ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Applied Statistics
สาขาวิชา Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Applied Statistics
สาขาวิชา Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินมาถูกทางแล้วในการที่จะทำให้โค้งการแจกแจงของผู้ติดเชื้อรายใหม่จากมหาไวรัสโควิด-19 ไม่สูงจนเกินไป ในความเป็นจริงผมมีความเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้มาจากรัฐประหาร กลับขาดความเด็ดขาดไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็นด้วยซ้ำ เรื่องโควิด-19 นี้เป็นสงครามที่มีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน และมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นนักรบทหารกล้า เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือประชาชน
อันที่จริง COVID-19 ไม่ได้เป็นโรคที่ทำให้ตายมากมาย แต่ที่ตายมากมายเพราะมันระบาดมากรุนแรงเหลือเกิน รุนแรงจนเกินกว่าที่ทรัพยากรทางการแพทย์จะรองรับได้ แม้กระทั่งในจีนเองในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมแล้วเกิด outbreak อย่างรุนแรง สถิติการตายก็สูงมาก แต่จีนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เร่งระดมสร้างโรงพยาบาลสนาม สร้างห้องความดันต่ำ สร้างเครื่องช่วยหายใจเอง ทำหน้ากากอนามัยเอง จนทรัพยากรเริ่มเพียงพอประกอบกับเกิดการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunization) เพราะคนที่ได้รับเชื้อโควิด-19 ไม่ได้มีอาการป่วยหนักทุกคน แต่เป็นพาหะได้ทุกคน และมีอาการหนักที่เป็นปอดอักเสบหนัก ๆ ไม่มากรายนัก
แม้ว่าอัตราการตายของผู้ป่วยโควิด-19 จะสูงมากในผู้สูงอายุดังในภาพด้านล่างนี้ ที่เมื่ออายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปมีอัตราการตายสูงเกือบ 15% แต่ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการเลือกรักษาที่มีอคติในการเลือกรักษา (Selection bias) เพราะอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องช่วยหายใจมีไม่พอ หมอเลยต้องเลือกที่จะรักษาคนหนุ่มสาวที่คาดว่าจะมีอายุขัยต่อไปยืนยาว ทำประโยชน์ให้กับประเทศและโลกได้ยาวนานกว่าคนแก่ ประกอบกับคนแก่ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าคนหนุ่มสาว แพทย์อาจจะต้องเลือกรักษาคนที่มีโอกาสหายและฟื้นตัวได้ไวกว่ามาก
เรามาลองตั้งคำถาม โดยอาศัยสถิติต่าง ๆ เป็นเครื่องมือช่วยตอบกันดีกว่าว่า เรามีทรัพยากรทางการแพทย์พร้อมหรือไม่? คนไทยจะตายมากแค่ไหนหากเกิดมหาโรคระบาดโควิด-19 เช่นเกิดระบาดหนักขนาดอิตาลีหรือจีน เราจะเทียบกับอิตาลีเป็นหลักในการหาคำตอบนี้ เพราะอิตาลีมีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทย น่าจะพอทำให้เราเห็นภาพได้ง่ายกว่าจีนซึ่งใหญ่กว่าไทยมาก
แหล่งข้อมูลสำคัญคือรายงานทรัพยากรสาธารณสุขประจำปี 2561 โดย กลุ่มข้อมูลข่าวสารสุขภาพ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุขของประเทศเป็นประจำทุกปี แต่มีข้อจำกัดของข้อมูลคืเป็นข้อมูลที่ได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานที่ทำการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบบน Website GIS-health เท่านั้น
