ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com
ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาหลายท่านอาจจะได้รับข้อความทางไลน์หรือเห็นเพื่อนในโลกโซเชียลโพสต์ข้อความออกแนวเสียดสีสังคมว่าคนไทยเสียชีวิต 4 คนติดเชื้อ 1,045 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563) สติแตกอีก 65 ล้านคนซึ่งก็คงไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินเลย หากเปรียบคลื่นความกลัวของมวลชนเหมือนดั่งคลื่น “สึนามิ” ลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่พวกเรา ด้วยความที่มันมาเป็นระลอก ขนาดของคลื่น อำนาจในการทำลายล้าง ย่อมต่างกรรมต่างวาระ ผมจำแนกคลื่นความกลัวที่มีต่อ Covid-19 และผลกระทบที่มีต่อสังคมออกเป็น 5 ลูก
คลื่นลูกที่ 1 : สัญญาณเตือนอันตรายที่ถูกมองเป็นเรื่องขบขัน
ยังคงจำกันได้ดีตั้งแต่มีการเผยแพร่ข่าวผู้ติดเชื้อ Covid-19 รายแรกที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ณ ขณะนั้นสื่อมวลชนยังใช้ชื่อเรียกว่าเป็นโรคปอดอักเสบจากไวรัสปริศนาที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกับโรคซาร์ส [1] อารมณ์และความรู้สึกของคนไทย ณ เวลานั้นยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากจะสวมใส่หน้ากากก็เพราะกันฝุ่น PM2.5 มากกว่ากันเชื้อไวรัส สังคมส่วนใหญ่ยังตระหนักว่าเป็นเรื่องเฉพาะของคนจีนจากเมืองอู่ฮั่นเท่านั้น เช่นกันกับชาวยุโรปอย่าง อิตาลี หรือแม้แต่ในอเมริกาซึ่งท่าทีของรัฐบาลยังมองเป็นเรื่องห่างไกลและสามารถบริหารจัดการได้ เชื้อไวรัสตัวนี้พวกเราเอาอยู่ ผมยังจำข้อความตามหน้าเฟสบุ๊คที่ยังมีมุกติดตลกว่าหากไม่อยากร่วมประชุมหรือพบปะผู้ใหญ่ท่านใด ก็ให้ตอบไปว่า “พึ่งกลับจากอู่ฮั่น” สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะทางอารมณ์ที่ยังดีมีความขบขำซ่อนเร้น คลื่นลูกที่ 1 แม้จะเล็กดูไร้พิษสงแต่ก็ได้ทำหน้าที่สำคัญไปแล้วคือการส่งสัญญาณอันตรายจากคลื่นลูกใหญ่อีกหลายลูกที่กำลังจะตามมาเพียงแต่พวกเราจะฉุกคิดถึงภัยร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่เท่านั้น
คลื่นลูกที่ 2 : เมื่อกลุ่มก้อนแห่งความกลัวเริ่มก่อตัวขึ้น
สถานการณ์ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดี จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกเริ่มมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ (National Emergency) พร้อมอัดฉีดเงินกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตโรคระบาดและกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 12 มีนาคม 2563 [2] ตามด้วย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เริ่มมีท่าทีที่แข่งกร้าวโดยประกาศว่าการจัดการกับ Covid-19 คือสงครามทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอความคิด Herd Immunity หรือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งที่ยังไม่มีวัคซีน ซึ่ง Sir Patrick Vallance หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษได้ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการที่ไม่ยอมสั่งหยุดโรงเรียนและยกเลิกการจัดงานอีเวนท์ใหญ่ๆ (ข่าวนี้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563) [3] ท่ามกลางความสับสนในการบริหารจัดการการแพร่เชื้อของโรคระบาดชนิดนี้ สิ่งหนึ่งที่สามารถสรุปได้คือเกือบทุกประเทศทั่วโลกไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องเล่นๆอีกต่อไปจนกระทั้ง ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการให้ Covid-19 เป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือ Global Pandemic [4] คลื่นลูกที่ 2 ใหญ่กว่าคลื่นลูกที่ 1 แต่อำนาจในการทำลายล้างยังไม่รุ่นแรงเท่าคลื่นลูกอื่น ๆ ที่กำลังตามมา
