ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์แพร่ระบาดของ โควิด-19 (COVID-19) ทำให้ “มนุษย์เงินเดือน” หลายแห่งมีความจำเป็นต้องมุ่งหน้าไปสู่ “Work from Home” สนองนโยบาย “เว้นระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) ทดลองทำงานที่บ้าน งดกิจกรรมกลุ่ม งดการพบปะสังสรรค์ โดยมีเทคโนโลยีเข้ามารองรับมีแอปพลิเคชั่นต่างๆ เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก
รวมไปถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนมาเปิดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์แทน นำเทคโนโลยีด้านการศึกษา (Educational Technology) มาใช้สร้างการเรียนการสอนการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียนและครูอาจารย์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ไม่พลาดการเรียนรู้ สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ทุกที่
ต้องยอมรับว่า การระบาดของโควิด 19ในเมืองไทย กำลังเพิ่มอัตราความรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ผู้คนใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดกลัวและหวั่นวิตก ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่นำมาขับเคลื่อนประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตคือ “ระยะห่างทางสังคม” หรือ “Social Distance” ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุม โควิด 19 ที่ทั่วโลกนำมาใช้ เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในปัจจุบัน
เป็นกลไกสำคัญตามที่ “พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ” เลขาธิการแพทยสภา อธิบายไว้ว่าการจะให้โรคโควิด-19 ระบาดลดลง จำเป็นที่จะต้องมี Social Distance ระยะห่างระหว่าง บุคคล และสังคม
สำหรับ ระยะห่างในระดับสังคม คือ การหลีกเลี่ยงการพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เป็นการรวมผู้คนหมู่มาก เช่น การประชุม ชุมนุมต่างๆ งานอีเว้นท์ สวดมนต์ ทำบุญ กิจกรรมสนุกสนาน ที่ที่มีโอกาสทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง เพราะ โควิด-19 ติดจากสารคัดหลั่ง หรือ ไอ จาม กิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมากจึงควรหลีกเลี่ยงหยุดพักไปก่อน
เช่นเดียวกัน ระยะห่างระหว่างบุคคล มีความจำเป็นในการลดการติดต่อ เพราะแค่การพูดคุยถ้ามีฝอยละอองกระเด็นออกมา จะมาสัมผัสได้ ในระยะ 1 เมตร หมายความว่ามีโอกาสรับเชื้อโรคโควิด-19 สามารถติดต่อกันได้
อย่างไรก็ดี Social Distance เป็นมาตรการลดการระบาดของเชื้อไวรัสที่ทั่วโลกประกาศใช้ ให้ใช้ระยะห่างระหว่างกัน เพื่อป้องกันการกระจายตัวของเชื้อ เช่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ ซึ่งสถานการณ์การแพร่เชื้อค่อยๆ คลี่คลายแล้ว ดังนั้น ประชาชนคนไทยจำเป็นต้องร่วมมือร่วมใจเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้โดยเร็วที่สุด
สำหรับ Work from Home ตอบสนอง Social Distance ได้เป็นอย่างดี เปลี่ยนสถานที่ทำงานมาเป็นที่บ้าน เป็นการเว้นระยะลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งระยะทดลองมีหลายหน่วยงานทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนเริ่มต้นมาตรการทำงานที่บ้านกันบ้างแล้ว เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทดลอง5 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 - 20 มี.ค 2563, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นต้น
ย้อนกลับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551เศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน บริษัทต่างๆ จึงพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด รวมทั้ง สนับสนุนให้พนักงานออฟฟิศเริ่มทำงานที่บ้าน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ Work from Home ที่นิยมมากขึ้นในเวลาต่อมา
