคืนมาแม้รถไฟฟ้าหลายสายที่สร้างรอบกรุงเทพฯตอนนี้จะระโยงระยางไปหมดก็ตาม

อำนาจต่อรองทางการเมืองจะอยู่ในโซเชียลมีเดียมากขึ้น เหมือนกับกรณีของ CPTPPP ที่รัฐบาลต้องถอยกรูดแม้ว่าจะพยายามอธิบายถึงข้อดีต่างๆ แต่สังคมก็ไม่ยอมรับจนต้องถอนออกไปในที่สุด นั่นหมายความว่าสื่อกระแสหลักที่เคยเป็นกระบอกเสียงของประชาชนอย่างพวกเราจะลดความสำคัญลง และถูกต่อต้านจากสังคมด้วยซ้ำไปเมื่อนำเสนอในด้านที่ไม่ถูกใจประชาชนแม้ว่า การนำเสนอนั้นเป็นเรื่องที่ถูก เพียงแต่ไม่ถูกใจจุดยืนทางการเมืองของพวกเขา

การชุมนุมทางออนไลน์ที่กำลังมีข้อเสนอของบรรดาคนหนุ่มสาวในตอนนี้เพื่อต่อต้านรัฐบาลแน่นอนว่ามันเกิดขึ้นได้ง่ายๆ วันนี้เราคิดว่า มันคงไม่มีพลังอะไร อยากจะม็อบอยู่บ้านเขียนป้ายแสดงตัวผ่านโซเชียลก็ทำไป แต่ในอนาคตมันอาจมีพลังในวิถีใหม่ที่อาจจะวิวัฒน์ไปก็ได้

ที่สำคัญคิดว่าต่อไปนักวิทยาศาสตร์หรือวงการที่เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจกับความซับซ้อนของไวรัสมากขึ้น เพราะถึงเวลามันอาจมีไวรัสตัวใหม่ขึ้นมาอีก แม้เราจะรับมือกับไวรัสโคโรน่าตัวนี้ได้ในที่สุด ตามด้วยการคิดค้นนวัตกรรมจำนวนมากเพื่อรองรับ New Normal ใหม่ของมนุษย์ที่เราจะพาตัวเองถอยห่างจากสภาพของสัตว์สังคม

ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ถูกต้อง สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็อาจจะดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมๆ เพราะเราก้าวมาไกลกว่าที่จะให้สิ่งที่ไม่มีเซลล์สมองตัวนี้มากำหนดชีวิตเรา

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan

กำลังโหลดความคิดเห็น