xs
xsm
sm
md
lg

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) กับการแจกเงินแก้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

ปัญหาเศรษฐกิจระหว่างการระบาดของโควิด-19 ก็หนักหนาแล้ว จะสาหัสมากกว่าอีกเมื่อโรคร้ายนี้ผ่านไป นี่เป็นการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสังคม ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ นอกจากจะหาทางเยียวยาระหว่างนี้แล้ว ยังต้องเตรียมรับมือกับ “เผาจริง” หลังจากนี้

แนวคิดเรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” (Universal Basic Income-UBI) หรือเรียกว่า “รายได้พื้นฐาน” เฉยๆ เป็นการให้เงินแก่ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข จะใช้ทำอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ยังไม่เคยมีการนำไปใช้อย่างจริงจัง มีแต่การทดลอง การวิจัยในหลายประเทศ

มีแนวโน้มว่าสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น คนจะตกงานจำวนวนมาก UBI น่าจะเป็นทางออก โควิด-19 เหมือนมาเร่งให้คนหันมาสนใจ UBI อย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ต้องรอ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาทำให้เกิดวิกฤติแรงงาน เพราะโควิด-19 เหมือนบังคับให้คนต้องหาทางออกจากวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ

UBI ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากหลายประเทศที่เริ่มเตรียมใช้มาตรการนี้เพื่อเยียวยาในภาวะฉุกเฉิน อย่างที่สหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร และอื่นๆ

ทั้งที่เป็นแบบมาตรการฉุกเฉินอย่างที่ไทยให้เงินคนบางกลุ่มคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 6 เดือน และช่วยคนกลุ่มอื่นๆ ด้วยมาตรการคล้ายกัน คล้ายกับหลายประเทศ แต่ก็มีบางประเทศอย่างสเปนที่เตรียมการทำให้ UBI เป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้างถาวร คือ ให้เงินประชาชนทุกเดือนตลอดไป

ที่สหรัฐอเมริกา ส.ส. ส.ว.เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบคนละ 1,200 เหรียญต่อเดือนเป็นเวลา 4 เดือน แต่หลายฝ่ายก็มองว่าไม่ได้แก้ปัญหาคนจนจำนวนมากที่ไม่ได้เสียภาษี ที่ถูกละเลย ต่างจากแนวคิดของนายเบอร์นี แซนเดอร์ส ที่เสนอให้คนละ 2,000 เหรียญ และแอนดรู ยัง ผู้เคยสมัครพรรคเดโมเครตที่เสนอให้ผู้ใหญ่คนละ 1,000 เหรียญต่อเดือน และให้ตลอดไป เพิ่มให้อีกเมื่อเกิดวิกฤต

ที่อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี มีการเสนอเป็นรูปธรรม เป็นตัวเลขเพื่อเยียวยาประชากรที่ได้รับผลกระทบ แต่ทุกประเทศก็เหมือนเพียงเยียวยาแก้ปัญหายามฉุกเฉินเท่านั้น มีสเปนประเทศเดียวที่กำลังเตรียมเสนอสภาให้ผ่านเป็นกฎหมายเพื่อให้ “แจกเงิน” ชาวสเปนต่อไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สมควรได้รับ

ที่สหราชอาณาจักร มีการเสนอโปรแกรม “Emergency universal income” (รายได้ถ้วนหน้าในภาวะฉุกฉิน) ให้แจกเงินประชาชนคนละ 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 40,000 บาท) ต่อเดือนสักระยะหนึ่ง แนวคิดที่ผู้รับผิดชอบการเงินการคลังปฏิเสธ อ้างว่ามีโครงการต่างๆ เพื่อแก้วิกฤตนี้อยู่แล้ว

นักวิชาการอย่าง กาย สแตนดิง ชาวอังกฤษ แกนนำสำคัญของ UBI และผู้ก่อตั้งเครือข่ายรายได้พื้นฐานทั่วโลกบอกว่า หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกก็ง่อนแง่นเปราะบางอยู่แล้ว โควิด-19 มาทำให้เห็นว่า ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดวิธีแก้ปัญหาก็คงจะเกิดปัญหาต่อไปไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเพราะโรคระบาดหรือเพราะปัจจัยอื่นๆ

ศาสตราจารย์จาก SOAS ผู้นี้บอกว่า UBI คือเครื่องมือแก้ปัญหาวิกฤตโควิดนี้ เพื่อให้ผู้คนมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ และในเวลาเดียวกัน รัฐบาลก็จะได้ทำการทดสอบไปด้วยว่า มาตรการนี้สมควรขยายผล ขยายเวลาและให้เป็นนโยบายที่ถาวรหรือไม่

ที่สำคัญ รายได้พื้นฐานจะทำให้แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ ไม่มีการสร้างตราบาป “คนจน”

รายได้พื้นฐาน อาจไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่ผ่อนคลายและช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนที่ทุกข์แสนสาหัสทุกภาคส่วน หรือทุกหย่อมหญ้าก็ว่าได้