ผลการศึกษาของ Harvard Business Review ระบุถึงผลลัพธ์ไม่เพียงบริษัทลดต้นทุนได้ พนักงานยังสามารถทำงานได้มากขึ้น 4.4% รวมทั้ง ผลการศึกษาของ Stanford University พบว่าในพนักงานกว่า 16,000 คนของเอเจนซี่ทัวร์จีน มีความสุขจากการทำงานมากขึ้นจากการทำงานที่บ้าน
โดยข้อมูลจาก Global Financial Crisisเปิดเผยสัดส่วนคนทำงานที่บ้านในอเมริกาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 4.1% ในปี 2551 เพิ่มเป็น5.4% ในปี 2561
นอกจากนี้ งานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ศึกษาพนักงานกว่า 47,264 คน รวมทั้ง งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และงานวิจัยอีกหลายชิ้นจากสถาบันต่างๆ สรุปตรงกันว่า การทำงานจากที่บ้านส่งผลให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ขณะที่บริษัทลดต้นทุนในการบริหารจัดการอีกด้วย
สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ระบุผลวิจัยว่า การทำงานจากที่บ้านช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้จริง เพราะระดับมลพิษที่พนักงานได้รับจากการเดินทางไปที่ทำงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง
หรืองานวิจัยของ Gallup พบว่า พนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน 3 - 4 วันต่อสัปดาห์ รู้สึกมีส่วนร่วมกับงานที่ทำถึง 33% มากกว่าพนักงานกลุ่มที่เข้าออฟฟิศ ซึ่งรู้สึกมีส่วนร่วมกับงานเพียง 15% เท่านั้น หรืองานวิจัยของ Ctrip พบว่า การทำงานจากที่บ้านทำให้พนักงานมีความพึงพอใจในงานที่สูงมาก (much higher job satisfaction) รวมทั้ง ทำให้อัตราการลาออกจากที่ทำงานลดต่ำ
กล่าวคือ การทำงานจากที่บ้านมีส่วนช่วยลดความเครียด โดยเฉพาะความเครียดจากการเดินทาง หรือกรณีพนักงานเกิดเจ็บป่วย ยังสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ไม่ต้องไปออฟฟิศเพิ่มความเสี่ยงกระจายโรคแก่เพื่อนร่วมงาน ทำให้จัดการชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น
ที่ผ่านมา Work from home เริ่มนำมาใช้ในบริษัทเอกชนทั่วโลกแล้ว ส่วนในเมืองไทยยังไม่แพร่หลายเท่าใดนัก กระทั่ง เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้แนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing นำมาใช้ควบคุมเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว Work from home กลายมาเป็นอีกหนึ่งแนวทางนำพาให้ประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19
แต่อย่างน้อยที่สุด Work from home การทำงานที่บ้านจะช่วยลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ส่วนประสิทธิภาพจะเป็นเช่นไร อีกไม่นานคงได้รู้คำตอบ
สำหรับประเทศไทยในระยะทดลอง Work from Home หรือการปรับรูปแบบทำงานที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีเทคโนโลยีต่างๆ รองรับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางสายงานไม่สามารถ Work from Home ได้
มีข้อมูลเปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563ที่ผ่านมา มียอดคนดาวน์โหลดแอปฯ ประเภทการประชุม หรือการพูดคุยกันผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า เช่น Tencent Conference, WeChat Work, Zoom, Microsoft Teams และ Slack สะท้อนให้เห็นว่าคนทำงานเริ่มใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือกันเพิ่มมากขึ้น