คลื่นลูกที่ 3: เมื่อเห็นโลงศพ จึงได้หลั่งน้ำตา
ในขณะที่สถานการณ์โรคระบาดในจีน เกาหลีใต้ เข้าสู่ภาวะที่ทางการสามารถควบคุมได้ จนวันที่ 19 มีนาคม ทางการจีนได้ประกาศว่าไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ [5] แม้จะมีรายงานการกลับมาแพร่เชื้ออีกครั้งในกรุงปักกิ่งและทางตอนเหนือของจีนก็ตาม แต่โดยรวมตัวเลขของผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตก็ได้ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด บ่งชี้ว่าพีคของการระบาดได้ผ่านพ้นไปแล้วในระดับหนึ่ง และการแพร่ระบาดครั้งที่ 2 คงไม่สาหัสเท่าครั้งแรก [6] ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตใน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เริ่มนิ่งและมีแนวโน้มที่ลดลง ตัวเลขเหยื่อไวรัสร้ายจากหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกากลับพุ่งสวนทางอย่างน่าเป็นห่วง ณ ปัจจุบัน (26 มีนาคม 2563) ยอดผู้เสียชีวิตในอิตาลี (7,503 คน) และสเปน (3,647 คน) ได้แซงหน้าจีน (3,287 คน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว [7] สถานการณ์ในไทยก็น่าเป็นห่วงจากเดิมที่ยื้อตัวเลขผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 1 คนกลายเป็น 4 คนและยอดผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ 1,045 คน
ณ วินาทีนี้ คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าสถานการณ์แพร่กระจายเชื้อ Covid-19 คือวาระอันดับหนึ่งแห่งชาติ จนท้ายที่สุดรัฐบาลได้ออกมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.จนถึงวันที่ 30 เม.ย.63 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นที่ชัดเจนว่าคลื่นแห่งความกลัวลูกที่ 3 นั้นทรงพลังกว่า 2 คลื่นแรกอย่างเห็นได้ชัด แต่คลื่นลูกอื่น ๆ ที่จะตามมานั้นจะยิ่งใหญ่กว่า อำนาจทำลายล้างสูงกว่า 3 คลื่นแรกขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยหลายอย่าง ผมเลยลองจำลองสถานการณ์ออกมาเป็น 3 แบบเพื่อที่จะได้คาดการณ์ต่อว่าคลื่นลูกที่ 4 และ 5 จะเป็นแบบไหน
สถานการณ์ที่ 1: ฟ้ามาโปรด พระเจ้ายังทรงเมตตาต่อมวลมนุษย์
มีความเป็นไปได้สูงที่อัตราการแพร่กระจายจะลดลงทันทีที่เรามีวัคซีน แต่ปัญหาคือกว่าจะได้วัคซีนอาจต้องใช้เวลานานราวๆ 12-18 เดือน [8] ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจมีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก หากสิ่งที่ทาง Prof. Marc Lipsitch จาก Harvard School of Public Health คาดการณ์ไว้ถูกต้องซึ่งนั้นหมายถึงทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อ Covid-19 สูงราว 40% - 70% ด้วยเหตุที่อัตราการเสียชีวิตยังไม่นิ่งเพราะมีปัจจัยด้านความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งความรุนแรงของเชื้อในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันส่งผลให้การคำนวณอัตราการเสียชีวิตยังมีความคลาดเคลื่อนพอสมควร แต่ที่แน่นอนคือจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจะพุ่งทะลุถึงหลักล้านหากไม่สามารถผลิตวัคซีนมาช่วยได้ทัน เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมานักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) และบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพโมเดอร์นา เทอราพิวติกส์ (Moderna Therapeutics) ได้มีการฉีดวัคซีน mRNA-1273 ให้กับอาสาสมัครจำนวน 4 คนในนครซีแอตเทิล [9] ซึ่งจุดเด่นของวัคซีนชนิดนี้คือผลิตได้เร็วกว่าและถูกกว่ารวมทั้งปลอดภัยกว่า การผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม [10] เนื่องจากการผลิตวัคซีนแบบ mRNA-1273 นำแค่ข้อมูลพันธุกรรมที่คัดลอกจาก mRNA ในส่วนหนามของไวรัส Covid-19 มากระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์ผลิตสารภูมิต้านทาน (Antibody) ออกมาสู้กับไวรัสซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายเราจึงมีความปลอดภัยสูงกว่าการนำเชื้อไวรัสมาผลิตวัคซีน อีกเทคนิคการรักษาที่เป็นความหวังคือการนำ “น้ำเลือดจากผู้ป่วยหายดี” หรือพลาสมา (Plasma) จากผู้ป่วยไวรัสโควิดซึ่งเป็นเลือดที่มีสารภูมิต้านทานนำมารักษาคนไข้ต่อ โดยเทคนิคดังกล่าวประเทศไทยได้เคยใช้รักษาผู้ป่วย Covid-19 มาแล้วโดยได้นำเอาสารภูมิต้านทานในพลาสมาของคนขับแท็กซี่ที่ป่วยและหายดีแล้วมารักษาผู้ป่วยซึ่งติดไวรัสCovid-19 อาการหนัก 2 ราย [11] เทคนิคดังกล่าวทางจีนนำโดย บริษัทไชน่า เนชันแนล ไบโอเทกกรุ๊ป (China National Biotec Group) ได้ทดลองรักษาผู้ป่วยติดเชื้อซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ [12] ตอนนี้ทางสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการนำเอาเทคนิคนี้มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว [13]
“แม้จะมีความหวังเสมือนหนึ่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆว่า คนทั้งโลกจะได้รับอานิสงส์จากทั้งการผลิตวัคซีนแบบ mRNA-1253 และการรักษาโดยใช้พลาสมาที่มีสารภูมิต้านทานของผู้ป่วยที่หายดีแล้ว”
สรุปโดยย่อของสถานการณ์ที่ 1 คือ คนรวยและอยู่อาศัยในประเทศที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พร้อมย่อมมีโอกาสรอดชีวิตจากโรค Covid-19 สูงกว่าผู้ที่มีฐานะยากจกและอาศัยในประเทศที่ระบบสาธารณสุขยังไม่พัฒนา
สถานการณ์ที่ 2 : รัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดแบบ “ครึ่งๆกลางๆ”
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการรับมือกับ Covid-19 ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำสงคราม ความยากในการเอาชนะศัตรูที่มองไม่เห็นตัวนี้คือ ผลกระทบที่มันสร้างไม่ได้หยุดแค่ “ความเจ็บไข้ได้ป่วย” หรือการ “ล้มหายตายจาก” ของผู้ติดเชื้อ หากแต่ยังฝังรากลึกถึงระบบเศรษฐกิจ กลไกทางการตลาดที่อาจเปลี่ยนแปลงรวมทั้งสุขภาวะทางอารมณ์ของมวลชน สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือคือ คนจำนวนมากจะตกงานและขาดรายได้อย่างแน่ชัดหากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลอาจจำเป็นต้องผ่อนปรนความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เนื่องจากคนหาเช้ากินค้ำจำนวนมากเริ่มรู้สึกกดดันและไม่มีทางเลือก จำนวนของอาชญากรรมอาจเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาทางสังคมด้านอื่นเช่นความเครียดจากการที่คาดการณ์อนาคตลำบากย่อมส่งกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่ต้องถูกบีบให้มาอยู่ใกล้กันซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์ทั้งในเชิงบวกและลบ เช่นมีรายงานสถิติการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นในจีนช่วงที่คู่สามีภรรยาต้องกักตัวอยู่ในบ้านด้วยกันเป็นเวลานาน [14] ด้วยสถานการณ์ต่างๆที่รุมเร้า ท้ายที่สุดจะทำให้รัฐบาลจำยอมต้องผ่อนปรนความเข้มงวดลงส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าตอนคุมเข้ม ทั้งนี้ก็เพื่อแลกกับการเดินหน้าของเศรษฐกิจประเทศซึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
