เอเจนซีส์ - เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ พระชนมายุ 71 พรรษา พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 มีผลการตรวจว่าทรงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ในด้านอื่นๆ แล้วยังคงมีพระพลานามัยที่ดี และเวลานี้ประทับกักกันโรคพระองค์เองที่สกอตแลนด์ โดยที่ทรงแสดงอาการเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้หลังจากที่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน พระองค์ได้ทรงพบปะกับเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 ประมุขแห่งรัฐโมนาโก ซึ่งมีรายงานยืนยันในเวลาต่อมาว่าทรงพระประชวรจากไวรัสโคโรนา
สำหรับสถานการณ์การระบาดในทั่วโลกนั้น อินเดียได้ประกาศล็อกดาวน์ประชากรทั่วประเทศ 1,300 ล้านของตนเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ ทำให้รวมแล้วมีประชากรโลกถึง 1 ใน 3 ได้รับคำสั่งงดออกจากบ้าน ขณะที่พวกนักการเมืองอเมริกันสามารถตกลงกันได้แล้วเกี่ยวกับงบประมาณพิเศษเพื่อใช้รับมือไวรัสโคโรนาโดยที่จะมูลค่ามหาศาลถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ทางด้านสเปนนั้นปรากฏว่ามียอดเสียชีวิตพุ่งแซงจีนเป็นที่เรียบร้อย
แคลร์เรนซ์เฮาส์ สำนักงานของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ระบุในคำแถลงวันพุธ (25 มี.ค.) ด้วยว่า พระชายาคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ก็ทรงได้รับการตรวจเช่นกัน แต่ไม่พบการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ขณะที่พระราชวังบักกิงแฮมแถลงว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งปัจจุบันประทับอยู่ที่ปราสาทวินเซอร์นั้นทรงมีพระพลานามัยดี
แหล่งข่าวในพระราชวังเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เจ้าชายมกุฎราชกุมารของอังกฤษ ทรงได้รับการตรวจทดสอบเมื่อวันจันทร์ (23) และผลออกมาในวันอังคาร (24) โดยทรงได้รับคำแนะนำว่าอาการของพระองค์ไม่น่าที่จะขยายตัวกลายเป็นเคสร้ายแรงกว่านี้
คำแถลงของพระราชวังบักกิ้งแฮมระบุว่า เจ้าชายชาร์ลส์ทรงเข้าเฝ้าฯ พระราชมารดาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วควรเป็นช่วงเวลาก่อนที่พระองค์จะทรงติดเชื้อ
ทางด้านแคลร์เรนซ์เฮาส์บอกว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงได้รับเชื้อมาจากใคร เนื่องจากพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มีการพบปะผู้คนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
แต่มกุฎราชกุมารของอังกฤษได้ทรงพบปะที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 10 มีนาคมกับเจ้าชายอัลแบร์แห่งโมนาโก ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการตรวจทดสอบยืนยันว่าทรงติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ ในงานดังกล่าวเจ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าชายอัลแบร์ประทับหันพระพักตร์เข้าหากันบนโต๊ะยาว
นายกฯ อินเดียสั่ง 1,300 คนให้อยู่บ้าน
ในวันอังคาร (24) นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี มีคำสั่งให้ชาวอินเดีย 1,300 ล้านคน อยู่แต่ในบ้านนาน 3 สัปดาห์เริ่มตั้งแต่ย่างเข้าวันใหม่วันพุธ (25) ส่งผลให้จำนวนประชากรทั่วโลกที่อยู่ภายใต้มาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายขณะนี้มีมากกว่า 2,600 ล้านคน
ขณะที่รายงานสถานการณ์ไวรัสโคโรนาล่าสุดมีผู้เสียชีวิตกว่า 18,200 คน และผู้ติดเชื้อ 405,000 คนทั่วโลก ซึ่งครึ่งหนึ่งอยู่ในยุโรป
อิตาลี ประเทศที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดในยุโรป พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกครั้งจำนวน 743 คน หลังจากลดลงต่อเนื่อง 2 วันติดกัน อย่างไรก็ดี จำนวนเคสใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 8% เป็นวันที่สอง
ด้านไอร์แลนด์สั่งปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็นทั้งหมด อังกฤษเตรียมโรงพยาบาลฉุกเฉินรองรับผู้ป่วย 4,000 เตียงในลอนดอน
ส่วนสเปนที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์มากว่า 10 วัน รายงานเมื่อวันพุธว่า ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 3,434 คน แซงหน้าจีนเช่นเดียวกับอิตาลี หลังพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 738 คน และผู้ติดเชื้อรวมเป็น 47,610 คน