ชีวิตของผู้คนทั่วไปเหมือนกับนักกายกรรมที่ไต่เชือกตีลังหาหกคะเมนในอากาศ อยู่ในความเสี่ยงสูง ถ้าไม่มีตาข่ายรองรับข้างล่าง ตกลงมาก็บาดเจ็บสาหัสหรือตาย UBI เป็น “ตาข่ายความปลอดภัย” ให้ประชาชนได้

เรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” หรือแจกเงินประชาชน เป็นเรื่องของ “กระบวนทัศน์” ที่แตกต่างจากที่โลกมีกันวันนี้

ทุนนิยม สังคมนิยม เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ “ตลาด” และ “แรงงาน” (labour) คนทำงานก็จะได้ค่าตอบแทน คนไม่ทำก็ไม่ได้ โดยมองข้าม “งาน” ที่ไม่เป็นทางการต่างๆ การที่แม่ต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ อยู่กับบ้าน เลี้ยงดูพ่อแม่คนแก่เฒ่า และงานอื่นๆ อีกมากมายก็เป็น “งาน” ที่มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่างานทางการต่างๆ คนเหล่านี้สมควรได้รับเงินตอบแทน

ระบบเศรษฐกิจวันนี้ไม่มีแนวคิดแบบนี้ คิดได้แต่แบบเดียว คือ “ผลิตผลจากแรงงาน” เน้นที่ “การผลิต” การบริโภค ตลาด ไม่ได้คิดถึงคนทำงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ นวัตกรรมที่อยู่ “นอกระบบการผลิต” อีกมากมาย ที่ช่วยให้โลกนี้คงอยู่ได้และน่าอยู่

นายแอนดรู ยัง เดโมแครตที่อยากเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาแต่ถอนตัวเพราะคะแนนไม่มาก เป็นคนที่เสนอแนวคิด “รายได้พื้นฐาน” นี้ เสียดายว่า โควิดมาช้าไป ถ้าเร็วกว่านี้ เขาอาจจะได้คะแนนไม่น้อย เขาบอกว่า UBI เป็นการ “ปันผลเสรีภาพ” (freedom dividend)

คนถามว่า เขาจะหาเงินจากไหนเป็นหลายล้านล้านเหรียญแต่ละปีเพื่อแจกคนอเมริกันเดือนละ 1,000 เหรียญ เขาบอกว่า ก็เอาจาก Amazon, Apple, Google ที่รวยมหาศาล ที่ควรจะแบ่งคืนให้กับประชาชนคนทั่วไปด้วย เขาไม่ได้พูดประชด แต่มีตัวเลขแสดงด้วย (ไม่ใช่พูดเหมือนคนสมัครผู้ว่ากทม.คนหนึ่งที่บอกว่า ปัญหาจราจรกรุงเทพฯ แก้ได้ง่ายนิดเดียว คือ เปิดไฟเขียวตลอด)

ที่อเมริกามีตัวอย่างที่รัฐอลาสกา ที่มีเงิน “ปันผลน้ำมัน” ให้ชาวอลาสกาทุกคนปีละประมาณ 1,000-2,000 เหรียญ ที่มาจากกองทุนน้ำมันที่มีมูลค่า 55,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ด้วยแนวคิดที่ว่า น้ำมันเป็นสมบัติร่วมของคนอลาสกา จึงควรได้รับ “ส่วนแบ่ง” หรือ “เงินปันผล” พิเศษ นอกจากที่นำไปใช้พัฒนาและบริการสาธารณะต่างๆ

UBI ไม่ใช่โลกสวยหรือฝันกลางวัน ถ้าสเปนผ่านกฎหมายนี้ได้ จะเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เมืองไทยก็มีศักยภาพที่ทำได้เช่นกัน

รัฐบาลไทยแจกเงิน 5,000 บาท 6 เดือน ให้คนกลุ่มหนึ่ง 9 ล้านคน และจะขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ด้วยมาตรการอื่นๆ อีกเท่าไรไม่ทราบ รัฐบาลน่าจะถือโอกาสนี้พิจารณาเรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” อย่างจริงจัง

ถ้าทำได้ ประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกในโลก เป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและมาตรการ “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า”

ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่ทำก็คงแก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาแนวคิดพื้นฐานและระบบโครงสร้าง ขออ้างอิงไอน์สไตน์อีกครั้งที่ว่า

“โลกที่เราสร้างคือผลของวิธีคิดของเรา จะเปลี่ยนไม่ได้โดยไม่เปลี่ยนวิธีคิดของเรา” “เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเดียวกันกับที่เราใช้สร้างมัน” และ “ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบถึงรากถึงโคน” (radically)

ไอน์สไตน์ไม่ใช่คนประเภทโลกสวย เพราะเขาคิดสมการที่เปลี่ยนโลกมาแล้ว UBI อาจเป็นแนวคิดเปลี่ยนโลกก็ได้ เพราะอย่างที่วิคตอร์ ฮูโกบอก “พันกองทัพยังไม่เท่าความคิดหนึ่งที่ถึงเวลาของมัน” (Stronger than a thousand armies, is an idea whose time has come)


กำลังโหลดความคิดเห็น