xs
xsm
sm
md
lg

ปิดให้พร้อมเพรียงในระยะสั้น เราจะฟื้นกลับขึ้นมาได้ดีกว่าอยู่สภาพแบบนี้หรือเลวกว่านี้ยืดเยื้อยาวนาน/ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สถานการณ์การระบาด โควิด-19 นั้น ได้มีการแพร่ระบาดออกไปโดยไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดยั้งได้เมื่อไหร่ แต่อย่างน้อย การปิดเมืองระยะสั้นและการบริหารจัดการทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาะไต้หวัน ก็เป็นแบบอย่างที่ทำให้เห็นว่าการปิดระยะสั้นๆเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดความโกลาหลวุ่นวายด้วยมาตรการที่เข้มข้น อย่างน้อยที่สุดกิจกรรมภายในประเทศจะสามารถกลับคืนมาได้อีกครั้งหนึ่งในภาวะที่เกิดการระบาดอยู่ภายนอกประเทศ อีกทั้งยังแปลงวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของประเทศในการเป็นที่พึ่งพาของประเทศอื่นๆ อีกด้วย

แต่การปิดเป็นบางส่วนหลังจากปัญหาเกิดขึ้นไปแล้ว เป็นการออกมาตรการตามหลังการระบาดของโรค การปิดเป็นบางส่วนนั้นอาจทำให้เสียหายมากกว่า เพราะไม่รู้ต้องปิดยาวอีกเท่าไหร่ งบประมาณเยียวยาก็ไม่มี ชาวต่างประเทศไม่เข้ามา คนในประเทศก็ไม่กล้าออกนอกบ้าน

ถ้าปิดไม่หมดแบบนี้ ส่วนที่ปิดก็เดือดร้อน ส่วนที่เปิดก็แพร่กระจายต่อ และแม้แต่ส่วนที่มีการเปิดก็ทำมาค้าขายได้ยากลำบากอย่างแน่นอน พังทั้งเศรษฐกิจและโรคระบาดก็กระจายต่อไปแบบไม่มีจุดจบ แพทย์และพยาบาลก็จะต้องงานทำงานหนักขึ้น และเสี่ยงติดเชื้อในโรงพยาบาลมากขึ้น ปัญหาหน้ากากอนามัยแพง เจลล้างมือแพง ฟ้าทะลายโจรแพง คนต้องใช้เงินตุนอาหารทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็จะดำรงต่อไปแบบนี้อีกนาน

แต่ถ้าประเทศไทยใช้ยาแรงและทำพร้อมกันทั้งหมด (โดยต้องจัดงบประมาณเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ) ปัญหาจะยุติลงเร็วกว่านี้ อย่างน้อยเมื่อเราเปิดมาอีกครั้ง แม้ต่างชาติอาจจะยังกลับเข้ามาไม่ได้เหมือนเดิม แต่ประเทศไทยก็ยังใช้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มกำลังจับจ่ายใช้สอยในประเทศได้

และการตัดสินใจช้าไปกว่านี้ จะเพิ่มทวีความเสียหายเพิ่มขึ้นทุกวัน เราไม่ควรออกนโยบายตามหลังโรค เพราะมันเป็น “โรคระบาด” ประเทศไทยจำเป็นต้องการนโยบายดักหน้าโรค 2 ก้าวจึงจะมีโอกาสหยุดปัญหานี้ให้เร็วที่สุด

แถลงการณ์ของกลุ่มภาคประชาชนในนาม เครือข่ายประชาชนเพื่อลดการระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ได้มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563 นั้นมีเนื้อหาสาระของหลักการที่มองรอบด้านและครบถ้วน รวมถึงได้คำนึงถึงผลกระทบของผู้ประกอบการและคนหาเช้ากินค่ำด้วย ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจสนับสนุนหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ควรจะต้องอ่านให้จบทั้งหมดเสียก่อน ดังนี้