จากการตรวจสอบข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้ Work from Home ดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด ดูอย่างโปรแกรม แอปพลิเคชั่น ฯลฯ ที่มีอยู่มากมายแบ่งแยกตามฟังก์ชั่นการใช้งาน เป็นเครื่องมือสำคัญให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม รองรับการทำงานรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การประชุมออนไลน์ เช่น Google Meet, Microsoft Team, Skype การรวบรวมข้อมูล iCloud, Google Drive การรวบรวมไอเดีย Microsoft One Note, Facebook Group, Lineการรับส่งเอกสาร เช่น Grab, Line Man, Lalamove ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมี “6 แอปพลิเคชันพื้นฐาน” ที่สามารถนำไปใช้งานได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย
1. แอปพลิเคชัน Google Docs
สามารถใช้งานเอกสารที่ใช้ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขหรือทำงานร่วมกัน ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานผ่านแอปพลิเคชันตัวนี้ได้อย่างสบาย นอกจากนี้แล้วยังสามารถใช้งานเครื่องมือต่างๆ ได้อย่างลงตัวสามารถจัดรูปแบบของเอกสารได้เป็นอย่างดี รวมถึง การเข้าถึงรูปภาพเพื่อประกอบการทำงาน เสร็จสรรพในแอปฯ เดียว สามารถใช้งานฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
2. แอปพลิเคชัน Asana
เป็นเครื่องมือในการประสานงานเป็นทีมเข้าด้วยกัน ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ทีมสามารถติดตามผลงานได้อย่างสะดวกง่ายดาย เป็นฟีเจอร์ที่ไม่ซับซ้อนง่ายต่อการใช้งาน ประหยัดเวลาในการทำงาน เช่น การสร้างโครงสร้างที่ต้องการทำการประชุม หรือโครงการอื่นๆ ร่วมกับคนในทีม
3. แอปพลิเคชัน Skype
สำหรับใช้งานในด้านการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยข้อความ เสียง และภาพจากกล้อง โดยจะเป็นการสื่อสารแบบ Real Time แบบส่วนตัวและแบบกลุ่ม ใช้การประชุมได้คล่องตัว
4. แอปพลิเคชัน Slack
ออกแบบมาเพื่อรองรับคนทำงานโดยเฉพาะ มีระบบการจัดการสมาชิก สามารถรับส่งไฟล์งานได้สะดวก ค้นหาไฟล์งานจากชื่อคนส่งได้ สร้างห้องหรือชาแนลแบ่งทีมงานออกเป็นสัดส่วน โดยแอปพลิเคชันตัวนี้สามารถใช้งานได้ทั้ง Pc, Mac, IOS และ Android
5. แอปพลิเคชัน Google Hangouts
จุดเด่น VEO Call ได้ในจำนวนมาก สื่อสารโดยการใช้ข้อความ เสียง หรือรูปภาพต่างๆ ซึ่ง Hangouts สามารถสนทนาวิดีโอได้ถึง 10 คน เหมาะสำหรับการทำงานที่บ้านในช่วงเวลาที่ต้องจัดการประชุมหรือสนทนาร่วมกันเป็นกลุ่ม
6. แอปพลิเคชัน Trello
สำหรับบริหารจัดการและทำงานเป็นทีม คล้ายๆ กับ โพสต์อิทออนไลน์ ซึ่งแอปฯ จะช่วยให้สามารถบริหารโปรเจ็กต์ได้อย่างง่ายดาย ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขณะที่เครื่องไม้เครื่องมือหรือการทำงานอยู่ที่บ้านก็มีให้บริการเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น “COM7” เชนสโตร์ไอทีรายใหญ่ที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง Studio7, Banana IT ที่ออกแพ็กเกจพิเศษสำหรับลูกค้าองค์กรในการให้เช่า “Notebook” หรือ “iPad” เพื่อใช้ทำงานที่บ้าน แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทมีแพ็กเกจเช่าใช้ แต่ผลตอบรับตอนนี้ดีกว่าอดีตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
บริการนี้ได้เปิดให้เช่าโน้ตบุ๊กสำหรับองค์กร ในราคาเริ่มต้นที่ 499 บาท/เดือน/ เครื่อง และเป็นสินค้าใหม่ ลงโปรแกรม Microsoft Office 365 แท้ เรียกว่าอัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดอย่างเต็มที่
เพียงวันแรกที่ออกแพ็กเกจก็มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจกว่า 200 ราย โดยมีความต้องการเช่าตั้งแต่ 20-300 เครื่อง จากเดิมที่องค์กรไม่มีความต้องการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาด้านซัพพลายเชนที่ยังไม่ฟื้น 100% ส่งผลให้สินค้ามีจำกัดเพียง 90 วันเท่านั้น
หรือ AIS ที่เปิดตัวแพ็กเกจ Work from home เป็นรายแรกในตลาด โดยแพ็กเกจดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสจากโควิด-19 ในเชิงพาณิชย์ครั้งแรก
