xs
xsm
sm
md
lg

ควบคุม กับ ไม่ควบคุมการระบาด

เผยแพร่:   โดย: ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร


ดร.แอนโธนี ฟาวชี ผู้อำนวยการศูนย์โรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อของสหรัฐ (ภาพเอพี)
ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร / นักวิชาการอิสระ


มีคำถามว่า ถ้าประเทศไทยปล่อยให้เกิดการระบาดแบบไม่ควบคุม อาจตายเป็นล้านคน แต่จบเร็ว เกิดภูมิคุ้มกันทั้งชุมชนสังคม (Herd Community) เศรษฐกิจไม่เสียหายเพราะไม่ลากยาว ไม่เกิดปัญหาเรื่องว่างงาน ไม่ต้องใช้เงินแจกประชาชน ไม่ต้องอัดเงินเข้าระบบเป็นล้านล้านบาท อย่างนี้ จะดีกว่า การควบคุมการระบาด ที่ประชาชนเสียชีวิตไม่มาก แต่เศรษฐกิจตกต่ำถูกลากยาว ปัญหาว่างงานคนตกงานมหาศาล ธุรกิจอุตสาหกรรมหยุดหมด หรือไม่

พอดีเมื่อคืนก่อนดู ดร.แอนโธนี ฟาวชี ผู้อำนวยการศูนย์โรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อของสหรัฐ (Center of Allergy and Infectious Disease) ให้สัมภาษณ์และผมก็เห็นด้วย

ดร.ฟาวชี (Fauci) เพิ่งพูดกับ CNN บอกว่าเรื่องนี้มันซับซ้อนมากกว่าที่จะพูดว่าถ้าทำอย่างนั้นก็ไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ก็ไม่เป็นอย่างโน้น เราไม่สามารถบอกได้ว่าอย่างไหนดีที่สุด เรื่องของเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องสุขภาพ เพราะจริง ๆ แล้วเรื่องสุขภาพก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจด้วย เรียกว่า เศรษฐศาสตร์สุขภาพ หรือ Health Economy เหมือนกับเรื่องทางสังคม การศึกษา การเมือง มันผูกกันไปหมด สิ่งสำคัญคือการเตรียมตัวหลายๆแผนอย่างที่เรียกว่า scenarios หรือที่นักวิชาการไทยเรียกว่าฉากทัศน์ เพราะตัวแปรมันมากและเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ความเห็นของผมเหมือน ดร.ฟาวชี คืออยู่ที่เราควบคุมการระบาดได้ดีเพียงไร ถ้าทำได้ดีน่าจะคุ้มค่ามากกว่าปล่อยให้เกิดระบาดอย่างไม่ควบคุม เพื่อให้เกิด herd immunity ส่วนตัวผมคิดว่า ขึ้นอยู่กับการตีคุณค่าของมนุษย์ของประเทศว่ามีค่าแค่ไหน

ประเทศที่พัฒนามากแล้วบอกว่าประเมินค่าไม่ได้ ถ้าแบบนี้ก็ต้องเข้มงวดทุกมาตรการเพื่อให้กดการระบาดไม่ให้แพร่ได้เร็ว แล้วดูแลรักษาไปพร้อม ๆ กับการรอการค้นพบยารักษาและวัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เมื่อพบวัคซีน ก็จะสามารถควบคุมได้เกือบเบ็ดเสร็จ แต่ถ้ายังไม่มีวัคซีนก็ต้องประคับประคองตามอาการไปเรื่อย ๆ

ตรงข้ามกับประเทศด้อยพัฒนา ที่คุณค่าความเป็นมนุษย์นั้นถูกตีค่าน้อยมาก แบบนี้การยอมให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็วและหมดไปโดยเร็ว เกิดภูมิคุ้มกันทั้งสังคมชุมชน อาจเป็นเรื่องที่้ต้องคิด

คงขึ้นอยู่กับรัฐบาลของประเทศจะตัดสินใจแบบไหน และขึ้นอยู่กับศักยภาพของหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ ตลอดจนความมีวินัยหรือการควบคุมของรัฐบาลว่าทำได้เข้มงวดแค่ไหน คงไม่มีคำตอบแบบไหนดีสุด อย่างที่ ดร.ฟาวชี พูดเมื่อคืนก่อน มันซับซ้อนมากกว่าแค่อยู่บ้าน ห่างเชื้อ physical distancing, ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย มีเครื่องช่วยหายใจ

และผมก็คิดว่าประเทศไทยมาถูกทางแล้ว ขอเพียงประคับประคองอย่าให้เกิดระบาดระลอกสองขึ้นมาอีก และเมื่อมีการผลิตวัคซีนได้ ซึ่งเชื่อว่าอีกประมาณไม่เกินปีครึ่ง เราก็จะสามารถควบคุม โควิด-19 ได้เต็มที่ จนกว่าจะเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ให้ต้องสู้กันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น