แถลงการณ์
เครือข่ายประชาชนเพื่อลดการระบาดของเชื้อ COVID-19
ให้รัฐประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19เป็นระยะที่ 3
พร้อมดำเนินการปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดบ้าน และประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นเวลา 3 สัปดาห์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 212 คน เสียชีวิต 1 คน เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค 7,546 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563 เวลา 11.00 น.) โดยที่ปรากฏตามข้อเท็จจริงว่าพบการแพร่ระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคของไทย ไม่จำกัดอยู่เพียงสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง มีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศที่ไม่สามารถระบุต้นตอของการติดเชื้อได้อย่างชัดเจน รวมทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่ได้มารักษาในทันทีตั้งแต่วันแรกที่มีอาการป่วย ทั้งยังไม่มีพฤติกรรมการป้องกันการแพร่เชื้อที่เหมาะสม และมาตรการของรัฐมีความล่าช้า ไม่ทันการณ์ อีกทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความเสี่ยงสูงมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์ อาจติดเชื้อ COVID-19 ทั้งจากการตรวจผู้ป่วยโดยตรง หรือขั้นตอนการให้การรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เครื่องดูดเสมหะในผู้ป่วยหนักอาจแปลงสภาพการ ติดเชื้อจากสภาพเสมหะของเหลวกลายเป็นการติดเชื้อในละอองอากาศในโรงพยาบาลนั้น

เครือข่ายประชาชนเพื่อลดการระบาดของเชื้อ COVID-19 มีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเรียกร้องมาตรการปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดบ้าน และประกาศภาวะฉุกเฉินระยะสั้น เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรค และทำให้บ้านเมืองกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งหยุดยั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะทอดเวลาออกไปนานขึ้น หากไม่มีมาตรการที่เข้มข้น เพียงพอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ประกาศรับรองให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 เพื่อให้รัฐมีหน้าที่ในการป้องกัน ตรวจคัดกรอง กักบริเวณ และรักษาพยาบาล รวมถึงการจัดงบประมาณเพื่อชดเชยการหยุดงานหรือการปิดกิจการชั่วคราวเพื่อหยุดการแพร่กระจายโรค

2. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมไม่ให้มีการรวมตัวกันของประชาชนเกินกว่า 5 คน เป็นเวลา 3 สัปดาห์

3. ให้ดำเนินการสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ทุกหน่วยงาน ทุกกรมกอง ให้พร้อมรองรับการดูแลการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 ของเชื้อ COVID-19 อย่างเป็นรูปธรรม

4. สิทธิในการป้องกันโรค การคัดกรอง การรักษาพยาบาลให้เป็นสิทธิของประชาชนที่เท่าเทียมกัน โดยหากเป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถได้รับการคัดกรองฟรีทั้งของรัฐและเอกชน ส่วนการรักษาพยาบาลให้เป็นไปตามสิทธิของแต่ละคนที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยตรงให้สถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน

5. ให้กระทรวงพาณิชย์ประกาศมาตรการกำกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน โดยให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกรณี COVID-19 เท่ากับการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินสีแดง อันหมายถึงค่ารักษาพยาบาลที่รัฐเป็นผู้กำหนดราคาให้โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บ โดยรัฐสนับสนุนให้บุคลากรของภาคเอกชนได้สิทธิอื่น ๆ เท่าเทียมโรงพยาบาลของรัฐในการดูแลผู้ป่วย COVID-19

6. ลดการเคลื่อนที่ของประชาชนเพื่อระงับการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 เป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดย

1) ห้ามการเดินทางเข้าและออกจากประเทศเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อกันการแพร่ระบาดของโรค

2) สนับสนุนการประกาศของรัฐบาลที่ได้ปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ สถานออกกำลังกาย รวมทั้งสถานบริการอื่นใดที่เป็นแหล่งชุมนุมของประชาชน ทั้งนี้ยกเว้น ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านขายยา และบริการส่งของ หรืออาหารหรือสินค้าที่จำเป็น โดยมีมาตรฐานและควบคุมความสะอาดของสินค้าและผู้ส่งสินค้า ส่วนร้านอาหารต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้เข้มงวดให้มีระยะห่างระหว่างบุคคลที่เข้ามาใช้บริการตามมาตรฐานเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

