xs
xsm
sm
md
lg

‘ไวรัส’ ปฏิวัติชีวิตมนุษย์...

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์



มองย้อนกลับไปช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ถ้ามีใครบอกว่าโลกจะเปลี่ยนไปด้วยเชื้อไวรัสที่มองไม่เห็น ทำให้ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรม อุปนิสัยต่างๆ อย่างรุนแรง เว้นเพียงอย่างเดียว โลกยังไม่หยุดหมุน วันเดือนปีผ่านไปเหมือนปกติ คงไม่มีใครเชื่อ

ถ้าบอกว่าเครื่องบินส่วนใหญ่จะจอดนิ่ง เรือสำราญไม่มีใครใช้บริการ ท้องถนนทั่วโลกแทบไม่มีรถ อากาศจะสะอาด น้ำทะเลจะใส ปลามีโอกาสออกไข่ สัตว์ป่าจะเดินเข้าเมือง มนุษย์จะหลบอยู่แต่ในบ้าน ทั้งยากดีมีจนจะกลัวตายทั้งโลก...

คงไม่มีใครเชื่อเช่นกัน! แต่สภาวะที่ว่านั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ได้ชื่อว่า “โควิด-19” มีแสนยานุภาพร้ายกาจกว่าทุกอย่างที่เคยปรากฏในรอบ 100 ปี ทำให้คนติดเชื้อกว่า 1 ล้านคน ตายเกือบ 2 แสน

และตัวเลขคนติดเชื้อ คนตายยังวิ่งไม่หยุด สร้างวิกฤตต่อคนทั่วโป องค์กร ประเทศ ต่อให้ยิ่งใหญ่ เป็นถึงขั้นกษัตริย์ ก็ยังหนีไม่รอดจากการติดเชื้อ และยังทีท่าว่าจะเป็นการระบาดประจำฤดูกาล ไม่หายขาด แต่จะปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ตลอด

และมนุษย์จะต้องปรับตัว สภาวะชีวิตความเป็นอยู่ กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้อยู่รอดร่วมกับศัตรูที่มองไม่เห็นตัว และไม่ใช่มีความร้ายกาจ แต่ได้สร้างคุณูปการให้คนทั้งโลก อย่างที่ไม่มีใครทำได้ เช่นทำให้อากาศ ทะเล ทั่วโลกสะอาดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไวรัสตัวนี้มีอิทธิพลเหนือทุกชีวิตในโลก ถ้าไม่ระวังตัว อวดเก่ง มีโอกาสติดเชื้อแล้วไปสู้ในห้องไอซียู ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงพอ มีโรคอื่นแทรกซ้อน จะรอดชีวิตได้ยาก

จากนี้ไป คนส่วนใหญ่จะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตในการทำงานและอยู่ที่บ้าน แต่ละนาที การเคลื่อนไหวต้องระมัดระวัง ตราบใดที่การระบาด หรือการติดเชื้อจะไม่หายขาดแน่นอน เพราะแต่ละประเทศจะมีระดับความรุนแรงของปัญหาต่างกัน

อย่างเช่นทุกวันนี้ ไม่มีใครคาดได้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และจะไม่พร้อมกันด้วย แม้จะมีวัคซีนหรือยารักษา เชื้อโรคก็กลายพันธุ์ได้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าสภาวะเช่นนี้น่าจะยังคงอยู่อีก 6 เดือนหรืออีกเป็นปี จนกว่าจะมีวัคซีนและยา

ในประเทศจีน ต้นตอของการระบาด ได้แสดงให้เห็นแนวทางการดำรงชีวิตใหม่ คนจะแยกกันอยู่ แม้แต่ในบ้านเดียวกัน แยกกันเดินทาง แยกกันกิน เต็มไปด้วยความระมัดระวังซึ่งกันและกัน จะไม่มีงานเลี้ยงใหญ่โตเพื่อวาระต่างๆ แม้จำเป็น

หลายอาชีพอาจไม่เหลือ เช่นการจัดงานแสดงสินค้า นิทรรศการ การเล่นดนตรี กีฬา หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงรุ่นในกลุ่มเพื่อนฝูง จะมีความรู้สึกหวาดระแวง เพราะไม่มีใครประเมินได้ว่ามีคนติดเชื้ออยู่รวมด้วยหรือไม่ ถ้ายังไม่แสดงอาการชัดเจน

การเดินทางโดยบริการสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถไฟ เครื่องบิน ร่วมกับคนอื่นๆ คนเฝ้าระวังจะต้องสวมหน้ากากอนามัยโดยตลอด คนทั่วไปแทบจะไม่ได้เห็นหน้าตาของกันและกัน ร้านอาหาร แหล่งบันเทิงจะร้องเพลงเฮฮาคงไม่ได้อีกแล้ว

แล้วจะทำอย่างไร? มนุษย์ไม่กลัวอะไร สักพักก็จะชินไปเองกับรูปแบบวิถีชีวิตแบบใหม่ คนจะพูดจากันน้อยลง เพิ่มการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียและอุปกรณ์ต่างๆ การทำงานที่บ้านจะเป็นเรื่องปกติ รายได้จะเพิ่มหรือลด แล้วแต่ความสำคัญของงาน

ในบ้านเรา ยังไม่เปิดให้วงจรชีวิตเป็นปกติ และคงไม่เป็นไปเหมือนเดิม คนที่ย้ายไปจากเมืองหลวงไปอยู่ต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งคงไม่กลับ เมื่อได้พบหนทางดำเนินชีวิตใหม่ อาชีพใหม่ โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรมก็ต้องปรับ

ที่เห็นกันทั่วโลกคือความลำบากในการดำรงชีวิตเพราะความคุมเข้ม การอดอยากขาดแคลนมีอยู่ทั่วไป แม้แต่ในบ้านเรา เพราะคนทำงานในภาคบริการไม่มีรายได้เพราะถูกให้หยุดงาน เลิกจ้าง หรือด้วยเหตุอื่นๆ ไม่ถึงขั้นอดตาย แต่ไม่มีกิน

ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่คงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนดี เพราะการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ผ่านระบบขนส่ง จะทำให้คนเดินห้างน้อยลง ถ้ายิ่งมีการระบาดเป็นครั้งคราว จะทำให้การประกอบธุรกิจต้องเปลี่ยนมาก

แม้แต่การดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดของคนทั่วไป องค์กรธุรกิจขนาดต่างๆ ยังต้องดูว่าจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าสภาวะการระบาดยังยืดเยื้อ หนทางจะหารายได้จะไม่ง่าย และยิ่งถ้ามีหนี้สินภาระติดพันมากมาย โอกาสจะหารายได้ใช้คืนหนี้ ก็หาช่องทางใหม่

ธุรกิจการท่องเที่ยว การบิน โรงแรม บริการขนส่ง รถทัวร์โดยสาร ร้านอาหาร จะต้องประเมินปรับเปลี่ยนใหม่ เพราะคนต้องระวัง กว่าจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวหรือเพื่อธุรกิจ ต้องดูว่าจุดหมายปลายทางที่จะไปนั้นยังมีการระบาด สุ่มเสี่ยงหรือไม่

ความอยู่รอดของประเทศ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ถ้าการทำมาค้าขายไม่สะดวก ธุรกรรมการเงิน ติดต่อค้าขายไม่ราบรื่นเพราะการขนส่งสินค้าต้องผ่านการตรวจสอบเข้มข้น ต้นทุนต้องสูงตามไปด้วย ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง

แต่ละประเทศมีปัญหาหนี้สินเพื่อพยุงฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้เงินมหาศาล นอกเหนือจากงบประมาณ และมาจากการกู้ยืม เพื่อให้ทุกอย่างที่เคยเป็น คืนสู่ภาวะปกติ ขึ้นอยู่กับทรัพยากร และการจัดการ

ความสัมพันธ์ด้านการค้า การเมือง ระหว่างประเทศ การจับกลุ่มพันธมิตร คู่ค้าก็ต้องเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ประเทศที่มีทรัพยากรพร้อม ย่อมมีอำนาจต่อรองมาก ประเทศผู้ผลิตอาหารจะมีแรงกดดันน้อย เพราะปัจจัยสำคัญคือประชาชนต้องมีกิน

รูปแบบทุนนิยมเข้ม อาจต้องปรับหนักเพราะเห็นแล้วช่วยไม่ได้ในยามวิกฤต ในบ้านเรา “เศรษฐกิจพอเพียง” ต้องเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าไม่อยากพลาดอีกครั้ง!
กำลังโหลดความคิดเห็น