ประเด็นแรก ที่เราจะพิจารณาคือ จำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤติหรือไอซียู (Intensive Care Unit) ซึ่งจะมีจำนวนเครื่องช่วยหายใจ (Respiratory ventilator) เกือบจะเท่ากับจำนวนเตียง (หากเครื่องช่วยหายใจไม่ชำรุดมากจนเกินไป) และเป็นอุปกรณ์การแพทย์สำคัญที่แสดงศักยภาพในการรองรับมหาโรคระบาดโควิด-19 ได้ หากมีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิด-19 จนหายใจเองไม่ได้ และต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจมากๆ แล้วก็จะทำให้เกิดปัญหาต้องเลือกใส่เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยแค่บางคน ที่เหลือต้องปล่อยให้ตายไป
ทั้งประเทศไทยเรามีเตียงผู้ป่วยไอซียู 7718 เตียง เป็นของโรงพยาบาลเอกชน 2307 เตียง จำนวนเตียงไอซียูมากที่สุดคือกระทรวงสาธารณสุข 3934 ดังนั้นหน่วยงานหลักที่จะรองรับผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิด-19 จึงเป็นโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข หาใช่โรงพยาบาลเอกชนไหม แต่เตียงผู้ป่วย ICU อยู่ในกรุงเทพมากถึงประมาณหนึ่งในสามของทั้งประเทศคือ 2126 เตียง
ซึ่งหากโควิดระบาดมาก ๆ มีคนติดเชื้อหลายหมื่นคนแล้ว ทรัพยากรคือเตียงไอซียู และเครื่องช่วยหายใจไม่น่าจะพออย่างแน่นอน ต้องเลือกให้ปล่อยตายแบบที่หมอในอิตาลีและในจีนจำใจต้องทำเช่นนั้นมาแล้วเช่นกัน
เพื่อนของผมผู้เป็นอายุรแพทย์ด้านโรคปอดโดยตรง ให้ความเห็นว่า เครื่องช่วยหายใจทั่ว ๆ ไป ไม่แน่ใจว่าพอไหม ไม่น่าพอเลย ถึงจะมีเงิน เพราะอีกอย่างที่ต้องมีคือ แหล่งจ่าย oxygen ซึ่งต้องใช้เยอะมากนะ เพราะใช้ 24 ชั่วโมง เครื่องช่วยหายใจถ้าจะเอาขนาดมี Oxygen ด้วยแบบตามโรงพยาบาล ต้องใช้เวลา แล้วถ้าต่อไม่ดีและระเบิดขึ้นมายิ่งน่ากังวล เครื่องช่วยหายใจเครื่องละ 5-6 แสนบาท ก็ได้ระดับดีแล้ว แต่แทงค์ Oxygen เหลวนี่สิ อันนี้ยากกว่า และต้องใช้เวลากว่าจะหามาได้ครบ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าคนมีเงินก็ได้เปรียบอยู่ดี เพราะก็คงมีเส้นสายในการเข้าถึงทรัพยากรเหนือกว่าคนยากจน
มีข้อมูลและกราฟจากบล็อกสุขภาพ เรื่องทั่วไป และ อธิบายด้วยภาพ... นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ วว.รังสีวิทยาทั่วไป, อบ.เวชศาสตร์ครอบครัว, M.P.A. จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/health2you/2020/03/15/entry-4
ได้เปรียบเทียบสถิติจากหลายแหล่งของหน่วยงานดังรูปนี้
พบว่าประเทศไทยมีเตียง ICU เท่ากับ 10.4 คนต่อประชากรแสนคน ในขณะที่อิตาลีมีค่าเท่ากับ 12.5 ส่วนอังกฤษที่ไทยเราไปลอกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากลับมีค่าสถิติที่แย่มาก National Health Security ของอังกฤษทำได้แค่ 6.6 จึงออกมาแถลงว่าต้องปล่อยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือ herd immunization
ดังนั้นหากตอบคำถามว่าหากไทยมีการระบาดของโควิด-19 รุนแรงเท่ากับอิตาลี คนไทยจะตายมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน อิตาลีมีจำนวนเตียง ICU ต่อประชากรแสนคนสูงกว่าไทยนิดหน่อย ดังนั้นหากการระบาดรุนแรงเท่ากัน อัตราการตายของไทยย่อมสูงกว่าอิตาลี ต้องมีคนตายมากกว่า
