คนทั้งโลกกำลังต่อสู้กับการระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อใกล้ถึงครึ่งล้านคนใน 198 ประเทศทั่วโลก แหล่งระบาดหนักขณะนี้อยู่ที่ยุโรป โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อเพิ่มในอัตราสูง ยอดรวมไล่หลังจีนและอิตาลี ขณะที่ปัญหาขาดแคลนเวชภัณฑ์ยังสาหัส
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทัฟส์ ในเมืองเมดฟอร์ด รัฐแมซซาชูเซตส์ บอกว่าสภาวะที่เป็นอยู่ขณะนี้เหมือนกรณีทหารอังกฤษถูกกองทัพนาซีตีใกล้ตกทะเลที่เมืองดังเคิร์ก ถ้าหน่วยแพทย์ยังขาดเครื่องเวชภัณฑ์จำเป็น ก็จะเผชิญชะตากรรมวิกฤตเลวร้ายสุดๆ
นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายนเรนทรา โมดี สั่งปิดประเทศซึ่งมีประชากร 1.3 พันล้านคน ห้ามออกนอกบ้านยามวิกาลตั้งแต่ 19.00 น. ถึง 6.00 น. เป็นเวลา 21 วันเพื่อพยายามสกัดการระบาดของไวรัส ทำให้ทุกอย่างแทบหยุดนิ่ง มีกฎคุมเข้มโดยเจ้าหน้าที่
นับเป็นความกล้าหาญสำหรับผู้นำวัย 69 ปี ที่มีประชากรหลากหลายภาษาและการนับถือศาสนาและลัทธิต่างๆ สภาพที่เห็นคือความสงบเงียบในเมืองและชนบท
อินเดียมีปัญหาฝุ่นควันอากาศพิษติดอันดับโลกหลายเมือง การหยุดนิ่งวันละหลายชั่วโมงคงช่วยให้สภาวะพิษดีขึ้น แต่ประชาชนต้องยอมรับสภาพของความไม่สะดวก โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างมุมไบและเมืองหลวงนิวเดลี ต้องหยุดกิจกรรม
นายกฯ หญิง จาซินดา อาร์เดิร์น ก็สั่งปิดล็อกประเทศเช่นกัน ให้ประชาชนอยู่ในบ้าน เพราะไม่ต้องการให้การระบาดแพร่กระจายจนอยู่เหนือการควบคุม ดูแล้วอาจไม่ยากนักเพราะนิวซีแลนด์เป็นเกาะ เจ้าหน้าที่แยกควบคุมสกัดการระบาดได้
อียิปต์ สั่งห้ามออกนอกบ้านยามวิกาลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทำให้ประชาชน 100 ล้านคนต้องหยุดกิจกรรม กลางคืนท้องถนนโล่ง ไร้ยวดยาน เป็นมาตรการเข้มเช่นกัน และหลายประเทศพยายามสกัดการระบาด มองว่าเป็นสงครามกับเชื้อโรคที่ร้ายแรง
ประเทศจีนยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับไม่ถึง 9 หมื่นคน มณฑลหูเป่ยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม เหลือแต่เมืองอู่ฮั่นซึ่งจะเริ่มเปิดให้ผู้คนสัญจร จีนเริ่มเชื่อมั่นแล้วว่าควบคุมการระบาดได้ และพยายามช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่เป็นมิตร และลำบากมาก
ขณะเดียวกันจีนพยายามป้องกันการระบาดระลอก 2 ซึ่งเหมือนจะเป็นเช่นนั้นในไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลี แม้สัญญาณจะยังไม่ชัดก็ตาม ประเด็นสำคัญคือจีนพยายามให้ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงักเป็นเวลานานเกือบ 4 เดือน
จีนมองว่านี่เป็นสภาวะเหมาะ เพราะมีประสบการณ์และยกระดับความสามารถในการจัดการปัญหาการระบาด และเยียวยาคนป่วยตกค้าง ถ้าทำให้สำเร็จ จะได้เปรียบอย่างมากต่อคู่แข่ง คู่อาฆาตคือสหรัฐอเมริกาซึ่งดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักกับการระบาด
และยังไม่มีท่าทีว่าจะเอาอยู่ ผู้นำทำเนียบขาว โดนัลด์ ทรัมป์จะตระหนักถึงภัยร้ายกาจ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 1 หมื่นราย ยอดรวมเกือบถึง 5 หมื่น และมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่าสหรัฐฯ จะเป็นแหล่งติดเชื้อกว้างเหมือนยุโรป
