xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 เปลี่ยนโลก โลกที่ไม่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ,เสรี พงศ์พิศ



โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

เมื่อต้นปี ถนนหนทางในมหานครทั่วโลกมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยรถราและผู้คน สองเดือนที่ผ่านมา มหานครทั้งหลายกลายเป็นเมืองร้างอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21

โลกได้พัฒนาก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข การแพทย์ แต่ไม่สามารถรับมือกับไวรัสใหม่ตัวหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่สุดท้ายไม่ธรรมดา เพราะคร่าชีวิตผู้คนทุกเพศทุกวัยไปเป็นใบไม้ร่วง

โควิด-19 กำลังเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้มนุษยชาติ กำลังกักขังผู้คนที่อวดอ้างเสรีภาพและสิทธิที่ละเมิดมิได้ กำลังสอนให้รู้ว่า การกักขังสัตว์ในกรงนั้น สัตว์จะรู้สึกเป็นอย่างไร เสรีภาพแบบไม่รับผิดชอบมีผลอย่างไร โควิด-19 กำลังสั่งสอนมนุษย์ที่อหังการ หลงตัวเองว่ายิ่งใหญ่ให้รู้ว่า ที่สุดก็ไม่ได้ใหญ่จริง ไม่ได้เป็นนายเหนือสรรพสิ่งอย่างที่คิด มีเงิน มีอำนาจก็ไม่สามารถซื้อลมหายใจให้ปอดที่ถูกทำลายได้

เทคโนโลยีดี แต่มีคนไข้หนักมากมายจนไม่อาจหาเครื่องช่วยหายใจให้ทุกคนได้ ต้องเลือกว่าจะให้ใครอยู่ ให้ใครตาย นี่คือโศกนาฏกรรมโดยแท้

วันนี้มีคำถามมากกว่าคำตอบ การระบาดจะหยุดเมื่อไร จะได้ยาเมื่อไร วัคซีนเมื่อไร จะตายอีกเท่าไร คนจะตายเพราะอดอยากก่อนตายเพราะโควิดหรือไม่ ที่คิดว่าควบคุมได้ ทำนายได้ ก็ไม่จริง ทั้งๆ ที่ไวรัสตัวนี้เป็นญาติกับซาร์สและเมอร์สที่มาก่อน เตือนก่อน แต่คนก็ไม่ได้เตรียมพร้อม ประมาท นึกว่าไม่เท่าไรเหมือนพี่ๆ ของมัน คาดหวังว่าจะยับยั้งป้องกันรักษาได้เมื่อมียามีวัคซีนออกมา ซึ่งก็คงอีกเป็นปี แต่ปลอบใจตัวเองว่าอีกไม่กี่เดือน ขณะที่ประเทศต่างๆ ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการระบาดเท่านั้น คงไม่หยุดง่ายๆ คนติด-คนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน

ความสัมพันธ์ไปมาหาสู่ถูกตัดขาด เพื่อให้การระบาดที่เร็วเท่ากับโลกาภิวัตน์ถูกยับยั้ง แต่ก็ไม่สามารถตัดขาดได้จริง ที่สุดคนก็ยังต้องติดต่อสัมพันธ์อยู่ดี ยิ่งในเมืองใหญ่ มีชุมชนแออัดมาก ยิ่งยากจะหยุดได้

น่าเป็นห่วงอินเดียและประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาที่ระบบสาธารณสุขไม่แข็งแรง เศรษฐกิจสังคมไม่พร้อม วันนี้ผู้ติดผู้ตายในหลายประเทศยังอยู่ระดับร้อย บางประเทศไปเป็นพันและหมื่น และยังเพิ่มขึ้นทุกวัน

โควิด-19 มาเปลี่ยนโลก ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต ด้านตรงกันข้ามของความเป็นจริงที่คนคุ้นเคย ทำให้เห็นว่าการอยู่ห่างเป็นความปรารถนาดี การไม่ไปเยี่ยมพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณ ญาติสนิทมิตรสหายกลายเป็นการแสดงความรัก ทำให้การโอบกอดและการจูบเป็นอาวุธ การจับถือทักทายกลายเป็นการแช่ง

โควิด-19 กำลังสั่งสอนคนที่ท้าทาย ไม่กลัวตาย ไม่คิดว่าโคโรนาตัวนี้มีพิษสงอะไรนัก ผู้นำประเทศที่เห็นว่า “เศรษฐกิจสำคัญกว่าชีวิตของประชาชน” ก็กำลังได้รับบทเรียนว่า นี่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา และสุดท้ายจะพังทั้งเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชน

โควิด-19 เปิดเผยธาตุแท้ผู้นำบางคนในบางประเทศที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่ฟังเสียงประชาชน นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แพทย์ พยาบาลที่รู้จริงว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร เอาชีวิตประชาชนมาล้อเล่นกับความตาย

วันนี้ไวรัสมาสอนว่า สุขภาพสำคัญกว่าเสรีภาพ การอยู่รอดของส่วนรวมสำคัญกว่าสิทธิส่วนตัว ประชาธิปไตยในภาวะปกติเก็บไว้ในลิ้นชักสักพักก็ได้ แม้นักการเมืองบางคนทั้งในบ้านเราและในต่างประเทศยังตีฝีปากไม่หยุด แต่ก็แบบกล้าๆ กลัวๆ เพราะประชาชนดูอยู่ว่า ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ชีวิตกับความตายใกล้กันขนาดนี้ ยังจะเล่นการเมืองเพื่อประชาชนหรือเพื่อตนเอง

โควิด-19 มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้นำประเทศที่ไม่ยอมเปลี่ยน ยังคิดแบบเดิมๆ ไม่เข้าใจพลังของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลใหญ่ (big data) ความเสมือนจริง (virtual reality) 5G การพิมพ์ 3 มิติ หุ่นยนต์ ฯลฯ

โควิดมา ผู้นำต้องเปลี่ยน เพราะต้องมีการรักษาระยะห่างทางสังคมจึงต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัยทุกอย่าง ประชุมทางไกล ทำงาน เรียน สื่อสารเกือบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะปฏิบัติการด้านสาธารณสุข อย่าง 5G ที่มีคุณค่ามหาศาลทางการแพทย์ รวมทั้งนวัตกรรมอื่นๆ ที่ผู้นำไม่อาจมองข้ามได้อีก

โควิด-19 นำโลกเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เกิดระเบียบโลกใหม่ ทำให้คนคุ้นเคยกับการทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์ การซื้อข้าวของออนไลน์ อาหารการกินส่งถึงบ้านได้เกือบทุกอย่าง เป็นสังคมอัตโนมัติ ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อจัดความสัมพันธ์ใหม่

โควิด-19 ช่วยจัดระบบเศรษฐกิจใหม่ สังคมใหม่ รวมไปถึงการเมืองใหม่ ที่ผู้คนจะเรียกร้องจากรัฐมากขึ้น รัฐต้องดูแลความทุกข์สุขของประชาชนแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ทั้งเยียวยา ชดเชยบุคคล หน่วยงาน องค์กรทุกรูปแบบ รัฐไม่สามารถประกาศให้ผู้คนช่วยตัวเอง ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป “ตามบุญตามกรรม”

โควิด-19 ทำให้คนค้นพบศักยภาพของตนเองว่า ทำอาหารกินเองก็ได้ ปลูกผักดูแลต้นไม้ดูแลสวนก็ได้ ช่วยกันทำงานบ้าน เลี้ยงลูกก็เป็น ทำงานที่บ้านเองก็ทำได้ สื่อสารกับใครจากในบ้านก็ได้ อยากได้อะไร อยากกินอะไรก็สั่งซื้อได้ออนไลน์ ใช้แอปใช้สมาร์ทโฟนระบบออนไลน์ที่ไม่เคยทำก็ทำเป็น หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็หาเองได้ แต่คนที่ตกงาน ขาดรายได้ ปิดร้าน คงไม่สนุก เป็นทุกข์หนัก แต่หลายคนก็หาทางออกทางเลือกใหม่ ความจำเป็นทำให้เกิดนวัตกรรมได้เหมือนกัน ดิ้นรนจริงๆ ทางออกก็ยังพอมี

เราคงไม่เห็นการกลับไปสู่โลกเก่าแบบเดิมอีกต่อไป จะมีสิ่งที่เรียกกันว่า “ชีวิตปกติแบบใหม่” (new normal) ที่จะไม่เหมือนเดิม หลายอย่างคงหายไป ธุรกิจน้อยใหญ่ที่ล้มละลาย การทำงานที่พบว่าทำที่บ้านก็ทำได้ คนทำงานเองก็ไม่อยากกลับไปนั่งในห้องสี่เหลี่ยม แออัดกับเพื่อนๆ บริษัทบางแห่งก็อาจไม่อยากให้กลับไปที่ทำงานกันทุกคนทุกวันถ้าหากอยู่บ้านก็ทำได้ดี ค่าใช้จ่ายน่าจะน้อยกว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