หลายประเทศในแอฟริกาที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอ ต่างยกระดับมาตรการป้องกันไวรัสขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ที่สหรัฐฯ ประชาชนเกือบ 130 ล้านคน หรือ 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ภายใต้หรือกำลังจะอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เร็วๆ นี้ ซึ่งรวมถึงแคลิฟอร์เนียที่เป็นรัฐใหญ่ที่สุด
อย่างไรก็ตาม วันพุธตลาดการเงินทั่วโลกดีดขึ้นคึกคัก หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ และทำเนียบขาวตกลงสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ โดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภายังต้องผ่านร่างกฎหมายนี้ก่อนส่งต่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามเพื่อบังคับใช้
แม้มีข่าวว่า ทรัมป์พยายามผลักดันให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ทว่า สถานการณ์การระบาดในอเมริกายังน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ตัวเลขล่าสุดที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เผยแพร่เมื่อวันอังคาร อเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 700 คน และยอดผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 54,000 คน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอิตาลี และองค์การอนามัยโลก (ฮู) เตือนว่า อเมริกาอาจกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่
เจ้าหน้าที่ในนิวยอร์กซิตี เมืองที่มีประชากรกว่า 8 ล้านคน เริ่มมีปัญหาในการหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทั่วรัฐนิวยอร์กเพิ่มขึ้นเป็น 210 คน และติดเชื้อกว่า 25,600 คน
ทำเนียบขาวแนะนำผู้ที่เดินทางไปยังหรือออกจากนิวยอร์กให้กักกันตัวเอง 14 วัน
แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในรัฐเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 3 วัน และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะเกิดขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
วันอังคาร ทรัมป์ประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติใหญ่ในรัฐนิวยอร์กและวอชิงตัน และเสริมว่า เร็วๆ นี้อาจต้องทำแบบเดียวกันสำหรับแคลิฟอร์เนียที่ล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 51 คน และติดเชื้อ 2,200 คน
แกวิน นิวซอม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เผยว่า ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตอายุระหว่าง 18-49 ปี บ่งชี้ว่า ทุกคนล้วนเป็นเหยื่อโควิด-19
นอกจากนั้น เมื่อวันอังคาร ทรัมป์ยังโทรศัพท์หาประธานาธิบดีมุน แจ-อิน เพื่อขอให้เกาหลีใต้ส่งออกชุดทดสอบไวรัสโคโรนาให้อเมริกาเพิ่มขึ้น โดยมุนรับปากว่า จะให้การสนับสนุนเท่าที่ทำได้
วันพุธ จอง อึน-คยอง ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ เผยว่า ขณะนี้ เกาหลีใต้มีกำลังผลิตชุดทดสอบวันละ 20,000 ชุด เพียงพอสำหรับใช้ในประเทศ แต่ขอไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่า มีเหลือเพื่อการส่งออกหรือไม่ พร้อมสำทับว่า เกาหลีใต้ได้รับการร้องขอจาก 10 ประเทศให้จัดส่งชุดทดสอบและการสนับสนุนอื่นๆ ให้ แต่ไม่ได้ระบุว่า เป็นประเทศใด ทั้งยังบอกอีกว่า เพิ่งส่งออกชุดทดสอบจำนวนหนึ่งให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อไม่นานมานี้
ขณะที่ทั่วโลกพากันล็อกดาวน์ แต่สำหรับจีน ที่ไวรัสนี้อุบัติขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว เริ่มอนุญาตให้ประชาชนในมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาดแห่งแรก เดินทางออกจากมณฑลได้แล้วตั้งแต่เที่ยงคืนวันอังคาร หากได้รับการตรวจรับรองว่า สุขภาพแข็งแรงดี ส่วนชาวเมืองอู่ฮั่นต้องรอจนถึงวันที่ 8 เมษายน
จีนรายงานเมื่อวันพุธว่า ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ภายในประเทศ แต่มีผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 47 คน ส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่เดินทางกลับบ้าน รวมเป็น 474 คน ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4 คน โดย 3 คนอยู่ในมณฑลหูเป่ย