แต่ทรัมป์ยังพยายามจะให้การเดินเครื่องภาคเศรษฐกิจเข้าสภาพเดิม โดยอ้างว่าความหวาดกลัวเรื่องไวรัสทำให้เป็นวิกฤตยิ่งกว่าการระบาดเสียเอง แต่บรรดาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญพยายามเตือนทรัมป์ว่า ถ้าตัดสินใจผิดพลาดจะทำให้ควบคุมไม่อยู่
รัฐนิวยอร์กมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 หมื่นราย ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ และมาตรการต่างๆ ยังไม่พร้อมเต็มที่เพราะการขาดแคลนเวชภัณฑ์สำหรับแพทย์ และประชาชน
ที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่จีนซึ่งเป็นคู่แข่งหลักกำลังจะพ้นจากวิกฤต สหรัฐฯ อยู่ในสภาวะที่จะถลำลึกลงไป ทั้งดูแล้วจะเลวร้ายกว่าเดิม ทำให้ทรัมป์แทบปิดอาการโกรธเกรี้ยวไม่อยู่ ทั้งยังสาดโคลนใส่จีนไม่หยุดว่าเป็นต้นเหตุของการระบาด และไม่เตือน
จากสงครามการค้าที่ยังไม่เสร็จสิ้น ลามไปสู่สงครามน้ำลายซึ่งร้อนแรงทุกขณะและจะทำให้การฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านการค้ายากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เป็นเพราะทรัมป์ไม่ยอมรับว่าสหรัฐฯ ไม่พร้อมตั้งรับการระบาดของเชื้อโรค ไม่ยอมรับผิดชอบด้วย
ดังนั้น คนอเมริกันต้องเสี่ยงอยู่ในความหวาดผวา ภาคการรักษาก็ยังขาดแคลนขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ที่ต้องรับการรักษาเพิ่มขึ้น ทรัมป์ต้องสั่งให้กองกำลังรักษาดินแดนออกมาทำหน้าที่ในนิวยอร์กและเมืองอื่นๆ ที่มีการระบาดหนักถึงขั้นปิดเมือง
ในยุโรป อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตยังสูงในอิตาลี สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส โดยมีประเทศอื่นๆ ตามมาด้วยตัวเลขไม่น้อย อิตาลีมีตัวเลขเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำลง เหมือนเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากจีนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญและเวชภัณฑ์จำเป็นไปหลายคณะแล้ว
สเปนมีปัญหาในการจัดการเก็บศพ ถึงขั้นต้องใช้สถานที่เล่นสเก็ตในร่มเป็นที่เก็บศพ ขณะที่อิตาลีต้องใช้รถทหารขนศพไปเก็บหลายเที่ยว เมื่อยังมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในแต่ละวัน สวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกประเทศที่ต้องเฝ้าดูเพราะผู้ติดเชื้อเกือบถึง 1 หมื่นราย
ในอังกฤษ ผู้นำบอริส จอห์นสันต้องประกาศปิดเมืองหลวง กรุงลอนดอน เพื่อควบคุมให้อยู่ แต่ก็เป็นเหมือนคนในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งมีทัศนคติว่าคนป่วยเท่านั้นที่สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้น ความใกล้ชิดระหว่างบุคคลยังเป็นเหตุให้ควบคุมลำบาก
ไวรัส COVID-19 เป็นฝ่ายชนะศึกกับกีฬาโอลิมปิกไปแล้ว ทำให้ต้องเลื่อนไปปีหน้า!
เรื่องวิกฤตภาคเศรษฐกิจ ไม่มีอะไรต้องสงสัย ทั้งโลกเผชิญกับสภาวะถดถอยแน่ชัด เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เลวร้ายจนถึงขั้นเศรษฐกิจตกต่ำเหมือนในยุคปี 1930 ความสำเร็จในการจัดการวิกฤตไวรัสจะเป็นตัววัดความรุนแรงของเศรษฐกิจว่าอยู่ขั้นใด
คนหลายล้านคนต้องตกงาน ขาดรายได้ เผชิญกับความลำบาก โดยไม่รู้ว่าตัวเองจะติดเชื้อ และรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างไร คนทั้งโลก ยากดีมีจน มีความเสี่ยงพอกัน อยู่ที่ว่าใครจะดูแลรักษาตัวเองให้ผ่านวิกฤตซึ่งร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ไปได้