คนจะคุ้นเคยกับหลายอย่างที่ปฏิบัติระหว่างถูกกักบริเวณ นอกจากการทำงานที่บ้าน การจัดการตารางเวลาชีวิต การพบปะสังสรรค์ การประชุมสัมมนา การจัดงานที่มีผู้คนจำนวนมาก คงทำกันอย่างระมัดระวังมากขึ้น

คนจะยังรักษาระยะห่างอยู่เพราะเคยชิน ยังสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่อยามไม่สบาย เป็นไข้เป็นหวัด เดินทางในเมือง ไปซื้อของ ไปโรงพยาบาล สถานที่ราชการ การประชุมสัมมนา ที่ชุมนุมชน

คนจะหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น เรื่องอาหาร การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย ซึ่งเคยทำระหว่างถูกกักตัวในบ้านและสามารถออกไปเดินไปวิ่ง ได้อากาศที่ดีขึ้นกว่าเดิมในเมือง จะทำต่อเนื่องได้ง่ายขึ้น

เราจะเห็นระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ ที่จะสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ประชาชนและสังคมโดยรวม แนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจแบ่งปันจะมีการนำมาประยุกต์ใช้จริง รวมทั้งรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI)

การเมืองในประเทศระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป ผู้คนจะประเมินว่า ระหว่างวิกฤตใครได้ทำอะไรไว้ ใครเป็นเพื่อนแท้เพื่อนเทียม ใครเห็นใจ เข้าใจ และยื่นมือช่วยเหลือยามลำบากยากแค้น

ประชาคมยุโรปยังจะแข็งแรงต่อไปหรือไม่ ยามวิกฤตมีเอกภาพและความสามัคคีเพียงใด ใกล้จะตายกันหมดยังหาข้อตกลงช่วยกันไม่ได้ ตกลงตั้งกองทุนแล้ว ยังต้องแย่งกันอีกว่าใครจะได้เท่าไร จะให้เปล่าหรือให้ยืม กว่าจะตกลงกันได้ก็สายไปมากแล้ว รวมไปถึงประชาคมภูมิภาคต่างๆ อย่างอาเซียนและอื่นๆ ว่าสัมพันธ์กันเพียงเพื่อปากท้องหรือเพื่อชีวิต เพื่อช่วยเหลือกันยามวิกฤต โควิดไปเมื่อไรคงได้ถกกัน ว่า “แล้วมีองค์กรนี้ไว้ทำไม”

ประเทศต่างๆ จะจดจำว่า จีนได้ส่งเวชภัณฑ์ ส่งบุคลากรไปช่วยในยามที่เกือบสิ้นหวังอย่างไร ประเทศที่ถูกสหรัฐอเมริกาชิงเอาเวชภัณฑ์ระหว่างทางประหนึ่งโจรสลัด จะจดจำไม่ลืมเหมือนนิทานอิสปเรื่องสองสหายกับหมี เพื่อนที่หนีเอาตัวรอดคนเดียว เพื่อนที่หนีไม่ทันนอนลงแกล้งตาย หมีมาดมๆ ไม่ทำอะไร เมื่อหมีจากไป เพื่อนกลับมาถามว่า หมีพูดว่าอะไร ได้คำตอบว่า “อย่าได้ร่วมทางไปกับคนที่ทิ้งเพื่อนและหนีเอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียวเป็นอันขาด”

สังคมใหม่เกิดได้เพราะจะมีการ “รีเซ็ตสังคม” “รีเซ็ตชีวิต” จัดระเบียบชีวิตและสังคมใหม่ จัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ ด้วยอานิสงส์ของระเบียบชีวิตและสิ่งแวดล้อมระหว่างที่ถูกล็อกดาวน์ อานิสงส์ชีวิตตน อานิสงส์ธรรมชาติ อากาศที่สะอาดขึ้น น้ำทะเลที่ใส สัตว์น้ำที่กลับมาหากินในทะเลที่อุดมสมบูรณ์เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวไปรบกวนและทำสกปรก สร้างมลพิษในน้ำและบนบก

ไม่ใช่ “โลกสวย” แบบมโนในจินตนาการ แต่เป็นโลกสวยจริง เป็นสังคมศิวิไลซ์


กำลังโหลดความคิดเห็น