ที่น่าสนใจคืออัตราการตายเทียบระหว่างเยอรมันนีกับอิตาลี เยอรมนีก็มีการระบาดของโควิด-19 รุนแรงไม่น้อยกว่าอิตาลี แต่สถิติล่าสุด เยอรมนี ตาย 28 ป่วยหนัก 2 จากทั้งหมด 12327 ราย หาย 105 ราย เมื่อพิจารณาทรัพยากรคือเตียงไอซียูแล้ว เยอรมันนีมีจำนวนเตียงไอซียูต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 29.2 เป็นอันดับ 2 ของโลก น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการตายของเยอรมันนีต่ำกว่าอิตาลีมาก เพราะมีทรัพยากรต่อประชากรมากกว่ากันเกือบ 2.5-3 เท่า
อังกฤษนั้นตาย 104 ราย ป่วยหนัก 20 ราย ทั้งหมด 2626 ราย หาย 65 ราย ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะอังกฤษมีระบบหลักประกันสุขภาพที่แย่มาก NHS ของอังกฤษ ที่ สปสช. เราไปลอกแบบมา ทำไม่ได้ดีเลย ของไทยทำได้ดีกว่าเพราะกระทรวงสาธารณสุขบริหารและให้บริการเอง มีจำนวนเตียงผู้ป่วยไอซียูแค่ 6.6 ต่อประชากรแสน อันเป็นเหตุให้ตายมากกว่าได้ เพราะทรัพยาการในการรักษาพยาบาลไม่มีเพียงพอ
สิ่งที่ย้อนแย้งคือสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกา มีจำนวนเตียงไอซียู สูงที่สุดในโลกต่อประชากร 34.7 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน แต่ระบบสาธารณสุขของอเมริกาแตกแหลกละเอียด (Fragmented) ขาดการแบ่งปัน (Sharing) หรือร่วมกันใช้ (Pooling) และเป็นการจัดสรรทรัพยากร (Resource allocation) ที่ห่วยมาก ถึงมีทรัพยากรเยอะแต่จัดสรรไร้ประสิทธิภาพก็เหมือนไม่มี อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วย COVID-19 ในสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตมากเช่นกัน
ประเด็นสอง ที่เราจะพิจารณาคือจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยนั้นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราก้าวสู้สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)
เมื่อพิจาณาสัดส่วนประชากรต่อแพทย์ เราจะพบว่าไทยเรายังไม่เกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ 1500 คน ต่อแพทย์หนึ่งคน จะมีเพียงกรุงเทพมหานครที่มีจำนวนประชากรต่อจำนวนแพทย์ที่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนเขตสุขภาพที่ 8-10 มีจำนวนประชากรต่อจำนวนแพทย์สูงมาก แสดงให้เห็นปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่
เมื่อพิจาณาจำนวนแพทย์เฉพาะทาง เรามีอายุรแพทย์ประมาณเจ็ดพันคนจากจำนวนแพทย์ทั่วประเทศเกือบสามหมื่นคน แต่ตัวเลขนี้เชื่อไม่ได้ เพราะไปเป็นผู้บริหาร หรือทำงานที่ไม่ได้ตรวจรักษาคนไข้แล้วเป็นจำนวนมากเหลือเกิน พูดง่าย ๆ ไม่ได้ขึ้นเวร หรือไม่ได้ practice แล้วเป็นจำนวนมากพอสมควร
ยิ่งพิจารณาสาขาย่อยหรือความชำนาญเฉพาะไปสำหรับโรค COVID-19 คืออายุรศาสตร์โรคทรวงอกและอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ มีแพทย์สองสาขาวิชานี้ 38 และ 199 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ คือ 18 และ 99 คน การที่มีแพทย์เฉพาะทางอยู่ในกรุงเทพ กระจุกมาก อาจจะเป็นข้อดีก็ได้ เพราะ COVID-19 เริ่มต้นระบาดในกรุงเทพก่อน แต่ที่น่ากลัวคือเริ่มระบาดเข้ามาทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากทางมาเลเซีย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ
สำหรับจำนวนประชากรต่อพยาบาลยิ่งแย่หนัก เรามีจำนวนประชากรต่อพยาบาลต่ำกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกมาก
และการตรวจเชื้อโควิด-19 ต้องอาศัยนักเทคนิคการแพทย์เช่นกัน จึงขอนำสถิติมาให้ดูว่าประเทศไทยก็อาจจะยังมีจำนวนนักเทคนิคการแพทย์ไม่เพียงพอหากเกิด outbreak ใหญ่
เนื่องจาก COVID-19 จะทำให้เกิดปอดอักเสบ นักรังสีการแพทย์ย่อมสำคัญมากเช่นกัน ในการถ่ายภาพปอด เช่น CAT-Scan ซึ่งไม่น่าจะมีบุคลากรพอรองรับจำนวนผู้ป่วยมหาศาลได้หากเกิด outbreak
จากการพิจารณาสองประเด็นคือ หนึ่ง อุปกรณ์และสถานที่ อันได้แก่ เตียงไอซียู เครื่องช่วยหายใจ และสองจำนวนบุคลากรแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยไม่มีความพร้อมหากเกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 หากควบคุมโรคไม่อยู่ จะทำให้มีคนไทยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
แต่ผมไม่คิดว่าไทยเราจะระบาดเท่าอิตาลี เท่าที่เห็นคนไทยระวังตัวกว่า อีกอย่างอากาศก็แตกต่างกัน ไม่หนาวเย็นเท่าอิตาลี ไม่ทักทายกันด้วยการกอดหรือหอมแก้มแค่ยกมือไหว้กันก็ช่วยบรรเทาไปได้มาก
สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือเราต้องไม่ประมาท รัฐบาลเองต้องประกาศให้เป็นการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ใช่สิ ไม่มี ม. 44 ให้ใช้เหมือนตอนเป็น คสช.) และบังคับออกคำสั่งเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมให้เคร่งครัดมากที่สุด เพื่อทำให้โค้งจำนวนผู้ป่วยใหม่เป็นไปอย่างช้าและแบนราบลงเพื่อให้เรามีความพร้อมเพียงพอที่จะจัดการและดูแลผู้ป่วยได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ระบาดจนล้นโรงพยาบาล รักษาไม่ไหว ไม่ใช่รักษาไม่ได้ และต้องปล่อยให้ตายไป
เรื่องนี้คนไทยต้องมีจิตสำนึก และต้องระวังตัวเอง ให้มาก เช่น มาจากพื้นที่เสี่ยงแต่ไปกินเหล้าสังสรรค์และกินเหล้าแก้วเดียวกัน หรือสูบบุหรี่มวนเดียวกันจนติดโควิด-19 กันไปหลายสิบคน พฤติกรรมแบบนี้ไม่เพียงเป็นภัยต่อตนเอง ยังเป็นภัยต่อสังคมด้วย รัฐบาลต้องสั่งห้ามให้เด็ดขาด
ทางเลือกสำคัญประการหนึ่งคือ ต้องเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทำงานจากบ้าน (Work from home) ให้ได้มากที่สุด หน่วยราชการเองต้องเป็นตัวอย่าง พร้อมแค่ไหน ทำได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีควรใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน จัดการเรื่องนี้ให้เด็ดขาดและเป็นตัวอย่างที่ดีให้เอกชนทำตามด้วย รัฐบาลที่เก่งเรื่องนี้มากๆ คือรัฐบาลเอสโตเนีย ครั้งนี้อาจจะเป็นโอกาสอันดีที่จะเปลี่ยนผ่านดิจิทัล (Digital transformation) สำหรับหน่วยราชการไทยก็ได้
สำหรับประชาชนทั่วไป ขอฝากรูปทิ้งท้ายไว้สองรูป รูปหนึ่งไม่ทราบที่มา แต่เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมได้เป็นอย่างดี
ส่วนอีกรูปเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องปิดอาบอบนวดในกรุงเทพกว่า 831 แห่ง เพราะจะทำให้เกิด COVID-19 ระบาดได้รุนแรงมากเช่นกัน