3) ขอให้ประกาศปิดส่วนราชการ ยกเว้นงานหรือบริการที่มีความจำเป็นสาธารณะและไม่สามารถทำจากที่บ้านได้ เช่น แพทย์/ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ และขอความร่วมมือสำนักงาน บริษัท ห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า โรงงาน และผู้ผลิตต่าง ๆ ทั้งหมดหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว โดยรัฐบาลจัดให้มีมาตรการทางการเงิน งบประมาณ เงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ หรือการลดหย่อนภาษี เพื่อให้ความช่วยเหลือกับบริษัท และผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ลดการจ้างงาน พร้อมจัดสรรงบประมาณของรัฐใหม่ที่ไม่จำเป็น รวมทั้งงบประมาณที่เตรียมการเพื่อจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น มาสนับสนุน

4) ขอความร่วมมือประชาชนงดการเคลื่อนที่ โดยให้อยู่กับบ้านหรือทำงานที่บ้าน ยกเว้นเมื่อมีปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแลรักษา หรือออกไปทำธุระที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เดินทางน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

7. มาตรการของรัฐและการจัดสรรงบประมาณทั้งหมด ต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้ต่ำให้สามารถสำรองอาหารในระหว่างการประกาศนี้ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรรมและโครงการที่เพิ่มการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนทั้งในเขตเมืองและชนบท เช่น การปลูกผักในเมือง และการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น

8. สำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อกักตนอยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยกันรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว ในการฝ่าวิกฤติของชาติและของโลกร่วมกันครั้งนี้ หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้นในบ้าน ขอให้กักบริเวณเป็นห้องต่างหากโดยเฉพาะ ถ้ายังไม่มีอาการรุนแรงใด ๆ เพื่อป้องกันการระบาดเพิ่มเติมสู่บุคคลอื่น เนื่องจากโรคนี้ไม่จำเป็นต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกรายเสมอไป เพราะผู้ป่วยสามารถหายป่วยเองได้ ดังนั้นโรงพยาบาลควรให้บริการเฉพาะผู้ป่วยหนักเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดในโรงพยาบาล ส่งเสริมบทบาทของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สนับสนุนครอบครัวใดที่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่กักตัวตนเอง โดยให้หน่วยงานและกลไกของรัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน

9. รัฐมีหน้าที่จัดสรรหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้เพียงพอสำหรับสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทุกครัวเรือนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เคยแถลงให้คำมั่นต่อประชาชน

การจะหยุดโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจอย่างเป็นเอกภาพ พร้อมเพรียงของพี่น้องประชาชนด้วยมาตรการแรงในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น จึงจะสามารถหยุดโรคระบาดนี้ได้ เครือข่ายประชาชนเพื่อลดการระบาดของเชื้อ COVID-19 ขอให้กำลังใจและขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการสนับสนุนแนวทางดังกล่าว เพื่อเปลี่ยนสถานการณ์ที่เลวร้ายในขณะนี้ให้เข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วที่สุด

หน่วยงาน องค์กร และบุคคลที่สนับสนุน
1. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
2. ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน
3. คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน
4. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
5. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
6. เครือข่ายชุมชนผู้เดือดร้อนจากการสร้างอาคารผิดกฎหมาย
7. เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน
8. เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน
9. เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม
10. เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ
11. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต
12. เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
13. เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์
14. เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขต 1 เชียงใหม่
15. เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม
16. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้
17. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
18. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
19. มูลนิธิคนตัวดี
20. มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
21. มูลนิธิชีววิถี
22. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
23. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
24. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
25. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
26. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
27. มูลนิธิสุขภาพไทย
28. มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน
29. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
30. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.จันทบุรี
31. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.จันทบุรี (ประเด็นเกษตร)
32. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ฉะเชิงเทรา
33. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ฉะเชิงเทรา (ประเด็นเกษตรกร)
34. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ฉะเชิงเทรา (ประเด็นคนพิการ)
35. ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค จ.ตราด (ประเด็นผู้ติดเชื้อ)
36. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สมุทรปราการ (ประเด็นเกษตร)
37. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สมุทรปราการ (ประเด็นเด็กและเยาวชน)
38. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สระแก้ว
39. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
40. สถาบันแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
41. สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
42. สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
43. สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคตะวันออก
44. สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด
45. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
46. สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี
47. สมาคมส่งเสริมภาคประชาสังคม
48. ภญ.ศิริพร. จิตรประสิทธิศิริ
 
 ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น