สรุปโดยย่อของสถานการณ์ที่ 2 คือ จำนวนผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มสูงขึ้นแต่กราฟไม่ได้พุ่งสูงเหมือนตอนการเกิด Outbreak ที่จีนหรือเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามแพทย์และพยาบาลยังคงต้องทำงานอย่างหนักจนกว่าจะเกิด ภูมิคุ้มกันหมู่หรือ Herd Community ตามธรรมชาติ โดยปราศจากการใช้วัคซีน ส่วนตัวแล้วมองว่าสถานการณ์ที่ 2 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นในไทย แต่ความเสียหายจะไม่รุนแรงเท่าจีนหรืออิตาลีเพราะ คนไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้น ประกอบกับการเข้าสู่หน้าร้อนทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไม่รุนแรงเท่าประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น
สถานการณ์ที่ 3: เละเป็นโจ๊ก
การสู้กับโรคระบาดเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนโดยระยะทางวิ่งไม่จำเป็นต้อง 42.2 กิโลเมตรเหมือนกันหมดทุกโรค ในอดีตที่ผ่านมาเรามีการสะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดมานับไม่ถ้วน ซึ่งทำให้เราเรียนรู้วงจรชีวิตของพวกมัน รวมทั้งช่วงเวลาที่การระบาดน่าจะสิ้นสุด แต่สำหรับ Covid-19 เรายังเรียนรู้พฤติกรรมของมันแบบวันต่อวัน สังเกตได้จากผลงานตีพิมพ์ส่วนใหญ่จะเป็นปี 2020 และนำข้อมูลจากจีนมาทั้งนั้น คาดว่าอีกไม่นานคงมีผลงานตีพิมพ์โดยใช้ข้อมูลจากยุโรปและสหรัฐอเมริกามากขึ้น กระนั้นก็ยังไม่พอที่จะคาดการณ์ว่า การวิ่งมาราธอนโควิดนี้จะสิ้นสุดลงที่ระยะทางเท่าไหร่? มันจะเป็น มินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน หรือ ฟูลมาราธอน? จะเกิดอะไรขึ้นหากมีการ Outbreak อีกรอบในช่วงฤดูหนาวปีนี้? แล้วความอดทนของคนไทยที่ต้องทนใส่หน้ากาก ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์จนเปื่อย ไม่รวมถึงการถูกจำกัดเสรีภาพ ผับบาร์ก็ไม่ได้เที่ยว ไปฟิตเนสออกกำลังกายสังสรรค์รื่นเริงก็ไม่ได้ สมมุติว่าทันทีที่สถานการณ์ดีขึ้น ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยจะเกิดอาการ “ตบะแตก” ของผู้ทรงศีลที่พร้อมตะลุยปาร์ตี้เมาแบบหัวราน้ำเพราะจำทนต้องอยู่ในสภาพบำเพ็ญเพียรภาวนามายาวนาน เมื่อถึงจุดนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่โรคนี้จะกลับมาระบาดหนักอีกรอบแต่คราวนี้อัตราการแพร่กระจายจะกระโดดสูงกว่าครั้งแรกหลายเท่า
เมื่อพิจารณาจากทั้ง 3 สถานการณ์แล้ว คลื่นลูกที่ 4 และ 5 มีแนวโน้มที่จะเป็นได้ดังนี้
คลื่นลูกที่ 4: ความกลัวจากการที่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Technophobia)
ผมเองเคยเสนอเรื่องการ Work from Home เพื่อใช้แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไว้ในรายการตอบโจทย์ ช่อง ThaiPBS นาทีที่ 15.20 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562