แพ็กเกจ Work from home ราคาเริ่มต้น 99 บาทต่อเดือน เพื่อรองรับการทำงานอยู่บ้านของคนไทย แพ็กเกจนี้ได้ผนึกกำลังเครือข่ายทั้งมือถือ 5G และ 4G รวมถึงเน็ตบ้าน AIS Fibre
Work from home ทำงานที่บ้านในช่วงโควิด-19 กำลังระบาดในเมืองไทย จึงถือเป็นการเริ่มต้นประสบการณ์ใหม่ๆ แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือการทำงานที่บ้าน ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องสบาย แต่พอลองทำจริงๆ อาจไม่ได้เป็นแบบนั้น ซึ่งปัญหาที่คนส่วนใหญ่ต้องประสบเมื่อทำงานที่บ้านคือ “ไม่ได้งาน” หรือเผลอพักผ่อนจน “งานเข้ากลายเป็นประเภท Movie from home ไปเสียฉิบ
อย่างไรก็ดี นอกจากประเด็น Work from homeรับลูกนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน คือการปรับตัวของงานกิจกรรมใหญ่ๆ ที่มีผู้คนมาร่วมตัวกันมากมาย “พิษโควิด-19” ทำให้หลายงานหยุดชะงักเลื่อนไม่มีกำหนด
แต่ในวิกฤตยังมีโอกาส ดังเช่น งานแฟร์แห่งปีของนักอ่าน “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 48” ที่ประกาศแล้ว “ไม่เลิก -ไม่เลื่อน” หลบภัยไวรัสโคโรนาเข้าสู่โลกออนไลน์ ชิมลางอีคอมเมิร์ซ ปรับเป็น “งานหนังสือออนไลน์” ปีแรก ผ่านเว็บไซต์ www.ThaiBookFair.com ระหว่างวันที่ 25 มี.ค. - 5 เม.ย. 63 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ดึงผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ มากกว่า 300 ราย ฝ่ากระแสดิสรัปชั่นขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์
น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยอมรับว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ปี 2563 ชะลอตัว ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดงานแฟร์ใหญ่ เพราะต้องรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสำคัญ และลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ต้องการเลิกหรือเลื่อน และต้องการทำกิจกรรมช่วยกระตุ้นการซื้อให้กับสำนักพิมพ์และร้านขายหนังสือที่ได้รับผลกระทบยอดขายลดลง จึงใช้วิกฤตพลิกโอกาสสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ งานแฟร์ออนไลน์ โดยพัฒนาเว็บไซต์ www.ThaiBookFair.com ให้เป็นทางเข้าเมืองหนังสือออนไลน์รูปแบบ Online Book Fair
“การปรับตัวมาจัดแฟร์ออนไลน์ ถือเป็นอีกการเรียนรู้ของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ แม้จะมีหลายรายขายออนไลน์อยู่แล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้เป็นการเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซพร้อมกันของทั้งอุตสาหกรรม คาดว่าปีนี้ยอดขายทั้งปีจากช่องทางออนไลน์จะขยับขึ้นมาเป็น 20-25%”น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้ข้อมูล
อย่างไรก็ตาม การจัดงานแฟร์สัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 1.5 ล้านคน ปี 2562 ทำยอดได้จำนวนกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งงานแฟร์ออนไลน์ในครั้งนี้ คาดการณ์ว่ายอดขายน่าจะลดลงราว 50% เหลือประมาณ 150 ล้านบาท เนื่องจากนักอ่านบางส่วนยังชื่นชอบการมาเดินงานแฟร์หยิบจับ เลือกซื้อหนังสือด้วยตัวเอง
การปรับวิถีตามแนวทาง “ระยะห่างทางสังคม” หรือ “Social Distance” จะเร่งให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมืองไทยจะคลี่คลายโดยเร็ว ดังเช่นWork from Home การทำงานที่บ้าน หรือชอปปิ้งอออนไลน์ในงานแฟร์หนังสือแห่งปี การลดการติดต่อพูดคุยแบบเผชิญหน้า หลีกเลี่ยงการพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เป็นการรวมผู้คนหมู่มาก ในเวลานี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อตัวเองและประเทศชาติ