xs
xsm
sm
md
lg

ยอดเสียชีวิตโควิด-19 สหรัฐฯ ทะลุ 2.5 หมื่น-ติดเชื้อ 6 แสน แต่ส่งสัญญาณพ้นจุดวิกฤตสุดแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ เกิน 25,400 คนแล้วในวันอังคาร (14 เม.ย.) เพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียวจากการนับของรอยเตอร์ ในขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่กำลังโต้เถียงกันอย่างหนักว่าจะกลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจอย่างไรถึงจะไม่ให้การแพร่ระบาดโหมกระพือขึ้นมาอีก

นอกจากยอดผู้เสียชีวิตแล้ว สหรัฐฯ ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก ผ่านอีกหลักชัยอันน่าเศร้าในวันอังคาร (14 เม.ย.) ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อทะลุ 600,000 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มากกว่าประเทศไหนๆ ในโลกกว่า 3 เท่า

จากการนับของรอยเตอร์ เมื่อวันจันทร์ (13 เม.ย.) สหรัฐฯ รายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1,500 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสัปดาห์ที่แล้วซึ่งอยู่ที่ราวๆ 2,000 ศพในแต่ละ 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอเมริกาในวันอังคาร (14 เม.ย.) มีท่าทีกลับมาพุ่งขึ้นอีก โดยจนถึงตอนรายงานตัวเลขอยู่ที่ราวๆ 1,800 คน แต่ยังไม่นับรวมอีกหลายรัฐที่ยังไม่รายงานเข้ามา

จนถึงวันอังคาร (14 เม.ย.) ในสัปดาห์นี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นราวๆ 7% ต่อวัน ซึ่งถือน้อยกว่าระดับ 14% ของสัปดาห์ที่แล้วและ 30% ของหลายวันในเดือนมีนาคม ในขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในสัปดาห์นี้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อวัน น้อยกว่า 7.8% ต่อวันของสัปดาห์ที่แล้ว และ 30% ต่อวันในเดือนมีนาคม

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขบอกว่า แม้ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ได้ผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว แต่ประเทศแห่งนี้จำเป็นต้องตรวจโรคกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ จากนั้นถึงจะสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

มาตรการจำกัดประชาชนอยู่แต่ในที่พักอาศัยของรัฐต่างๆ ซึ่งครอบคลุมประชากรเกือบ 9% ของประเทศ ช่วยจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ได้ส่งผลกระทบอันเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสแก่เศรษฐกิจของประเทศ ด้วย เจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ บอกว่ามาตรการชัตดาวน์ก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจอเมริการาวๆ 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อวันในด้านการสูญเสียผลผลิต


อย่างไรก็ตาม นพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตือนประธานาธิบดีรายนี้ในวันอังคาร (14 เม.ย.) ว่าการวางเป้าหมายเดินเครื่องเศรษฐกิจอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป หลังจากก่อนหน้านี้ทรัมป์เพิ่งเปิดศึกกับผู้ว่าการรัฐต่างๆ ในกรณีที่ใครกันแน่มีอำนาจยกเลิกมาตรการชัตดาวน์

นพ.แอนโธนี เฟาซี บอกว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องสามารถทำการตรวจไวรัสอย่างรวดเร็ว, กักกันโรคผู้ติดเชื้อเคสใหม่ๆ และไล่ตามผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้อย่างทันควันเสียก่อน จากนั้นถึงสามารถผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้

รัฐบาลของทรัมป์ออกคำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการกักตัวเองอยู่แต่ในบ้านไปจนถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายน และทรัมป์มีความคิดให้เห็นวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่มีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจในบางพื้นที่ “วันนั้น บางทีอาจเป็นการมองโลกในแง่ดีมากๆ จนเกินไป” เฟาซีกล่าว

ทรัมป์ จากรีพับลิกัน ซึ่งหวังได้รับชัยชนะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในวันที่ 3 พฤศจิกายน โวยวายใส่ผู้ว่าการรัฐจากเดโมแครตทั้งหลาย โดยบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นพวกแข็งข้อ หลังจาก แอนดรูว์ คูโอโม เผยว่าจะขัดขืนคำสั่งของประธานาธิบดี เนื่องจากมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะกลับมาเดินเครื่องเศรษฐกิจ

“หากเขาสั่งให้ผมกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกรอบ ในแนวทางที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในรัฐของผม ผมจะไม่ทำตาม” คูโอโมกล่าวอ้างถึงทรัมป์ “ในประเทศนี้เราไม่มีกษัตริย์ เรามีรัฐธรรมนูญและเราเป็นคนเลือกประธานาธิบดี”

มาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวต่างได้ฉีกขาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นชิ้นๆ ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดและอเมริกันชนหลายล้านคนต้องตกงาน สถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มคว้าชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิดีของทรัมป์


กำลังโหลดความคิดเห็น