ผลตอบรับที่ได้ขณะนั้นคือส่วนใหญ่มองว่าความคิดดี แต่ปฏิบัติยากมากโดยเฉพาะตามหน่วยงานราชการ เมื่อผมได้รับเลือกเป็นคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศก็ได้เสนอแนวคิดนี้ไว้ด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังไม่เห็นผลได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเท่ากับ วิกฤต Covid-19 ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน กลายเป็นว่าครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องยกเลิกการเรียนการสอนแบบ face to face เป็น online version กันหมด สารพัดซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่ต้องเร่งดาวน์โหลดมาเรียนรู้ ไหนจะการประชุมระหว่างหน่วยงานราชการในขณะที่เอกชนมีความยืดหยุ่นสูงกว่าและได้ปรับตัวมาก่อนหน้านี้นานแล้ว นอกจาก Covid-19 จะสร้างความหวาดกลัวต่อชีวิตและสุขภาพแล้วยังได้ทำลายกำแพงวัฒนธรรมองค์กรลงไปอย่างราบคาบ หากปีหน้าช่วงฤดูฝุ่นมาอีกละรอกหมดข้ออ้างแล้วที่ ผู้บังคับบัญชาตามหน่วยงานต่างๆจะบอกว่าไม่สามารถ Work from Home ได้เพราะในเมื่อท่านสามารถสั่งลูกน้องให้ทำงานที่บ้านในช่วงโรคร้ายกำลังแพร่ระบาดแล้วทำไมจะออกคำสั่งเดียวกันไม่ได้ในยามที่คุณภาพอากาศเข้าขั้นวิกฤต?
คลื่นลูกที่ 4 จะทำให้ผู้คนคุ้นชิ้นกับการทำงานที่บ้านมากขึ้นซึ่งหมายถึงการพึ่งพาเทคโนโลยี เป็นไปไม่ได้เลยที่การติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมต่างๆจะต้องเกิดขึ้นออนไลน์และนั้นหมายถึงการถูกผูกขาดโดยกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่กลุ่ม เช่นการถูกบังคับให้กักตัวอยู่กับบ้านเราจะติดต่อสื่อสารกับสังคมอย่างไรโดยไม่ใช้ ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ทวิตเตอร์? ระหว่างการเลือกหยิบธนบัตรที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัสกับการโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือเราจะเลือกอย่างไหน? แล้วร้านค้าเล็กๆ ร้านอาหารที่เป็นธุรกิจครอบครัว ธุรกิจขนาดกลางจะไม่พังพินาศลงหมดเหรอหาก เราต้องอยู่ในสภาพกักตัวอยู่ในบ้านไปอีกหลายเดือน? ผู้ประกอบการรายเล็กอาจถูกคลื่นสึนามิลูกที่ 4 ลากกลับลงสู่ท้องทะเลลึก จากการเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมอาจต้องกลายเป็นลูกจ้างรายวันของบริษัทยักษ์ใหญ่ทุนหนาที่ไม่สะทกสะท้านอะไรใด ๆ ต่อการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายนี้ ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่ 1 ความรุนแรงอาจไม่มากพอที่จะทำให้ทุนเล็กถึงขั้นล้มละลาย แต่หากเกิดสถานการณ์ที่ 2 และ 3 เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าโครงสร้างระบบธุรกิจในประเทศอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
คลื่นลูกที่ 5 : กระแสการฟื้นฟูจากซากปรักหักพัง
สมมุติว่าสถานการณ์ที่ 3 เกิดขึ้นจริงและจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งในและนอกประเทศมีจำนวนมากเกินจินตนาการ สิ่งหนึ่งที่ยากต่อการปฏิเสธคือ จำนวนผู้สูงอายุจำนวนมากจะหายไป หลายประเทศที่มีโครงสร้างประชากรเป็นลักษณะสามเหลี่ยมกลับหัวก็จะกลายร่างเป็นรูปปิรามิดเหมือนเดิม สิ่งนี้ส่งผลทั้งบวกและลบต่อสังคม ความโศกเศร้าของการจากลาของผู้ใหญ่ที่เคารพรักจะมาพร้อมกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป อาชีพหลายประเภทที่ถูกวางแผนไว้รองรับการมาของสังคมผู้สูงอายุอาจไม่มีความต้องการมากเหมือนแต่ก่อน และนี้รวมทั้งนวัตกรรมอีกหลายชนิดที่ถูกออกแบบไว้สำหรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจการแพทย์ การรักษาพยาบาล อาจไม่มีลูกค้ามาใช้บริการมากเหมือนเดิมหาก Covid-19 คร่าชีวิตผู้สูงอายุไปมาก
