xs
xsm
sm
md
lg

จับตาโรคระบาดโควิด-19 ใน “นิวยอร์ก-อังกฤษ”

เผยแพร่:   โดย: ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร


ภาพเอพี
ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร / นักวิชาการอิสระ


โรคระบาดโควิด-19 ในสองพื้นที่สำคัญคือรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กับที่อังกฤษ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะแม้ว่านิวยอร์กจะเป็นเพียงรัฐหนึ่งของสหรัฐ แต่การระบาดของไวรัสค่อนข้างหนาแน่นและกระจุกตัวในรัฐนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่อังกฤษมีการระบาดในช่วงไล่เลี่ยกันกับนิวยอร์ก

รัฐนิวยอร์กมีประชากรน้อยกว่าอังกฤษทั้งประเทศก็จริงแต่ถือว่ามีความหนาแน่น (Density) ของประชากรค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนิวยอร์กซิตี้ ใกล้เคียงกับความหนาแน่นของประชากรที่ลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ จำนวนผู้ป่วยของรัฐนิวยอร์กกับอังกฤษทั้งประเทศใกล้เคียงกันประมาณหนึ่งแสนคน และผู้เสียชีวิตก็ใกล้เคียงกันประมาณหนึ่งหมื่นคน

มีรายงานผลการวิจัยที่สถาบันทางการแพทย์นิวยอร์กว่าลักษณะของผู้ป่วยที่นิวยอร์กได้รับเชื้อที่เหมือนกับผู้ป่วยที่อังกฤษมาก และอาจเป็นไปได้ว่าการระบาดที่นิวยอร์กมาจากการติดเชื้อจากชาวอังกฤษ แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่เฉพาะชาวอังกฤษที่มานิวยอร์ก แต่มีทั้งอิตาลี เนเธอร์แลนด์ ที่มานิวยอร์ก และผู้ป่วยจากประเทศเหล่านี้มีเชื้อไวรัสคล้ายกันกับผู้ป่วยที่นิวยอร์ก ในรายงานยังได้อธิบายว่า ผู้ป่วยที่นิวยอร์กที่ได้รับเชื้อคล้ายจีนนั้นมีไม่มากนัก จึงเชื่อว่าการติดเชื้อจะมาจากชาวยุโรปที่เดินทางมานิวยอร์กเป็นส่วนใหญ่

นิวยอร์กนั้น เป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐ แม้จะมีประชากรมากและมี GDP สูงรองจากแคลิฟอร์เนีย แต่ก็มีหนี้สินมากมาย เมื่อคืนก่อน นายคูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กแถลงว่าตอนนี้นิวยอร์กไม่มีเงินแล้ว ต้องขอจากรัฐบาลกลาง

แต่ที่อังกฤษนั้นน่าสนใจเพราะใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยองค์กร National Health Service (NHS) ซึ่งดูแลรักษาประชาชนทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประเทศไทยเอามาเป็นต้นแบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือโครงการบัตรทอง ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 จนปัจจุบัน

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอังกฤษนั้นมาจากเงินกองทุนต่าง ๆ รวมทั้งงบประมาณรัฐบาลที่ให้ NHS บริหาร และมีปัญหาอย่างมากเพราะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้รวดเร็ว ใช้เวลารอคอยนานมาก กว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาล เพราะต้องเริ่มต้นตั้งแต่เข้าพบแพทย์ปฐมภูมิ (Primary care) ก่อน และถ้าแพทย์ปฐมภูมิเห็นว่าควรส่งต่อไปโรงพยาบาลจึงจะทำได้ ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHS ทำให้แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลทำงานหนักมาก และออกมาเรียกร้องบ่อย ๆ ให้รัฐบาลดูแลมากกว่านี้ ก่อนที่ระบบจะถึงขั้นล้มเหลว

ประเทศไทยที่ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นั้นมีข้อแตกต่างจากระบบอังกฤษในสองสามเรื่อง คือเงินงบประมาณของ สปสช.นั้นเป็นเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล จึงไม่ต้องพึ่งกองทุนอื่นใด บุคคลากรทั้งหมดในสถานพยาบาลรัฐเป็นข้าราชการหรือพนักงานราชการ จึงไม่ต้องห่วงเรื่องสถานะภาพและความมั่นคง แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนและทำงานหนักเหมือนที่อังกฤษ และสุดท้ายคือระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของเราทำให้ผู้ป่วยในระบบสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลได้ทันที ไม่จำเป็นต้องไปที่แพทย์ปฐมภูมิก่อนส่งตัว (refer) ต่อ ทำให้ไม่เสียเวลารอคอย

แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างมากคือความแออัดยัดเยียดคนไข้ล้นโรงพยาบาลที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เพราะระบบ NHS ของอังกฤษ และ สปสช.ของเราให้บริการแบบถ้วนหน้าไม่มีค่าใช้จ่าย จึงมีผู้ที่ไม่ป่วยมากมาใช้บริการมหาศาลสร้างปัญหาในการให้บริการได้ไม่ทั่วถึงเต็มที่ตามมาตรฐาน แพทย์พยาบาลทำงานหนักเกินกำลัง และบางส่วนถึงกับลาออก

ปัญหาของนิวยอร์ก เป็นปัญหาเรื่องการให้บริการที่ทำได้ไม่ดีเพราะขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ว่าเรื่องชุดป้องกัน PPE หน้ากากทางการแพทย์ หรือเครื่องช่วยหายใจ (ventilator) ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อังกฤษก็มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่พอเพียงเช่นเดียวกัน แต่ที่หนักกว่านั้นคือไม่สามารถให้บริการได้รวดเร็ว เพราะระบบ NHS ที่ต้องเดินตามขั้นตอน กว่าจะถึงแพทย์โรงพยาบาลผู้ป่วยก็อาการหนักมากแล้วและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ระบบบริการสุขภาพของนิวยอร์กและของอังกฤษมีความแตกต่างกัน แต่ ณ ขณะนี้ดูเหมือนมีความสูญเสียที่ใกล้เคียงกัน ทำให้น่าคิดว่าระบบบริการสุขภาพที่ต่างกันนั้นมีผลอย่างไรกับการให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชน

สิ่งที่ต้องติดตามก็คือระหว่างนิวยอร์กกับอังกฤษใครจะจบก่อนกัน และใครจะสูญเสียมากกว่ากัน รอดูวันนั้น แล้วจะพอมองเห็นข้อสรุป เพราะถ้านิวยอร์กจบก่อน สูญเสียน้อยกว่า แสดงว่าระบบริการของนิวยอร์กน่าจะดีกว่าอังกฤษ แต่ถ้าอังกฤษจบก่อน และสูญเสียน้อยกว่า แสดงว่าระบบอังกฤษนั้นน่าจะดีกว่านิวยอร์ก

แล้วค่อยมาดูกันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ของเรานั้น ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น