พันธกิจทางการเมืองที่สำคัญประการหนึ่งของฝ่ายค้านคือ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐบาลเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ เมื่อตรวจแล้วพบว่า มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าฝ่ายรัฐบาลได้กระทำหรือส่อเค้าว่าจะกระทำ ซึ่งความผิดอันก่อให้เกิดหรือจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม
ดังนั้น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านจะต้องหาข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาให้ถูกต้องแล้วนำมาเป็นหลักฐานในการอภิปราย จึงจะมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง
อนึ่ง ในการอภิปราย ถ้าจะให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการฟัง และผู้อภิปรายได้ประโยชน์ทางการเมือง จะต้องมีทั้งข้อกล่าวหาในประเด็นที่มีหลักฐานชัดเจนแล้วว่าเป็นความผิด และข้อท้วงติงพร้อมกับคำเสนอแนะในประเด็นที่ส่อเค้าว่าจะมีการกระทำผิด
แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐบาลเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้อภิปรายส่วนใหญ่ได้เน้นหนักไปในการกล่าวหา ส่วนข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะมีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาเป็นหลักฐานในการอภิปรายส่วนใหญ่ เป็นข้อมูลที่สื่อมวลชนนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนผู้สนใจการเมืองรู้แล้ว จึงไม่มีอะไรใหม่สำหรับประชาชน
ดังนั้น จึงทำให้การอภิปรายไม่มีอะไรใหม่มาเสนอมากไปกว่าพูดสิ่งเก่าๆ ที่ประชาชนรู้แล้ว จากการนำเสนอของสื่อ และจากการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการ
ด้วยเหตุนี้ การอภิปรายจึงไม่เป็นที่สนใจของประชาชนที่ต้องการฟังข้อมูลซึ่งลึกกว่าที่สื่อนำเสนอ
2. ผู้อภิปรายบางคนแสดงกิริยาท่าทางไม่ต่างไปจากเด็กเกเร ซึ่งโต้เถียงและทะเลาะกันกลางถนน โดยไม่เคารพสถานที่และบุคคลอันได้แก่สภาฯ และประธานสภาฯ รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ซึ่งผู้ทรงเกียรติจะพึงเป็นแบบอย่างในการรักษาไว้ จึงทำให้ประชาชนได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้วเกิดความเบื่อหน่ายนักการเมืองเป็นผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยโดยรวม
3. คำชี้แจงของฝ่ายรัฐบาล ก็เป็นไปในทำนองการอ่านรายงานที่นักวิชาการเตรียมมาให้ ถึงแม้ว่าจะตอบได้ตรงประเด็นเหมือนกับรู้คำถามล่วงหน้า แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ทำให้ประชาชนพอใจในคำตอบ เนื่องจากว่ามีความคาดหวังว่าจะได้ฟังแนวทางแก้ปัญหาที่สังคมไทยได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และสังคม
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น สรุปได้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ถึงแม้รัฐบาลจะชนะโหวตในสภาฯ เนื่องจากมีเสียงมากกว่าซึ่งเป็นชัยชนะทางการเมืองในรูปแบบของเสียงข้างมากลากไป
แต่ในทางสังคม ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แม้ประชาชน และเป็นผลเสียต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยเพียงจำนวนโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