แล้วถ้าสวรรค์ยังเมตตามอบสถานการณ์ที่ 1 หรือ 2 ให้พวกเราละ? กระแสการตื่นตัวเรื่องสุขภาพจะมีมากขึ้น เด็กนักศึกษาจะเริ่มมาสนใจวิชาชีววิทยามากขึ้นโดยใช้เฉพาะ ชีวเคมี แพทย์ศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ เภสัชศาสตร์ เพราะตระหนักในความจริงที่ว่า มนุษย์ก็ยังเป็นเพียงแค่เศษธุลีในจักรวาล ต้องขอบคุณ Covid-19 ที่หยุดความอหังการของมนุษย์ที่มั่นใจว่าวิทยาศาสตร์สามารถจัดการได้ทุกอย่างทุกเรื่อง เพราะยังมีบางเรื่องและอีกหลายเรื่องที่มนุษย์ยังอ่อนด้อยมาก กระแสธุรกิจการท่องเที่ยวย่อมโดนผลกระทบอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง คนจีนยังมีความสุขดีหรือไม่ที่จะไปท่องเที่ยวในประเทศตะวันตก พร้อมกับได้รับการปฏิบัติแบบดูถูกเหยียดหยามว่าพวกตนคือสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อโรคตัวนี้? แล้วชนชาติตะวันตกละยังมีความสบายใจที่จะกลับมาเที่ยวในประเทศเอเชียโดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อีกหรือไม่? ความกังวลเหล่านี้ยังไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างชัดเจนแต่ที่มั่นใจคือมันต้องส่งผลกระทบแน่นอนไม่มากก็น้อย แล้วบริษัทต่างชาติอื่นๆละยังมีความมั่นใจที่จะไปตั้งโรงงานที่จีนซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก (World Factory) อยู่อีกหรือไม่ในเมื่อการแพร่ระบาดของโรคใหม่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ความหวาดผวาในสิ่งที่ไม่แน่นอนเหล่านี้คือความน่ากลัวที่ Covid-19 มอบให้กับพวกเราทุกคนซึ่งโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า คลื่นลูกที่ 5 มีอานุภาพในการทำลายล้างสูงสุดเพราะมันเป็นการส่งมอบไวรัสที่เข้าไปกัดกิน “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง
แหล่งที่มาของข้อมูล
[1] https://www.matichon.co.th/foreign/news_1876105
[2]https://www.hpnonline.com/infection-prevention/crisis-planning-outbreak-response/article/21129794/trump-declares-Covid-19-national-emergency-details-sweeping-testing-program
[3] https://www.theguardian.com/world/2020/mar/13/coronavirus-science-chief-defends-uk-measures-criticism-herd-immunity
[4] http://www.euro.who.int/en/health-topics/health-emergencies/coronavirus-covid-19/news/news/2020/3/who-announces-covid-19-outbreak-a-pandemic
[5] https://edition.cnn.com/2020/03/19/asia/coronavirus-covid-19-update-china-intl-hnk/index.html
[6] http://www.xinhuanet.com/english/2020-03/16/c_138884133.htm
[7] https://www.sanook.com/news/8020722/
[8] https://www.bangkokpost.com/world/1882920/pharma-chiefs-coronavirus-vaccine-will-take-12-18-months
[9] https://www.bbc.com/thai/international-51925767
[10] https://www.phgfoundation.org/briefing/rna-vaccines
[11] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865702
[12] https://www.matichon.co.th/foreign/news_1972705
[13] https://bit.ly/3dtZsO1
[14] https://www.msn.com/en-in/news/world/divorce-cases-rise-in-china-as-couples-spend-too-much-time-together-during-coronavirus-home-quarantine/ar-BB11gXnQ